วันอาทิตย์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา

สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา
สะพานวงแหวนอุตสาหกรรมยิ่งใหญ่งดงาม (ภาพจากหนังสือ "สะพานวงแหวนอุตสาหกรรมอันเนื่องมาจากพระราชดำริ")

เคยลองนึกกันเล่นๆ ดูไหมว่า ถ้ากรุงเทพฯ ยุคนี้ เมืองที่ครั้งหนึ่งเคยได้รับสมญานามว่า "เวนิสตะวันออก" เพราะเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยคู คลอง และเรือมากมาย ถ้าปราศจากสะพานข้ามแม่น้ำลำคลองต่างๆ จะเกิดอะไรขึ้น คงเป็นเรื่องที่ทุลักทุเลไม่น้อย แล้วยิ่งเป็นยุคที่ยวดยานพาหนะหนาแน่นแบบนี้ ถ้าไม่มีสะพานข้ามแม่น้ำ เราคงต้องขนรถ ลงเรือ ขึ้นฝั่ง ลำบากและเสียเวลาไม่น้อยทีเดียว เผลอๆไม่ใครก็ใครล่ะ ที่ต้องพลาดตกน้ำตกท่ากัน

ดังนั้นฉันจึงคิดว่าสะพานทุกแห่งในกรุงเทพฯ ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นเพียงสิ่งก่อสร้างที่เชื่อมโยงความสะดวกสบายด้านการเดินทางเท่านั้น แต่ยังเป็นสิ่งมีพระคุณต่อชีวิตของคนกรุงเทพฯ ในยุคเร่งรีบทีเดียว คนไทยเราเริ่มคุ้นเคยกับสะพานตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ที่เริ่มมีการสร้างสะพานไม้เพื่อย่นระยะทางและลดระยะเวลาในการสัญจรของผู้คน และการขนส่งสินค้าทางเรือ เพื่อให้มีความสะดวกและรวดเร็วขึ้น

จนกระทั่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการนำวิทยาการแบบอย่างที่ดีของชาติตะวันตกมาประยุกต์ให้กลมกลืนกับวิถีดั้งเดิม ในการปรับปรุงพระนครครั้งใหญ่ เพื่อต้องการให้บ้านเมืองเจริญก้าวหน้าทัดเทียมนานาอารยประเทศ โดยมีการขุดคลอง สร้างสะพานและตัดถนนเพิ่มขึ้นหลายสาย ซึ่งสะพานก็เกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าวหลายแห่ง ซึ่งก็เป็นสะพานข้ามคลองที่มีขนาดไม่ใหญ่มาก

สะพานพระรามเก้าสะพานขึงขนาดใหญ่แห่งแรกของไทย
(ภาพจากหนังสือ "สะพานวงแหวนอุตสาหกรรมอันเนื่อง
มาจากพระราชดำริ")

ส่วนสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา มีแนวคิดจะเกิดขึ้นครั้งแรกโดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กระทรวงโยธาธิการเป็นผู้วางแผนและออกแบบสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่ท่าพระจันทร์ เมื่อ ปี พ.ศ.2448 แต่ต้องระงับโครงการไป เพราะเป็นงบประมาณที่ใหญ่มากในสมัยนั้น ล่วงถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งแรกจึงถือกำเนิดขึ้น คือ สะพานพระราม 6

นับจากนั้นเป็นต้นมา ในกรุงเทพมหานคร จึงมีสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาหลายแห่งด้วยกัน ที่นอกจากจะเป็นตัวเชื่อมโยงเส้นทางและผืนดินที่ห่างไกลให้ย่นระยะเข้าหากันแล้ว ยังเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงประวัติศาสตร์และแสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าของวิวัฒนาการความทันสมัยต่างๆ ของบ้านเราอีกด้วย จากสะพานเหล็กในยุคแรกเปลี่ยนมาเป็นสะพานคอนกรีตอัดแรงในยุคต่อมา และกลายเป็นสะพานขึงในปัจจุบัน

ดังนั้นฉันจึงขอทำหน้าที่เป็นไกด์อาสาพาทัวร์สะพานสำคัญในกรุงเทพฯ สะพานแห่งแรกที่ฉันอยากจะพาแวะไปทำความรู้จักคือ "สะพานพระราม 6" สะพานโครงเหล็กข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งแรกของประเทศไทย สร้างขึ้นเพื่อเชื่อมทางรถไฟฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกของแม่น้ำให้ต่อถึงกัน

สะพานแห่งนี้เป็นไปตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งชื่อสะพานก็เป็นชื่อที่ โปรดเกล้าฯ พระราชนามและทรงประกอบพิธีเปิดสะพาน ให้ขบวนรถไฟเดินผ่านข้ามเป็นปฐมฤกษ์ในวันที่ 6 มกราคม พ.ศ.2469 อันเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระองค์ท่านอีกด้วย

สะพานพระราม 6 สะพานโครงเหล็กข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา
แห่งแรกในประเทศไทย

สะพานแห่งนี้ประกอบด้วยสะพานเหล็ก 5 ช่วง มีความยาว 443.60 เมตร กว้าง10 เมตร บนสะพานด้านหนึ่งเป็นทางรถไฟ ส่วนอีกด้านหนึ่งเป็นถนนเพื่อรองรับรถยนต์ พร้อมทางเดินเท้าสองข้ามของสะพาน แต่ในทุกวันนี้สะพานพระราม 6 เปิดเดินเฉพาะรถไฟและปิดการจราจรส่วนที่เป็นถนนรถวิ่งลง เนื่องจากมีสะพานคู่ขนานอย่าง สะพานพระราม 7 สร้างขึ้นมาแทนที่

จากสะพานแห่งแรกของไทย ตามมาดูอีกหนึ่งสะพานที่มีความเก่าแก่และโดดเด่นไม่แพ้กัน "สะพานพระพุทธยอดฟ้า" หรือสะพานปฐมบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในโอกาสฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ครบ150 ปี ใน พ.ศ.2475 ด้วยทรงมีพระราชประสงค์ให้เป็นสะพานที่ทอดข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อขยายความเจริญจากฝั่งพระนครไปยังฝั่งธนบุรี

เป็นสะพานเหล็กเฉกเช่นเดียวกับสะพานพระราม 6 แต่มีความโดดเด่นที่แตกต่าง คือ ตอนกลางของสะพานสามารถยกเปิด - ปิดได้ด้วยระบบไฟฟ้า เพื่อให้เรือใหญ่ผ่านได้สะดวก นับเป็นสะพานแห่งแรกในประเทศไทยที่มีรูปแบบเช่นนี้ ซึ่งปัจจุบันไม่ได้เปิด - ปิดตอนกลางของสะพานแล้ว เนื่องจากเรือขนส่งไม่ได้มีจำนวนมากและขนาดใหญ่เหมือนแต่ก่อนจึงสามารถลอดผ่านใต้สะพานได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องเปิด - ปิด กลางสะพาน

ทั้งนี้ยังโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช องค์ปฐมบรมกษัตริย์ราชวงศ์จักรี ประดิษฐานไว้เป็นอนุสรณ์เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาคุณของกษัตริย์ผู้ทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ ณ เชิงสะพานฝั่งถนนตรีเพชร และพระราชทานนามสะพานแห่งนี้ว่า "พระพุทธยอดฟ้า"

สะพานพุทธสามารถยกเปิด-ปิดได้ด้วยระบบไฟฟ้า

ฉันว่าคนยุคนั้นคงตื่นเต้นกันไม่น้อยทีเดียว ที่มีสะพานข้ามแม่น้ำใช้กันเพราะยังเป็นเรื่องใหม่อยู่ สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่มีความเก่าแก่อีกแห่งหนึ่งคือ "สะพานกรุงธน" หรือสะพานซังฮี้ เป็นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่บริเวณถนนราชวิถี เชื่อมระหว่างเขตดุสิตกับเขตบางพลัด

สะพานกรุงธนประกอบด้วยโครงสะพานเหล็กยาว 6 ช่วง เชิงสะพานทั้งสองฝั่งเป็นคอนกรีต มีทางเท้าทั้งขนาบสองข้าง ช่วงลอดกลางสะพานสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 7.50 เมตร เป็นสะพานที่เปิดไม่ได้ เป็นสะพานที่สร้างขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกด้านการคมนาคมแก่ประชาชนสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา และแบ่งเบาความคับคั่งของสะพานพระพุทธยอดฟ้า

สำหรับใครที่สงสัยว่าทำไมเขาถึงเรียก "สะพานซังฮี้" ฉันพอจะรู้บ้างว่ามันมีที่มาจาก ชื่อของถนนราชวิถีที่เดิมชื่อถนนซังฮี้ ซึ่งชื่อซังฮี้เป็นหนึ่งในชื่อเครื่องกิมตึ้ง ชื่อเครื่องถ้วยชามของประเทศจีน ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นิยมสั่งถ้วยชามเหล่านี้มาจากประเทศจีนเพื่อใช้และสะสมเป็นของมีค่า

ว่ากันว่าเมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชวังดุสิตขึ้น ได้พระราชทานนามตำหนัก ถนน สะพาน และคลองต่างๆ ภายในพระราชวังดุสิต เป็นชื่อเครื่องกิมตึ้งของประเทศจีนทั้งสิ้น หนึ่งในนั้น คือ ชื่อถนนด้านหลังพระราชวัง พระราชทานนามว่า ซังฮี้ อันเป็นคำมงคลของจีน มีความหมายว่า "ยินดีอย่างยิ่ง" ต่อมาในรัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อไปเป็น "ถนนราชวิถี" ขณะทำการสร้างสะพาน ประชาชนทั่วไปยังไม่ทราบชื่อสะพานอย่างเป็นทางการ จึงเรียกชื่อสะพานว่า สะพานซังฮี้ เพราะสะพานนี้เริ่มต้นปลายถนนซังฮี้ทางด้านฝั่งพระนคร และเรียกติดปากมาจนปัจจุบัน

สะพานพระราม 8 ก็มีทิวทัศน์และความงดงามไม่แพ้ใคร

อีกหนึ่งสะพานที่แสดงให้เห็นวิวัฒนาการของสะพานในไทยได้ดีที่สุด ที่ฉันจะไม่กล่าวถึงไม่ได้คือ "สะพานพระราม 9" เป็นต้นแบบแห่งนวัตกรรมอันทันสมัย โดยเป็นสะพานขึงขนาดใหญ่แห่งแรกของประเทศไทยและ (เคย) มีช่วงกลางสะพานยาวที่สุดในโลกในปี พ.ศ.2530 คือยาว 450 เมตร

เป็นสะพานขึงชนิดระนาดเดี่ยวแบบสมมาตร โครงสร้างของสะพานพระราม 9 พื้นสะพานเป็นเหล็กมีเคเบิลซึ่งโยงพื้นสะพานเข้ากับเสาสะพานขึง 2 ต้น ซึ่งแต่ละต้นสูง 87 เมตร ฐานรากของสะพานเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก สะพานแห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของทางพิเศษเฉลิมมหานคร สาย ดาวคะนอง - ท่าเรือ

ซึ่งเป็นเส้นทางคมนาคมหลัก ที่เชื่อมระหว่างฝั่งพระนครและฝั่งธนบุรี รวมทั้งบริเวณรอบนอกของกรุงเทพฯและช่วยให้การคมนาคมขนส่งสินค้าไปยังท่าเรือคอลงเตยได้รับความสะดวกรวดเร็ว เปิดดำเนินการเพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 5 รอบเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2530 พร้อมได้รับพระราชทานนามว่า "พระราม9" ใครว่างๆ ก็ลองแวะไปดูได้

จากสะพานพระราม 9 ฉันขอต่อด้วย "สะพานพระราม 8" ที่สร้างขึ้นจากพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่มีพระราชดำริให้สร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มอีก 1 แห่ง เพื่อเชื่อมต่อระหว่างฝั่งพระนครกับฝั่งธนบุรีและบรรเทาการจราจรบนสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า รวมถึงเป็นจุดเชื่อมต่อในโครงการพระราชดำริตามแนวจตุรทิศ

อีกหนึ่งสุนทรียภาพของสะพานวงแหวน (ภาพจากหนังสือ "สะพานวงแหวนอุตสาหกรรมอันเนื่องมาจากพระราชดำริ")

สะพานพระราม 8 เริ่มเปิดให้ใช้ตั้งแต่วันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ.2545 เวลา 7:00 น. เป็นสะพานสะพานขึงแบบอสมมาตรติดอันดับ 5 ของโลก โดยได้ติดตั้งสายเคเบิลระนาบคู่ 28 คู่ขึงยึดพื้นช่วงข้ามแม่น้ำ และใช้สายเคเบิลระนาบเดี่ยว 28 เส้น ขึงยึดรั้งกับโครงสร้างยึดเสาสะพานบนฝั่งธนบุรี

สะพานพระราม 8 มีความยาวรวม 475 เมตร โดยมีเสาสะพานหลักเสาเดียวบนฝั่งธนบุรี และมีเสารับน้ำหนัก 1 ต้นบนฝั่งพระนคร ทั้งนี้เพื่อให้ไม่มีปัญหาต่อการสัญจรทางน้ำ รวมทั้งไม่กระทบต่อการจัดตั้งขบวนเรือพระราชพิธี นับเป็นอีกหนึ่งสะพานที่มีรูปแบบโดดเด่นสวยงาม จึงทำให้มีนักท่องเที่ยวนิยมมาถ่ายรูปคู่กับสะพานพระราม 8 เป็นจำนวนมาก

สำหรับสะพานสุดท้ายที่ฉันเลือกหยิบยกมาให้ชมกัน คือ เพชรน้ำเอกอีกเม็ดหนึ่งที่กำลังเจิดจรัส "สะพานวงแหวนอุตสาหกรรม" เป็นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา สะพานแห่งนี้เกิดขึ้นจากสายพระเนตรอันยาวไกล และด้วยพระเมตตาต่อปวงประชาราษฎร์ให้คลายทุกข์อันเนื่องจากวิกฤติจราจร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานแนวพระราชดำริให้แก้ไขปัญหาติดขัดอันเนื่องมาจากรถบรรทุกใหญ่

โดยมีพระราชประสงค์ให้สร้างเป็นถนนวงแหวนอุตสาหกรรม สำหรับรองรับรถบรรทุกที่วิ่งผ่านอยู่ในเส้นทางเส้นทางที่เป็นวงแหวน เชื่อมระหว่างโรงงานอุตสาหกรรมในจังหวัดสมุทรปราการทั้งสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยากับบริเวณท่าเรือคลองเตย เพื่อมิให้รถบรรทุกเหล่านี้วิ่งเข้าไปยังตัวเมืองหรือทิศทางอื่นๆทำให้ปัญหาการจราจรบรรเทาลงได้

พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า
จุฬาโลกมหาราชที่สะพานพุทธ

ซึ่งมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2549 ช่วงแรกของการปิดสะพานเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าเดินชมบนสะพานด้วย จุดเด่นของสะพานวงแหวนอุตสาหกรรมคือ มีลักษณะเป็นสะพานขึงด้วยสายเคเบิ้ลสองระนาบแบบสมมาตร จำนวน 2 สะพานต่อเนื่องกัน ข้ามเจ้าพระยาด้านทิศเหนือบริเวณถนนพระราม 3 และด้านใต้บริเวณปลายถนนปู่เจ้าสมิงพราย

ตรงบริเวณกึ่งกลางระหว่างสองสะพาน มีทางแยกต่างระดับส่วนกลาง สูงจากพื้นดินประมาณ 45 เมตรเปรียบเสมือนวงแหวนที่เปล่งรัศมีพร่างพรายไปทุกทิศ และรูปแบบเสาสูงของสะพาน จึงออกแบบเป็นเหลี่ยมเพชร รูปสี่เหลี่ยมข้ามหลามตัด

โดยส่วนยอดของเสาแสดงถึงสัญลักษณ์ความเป็นไทย ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากรูปทรงของยอดเจดีย์หรือยอดชฎาแสดงความพิสุทธิ์สูงค่าเปรียบประดุจพระธำรงเพชรที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานด้วยพระเมตตาแด่ทวยราษฎร์ของพระองค์

นอกจากนี้บริเวณพื้นที่ใต้ทางแยกต่างระดับส่วนกลางในเขตบางกระเจ้า ยังได้พัฒนาเป็นพื้นที่สวนสาธารณะลานสันทนาการและอาคารพิพิธภัณฑ์อีกด้วย

ทัศนียภาพของแม่น้ำเจ้าพระยาเมื่อมองจากสะพานพระราม 8

และนั่นเป็นส่วนหนึ่งของสะพานเด่นๆ ในเมืองกรุง ซึ่งสำหรับฉันแล้ว สะพานหลายแห่งๆ ในกรุงเทพฯ ไม่เพียงเป็นสิ่งที่สร้างขึ้นมาเพื่อเชื่อม 2 ฝั่งลำน้ำเท่านั้น แต่สะพานยังเป็นดังตัวเชื่อมกาลเวลาให้ผู้คนได้เห็นถึงความเป็นไปในอดีตและปัจจุบัน อีกทั้งสะพานยังเป็นหนึ่งในสิ่งบอกเล่าประวัติศาสตร์

สะพานจึงเป็นดังสิ่งเชื่อมโยงวิถีชีวิตผู้คนและจิตวิญญาณ ที่หากใครผ่านมาผ่านไปหากมีเวลาลองแวะดูสะพานเหล่านั้น บางทีอาจจะพบว่าสะพานหลายๆ แห่งที่เราใช้ข้ามแม่น้ำอยู่เป็นประจำนั้น หากมองให้ลึกลงไปมันมีสิ่งดีๆ ที่น่าสนใจแอบแฝงซ่อนอยู่ไม่น้อยเลย



ที่มาข้อมูล : ผู้จัดการ
 https://www.myfirstbrain.com/AroundTheCity_View.aspx?Id=61026


Hotmail® has a new way to see what's up with your friends. Check it out.