วันอาทิตย์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

ย่านเสาชิงช้า

เสาชิงช้า
เสาชิงช้ากับวัดสุทัศน์ ความงามที่ยืนอยู่คู่กันมานาน

ย่านเสาชิงช้า กับตัวฉันถ้าจะเปรียบไปแล้วก็เหมือนเป็นคนคุ้นเคยกันมานาน เพราะเวลาว่างๆ อยากจะไปเดินเล่นทอดอารมณ์ในที่โล่งๆ กว้างๆ หรือเมื่อเวลาหิวๆ อยากจะหาร้านอาหารอร่อยๆ นั่งกินในบรรยากาศเก่าๆ แต่คลาสสิก สองเท้าก็มักจะพาเดินมาที่ย่านเสาชิงช้าอยู่บ่อยครั้ง

แม้จะซ่อมและเปลี่ยนอยู่หลายครั้ง แต่เสาชิงช้าก็ยังคงยืนโดดเด่นอยู่ที่เดิม
และภาพที่ชินตาของย่านเสาชิงช้าในความคิดของฉันก็คือ ภาพเสาชิงช้าสีแดงสดสูงชะลูดที่ตั้งอยู่เบื้องหน้าวัดสุทัศนเทพวราราม เป็นความงามสง่าที่ลงตัวเป็นอย่างยิ่งในความคิดฉัน แม้ว่าในความเป็นจริงแล้ว เสาชิงช้ากับวัดสุทัศน์ฯ นั้นก็ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกันแต่อย่างใด

มาในวันนี้ พอได้เวลาแดดร่มลมตก สองเท้าของฉันก็พาเดินมาที่ย่านเสาชิงช้าอีกครั้ง ด้วยเหตุผลที่ว่า อยากจะมาดูเสาชิงช้าที่เพิ่งจะเปลี่ยนใหม่หลังจากที่ต้นเก่าทรุดโทรมเกินแก้ไข แม้เขาจะเปลี่ยนเป็นต้นใหม่มาหลายเดือนแล้วแต่ฉันก็ยังไม่มีโอกาสได้มายลใกล้ๆ เสียที และพอดีได้รู้มาว่าเขากำลังเตรียมจัดงานฉลองเสาชิงช้าขึ้นในวันที่ 11-13 กันยายนนี้ ก็เลยเป็นโอกาสดีที่จะได้มาชม อีกทั้งฉันจะพาไปรู้จักกับ "เสาชิงช้า" กันแบบเจาะลึกเสียหน่อย

ที่มาของเสาชิงช้าก่อนที่จะมาเป็นเสาชิงช้าใหม่เอี่ยมในปัจจุบันนั้น ต้องไปตั้งต้นตั้งแต่สมัย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 โดยพระองค์โปรดให้สร้างเสาชิงช้าขึ้นเมื่อวันพุธ เดือน 5 แรม 4 ค่ำ ปีมะโรง หรือตรงกับวันที่ 8 เมษายน พ.ศ.2327 ตรงหน้าเทวสถานโบสถ์พราหมณ์ หรือกึ่งกลางเมืองกรุงเทพฯ (ในสมัยนั้น)

สำหรับเหตุที่สร้างเสาชิงช้าขึ้นมานี้ ก็เนื่องมาจากมีพราหมณ์นาลิวัน ชาวเมืองสุโขทัยผู้หนึ่ง นามว่า "พระครูสิทธิชัย (กระต่าย)" ได้กราบบังคมทูลต่อพระองค์ว่า ในการประกอบพิธีตรียัมปวายซึ่งเป็นพิธีขึ้นปีใหม่ของทางศาสนาพราหมณ์ที่มีมาแต่โบราณนั้น จะต้องมีพิธีโล้ชิงช้าร่วมด้วย

อาจมีบางคนสงสัยต่อว่า ทำไมถึงต้องโล้ชิงช้า ? ฉันจึงจะขออธิบายต่อเลยว่า พิธีโล้ชิงช้านั้นถือเป็นการแสดงตำนานการสร้างโลกของศาสนาพราหมณ์ ที่กำหนดว่าในตำนานมีพระพรหมเป็นผู้สร้างโลก และมีพระอิศวรเป็นผู้ทดสอบว่าโลกที่สร้างมีความแข็งแรงพอหรือไม่ ซึ่งวิธีทดสอบของพระอิศวรก็คือให้พญานาคขึงตัวระหว่างภูเขาใหญ่ 2 ลูกบนโลกนี้ และก็ให้แกว่งไกวตัวยื้อยุดดูว่ามีความสั่นสะเทือนต่อโลกมากแค่ไหน โดยพระอิศวรจะทรงยืนขาเดียวในลักษณะไขว่ห้าง หากพื้นสั่นสะเทือนจนพระองค์ต้องเอาขาอีกข้างลงมาช่วยยันก็หมายความว่าโลกยังไม่แข็งแรงพอ แต่ในการทดสอบพระอิศวรก็สามารถยืนอยู่ขาเดียวจนการทดสอบเสร็จสิ้น แสดงว่าโลกที่สร้างขึ้นนี้มีความแข็งแรงดี

เทวาลัยที่ประดิษฐานพระพรหมในเทวสถาน
คนในยุคปัจจุบันคงไม่มีใครเคยเห็นการโล้ชิงช้าที่เสาชิงช้าแห่งนี้แล้ว เพราะพิธีโล้ชิงช้าได้ถูกยกเลิกไปตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 7 จะมีให้เห็นก็เพียงภาพถ่ายหรือวีดิทัศน์เก่าๆ เท่านั้น แต่แม้จะยกเลิกพิธีโล้ชิงช้าไป แต่ตัวเสาชิงช้าก็ยังคงตั้งตระหง่านอยู่หน้าวัดสุทัศน์อยู่เช่นเคย และเป็นจุดเด่นของกรุงเทพฯ แห่งหนึ่งที่มักมีนักท่องเที่ยวแวะเวียนมาชมมาถ่ายรูปคู่อยู่เสมอๆ

ด้วยความสวยงามของรูปทรงเสาสูงถึง 21 เมตร ทาด้วยสีแดงสดโดดเด่นเหมือนสีของพระอาทิตย์ยามที่ทอแสง ตอนรุ่งอรุณ อีกทั้งยังเป็นสีมงคลที่แสดงถึงความรุ่งเรือง ด้านบนสุดของเสาชิงช้าเรียกว่ากระจังหูช้าง แกะสลักอย่างสวยงาม จึงทำให้เสาชิงช้าได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานโดยกรมศิลปากรตั้งแต่ พ.ศ.2492

แต่เสาชิงช้าต้นที่เราเห็นนี้ไม่ใช่ต้นแรกและต้นเดียวกับที่สร้างเมื่อสมัยรัชกาลที่ 1 แต่อย่างใด เพราะได้มีการซ่อมและสร้างใหม่มาหลายครั้งแล้ว โดยการบูรณะเสาชิงช้าครั้งแรกนั้นมีขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 ซึ่งตรงกับ พ.ศ.2463 และต่อมาใน พ.ศ.2490 มีผู้จุดธูปกราบไหว้เสาชิงช้า ไฟจากธูปตกลงในรอยแตกของไม้และลามจนไหม้ต้นเสา จึงต้องมีการซ่อมแบบชั่วคราว จนใน พ.ศ.2513 เสาชิงช้าก็ชำรุดทรุดโทรมมากจนต้องเปลี่ยนเสาใหม่ โดยพยายามรักษาลักษณะเดิมไว้ทุกประการ

ย่านเสาชิงช้ายังเป็นแหล่งร้านขายสังฆภัณฑ์อีกด้วย
แต่ความชำรุดทรุดโทรมด้วยกาลเวลาก็ยังเกิดขึ้น ทำการซ่อมแซมก็ยังมีขึ้นเรื่อยๆ จนเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ.2539 ก็ได้มีการซ่อมแซมอีกครั้ง โดยใช้สายเหล็กรัดเป็นโครงเหล็กประกบ คล้ายกับการเข้าเฝือกไม้ยึดโครงสร้างหลักไว้ จากนั้นล่าสุดในปี พ.ศ.2547 ที่ผ่านมา ก็ได้มีการตรวจพบรอยผุแตกเป็นร่องลึกตลอดแนวยาวโดยเฉพาะบริเวณโคนเสากลาง งานนี้จะให้บูรณะอีกก็คงไม่ไหว จึงต้องเปลี่ยนเสาใหม่ทั้งหมด

ในการเปลี่ยนเสาชิงช้าคราวนี้ก็เป็นข่าวใหญ่โตที่ผู้คนให้ความสนใจกันเป็นอย่างมาก อีกทั้งประชาชนก็ดูจะมีส่วนร่วมในการสร้างเสาชิงช้าใหม่มากเป็นพิเศษ ตั้งแต่การคัดเลือกไม้มาทำเสาชิงช้าอันใหม่ ที่ต้องมีการทำประชาพิจารณ์กันเลยทีเดียว โดยไม้ที่นำมาทำเสาชิงช้าทั้ง 6 ต้นนี้ เป็นไม้สักทองที่มาจากจังหวัดแพร่ และที่ต้องทำประชาพิจารณ์ก็เนื่องจากว่าชาวบ้านบางคนไม่เข้าใจว่าจะตัดไม้สักขนาดใหญ่เหล่านี้ไปทำอะไร เพราะแม้จะมีชาวบ้านบางส่วนเห็นด้วยแต่อีกหลายๆ คนกลับไม่ทราบเรื่อง จึงต้องมีการทำประชาพิจารณ์กรณีไม้สักทองขึ้นในหมู่บ้านห้วยไร่ ของอำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่ ซึ่งสุดท้ายก็มีมติเป็นเอกฉันท์ที่จะยกไม้สักทองเหล่านี้เพื่อทำเป็นเสาชิงช้าต้นใหม่ เป็นสง่าแก่พระนครต่อไป

มาจนถึงตอนนี้ก็เป็นเวลากว่า 3 ปี แล้วที่ได้มีกระบวนการต่างๆ ตั้งแต่การคัดเลือกไม้ กลึงไม้ให้ได้ขนาด อาบน้ำยาเพื่อความคงทน แกะสลักลายกระจัง ไปจนถึงขั้นตอนพิธีบวงสรวงตั้งเสาชิงช้าใหม่ก็เสร็จสิ้นไปเป็นที่เรียบร้อย ยังขาดก็แต่งานเฉลิมฉลองเท่านั้น ซึ่งฉันได้กล่าวไปในตอนต้นแล้วว่างานฉลองเสาชิงช้าจะจัดขึ้นในวันที่ 11-13 ก.ย. งานนี้ฉันแนะนำว่าพลาดไม่ได้ เพราะมีแต่กิจกรรมที่น่าสนใจทั้งสิ้นไม่ว่าเป็นพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงการสถาปนาเมืองพี่เมืองน้องระหว่าง กทม.กับจังหวัดแพร่ ที่ได้มอบไม้สักทองทั้ง 6 ต้น ให้ กทม.มาบูรณปฏิสังขรณ์เสาชิงช้า นิทรรศการงานฉลองเสาชิงช้า การแสดงดนตรีไทย และการแสดงประชันปี่พาทย์ซึ่งหาชมได้ยาก และการแสดง "มหรสพกรุงรัตนโกสินทร์ แรกสร้างกรุงเทพฯ ถึงปัจจุบัน" โดยมีการร้อยเรียง ละครชาตรี ลิเก ปี่พาทย์ภาษา แตรวงและลูกทุ่งโดยกรมศิลปากร และอีกมากมายหลายกิจกรรมด้วยกัน

ตึกแถวเก่าแก่ เสน่ห์อย่างหนึ่ง
ของย่านเสาชิงช้า
ลานคนเมืองหน้าศาลาว่าการกรุงเทพฯ
สถานที่จัดงานฉลองเสาชิงช้า


แต่ที่พิเศษสุดก็คือในวันที่ 12 ก.ย. นี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จะเสด็จพระราชดำเนินมาเป็นองค์ประธานพิธีฉลองเสาชิงช้าในเวลาประมาณ 17.00-18.00 น. ใครที่อยากมาร่วมเฝ้ารับเสด็จก็เชิญมาได้ที่ลานคนเมือง ซึ่งฉันดูแล้วเห็นว่างานนี้คนกรุงไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง เพราะถือเป็นประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของกรุงเทพมหานครเลยทีเดียว




บริเวณใกล้เคียงกับเสาชิงช้า ยังมีสถานที่ที่น่าสนใจอีกหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น "เทวสถาน" หรือที่รู้จักกันในชื่อว่าโบสถ์พราหมณ์ ซึ่งภายในมีโบสถ์อยู่ 3 หลัง คือสถานพระอิศวร สถานพระพิฆเณศวร และสถานพระนารายณ์ ส่วนด้านหน้าประตูทางเข้ามีเทวาลัยขนาดเล็ก เป็นที่ประดิษฐานพระพรหม อีกทั้งในบริเวณนั้นยังมีตึกห้องแถวเก่าแก่ที่ยังคงมีเสน่ห์ และบริเวณรอบๆ นั้นยังถือเป็นแหล่งขายเครื่องสังฆภัณฑ์ที่ครบครัน และมีหลากหลายร้านหนาแน่นอยู่ในบริเวณนั้นอีกด้วย การเดินทาง มีรถประจำทางสาย 10, 12, 19, 35, 42 ผ่าน


ที่มาข้อมูล : ผู้จัดการ
 https://www.myfirstbrain.com/AroundTheCity_View.aspx?Id=56968


Hotmail® has a new way to see what's up with your friends. Check it out.