|
|
หลังจากที่รัชกาลที่ 5 เสด็จพระราชดำเนินกลับจากประพาสยุโรปในปี 2440 ทรงพระราดำริให้มีที่ประทับในฤดูร้อนที่กรุงเทพฯ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ซื้อที่นาและสวน ระหว่างคลองผดุงกรุงเกษมจนถึงคลองสามเสน ด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อจัดสร้างอุทยานสถานและพระราชทานนามพระราชวังว่า "สวนดุสิต"
พระที่นั่งวิมานเมฆ เป็นพระที่นั่งที่สร้างด้วยไม้สักทองที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นพระที่นั่งถาวรองค์แรกในพระราชวังดุสิต พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในพระราชวังดุสิต (ซึ่งในรัชสมัยของพระองค์เรียกว่า พระราชวังสวนดุสิต) ใน พ.ศ.2444 โดยโปรดเกล้าฯ ให้รื้อ พระที่นั่งมันธาตุรัตนโรจน์ ที่โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นที่เกาะสีชังเมื่อ พ.ศ.2435 แต่ยังสร้างไม่เสร็จสมบูรณ์ โดยโปรดเกล้าฯ ให้ พระราชโยธาเทพ (กร หงสกุล ต่อมาเป็น พระยาราชสงคราม) เป็นนายงานรื้อพระที่นั่งมันธาตุรัตนโรจน์จากเกาะสีชังมาสร้างในสวนดุสิต และพระราชทานนามว่า พระที่นั่งวิมานเมฆ และทรงวางศิลาฤกษ์พระที่นั่งเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ.2443 โปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงกำกับการออกแบบ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการเฉลิมพระที่นั่งวิมานเมฆ เมื่อวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ.2444
พระที่นั่งวิมานเมฆสร้างด้วยไม้สักทองทั้งหลัง มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่งดงามประณีตและได้รับอิทธิพลการก่อสร้างแบบตะวันตก การก่อสร้างแล้วเสร็จในเดือนมีนาคม พ.ศ.2444 และได้เสด็จมาประทับที่พระที่นั่งวิมานเมฆ จนกระทั่งพระที่นั่งอัมพรสถาน ซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นใน พ.ศ.2445 สร้างเสร็จเรียบร้อยใน พ.ศ.2449 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้เสด็จแปรพระราชฐานมาประทับที่พระที่นั่งอัมพรสถานเป็นการถาวร จนกระทั่งเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ.2453 และพระที่นั่งวิมานเมฆยังคงเป็นสถานที่ประทับของเจ้านายจนกระทั่งสิ้นรัชกาล เจ้านายฝ่ายในและข้าราชบริพารจึงได้กลับมาประทับที่พระบรมมหาราชวัง
ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา ประทับที่พระที่นั่งวิมานเมฆใน พ.ศ.2468 แต่เมื่อ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ.2468 สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชายา ก็ทรงย้ายออกจากพระที่นั่งวิมานเมฆ และจากนั้นมาพระที่นั่งวิมานเมฆก็มิได้เป็นพระราชฐานที่ประทับของเจ้านายอีก
ในรัชกาลปัจจุบัน พ.ศ.2525 ซึ่งเป็นปีที่ฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปี สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงขอพระบรมราชานุญาตซ่อมพระที่นั่งวิมานเมฆ เพื่อจัดเป็นพิพิธภัณฑ์ส่วนพระองค์ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ปัจจุบันพระที่นั่งวิมานเมฆเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ในความดูแลของสำนักพระราชวัง รวมทั้งหมู่พระตำหนักของพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายในด้วย
หมู่พระตำหนักของพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายใน
ลักษณะขององค์พระที่นั่ง
พระที่นั่งองค์นี้ ได้รับอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมยุโรป ผสมกับไทยประยุกต์ องค์พระที่นั่งเป็นรูปอักษรตัวแอล (L) ในภาษาอังกฤษ ยาวด้านละ 60 เมตร สูง 20 เมตร เป็นอาคาร 3 ชั้น ยกเว้นตรงส่วนที่ประทับซึ่งมีรูปร่างเป็นแปดเหลี่ยม มี 4 ชั้น ชั้นล่างสุดก่ออิฐถือปูน ชั้นถัดขึ้นไปสร้างด้วยไม้สักทองทั้งหมด ทาด้วยสีครีมอ่อนหลังคาสีแดง และหลังคาเป็นทรงไทยประยุกต์ มีลวดลายตามหน้าต่าง และช่องลม ซึ่งฉลุเป็นลายที่เรียกว่า ขนมปังขิง
สำหรับพระที่นั่งวิมานเมฆนี้ จะแบ่งเป็นห้องต่างๆ 5 สีด้วยกัน คือ สีฟ้า เขียว ชมพู งาช้าง และสีลูกพีช (ชมพูอมส้ม) แต่ละห้องจะจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ส่วนพระองค์ของรัชกาลที่ 5 รวมถึงเจ้านายชั้นสูง เช่น ห้องสีเขียว เป็นห้องเครื่องเงินจากประเทศจีน ส่วนชั้นสองเป็นห้องทรงงานของรัชกาลที่ 5 และห้องบนชั้นสามจะเป็นห้องบรรทม แต่ห้องที่งดงามที่สุดในพระที่นั่งวิมานเมฆเห็นจะเป็นห้องท้องพระโรง ที่มีบรรยากาศขรึมขลังอลังการมากที่สุด
ข้าวของเครื่องใช้ส่วนพระองค์ของรัชกาลที่ 5 และเจ้านายชั้นสูง
เครื่องกระเบื้อง
อารยธรรมตะวันตกที่แพร่เข้ามาอย่างรวดเร็วในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้นำเอาความนิยมในเครื่องกระเบื้องของยุโรปเข้ามาแทนที่จานชามกระเบื้องที่เคยสั่งซื้อสั่งทำจากประเทศจีน เปลี่ยนจากการรับประทานด้วยมือเป็นช้อนส้อม เครื่องกระเบื้องที่จัดแสดงส่วนใหญ่เป็นของที่ผลิตในประเทศจีนและยุโรปซึ่งรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้ทำขึ้นเป็นของทีระลึกและเพื่อใช้เป็นการส่วนพระองค์
เครื่องพิพิธภัณฑ์
เป็นสิ่งสะสมของพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการระดับสูง ของที่สะสมนั้นมีหลายประเภท เช่น กรอบรูป นาฬิกา ธารพระกร เครื่องลายคราม กล้องยาสูบ โดยเฉพาะตลับงา ซึ่งเป็นของที่นิยมสะสมกันอย่างมากในปี 2445 มีการแข่งขันออกแบบต่างๆ นานา จนถึงกับมีการจัดงานประกวดกัน
เครื่องทองและเครื่องเงิน
ภายหลังการกลับจากเสด็จประพาสยุโรปรัชกาลที่ 5 ได้ทรงนำเครื่องทองกลับมาเป็นจำนวนมาก และทรงสั่งทำเครื่องทองลงยาจาก "ฟาร์แบร์เช่" (Peter Carl Faberge) ช่างทองชาวรัสเซียหลายชิ้น
เครื่องถม
เป็นหนึ่งในหัตถกรรมของไทยที่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เครื่องถมไทยมีหลายประเภท เช่น ถมเงินถมดำ ถมตะทอง ถมปรักมาศ เครื่องถมในสมัยรัตนโกสินทร์จะทำแถวย่านบางขุนพรหมและบ้านพานถม ส่วนเครื่องถมที่นำมาจัดแสดงนั้นทำในสมัยอยุธยาตอนปลายจนถึงในสมัยรัชกาลที่ 5
เครื่องแก้ว
นอกจากเครื่องกระเบื้องแล้ว ความนิยมเครื่องแก้วในสมัยรัชกาลที่ 5 ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่แพร่หลายในสังคมไทย มีการสั่งซื้อและสั่งทำจากเครื่องแก้วจากประเทศในแถบยุโรป เช่น ฝรั่งเศส เยอรมัน การสั่งทำเครื่องแก้วสำหรับใช้ในพระราชวังุสิตนั้น นิยมสลักตราประจำพระองค์ พระปรมาภิไธยย่อ พระนามาภิไธยย่อ หรือมีภาพพระบรมฉายาลักษณ์ประทับอยู่บนภาชนะเหล่านั้น
| 16 ถนนราชวิถี แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร 10300 | | 0-2628-6300-9 | | 0-2281-6880 | | ทุกวัน เวลา 9.30 - 16.00 น. | | สาย 12, 18, 28, 70, 108
| | ภายในพระที่นั่งวิมานเมฆ | | สามารถถ่ายรูปได้เฉพาะภายนอกอาคาร | | พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน, พระที่นั่งอนันตสมาคม, พระที่นั่งอัมพรสถาน, พระบรมรูปทรงม้า, รัฐสภา, วังปารุสกวัน, สวนสัตว์ดุสิต, สวนอัมพร, หมุดคณะราษฎร์ | | ค่าเข้าชม สำหรับนักเรียน นักศึกษา นักบวช 20 บาท สำหรับผู้ใหญ่ 50 บาท | | คลิกดูแผนที่ตั้งของพระที่นั่งวิมานเมฆ
| | | | | |
ที่มาข้อมูล : ของดีกรุงเทพฯ ศูนย์ส่งเสริมการท่องเที่ยว
| |
https://www.myfirstbrain.com/AroundTheCity_View.aspx?Id=63085
Hotmail® has a new way to see what's up with your friends.
Check it out.