| วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม วัดประจำรัชกาลที่ 4 วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม หรือเรียกสั้นๆ ว่า วัดราชประดิษฐ์ เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร ตั้งอยู่ที่ถนนสราญรมย์ แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ถือเป็นวัดประจำรัชกาลของ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่ออุทิศส่วนกุศลถวายแด่พระสงฆ์คณะ ธรรมยุตินิกาย จึงนับเป็นวัดแห่งแรกของคณะสงฆ์ฝ่ายนี้ เพราะวัดอื่นๆ ของฝ่ายธรรมยุตินิกายเป็นวัดที่แปลงมาจากวัดของมหานิกาย
รัชกาลที่ 4 มีพระราชเหตุผลในการสร้างวัดราชประดิษฐ์อยู่ 3 ประการ ดังที่โปรดเกล้าฯ ให้จารึกไว้บนแผ่นศิลาที่ประดิษฐานอยู่ด้านหลังพระวิหาร ดังนี้
- ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะให้มีวัดธรรมยุตินิกายใกล้กับพระบรมมหาราชวัง ทั้งนี้ เพื่อให้ข้าราชบริพารผู้ประสงค์จะทำบุญตามคติอย่างธรรมยุตินิกายไม่ต้องเดินทางไปไกลนัก
- ทรงมีพระราชประสงค์จะได้คณะสงฆ์ธรรมยุตินิกายอยู่ใกล้ เพื่อที่จะได้ทรงปรึกษาสอบสวนข้อปฏิบัติต่างๆ ของสงฆ์ธรรมยุตินิกายที่ทรงตั้งขึ้นด้วยพระองค์เอง
- เพื่อให้ถูกต้องตามโบราณราชประเพณี คือ ภายในเมืองหลวงจะมีวัดที่สำคัญประจำอยู่ 3 วัด คือ วัดมหาธาตุ วัดราชบูรณะ และวัดราชประดิษฐ์
ในการก่อสร้างวัดราชประดิษฐ์ รัชกาลที่ 4 ทรงพระกรุณาพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ซื้อที่ดินสวนกาแฟจากกรมพระนครบาล เป็นจำนวนเงิน 1,098 บาท (18 ชั่ง ตำลึงกึ่ง) แล้วเริ่มก่อสร้างวัดในปี พ.ศ.2407 พระราชทานนามวัดไว้แต่แรกว่า วัดราชประดิษฐ์สถิตธรรมยุติการาม นับเป็นวัดของคณะสงฆ์ธรรมยุตินิกายแห่งแรก ครั้นอีก 7 เดือนต่อมาเมื่อสร้างเสร็จ ได้พระราชทานเปลี่ยนนามใหม่เป็น วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม เพื่อให้เหมาะสมกับเป็นที่ประดิษฐานหลักเสมาซึ่งมีคำจารึกคาถาบาลีและภาษาไทย อันเป็นบทพระราชนิพนธ์ รวม 10 หลัก
ครั้นต่อมาในรัชกาล พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ได้โปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์ทั่วทั้งวัด และโปรดเกล้าฯ ให้บรรจุพระบรมอัฐิบางส่วนของรัชกาลที่ 4 ไว้ในกล่องศิลาและประดิษฐานไว้ใน พระพุทธอาสน์ พระประธานของพระวิหารหลวงวัดราชประดิษฐ์ ตามพระกระแสรับสั่งของรัชกาลที่ 4 ก่อนเสด็จสวรรคต
ในรัชกาล พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บูรณะวัดราชประดิษฐ์ใหม่อีกครั้งหนึ่งในปี พ.ศ.2456 โดยโปรดเกล้าฯ ให้สร้างปราสาทยอดปรางค์ขึ้นใหม่ 2 หลัง แทนเรือนไม้ที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งชำรุดทรุดโทรมเป็นอย่างมาก ปราสาทที่อยู่ทางด้านทิศตะวันออก หรือทางด้านขวาของพระวิหาร ใช้เป็นที่เก็บพระไตรปิฎก จึงเรียกกันว่า หอไตร ส่วนหลังที่อยู่ทางด้านทิศตะวันตก เป็นที่ประดิษฐานพระบรมรูปรัชกาลที่ 4 จึงเรียกกันว่า หอพระจอม
ภายในวัดราชประดิษฐ์มีสิ่งที่น่าสนใจ ดังนี้
- พระวิหารหลวง
เนื่องจากวัดราชประดิษฐ์เป็นวัดที่มีมหาสีมาล้อมรอบตรงกำแพงวัด ภายในวัดจึงไม่มีพระอุโบสถ หากแต่ใช้พระวิหารหลวงเป็นที่กระทำสังฆกรรมแทน พระวิหารหลวงเป็นอาคารทรงไทย มีมุขด้านหน้าและหลัง ผนังภายนอกประดับด้วยหินอ่อน หลังคามุงกระเบื้องเคลือบสี ประดับด้วยช่อฟ้า ใบระกา ซึ่งปิดทองประดับกระจกอย่างงดงาม หน้าบันด้านหน้าและด้านหลังเป็นตราพระราชลัญจกรประจำพระองค์รัชกาลที่ 4 ซุ้มประตูหน้าต่างทุกบานเป็นลายปูนปั้นลงรักปิดทอง ประดับกระจกสี เป็นรูปมงกุฎ ส่วนบานประตูและหน้าต่างสลักด้วยไม้สักเป็นลายก้านแย่งซ้อนกัน 2 ชั้น ปิดทองประดับกระจก
ภายในพระวิหารหลวงมีภาพจิตรกรรมฝาผนัง เป็นภาพเขียนด้วยสีฝุ่น เขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อครั้งบูรณะปฏิสังขรณ์วัด แบ่งภาพเป็นสองตอน ตอนบนเป็นรูปเทวดาและนางฟ้าเหาะอยู่ตามกลีบเมฆ และทิพย์วิมาน ตอนล่างเป็นภาพพระราชพิธีสิบสองเดือน ส่วนภาพที่ผนังด้านหน้าพระประธาน เป็นภาพรัชกาลที่ 4 ทรงส่องกล้องดูสุริยุปราคาที่ตำบลหว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ.2411
- พระพุทธสิหิงค์ปฏิมากร
พระประธานประจำพระวิหารหลวง เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ หล่อด้วยโลหะ ลอกแบบมาจากพระพุทธสิหิงค์องค์ที่ประดิษฐานอยู่ในพระที่นั่งพุทไธสวรรค์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร เพราะรัชกาลที่ 4 โปรดพุทธลักษณะและมีพระราชศรัทธาเป็นพิเศษ พระพุทธรูปองค์นี้มีขนาดหน้าตักกว้าง 1 ศอก 6 นิ้ว สูง 1 ศอก 8 นิ้ว พระเกตุสูง 5 นิ้ว ประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชีภายใต้บุษบก ภายในฐานองค์พระประดิษฐานพระบรมอัฐิส่วนหนึ่งของรัชกาลที่ 4 ที่ด้านหน้าขององค์พระเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์จำลองอีกองค์หนึ่งซึ่งมีขนาดย่อมลงมา และทางด้านซ้ายประดิษฐานพระพุทธชินสีห์จำลอง ส่วนทางด้านขวาประดิษฐานพระพุทธชินราชจำลอง
- พระพุทธนิรันตราย
เป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยสำริดกะไหล่ทอง ประทับนั่งขัดสมาธิเพชร เบื้องหลังมีซุ้มเรือนแก้วเป็นพุ่มมหาโพธิ์ ยอดเรือนแก้วเป็นรูปพระมหามงกุฎ ฐานรององค์พระเป็นที่สำหรับรับน้ำสรง มีท่อเป็นรูปศีรษะโค ซึ่งหมายถึง พระโคตมโคตร (พระสัมมาสัมพุทธเจ้า)
- หอไตร
สร้างขึ้นโดยพระราชประสงค์ของรัชกาลที่ 6 โดยโปรดเกล้าฯ ให้รื้ออาคารเดิมที่เป็นเครื่องไม้และชำรุดทรุดโทรมลง มีลักษณะเป็นปราสาทยอดปรางค์แบบขอม ตัวปราสาทก่ออิฐถือปูน หน้าบันประดับด้วยลายปูนปั้นเป็นรูปพุทธประวัติปางประสูติและเสด็จดับขันธปรินิพพาน ภายในปราสาทเป็นที่เก็บพระไตรปิฎกและคัมภีร์ - หอพระจอม
รัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในคราวเดียวกับที่สร้างหอไตร มีลักษณะและสัดส่วนแบบเดียวกันกับหอไตร แต่ยอดปรางค์เป็นรูปพรหมสี่หน้า หน้าบันมีลายปูนปั้นเป็นรูปนารายณ์บรรทมสินธุ์บนหลังมังกร เบื้องหลังมีพระลักษมี และเศียรนาคแผ่พังพาน ภายในพระปรางค์ประดิษฐานพระบรมรูปยืนเต็มพระองค์ ขนาดเท่าพระองค์จริงของรัชกาลที่ 4
- ปาสาณเจดีย์
ตั้งอยู่ด้านหลังพระวิหารหลวง เป็นเจดีย์ทรงกลมฐานสี่เหลี่ยม ก่ออิฐถือปูน ภายนอกประดับด้วยกระเบื้องหินอ่อนทั้งองค์ ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า "ปาสาณเจดีย์" หมายถึง "เจดีย์หิน" ด้านหน้าของเจดีย์ประดิษฐานพระรูปหล่อด้วยสำริดของ สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทว มหาเถระ) ในท่านั่งแสดงพระธรรมเทศนา
- ปรางค์เขมร
ตั้งอยู่บนฐานไพทีด้านหลังพระวิหาร เป็นปราสาทก่ออิฐถือปูน ทรงสี่เหลี่ยม มียอดปรางค์แบบขอม ภายในบรรจุพระอังคารของสมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทว มหาเถระ) สรีรังคารของพระศาสนโสภณ (อ่อน อหิโก) และสรีรังคารของพระพรหมมุนี (แย้ม อุปวิกาโส) อดีตเจ้าอาวาสวัดราชประดิษฐ์
| เลขที่ 2 ถนนสราญรมย์ แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 | | 0-2223-8215, 0-2622-0744 | | - บริเวณวัด ทุกวัน เวลา 05.00 - 22.00 น. - โบสถ์ ทุกวัน เวลา 09.00 - 09.30 น., 17.00 - 19.00 น. | | สาย 2, 60, ปอ.1, 2, 512 | | บริเวณภายในวัด | | ขึ้นทะเบียนโบราณสถาน พ.ศ.2492
| | สามารถถ่ายภาพได้ | | พระบรมมหาราชวัง, วัดพระศรีรัตนศาสดาราม, กระทรวงกลาโหม, กระทรวงมหาดไทย, วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม, สวนสราณรมย์, หอกลอง, หอนาฬิกา, วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม, คลองหลอด | | คลิกดูแผนที่ตั้งของวัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม
| | | | | |