วันอาทิตย์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

วัดราชโอรสาราม ราชวรวิหาร

วัดราชโอรสาราม
วัดราชโอรสาราม ราชวรวิหาร

วัดราชโอรสาราม หรือ วัดราชโอรส เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร และเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 3 ตั้งอยู่บนถนนเอกชัย เขตจอมทอง กรุงเทพมหานคร นามของวัดนี้มีความหมายถึงผู้สถาปนาวัด คือ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) ในขณะที่ยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ พระราชโอรสใน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2)

เดิมวัดแห่งนี้ชื่อว่า วัดจอมทอง เป็นวัดราษฎร์สร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา จนเมื่อครั้งพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ทรงนำกองทัพยกไปสกัดทัพพม่าที่ด่านพระเจดีย์สามองค์ เมืองกาญจนบุรี ในปี พ.ศ.2363 เมื่อกระบวนทัพเรือมาถึงวัดจอมทอง ทรงหยุดทัพและทำพิธีเบิกโขลนทวารตามตำราพิชัยสงคราม พร้อมทรงอธิษฐานขอให้การไปราชการสงครามในครั้งนี้ได้รับชัยชนะกลับมา ปรากฏว่าเมื่อยกทัพไปแล้วกลับไม่มีทัพพม่ายกเข้ามา จึงไม่ต้องรบกันให้เหนื่อยยาก ภายหลังพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ จึงได้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์วัดจอมทองขึ้นใหม่ และถวายเป็นพระอารามหลวง ได้รับพระราชทานนามใหม่จากรัชกาลที่ 2 ว่า วัดราชโอรส ซึ่งหมายถึง พระราชโอรสคือ พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ นั่นเอง

การบูรณะวัดในครั้งนั้น พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ทรงควบคุมการก่อสร้างด้วยพระองค์เอง จึงเป็นวัดที่มีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบจีน อันเป็นศิลปะที่โปรดเป็นการส่วนพระองค์ ทำให้กลายเป็นวัดแรกที่สร้างออกนอกแบบอย่างวัดที่สร้างกันทั่วไปในสมัยนั้น

ซุ้มเสมาแบบจีน
ถะ หรือ สถูปเจดีย์

















อย่างไรก็ตาม ลักษณะสถาปัตยกรรมไทยที่มีอยู่ในวัดนี้ ก็มีความเหมาะสมกลมกลืนกันได้อย่างงดงามยิ่งนัก เช่น โบสถ์และวิหารไม่มีช่อฟ้า ใบระกา และหางหงส์ แต่กลับมีหลังคาเป็นกระเบื้องเคลือบแบบไทย กุฏิสงฆ์ก็เป็นอาคารตึกแทนเรือนไม้แบบของเดิม บานประตูหน้าต่างของวิหารพระพุทธไสยาสน์ประดับด้วยเสี้ยวกางแทนลายเทพนม หน้าบันโบสถ์และวิหารประดับพระเบื้องเคลือบสีแบบจีน เป็นต้น จอห์น ครอเฟิร์ด (John Crawfurd) ราชทูตอังกฤษที่เข้ามาเจริญสัมพันธ์ไมตรีในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ยังเคยเขียนบันทึกถึงวัดแห่งนี้ไว้ว่า "เป็นวัดที่สร้างขึ้นอย่างงดงามที่สุดของบางกอก"

วัดราชโอรสารามมีสิ่งที่น่าสนใจ ดังนี้

  1. พระอุโบสถ มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมผสมผสานระหว่างไทยกับจีน หลังคาไม่มีช่อฟ้า ใบระกา และหางหงส์ ซึ่งถือว่าเป็นวัดแรกในสมัยนั้น แต่มุงกระเบื้องสีแบบไทย หน้าบันประดับกระเบื้องเคลือบสีต่างๆ สวยงาม ตอนบนประดับเป็นรูปเครื่องบูชา มีรูปสัตว์มงคลตามคติของจีน คือ มังกร หงส์ และนกยูง ตอนล่างประดับเป็นรูปทิวทัศน์ มีบ้านเรือน ภูเขา ลำธาร วัว กิเลน ต้นไม้ และอื่นๆ ซุ้มประตูหน้าต่างประดับปูนปั้นเป็นลวดลายดอกเบญจมาศ บานประตูด้านนอกประดับมุกลายมังกรดั้นเมฆ ฝีมือละเอียดประณีต ด้านในเขียนรูปทวารบาลแบบจีน ผนังด้านในพระอุโบสถเขียนรูปเครื่องบูชาแบบจีน บนเพดานเขียนรูปดอกเบญจมาศทองบนพื้นสีแดง

  2. พระพุทธอนันตคุณอดุลญาณบพิตร คือพระประธานในพระอุโบสถวัดราชโอรสาราม เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ หน้าตักกว้างประมาณ 1 วา 2 ศอก หรือประมาณ 3.10 เมตร สูงประมาณ 2 วา 1 ศอก หรือประมาณ 4.50 เมตร ประดิษฐานภายใต้นพปฎดลมหาเศวตฉัตร (ฉัตร 9 ชั้น) ซึ่งจะมีเฉพาะวัดที่มีพระบรมอัฐิของพระมหากษัตริย์บรรจุอยู่เท่านั้น กล่าวคือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระสรีรังคารของรัชกาลที่ 3 มาประดิษฐานไว้ที่ฐานพระพุทธรูปองค์นี้ พร้อมกับถวายพระปรมาภิไธยประจำรัชกาล และศิลาจารึกดวงพระชันษา พระพุทธรูปองค์นี้กล่าวว่าเป็นพระพุทธรูปที่สร้างได้งดงามกว่าพระพุทธรูปองค์อื่นที่สร้างในสมัยเดียวกัน

  3. พระแท่นที่ประทับใต้ต้นพิกุล เป็นพระแท่นที่ประทับของพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ขณะเสด็จมาทรงคุมงานและตรวจการก่อสร้างวัดเมื่อครั้งบูรณะใหญ่ ตั้งอยู่ใต้ต้นพิกุลใหญ่ที่ด้านซ้ายของพระอุโบสถ และเล่ากันว่าเคยรับสั่งไว้ว่า "ถ้าฉันตายจะมาอยู่ที่ใต้ต้นพิกุลนี้" ดังนั้นในภายหลังเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์ที่เสด็จฯ มาวัดแห่งนี้ จะต้องเสด็จฯ มาทรงถวายสักการะที่พระแท่นนี้เสมอจนกลายเป็นประเพณี และเมื่อเสด็จฯ ถวายผ้าพระราชกฐินหรือพระบรมวงศานุวงศ์เสด็จถวายผ้าพระกฐิน เจ้าหน้าที่จะต้องตั้งเครื่องมุกไว้ทรงสักการะบูชา ณ ต้นพิกุลนี้ทุกครั้ง

  4. ถะ หรือ สถูปเจดีย์ อยู่ด้านหลังของพระอุโบสถ เป็นสถูปแบบจีน มีทรงเหลี่ยมซ้อนกัน 5 ชั้น สูงประมาณ 5 - 6 วา ยอดเป็นรูปทรงน้ำเต้า ถัดมาเป็นทรงเหลี่ยมซ้อนกันเป็นชั้นๆ ในแต่ละเหลี่ยมเจาะเป็นช่อง เว้นระยะโดยรอบ ถะหรือสถูปองค์นี้ก่อด้วยอิฐถือปูนปิดทึบ ผิวนอกเป็นแผ่นหินอ่อนสลักรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าและลวดลายแปะติดไว้

  5. พระวิหารพระพุทธไสยาสน์ ตั้งอยู่ด้านหลังพระอุโบสถในเขตกำแพงแก้ว เป็นพระวิหารขนาดใหญ่ ภายในประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ปูนปั้นความยาว 20 เมตร ที่บานประตูและบานหน้าต่างด้านนอกของพระวิหารประดับด้วยลายปูนปั้นที่เรียกว่า กระแหนะ เป็นรูปเสี้ยวกางแบบไทย ยืนอยู่บนประแจจีน ประดับด้วยแจกันดอกเบญจมาศและพานผลไม้ เช่น ทับทิม ส้มมือ ลิ้นจี่ มังคุด และน้อยหน่า เป็นต้น เพดานพระวิหารเขียนรูปลายดอกเบญจมาศ นก และผีเสื้อ และหน้าบันพระวิหารประดับด้วยกระเบื้องสีเป็นลายดอกเบญจมาศและรูปสัตว์มงคลของจีน เช่นเดียวกับหน้าบันของพระอุโบสถ โดยรอบลานพระวิหารมีเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองประดิษฐานอยู่ 32 องค์ ที่ผนังระเบียงของพระวิหารมีแผ่นหินอ่อนจารึกตำรายาและตำราหมอนวด ติดเป็นระยะๆ จำนวนทั้งสิ้น 92 แผ่น

  6. ศาลาการเปรียญ อยู่ทางด้านขวาของพระอุโบสถ หลังคาศาลาการเปรียญเป็นแบบจีนลด 2 ชั้น แต่มุงกระเบื้องแบบไทย ผนังด้านนอกศาลาการเปรียญตอนบนเขียนรูปผลไม้ เป็นสัญลักษณ์แห่งความเป็นสิริมงคล เช่น ส้มมือ หมายถึง การมีวาสนาสูง ทับทิม หมายถึง ความมั่นคงอุดมสมบูรณ์ และผลท้อ หมายถึง การมีอายุยืน ส่วนพระประธานในศาลาการเปรียญเป็นพระพุทธรูปปั้น ปางประทานพระธรรมเทศนา

คลิกที่นี่
คลิกเพื่อดูภาพเพิ่มเติม


ข้อมูลเพิ่มเติม
ที่อยู่ เลขที่ 258 ซอยเอกชัย 4 ถนนเอกชัย แขวงบางค้อ เขตจอมทอง กรุงเทพมหานคร 10150
โทรศัพท์ 0-2415-2286, 0-2893-7274
โทรสาร 0-2893-7273
เวลาทำการ - บริเวณวัด ทุกวัน เวลา 05.00 - 20.00 น.
- โบสถ์ ทุกวัน เวลา 08.00 - 09.00 น., 16.30 - 18.00 น.
รถประจำทาง สาย 10, 43, 120, ปอ.พ.9
ที่จอดรถ บริเวณภายในวัด
เรือโดยสาร เรือหางยาวโดยสาร (ปากคลองตลาด - วัดราชโอรส), เรือหางยาวโดยสาร (ปากคลองตลาด - วัดปากน้ำ)
ห้องสมุด ห้องสมุดภัทรมงคล (เก็บหนังสือธรรมะ และเอกสารภาษาบาลี), ห้องสมุดประชาชน กรุงเทพมหานคร
โรงเรียน โรงเรียนวัดราชโอรส
ทะเบียนโบราณสถาน ขึ้นทะเบียนโบราณสถานปี พ.ศ.2492
การถ่ายรูป การถ่ายภาพภายในอาคารต้่องขออนุญาตก่อน
สถานที่ใกล้เคียง วัดไทร, วัดนางนอง, วัดหนัง
แผนที่ คลิกดูแผนที่ตั้งของวัดราชโอรสาราม
https://www.myfirstbrain.com/AroundTheCity_View.aspx?Id=49358

Insert movie times and more without leaving Hotmail®. See how.