| | พระที่นั่งอนันตสมาคม พระที่นั่งสำคัญในพระราชวังดุสิต พระราชวังดุสิต มีอาณาเขตทางด้านทิศเหนือจดถนนราชวิถี ทิศใต้จดถนนศรีอยุธยา ทิศตะวันออกจดถนนสวรรคโลก และทิศตะวันตกจดถนนนครราชสีมา สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2442 โดย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ซื้อที่ชายทุ่งนาของราษฎรระหว่างคลองผดุงกรุงเกษมจนถึงคลองสามเสน เพื่อสร้างพลับพลาขึ้นเป็นที่เสด็จประทับแรมชั่วคราว แล้วพระราชทานนามว่า สวนดุสิต เนื่องจากนายแพทย์ประจำพระองค์ได้กราบบังคมทูลว่า ภายในพระบรมมหาราชวังมีความแออัด ไม่ถูกสุขลักษณะ ทำให้ทรงพระประชวรอยู่เสมอ
ที่ประทับชั่วคราวนี้ สร้างขึ้นแตกต่างจากพระบรมมหาราชวัง เพราะเน้นไปให้ผู้อยู่อาศัยได้อยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาติมากที่สุด คือ มีการพระตำหนัก พลับพลา อยู่ท่ามกลางสวนดอกไม้ สวนผลไม้ แปลงไม้ประดับ แวดล้อมไปด้วยสระน้ำ คูน้ำ และคลองน้อยใหญ่ ทำให้เกิดความร่มรื่น และมีอากาศเย็นสดชื่นตลอดเวลา
ต่อมาเมื่อเสด็จฯ มาประทับที่สวนดุสิตบ่อยครั้ง จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวังที่ประทับเป็นการถาวร พระราชทานนามว่า วังสวนดุสิต จนกระทั่งเมื่อมีการขยายพระนครไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ โดยตัดถนนเพิ่มขึ้นหลายสายในละแวกนี้ เช่น ถนนสามเสน ถนนราชดำเนินใน ถนนราชดำเนินนอก จึงเสด็จฯ มาประทับที่วังนี้เป็นการถาวร แล้วพระราชทานนามใหม่ว่า พระราชวังสวนดุสิต ส่วนพระบรมมหาราชวังนั้นทรงใช้เฉพาะเมื่อมีพระราชพิธีต่างๆ เท่านั้น
นอกจากพระที่นั่งต่างๆ ที่โปรดเกล้าฯ ให้สร้าขึ้นในพระราชวังสวนดุสิตแล้ว รัชกาลที่ 5 ยังโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเรือนต้นขึ้นใน พ.ศ.2444 เพื่อใช้เป็นที่เสด็จฯ ออกพบประชาชนที่พระองค์ทรงรู้จักเมื่อครั้งเสด็จประพาสต้น และยังโปรดเกล้าฯ ให้สร้างสวนและพระตำหนักพระราชทานเป็นที่ประทับของสมเด็จพระอัครมเหสี พระราชเทวี พระอัครชายา พระราชชายา เจ้าจอม และพระธิดาในพระองค์ ซึ่งมีสวนอยู่มากมาย เช่น สวนสี่ฤดู สวนหงส์ สวนบัว สวนฝรั่งกังไส สวนนกไม้ สวนม้าสน สวนผักชีเข้ม สวนญี่ปุ่น สวนวิลันดา สวนโป๊ยเซียน เป็นต้น แล้วพระราชทานชื่อถนน ประตู ตลอดจนคลองหน้าตำหนักต่างๆ เป็นศัพท์จีน ตามชื่อของเครื่องลายครามที่นิยมเล่นกันในสมัยนั้น คือ เครื่องกิมตึ๋ง เช่น ประตูเซียน ประตูโลโต ประตูกิเลน คลองเม่งเส็ง คลองรางเงิน คลองอ่างหยก ถนนส้มมือ ถนนซังฮี้ ถนนบ๋วย เป็นต้น
ต่อมาเมื่อรัชกาลที่ 5 เสด็จฯ กลับจากประพาสทวีปยุโรปครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ.2451 ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้ขยายเขตพระราชฐานด้านหลังของพระราชวังดุสิตเป็นเขตพระราชอุทยานส่วนพระองค์ เรียกว่า สวนสุนันทา โดยมีพระราชประสงค์ให้ใช้เป็นสถานที่ประทับถาวรของพระราชธิดา ที่อยู่ของเจ้าจอมมารดา เจ้าจอม และข้าราชบริพารในพระองค์ ในยามที่รัชกาลที่ 5 ได้เสด็จสวรรคตแล้ว ท่านเหล่านั้นจะได้มีที่อยู่อาศัย ไม่ต้องเกิดความลำบาก
รัชกาลที่ 5 เสด็จสวรรคตเมื่อปี พ.ศ.2453 ภายใน พระที่นั่งอัมพรสถาน ซึ่งเป็นพระที่นั่งหนึ่งของพระราชวังสวนดุสิต ต่อมาในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ได้มีการก่อสร้างพระราชวังสวนดุสิตเพิ่มเติมอยู่หลายประการ ซึ่งดูได้จาก แผนผังพระราชวังดุสิตในสมัยรัชกาลที่ 6 จนเมื่อแล้วเสร็จ ได้พระราชทานนามใหม่ว่า พระราชวังดุสิต
รัชกาลที่ 6 ยังได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้าง สวนจิตรลดา ขึ้นระหว่างพระราชวังดุสิตกับวังพญาไท เพื่อทรงใช้เป็นที่เสด็จประพาสและประทับแรม ในสวนจิตรลดามีพระตำหนักองค์หนึ่ง พระราชทานนามว่า พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ต่อมาในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) ได้โปรดเกล้าฯ ให้ผนวกสวนจิตรลดานี้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของพระราชวังดุสิต
พระราชวังดุสิตถูกใช้เป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 แม้บางส่วนจะได้มีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นที่ทำการของหน่วยงานรัฐบาล แต่ปัจจุบันก็ยังคงเหลือส่วนหนึ่งที่เป็นเขตพระราชวังที่ประทับถาวรในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวซึ่งก็คือบริเวณพระตำหนักจิตรลดารโหฐานนั่นเอง
ภายในพระราชวังดุสิตมีพระที่นั่งและพระตำหนักสำคัญอยู่หลายแห่ง เช่น
| พระที่นั่งวิมานเมฆ พระที่นั่งอภิเศกดุสิต และพระที่นั่งอัมพรสถาน (จากซ้ายไปขวา) พระที่นั่งวิมานเมฆ สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยแต่เดิมนั้นสร้างอยู่ที่เกาะสีชัง มีชื่อว่า พระที่นั่งมันธาตุรัตนโรจน์ แต่ยังสร้างไม่เสร็จก็มีพระราชดำริให้ย้ายมาสร้างใหม่ที่พระราชวังดุสิต ใช้เวลาสร้างประมาณ 7 เดือนก็เสร็จสมบูรณ์ พระราชทานนามว่า พระที่นั่งวิมานเมฆ เฉลิมพระที่นั่งในวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ.2445 เป็นพระที่นั่งถาวรองค์แรกในพระราชวังดุสิต และเป็นพระที่นั่งที่สร้างด้วยไม้สักทององค์ใหญ่ที่สุดในโลก ตัวอาคารเป็นรูปตัว L สูง 3 ชั้น ได้รับอิทธิพลมาจากสถาปัตยกรรมตะวันตก ส่วนที่ประทับเรียกว่า แปดเหลี่ยม สูง 4 ชั้น ชั้นล่างก่ออิฐถือปูน ส่วนชั้นบนเป็นไม้สักทองทั้งหลัง มีทั้งหมด 33 ห้อง หลังจากรัชกาลที่ 6 เสด็จสวรรคตพระที่นั่งองค์นี้ก็กลายมาเป็นที่อยู่ของทหารชั่วระยะเวลาหนึ่ง ต่อมาเมื่อทหารได้ถวายคืนแล้ว ทางสำนักพระราชวังก็บูรณะขึ้นใหม่ จัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์พระที่นั่งวิมานเมฆ ตามพระราชประสงค์ของ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลปัจจุบัน
พระที่นั่งอภิเศกดุสิต สร้างขึ้นหลังพระที่นั่งวิมานเมฆประมาณ 2 ปี เป็นพระที่นั่งโถงไม้ชั้นเดียว ยกพื้นสูง ทางเข้ามี 3 มุข มุขกลางเป็นมุขใหญ่สำหรับเสด็จฯ ได้รับอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมของแขกมัวร์ คือ มีการฉลุลวดลายที่ไม้ที่ชายคามุขทั้ง 3 เป็นลายขนมปังขิง ประดับกระจกสี หน้าบันเหนือประตูทางเข้าประดับลวดลายปูนปั้นเป็นตราพระราชลัญจกรในรัชกาลที่ 5 ภายในเป็นโถงหลังคาสูง ตรงกลางติดโคมไฟ ระหว่างช่องเสาประดับด้วยไม้ค้ำยันแบบตะวันตก ฉลุลายไม้อย่างงดงาม ที่หน้าบันเป็นศิลปะแบบแขกมัวร์ พระที่นั่งองค์นี้สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นท้องพระโรง และสถานที่ประกอบพระราชพิธีบางอย่างได้โดยที่ไม่ต้องเสด็จฯ กลับไปพระบรมมหาราชวัง แต่ปัจจุบันใช้เป็นอาคารจัดแสดงงานศิลปหัตถกรรมของสมาชิกมูลนิธิศิลปาชีพ และของสะสมในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลปัจจุบัน
พระที่นั่งอัมพรสถาน สร้างขึ้นพร้อมๆ กับพระที่นั่งอภิเศกดุสิต แต่แล้วเสร็จในปี พ.ศ.2449 สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ประทับและทรงพระสำราญในเวลาเสด็จประพาสพระราชวังดุสิต นับเป็นพระที่องค์ประธานในพระราชวังดุสิต พระที่นั่งองค์นี้มีทางเชื่อมต่อกับ พระที่นั่งอุดรภาค ทางทิศเหนือ โดยพระที่นั่งอัมพรสถานเป็นที่ประทับของรัชกาลที่ 5 ส่วนพระที่นั่งอุดรภาคเป็นที่ประทับของ สมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี (ซึ่งทรงเป็นเลขานุการส่วนพระองค์) พระที่นั่งองค์นี้ออกแบบและควบคุมการก่อสร้างโดยช่างชาวต่างชาติเกือบทั้งหมด โดยเฉพาะช่างชาวเยอรมันและชาวอิตาเลียน ตัวอาคารสูง 2 - 3 ชั้น จึงมีลักษณะศิลปะเยอรมันเรอเนซองส์ ส่วนการตกแต่งเป็นศิลปะอิตาเลียนและแนวนวศิลป์ (art nouveau) ภายในอาคารโดดเด่นด้วยการเขียนภาพแบบเฟรสโก (เขียนสีปูนแห้ง) เป็นรูปพันธุ์ไม้ต่างๆ และรูปวรรณคดีไทย เช่น มโนราห์ พระที่นั่งองค์นี้เคยเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีนาถองค์ปัจจุบันในช่วงที่เพิ่งเสด็จนิวัติกลับประเทศไทย ทั้งยังเป็นสถานที่พระราชสมภพของ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ด้วย
| พระที่นั่งอนันตสมาคม วังสวนกุหลาบ สวนสุนันทา พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน (จากซ้ายไปขวา และบนลงล่าง) พระที่นั่งอนันตสมาคม สร้างขึ้นในวโรกาสที่รัชกาลที่ 5 ทรงครองราชย์ครบ 40 ปี ใช้เป็นที่เสด็จออกมหาสมาคม และเป็นท้องพระโรงขนาดใหญ่สำหรับรับรองแขกบ้านแขกเมือง เริ่มสร้างเมื่อ พ.ศ.2451 แล้วเสร็จในสมัยรัชกาลที่ 6 ปี พ.ศ.2458 ออกแบบก่อสร้างโดย มาริโอ ตามานโญ (Mario Tamagno) ช่างชาวอิตาเลียน จึงมีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบยุโรปยุคเรอเนซองส์ ตกแต่งพระที่นั่งด้วยหินอ่อนซึ่งสั่งมาจากเมืองคารารา ประเทศอิตาลี จุดเด่นสำคัญอยู่ที่หลังคาโดมคลาสสิกแบบโรมันซึ่งอยู่ตรงกลางพระที่นั่ง และล้อมรอบด้วยโดมเล็กๆ อีก 6 โดม เพดานด้านในของโดมวาดภาพด้วยวิธีเฟรสโก เป็นภาพพระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 1 - 6 แห่งราชวงศ์จักรี พระที่นั่งองค์นี้ ถือว่าเป็นรัฐสภาแห่งแรกของประเทศไทย เพราะในช่วงที่เพิ่งเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง ได้ใช้พระที่นั่งองค์นี้ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ทั้งยังเป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีและรัฐพิธีสำคัญๆ อีกมากมาย ที่ด้านหน้าของพระที่นั่งอนันตสมาคมเป็นที่ตั้งของพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 5 หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า พระบรมรูปทรงม้า สร้างขึ้นเพื่อเป็นเครื่องประกาศพระเกียรติคุณในวโรกาสที่ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 40 ปี
สวนสุนันทา หลังจากที่รัชกาลที่ 5 เสด็จฯ กลับจากประพาสยุโรปครั้งที่ 2 ก็โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชอุทยานส่วนพระองค์ขึ้นสวนหนึ่ง อยู่ทางด้านหลังของพระราชวังดุสิต และโปรดเกล้าฯ ให้แบ่งส่วนหนึ่งท่ามกลางแมกไม้ใหญ่ มิดชิดจากภายนอก และเงียบสงบ ใช้เป็นที่ประทับถาวรของพระราชธิดา เจ้าจอมมารดา เจ้าจอม และข้าราชบริพารส่วนพระองค์ เนื่องจากพระองค์ได้ทรงเตรียมการล่วงหน้าว่า ต่อไปหากพระองค์เสด็จสวรรคตไปแล้ว บุคคลเหล่านี้จะประสบความลำบาก ไร้ที่ประทับถาวร จึงได้ทรงจัดเตรียมไว้พระราชทาน เรียกว่า สวนสุนันทา เพื่อแสดงความระลึกถึง สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี ซึ่งสิ้นพระชนม์เนื่องจากอุบัติเหตุเรือพระที่นั่งล่ม สวนสุนันทาเริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ.2451 แล้วเสร็จในสมัยรัชกาลที่ 6 มีตำหนักต่างๆ ภายในสวนถึง 32 ตำหนัก ซึ่งได้ใช้ประโยชน์ดังพระราชประสงค์ในรัชกาลที่ 5 ทุกประการ แต่ต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง สวนสุนันทาก็ถูกทิ้งให้ จนกระทั่งปี พ.ศ.2480 รัฐบาลได้จัดบางส่วนให้เป็นสถานศึกษาโดยให้ชื่อว่า โรงเรียนสวนสุนันทาวิทยาลัย และกลายมาเป็น มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ในปัจจุบัน
วังสวนกุหลาบ เป็นวังที่ประทับของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา พระราชโอรสในรัชกาลที่ 5 หลังจากเสด็จกลับจากทรงศึกษาในประเทศอังกฤษ รัชกาลที่ 5 มีพระราชประสงค์จะให้ทรงศึกษาราชการอยู่ใกล้ชิดพระองค์ จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระตำหนักชั่วคราวขึ้นในเขตพระราชวังดุสิต พระราชทานนามว่า สวนกุหลาบ แล้วกรมหลวงนครราชสีมาจึงเสด็จมาประทับอยู่ที่นี่ จนกระทั่งถึงสมัยรัชกาลที่ 6 ได้โปรดเกล้าฯ ให้ขยายพระตำหนักสวนกุหลาบให้ใหญ่โตขึ้น มีตัวอาคารแบบของกระท่อมอังกฤษ และหอคอยสูงแบบฝรั่งเศส ส่วนลวดลายรอบอาคารด้านหน้าเป็นศิลปะแบบอิตาเลียน หลังจากกรมหลวงนครราชสีมาสิ้นพระชนม์แล้ว วังสวนกุหลาบก็ถูกปรับไปใช้เป็นที่ทำการรัฐบาล ที่ทำการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ที่ทำการกรมสวัสดิการทหารบก จนกระทั่งได้มอบคืนให้แก่สำนักพระราชวัง และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานจิตรกรรมฝีพระหัตถ์มาจัดแสดงไว้ที่พระตำหนักวังสวนกุหลาบตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ.2542
พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 ตรงบริเวณระหว่างพระราชวังดุสิตกับพระราชวังพญาไท ที่เรียกกันว่า ทุ่งส้มป่อย เพื่อใช้เป็นที่เสด็จประทับแรมส่วนพระองค์ ทรงพระราชนิพนธ์ และทรงหนังสือราชการ พระราชทานนามว่า สวนจิตรลดา โดยภายในสวนจิตรลดามีพระตำหนักจิตรลดารโหฐานเพียงองค์เดียว ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 7 นอกจากจะประทับที่พระที่นั่งอัมพรสถานแล้ว ยังได้เสด็จมาประทับที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐานเป็นครั้งคราวด้วย จึงโปรดเกล้าฯ ให้ผนวกสวนจิตรลดาเข้าเป็นส่วนหนึ่งของพระราชวังดุสิต ปัจจุบันพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้ประทับเป็นการถาวรที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐานแห่งนี้ ภายในพระตำหนัก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างสถานที่ทำโครงการทดลองส่วนพระองค์เกี่ยวกับการเกษตร เพื่อนำผลการศึกษาพระราชทานแก่ประชาชนทั่วประเทศ
| พระราชวังดุสิต แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร 10300 | | - พระที่นั่งอนันตสมาคม โทร.0-2244-1549, 0-2244-1557-60 - พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน โทร.0-2280-4200 - พระที่นั่งวิมานเมฆ โทร.0-2628-6300-9 | | - พระที่นั่งอนันตสมาคม โทร.0-2244-1558 - พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน โทร.0-2280-1996 - พระที่นั่งวิมานเมฆ โทร.0-2281-6880 | | - พระที่นั่งอนันตสมาคม เปิดให้เข้าชมภายในได้เฉพาะในวันเด็ก - พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน (โครงการส่วนพระองค์) จันทร์ - ศุกร์ เวลา 8.30 - 16.30 น. - พระที่นั่งวิมานเมฆ (พิพิธภัณฑ์) ทุกวัน เวลา 9.30 - 16.00 น. | | สาย 5, 12, 18, 28, 39, 50, 70, 72, 96, 97, 108, 201, ปอ.3, 44, 72, 510, 515, ปอ.พ.4 | | บริเวณด้านหน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม ลานพระบรมรูปทรงม้า | | ต้องขออนุญาตก่อนถ่ายภาพ | | รัฐสภา, สนามม้านางเลิ้ง, วังจันทรเกษม, วังปารุสกวัน, วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม, วัดโสมนัสวิหาร, สวนสัตว์ดุสิต, สวนอัมพร | | คลิกดูแผนที่ตั้งของพระราชวังดุสิต
| | | | | |