คลองมหานาคในปัจจุบันกลายเป็นเส้นทางสัญจรทางน้ำที่สำคัญเส้นทางหนึ่ง
"คลองมหานาค" ชื่อนี้เป็นคลองที่มีอยู่ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นคลองที่มีความเกี่ยวพันกับประวัติศาสตร์การต่อสู้ของทหารไทย เพราะถูกขุดขึ้นใน พ.ศ.2092 รัชสมัย สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ พระมหากษัตริย์กรุงศรีอยุธยา โดยขณะนั้น พระเจ้าหงสาวดีตะเบงชะเวตี้ กษัตริย์พม่า ได้นำกองทัพใหญ่บุกเข้ามาโจมตีกรุงศรีอยุธยา ชาวไทยทุกคนจึงพร้อมใจกันอาสามาช่วยชาติ ไม่เว้นแม้แต่พระภิกษุอย่าง "พระมหานาค" แห่งวัดภูเขาทอง ก็ยังช่วยเกณฑ์ญาติโยมมาช่วยกันขุดคูน้ำติดกับทุ่งลุมพลี บริเวณชานพระนคร เพื่อกั้นกองทัพพม่า คูน้ำนี้ภายหลังจึงได้ชื่อว่า "คลองมหานาค" หลังจากที่บ้านเมืองสงบลง คลองมหานาคนี้ก็กลายมาเป็นสถานที่ที่ชาวบ้านนิยมมาเล่นเพลงเรือและสักวาในฤดูน้ำหลาก
เมื่อ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่1) ทรงสถาปนากรุงเทพมหานครเป็นราชธานี มีพระราชดำริว่าจะทำให้เหมือนกับกรุงศรีอยุธยาเมื่อครั้งยังรุ่งเรือง จึงโปรดเกล้าฯ ให้วางผังเมืองและสร้างสิ่งก่อสร้างสำคัญๆ โดยลอกมาจากผังของกรุงศรีอยุธยา ดังนั้นในปี พ.ศ.2326 จึงโปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองสายหนึ่งแยกออกจากคูเมืองทางด้านตะวันออกของพระบรมมหาราชวัง (ปัจจุบันเรียกว่า "คลองรอบกรุง") โดยขุดแยกออกที่เหนือวัดสะแก (ปัจจุบันคือวัดสระเกศ) เป็นเส้นตรงไปทางทิศตะวันออก แล้วพระราชทานนามตามคลองเก่าในกรุงศรีอยุธยาว่า "คลองมหานาค" กับมีพระราชประสงค์ให้ใช้เป็นสถานที่เล่นเพลงเรือและสักวาในฤดูน้ำหลากเหมือนเช่นเคยทำกันในอดีต
ต่อมาในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) ได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระเจดีย์องค์ใหญ่ขึ้นองค์หนึ่งริมคลองมหานาค ให้เหมือนกับเจดีย์ภูเขาทองที่กรุงศรีอยุธยา แล้วเรียกว่า "เจดีย์ภูเขาทอง" เช่นเดียวกัน
เปรียบเทียบภาพคลองมหานครในมุมมองเดียวกันแต่เวลาต่างกัน
บริเวณปากคลองมหานาคเหนือวัดสะแก นอกจากจะมี "ป้อมมหากาฬ" ที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 เป็นสัญลักษณ์แล้ว ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ยังโปรดเกล้าฯ ให้สร้าง "สะพานมหาดไทยอุทิศ" (สะพานร้องไห้) ต่อจากรัชกาลก่อนจนแล้วเสร็จอีกสิ่งหนึ่งด้วย
คลองมหานาคนี้เป็นเส้นทางสัญจรทางน้ำอันสำคัญของคนกรุงเทพมหานครในสมัยก่อน เพราะสามารถเชื่อมต่อคลองรอบกรุงไปออกแม่น้ำเจ้าพระยา หรือเชื่อมคลองแสนแสบที่ขุดในสมัยรัชกาลที่ 3 ไปได้ไกลถึงแม่น้ำบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทราเลยทีเดียว บริเวณคลองมหานาคจึงกลายเป็นจุดค้าขายสินค้าโดยเฉพาะสินค้าเกษตรแหล่งใหญ่ เรียกว่า "ตลาดมหานาค" ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังคงเป็นตลาดค้าผลไม้ที่สำคัญ มีรถบรรทุกสินค้ามาลงเป็นจำนวนมากในยามค่ำคืน
ปัจจุบันคลองมหานาคที่กรุงเทพมหานครมีจุดเริ่มต้นด้านทิศตะวันตกโดยแยกออกจากคลองรอบกรุงที่สะพานมหาดไทยอุทิศ (สะพานร้องไห้) ตรงไปทางทิศตะวันออกจนบรรจบกับคลองแสนแสบที่สะพานเจริญราษฎร์ 32 รวมความยาวประมาณ 1.3 กิโลเมตร
เลื่อนเมาส์แตะที่รูปเพื่อดูรูปขนาดใหญ่
| ทิศตะวันตกเชื่อมกับคลองรอบกรุงที่บริเวณสะพานมหาดไทยอุทศิ ทิศตะวันออกเชื่อมกับคลองแสนแสบที่บริเวณสะพานเจริญราษฎร์ 32 |
| สาย 2, 15, 37, 39, 60, 511, 512, 556, ปอ.พ.8, 10 |
| เรือหางยาวรับจ้างประจำทางสายคลองแสนแสบ สามารถขึ้นได้ที่ท่าโบ๊เบ๊หรือท่าสะพานผ่านฟ้าลีลาศ |
| สามารถถ่ายรูปได้ |
| สะพานเจริญราษฎร์ 32, ตลาดโบ๊เบ๊, ตลาดมหานาค, โรงแรมปริ๊นซ์พาเลซ, มัสยิดมหานาค, วัดสระเกศ, ภูเขาทอง, ป้อมมหากาฬ, สะพานมหาดไทยอุทิศ
|
| คลิกดูแผนที่ตั้งของคลองมหานาค
|