วันอาทิตย์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

"พิพิธภัณฑ์ธรณีวิทยา"

พิพิธภัณฑ์ธรณีวิทยา
ไดโนเสาร์ตัวใหญ่ด้านหน้าทางเข้าพิพิธภัณฑ์

หลังจากที่เคยคิดว่า เรื่องของหิน ดิน แร่ เป็นเรื่องไกลตัวมานาน จนวันนี้ความคิดฉันก็เปลี่ยนไปเมื่อได้มาชม "พิพิธภัณฑ์ธรณีวิทยา" ที่กรมทรัพยากรธรณี บนถนนพระราม 6 ใกล้กับโรงพยาบาลสงฆ์นี่เอง

พิพิธภัณฑ์ธรณีวิทยานี้ก็จะจัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับเรื่องใต้พื้นพิภพทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเปลือกโลก หิน แร่ รวมไปถึงซากฟอสซิลดึกดำบรรพ์ ซึ่งที่มาของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้นั้นก็เริ่มมาจากเกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 หรือเมื่อ พ.ศ.2467 โดยกรมราชโลหกิจและภูมิวิทยา กระทรวงเกษตราธิการ(สมัยนั้น) ได้สั่งตัวอย่างแร่และหินจากต่างประเทศมาจัดแสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์เพื่อให้คนไทยมีโอกาสได้ศึกษาแร่และหินชนิดต่างๆ จากของจริง

ส่วนจัดแสดงตัวอย่างหินและผลิตภัณฑ์จากแร่
แต่ก่อนนั้นพิพิธภัณฑ์มีชื่อว่า พิพิธภัณฑ์แร่และหิน แต่ภายหลังในปี พ.ศ.2548 เมื่ออุตสาหกรรมแร่มีความก้าวหน้า ประชาชนสนใจเรื่องแร่กันมากขึ้น กรมทรัพยากรธรณีจึงได้สร้างอาคารพิพิธภัณฑ์หลังนี้ขึ้น เพิ่มเนื้อหาสาระให้ครอบคลุม และเปลี่ยนชื่อเป็น "พิพิธภัณฑ์ธรณีวิทยา" อย่างในปัจจุบัน

สิ่งแรกที่สะดุดตาฉันเมื่อย่างเท้าเข้าสู่พิพิธภัณฑ์ก็คือเจ้าไดโนเสาร์ทีเร็กซ์ตัวใหญ่ที่ยืนอ้าปากเหมือนจะกินหัวฉันอยู่ด้านหน้าทางเข้า ฉันรีบหนีเจ้าทีเร็กซ์เข้ามาด้านใน และเริ่มชมภายในพิพิธภัณฑ์ด้วยการมาทำความรู้จักกับการกำเนิดของจักรวาล ส่วนนี้จะเป็นความรู้ให้ว่าโลกเกิดมาได้อย่างไร เปลือกโลกมีการเคลื่อนตัวได้อย่างไร และเคลื่อนตัวยังไงบ้าง เป็นการปูพื้นฐานก่อนที่จะไปรู้จักกับ "แร่" ต่างๆ

แร่ที่เกิดขึ้นจากธรรมชาติเหล่านี้ก็มีทั้งแร่ "ปฐมภูมิ" คือแร่ที่ตกผลึกโดยตรงจากการเย็นตัวของหินหนืดภายในโลก และแร่ "ทุติยภูมิ" หรือแร่ที่เกิดจากการผุพังสลายตัวจากแร่ปฐมภูมิ ตรงส่วนนี้จัดแสดงแร่ธาตุโดยแบ่งประเภทตามส่วนประกอบทางเคมี อีกทั้งยังอธิบายคุณสมบัติทางกายภาพของแร่พร้อมกับมีตัวอย่างให้ดูอย่างละเอียด เช่น สี ความวาว ความแข็ง และแนวแตกเรียบ ฯลฯ

จากนั้นต้องเตรียมตัวให้พร้อม ก่อนที่จะเดินเข้าอุโมงค์แร่เข้าไปขุดแร่กัน ตรงจุดนี้ฉันได้เห็นแร่ชนิดต่างๆ ที่มีรูปลักษณ์ประหลาดๆ แต่ก็สวยงามดี อย่างรูปแท่ง รูปพวงองุ่น รูปไข่ ฯลฯ และแร่รัตนชาติมีค่ามากมายทั้งเพชร ทั้งทับทิม ไพลิน ฯลฯ แต่อาจจะไม่สวยเท่าในร้านขายอัญมณี เพราะว่านี้คือแร่รัตนชาติที่ยังไม่ได้นำไปเจียระไน แล้วก็ยังมีแร่แปลกๆ อย่าง เทคไทต์ ที่เป็นวัตถุสีดำ ลักษณะคล้ายของหนืดเหลวที่เเข็งตัวแล้ว เชื่อกันว่าเทคไทต์นี้เกิดจากการที่ดาวตกตกลงยังโลกแล้วทำให้หินที่อยู่รอบๆ หลอมกลายเป็นเทคไทต์ บ้างก็ว่าเทคไทต์คือสะเก็ดดาวที่ตกลงมาแล้วหลอมละลายด้วยการเสียดสีกับชั้นบรรยากาศ

แร่หลากหลายชนิดที่หาดูไม่ได้ง่ายๆ
รูปลักษณ์ต่างๆ ของแร่ แลดูแปลกตา

แร่ที่แปลกกว่าเทคไทต์ก็ยังมี นั่นก็คือแร่เรืองแสงได้ เช่นแร่ สแคโพไลต์ แร่ไฮโดรซิงไคต์ ฯลฯ ซึ่งแร่เหล่านี้ก็มีประโยชน์ตรงที่สามารถนำมาใช้ในการสำรวจแหล่งแร่และประมาณปริมาณแร่ได้ด้วย

ภายในอุโมงค์แร่นี้นอกจากจะได้รู้จักกับแร่แบบต่างๆ แล้วก็ยังจะได้รู้ที่มาของแร่ หรือการทำเหมืองแร่แบบต่างๆ ทั้งเหมืองเเล่น เหมืองสูบและเหมืองฉีด เหมืองอุโมงค์ เหมืองเรือขุด ฯลฯ ที่นอกจากจะมีคำอธิบายเหมืองแต่ละแบบแล้ว ก็ยังมีรูปจำลองเหมืองให้ดู แถมมีเสียงบรรยากาศการขุดแร่ในเหมืองให้ฟังอีกต่างหาก แหม...ถ้าได้มาดูพิพิธภัณฑ์นี้ก่อนจะได้ไปดูหนังเรื่องมหา'ลัยเหมืองแร่ก็คงจะเยี่ยมไปเลย

ครบถ้วนเรื่องราวใต้พิภพที่พิพิธภัณฑ์ธรณีวิทยา
ออกมาจากอุโมงค์แร่มาแล้ว ฉันก็ได้รู้ว่า แร่ต่างๆ เหล่านี้ไม่ได้เป็นเรื่องไกลตัวหรือจับต้องไม่ได้อย่างที่เคยคิดไว้ เพราะแร่นั้นสามารถนำมาแปรรูปได้เป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ มากมาย ทั้งในอุตสาหกรรมการก่อสร้าง ปูน แผ่นยิปซั่ม แร่ธาตุบางตัวนำมาทำเป็นเครื่องถ้วยชามเซรามิค แก้วน้ำ ที่เราใช้กันอยู่ทุกวัน รวมไปถึงพลาสติกที่นำมาทำเป็นขวดแชมพู ขวดนม ของเล่นเด็กต่างๆ ก็มาจากแร่ หรือแม้กระทั่งยาก็ยังต้องอาศัยแร่เหล่านี้ เช่น ฟลูออไรด์ที่ช่วยป้องกันฟันผุก็มาจากแร่หลูออไรด์ ยาเม็ดเพิ่มแคลเซียมก็มาจากแร่แคลไซต์ ยาระบายแมกนีเซียก็มาจากแร่แมกนีเซียม เห็นไหมล่ะว่าใกล้ตัวจริงๆ

นอกจากแร่แล้ว ใต้พื้นพิภพของเราก็ยังมีขุมทรัพย์อย่างเชื้อเพลิงธรรมชาติ หรือปิโตรเลียมอยู่ด้วยเช่นกัน โดยปิโตรเลียมที่ว่านี้ก็อยู่ในสถานะต่างๆ เช่นหากเป็นของเหลวก็เรียกว่าเป็นน้ำมันดิบ หากเป็นก๊าซก็เรียกก๊าซธรรมชาติ หรือหากเป็นของหนืดก็เรียกว่าแอลฟัสต์

หากใครอยากรู้ละเอียดต้องมาดูให้เห็นชัดๆ เพราะเขามีรูปจำลองแท่นขุดเจาะน้ำมันให้ดู รวมทั้งแผนที่แสดงจุดที่เป็นแหล่งปิโตรเลียมเหล่านี้ในประเทศไทยให้ดูด้วย

ไหนๆ ก็เจาะลึกลงไปใต้พื้นพิภพทั้งที จะให้พลาดเรื่องฟอสซิลของสัตว์โลกล้านปีอย่างไดโนเสาร์ไปได้อย่างไร ที่นี่เขาอธิบายให้ฟังละเอียดเลยว่า ซากฟอสซิลนั้นคืออะไร เกิดขึ้นมาได้อย่างไร แล้วก็ยังมีโครงกระดูกไดโนเสาร์ให้ดูใกล้ๆ อีกต่างหาก แล้วแถมใครอยากจะดูไดโนเสาร์ตัวเป็นๆ ก็ออกไปดูได้ที่หน้าพิพิธภัณฑ์อีกด้วย แหม...ข้อมูลครบถ้วนขนาดนี้จะหาได้ที่ไหนอีกล่ะ

โครงกระดูกไดโนเสาร์จำลอง
ภายในพิพิธภัณฑ์
พูดถึงเรื่องไดโนเสาร์แล้วฉันก็ได้ความรู้ใหม่มาจากที่นี่ว่า ในประเทศไทยนี้ก็มีการขุดพบซากฟอสซิลไดโนเสาร์อยู่เยอะเหมือนกัน โดยฟอสซิลที่ขุดพบนั้นก็มีเก่าแก่มากน้อยต่างกัน รวมทั้งมีชนิดที่พบใหม่ และชนิดที่พบได้ทั่วไปอีกด้วย

และหากมีการขุดพบฟอสซิลไดโนเสาร์ชนิดใหม่ๆ แล้ว ก็จะต้องมีการตั้งชื่อตามผู้ที่พบเพื่อเป็นเกียรติเสียหน่อย ฉันจึงได้เห็นชื่อไดโนเสาร์น่ารักๆ เช่น ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน ที่ได้รับการตั้งชื่อเพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนฯ ซึ่งเป็นผู้ที่มีความสนพระทัยงานด้านโบราณชีววิทยา หรือจะเป็น สยามโมซอรัส สุธีธรนี ซึ่งตั้งชื่อให้เป็นเกียรติแก่ นายวราวุธ สุธีธร ผู้มีส่วนร่วมในการสำรวจ และ ซิตตะโกซอรัส สัตยารักษ์กิ ที่ตั้งชื่อให้เป็นเกียรติแก่ นายนเรศ สัตยารักษ์ ผู้ค้นพบคนแรก ฟังๆ แล้วก็อยากจะเป็นคนค้นพบซากไดโนเสาร์เป็นคนแรกบ้างจังเลย

เจาะลึกเรื่องไดโนเสาร์กันไปแล้ว มาดูเรื่องของแหล่งท่องเที่ยวธรณีวิทยาในประเทศไทยกันบ้าง ซึ่งมีอยู่หลายแห่งเชียวล่ะ ไม่ว่าจะเป็นที่ถ้ำแก้วโกมล จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งภายในถ้ำเต็มไปด้วยผลึกแร่แคลไซต์สีขาวจับตัวกันมองดูคล้ายเกล็ดน้ำแข็ง หรือที่ออบหลวง จังหวัดเชียงใหม่ ที่มีสภาพพื้นที่เป็นภูเขาหน้าผาสูงชัน และมีโขดหินขนาดใหญ่น้อยมากมาย รวมทั้งยังมีลักษณะเป็นช่องแคบเขาขาด ซึ่งเป็นประติมากรรมธรรมชาติอีกด้วย ส่วนภาคอีสานก็มีหอนางอุสา ในอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ที่จังหวัดอุดรธานี ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิประเทศซึ่งมีโครงสร้างส่วนใหญ่เป็นหินทรายที่ถูกขัดเกลาจากขบวนการกัดกร่อนทางธรรมชาติทำให้เกิดเป็นโขดหินน้อยใหญ่รูปร่างต่างๆ กัน

ปิดท้ายการชมพิพิธภัณฑ์ธรณีวิทยากันที่การเรียนรู้เรื่องราวของธรณีพิบัติภัย อันได้แก่เหตุการณ์แผ่นดินยุบ ภูเขาไฟระเบิด ดินถล่ม แผ่นดินไหว และคลื่นยักษ์สึนามิ ซึ่งพิบัติภัยอันหลังสุดนี้มีวีดิทัศน์ให้ชมกันด้วย มาจบท้ายกันที่ธรณีพิบัติภัยอย่างนี้ก็เหมือนกับจะบอกว่า พื้นพิภพให้คุณประโยชน์กับมนุษย์มากเหลือเกิน แต่ก็เมื่อผืนดินต้องการจะเอาคืนบ้าง มนุษย์ตัวเล็กๆ อย่างเราก็ทำอะไรไม่ได้เลย





แผนที่การเดินทางและรายละเอียดของ "พิพิธภัณฑ์ธรณีวิทยา"


พิพิธภัณฑ์ธรณีวิทยา ตั้งอยู่ที่ 75/10 กรมทรัพยากรธรณี ถนนพระราม 6 เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10300 หรืออยู่ตรงข้ามมหาวิทยาลัยมหิดล ข้างโรงพยาบาลสงฆ์ สามารถขึ้นรถประจำทางสาย 8, 44, 67, 92, 97 ,509 ฯลฯ ได้

พิพิธภัณฑ์เปิดให้เข้าชมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ตั้งแต่วันจันทร์-วันศุกร์ เวลา 08.30-16.30 น. เข้าชมเป็นหมู่คณะกรุณาทำหนังสือติดต่อล่วงหน้า สอบถามรายละเอียดโทร 0-2202-3670, 0-2202-3669




ที่มาข้อมูล : ผู้จัดการ
 https://www.myfirstbrain.com/AroundTheCity_View.aspx?Id=54806


Hotmail® has a new way to see what's up with your friends. Check it out.