วันอาทิตย์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

"วัดสวนพลู"

วัดสวนพลู
พระประธานภายในพระอุโบสถ

ขณะนี้ฉันกำลังยืนอยู่บนถนนเจริญกรุง ถนนแห่งแรกที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้ตัดขึ้นโดยใช้เทคนิคการสร้างแบบตะวันตก เพื่อให้ชาวต่างประเทศได้มีถนนสายยาวสำหรับขี่ม้าหรือนั่งรถม้าตากอากาศ ถนนเจริญกรุงในวันนี้ไม่มีม้าหรือรถม้าวิ่งให้เห็นแล้ว มีแต่รถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่บางทีก็วิ่งได้ บางทีก็ต้องติดนิ่งสนิทอยู่กับที่ด้วยความจอแจของยวดยานที่มีมากเกินขนาดของถนนจะรับไหว

เหตุที่มายืนโต๋เต๋อยู่บนถนนเจริญกรุงก็ฉันเพราะต้องมาทำธุระในแถบย่านบางรัก ช่วงใกล้กับท่าเรือสะพานตากสิน หลังจากทำธุระเสร็จก็ตั้งใจจะเดินทอดน่องชมเมืองตามสไตล์คนไม่ค่อยได้เข้าเมืองเสียหน่อย

อุโบสถของวัดสวนพลู
องค์เจ้าแม่กวนอิมที่มีผู้คนมาสักการะเสมอๆ

หลังจากเดินๆ ไปได้สักพักสายตาก็สอดส่ายไปเห็นวัดเล็กๆ ริมถนนเจริญกรุง ที่แม้จะตั้งอยู่ในย่านที่มีผู้คนพลุกพล่าน แต่ภายในวัดกลับสงบและงดงามไม่เหมือนใคร ฉันเลยตั้งใจจะเข้าไปกราบพระเสียหน่อย

วัดที่ว่านั้นก็คือ "วัดสวนพลู" ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ๆ กับโรงแรมแชงกรีลานี่เอง ชื่อของวัดสวนพลูก็คงพอจะบอกที่มาของวัดได้ว่าสร้างขึ้นบนที่ดินที่เคยเป็นสวนพลูของชาวจีนมาก่อน โดยได้สร้างขึ้นในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ หรือเมื่อประมาณ พ.ศ.2340 ก่อนที่ย่านนี้จะกลายมาเป็นย่านธุรกิจการค้ามีผู้คนหนาแน่นอย่างในปัจจุบัน

พระนอน พระประธานในวิหาร

ภายในบริเวณวัดดูสะอ้านสะอ้านมากทีเดียว ทำให้จิตใจรู้สึกปลอดโปร่งไปด้วย ฉันเริ่มสอดส่ายสายตาสำรวจสิ่งต่างๆ ที่น่าสนใจภายในวัดแห่งนี้ และตัดสินใจเข้าไปไหว้พระภายในอุโบสถกันก่อน

อุโบสถของวัดสวนพลูนี้มีขนาดไม่ใหญ่โตนัก และดูเหมือนไม่ว่าจะมองไปทางไหน ทุกด้านก็จะถูกขนาบไปด้วยตึกสูงๆ เสียหมด แต่ก็มีจุดที่น่าสนใจไม่น้อย ตั้งแต่ด้านนอกอุโบสถที่เป็นงานปูนปั้นประดับกระจก เครื่องบนของอุโบสถมีปูนปั้นเป็นรูปเทวดานางฟ้าประดับอยู่ดูสวยงามแปลกตา

หลวงพ่อพระป่าเลไลย์ภายในวิหาร

เมื่อเข้าไปกราบพระประธานด้านใน ฉันก็ได้ชื่นชมความงามของพระประธานที่มีขนาดไม่ใหญ่โตเช่นกัน แต่ก็ดูน่าเคารพในท่าประทับนั่งปางมารวิชัยอยู่บนบุษบกห้าชั้นที่ดูอลังการไม่น้อย ส่วนด้านล่างมีพระสาวกยืนอยู่ทั้งด้านซ้ายและขวา ผนังด้านแม้ไม่มีจิตรกรรมฝาผนังอย่างวัดอื่นๆ แต่ก็ตกแต่งด้วยไม้ทั้งสี่ด้านรวมไปถึงเพดาน ก็ทำให้ภายในอุโบสถดูโล่งโปร่งสบาย

คราวนี้ออกมาชมด้านนอกกันบ้าง ด้านข้างอุโบสถมีศาลาทรงไทยตั้งอยู่กลางสระน้ำ มีป้ายภาษาจีนติดอยู่ เมื่อฉันเข้าไปดูใกล้ๆ จึงทราบว่านี่คือ "ศาลพระโพธิสัตว์กวนอิม" ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของคนแถบนี้ ดูได้จากการที่มีผู้คนเข้ามาสักการะสม่ำเสมอมิได้ขาด

สีและลวดลายของหมู่กุฏิที่โดดเด่นไม่เหมือนที่ไหน
พระโพธิสัตว์กวนอิมองค์นี้สันนิษฐานกันว่าน่าจะสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 เป็นพระมหากษัตริย์ในแผ่นดินรัตนโกสินทร์ ในช่วงนั้นได้มีชาวจีนเข้ามาอาศัยภายใต้พระบรมโพธิสมภารเป็นจำนวนมาก ซึ่งชาวจีนเหล่านั้นก็มีความเคารพนับถือเจ้าแม่กวนอิมอยู่แล้ว จึงได้มีการร่วมกันจัดสร้างเจ้าแม่กวนอิมขึ้นเพื่อเป็นที่เคารพแก่ชาวจีนในแถบนี้

การสร้างนั้นสร้างด้วยปูนปั้นผสมปูนสอ และว่านพร้อมผงพุทธคุณศักดิ์สิทธิ์ ปิดด้วยทองคำเปลวทั่วทั้งองค์ และได้นำขึ้นประดิษฐานไว้ที่ศาลเจ้าแห่งหนึ่ง ซึ่งต่อมาศาลนั้นก็ชำรุดทรุดโทรมลง จึงได้มีการนำหอไตรเก่าของวัดซึ่งเป็นไม้สักทองทั้งหลังมาทำเป็นศาลพระโพธิสัตว์กวนอิมนี้แทน และเป็นที่เคารพสักการะของชาวจีนและผู้ที่นับถือเจ้าแม่กวนอิมในแถบนี้สืบมาจนปัจจุบัน

และในบริเวณใกล้เคียงกันก็ยังมีพระพุทธรูปปางถวายเนตรประดิษฐานไว้กลางแจ้งใกล้กับศาลพระโพธิสัตว์กวนอิม มีผู้คนมากราบไหว้ไม่น้อยเช่นกัน

ทีนี้ลองเดินมาอีกด้านหนึ่งของพระอุโบสถ จะเห็นว่ายังมีวิหารอีกหนึ่งหลังตั้งอยู่อย่างสงบใต้ต้นไม้ นั่นก็คือ "วิหารพระพุทธไสยาสน์" โดยพระพุทธไสยาสน์และวิหารที่ประดิษฐานนั้น ได้ถูกสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2501 แต่ต่อมาก็ได้มีความชำรุดทรุดโทรมลงมาก อีกทั้งพื้นบริเวณภายในอาคารที่ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ก็ยังมีสภาพต่ำกว่าพื้นบริเวณภายนอก ทางวัดจึงได้ดำเนินการก่อสร้างวิหารพระพุทธไสยาสน์หลังใหม่ขึ้น อีกทั้งยังได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์พระพุทธไสยาสน์ไปด้วยพร้อมๆ กันจนเสร็จสมบูรณ์ในปี พ.ศ.2536

ภายในวิหารพระพุทธไสยาสน์นั้น ก็มีพระพุทธไสยาสน์ซึ่งได้รับการบูรณะแล้วเป็นสีทองสุกอร่ามอยู่ด้านในสุด และมีพระพุทธรูปปางต่างๆ เช่น ปางนาคปรก ปางอุ้มบาตร และพระสาวกประดิษฐานไว้ด้วยเช่นกัน และภายในวิหารนี้ก็ยังมีพระพุทธรูปสำคัญอย่าง "หลวงพ่อพระป่าเลไลย์" ซึ่งเล่ากันสืบต่อมาด้วยความเคารพศรัทธาว่า ท่านได้ก่อปาฏิหาริย์โดยการช่วยชาวบ้านที่ไปหลบภัยบริเวณรอบองค์ท่านให้พ้นจากลูกระเบิดที่ทิ้งมาจากเครื่องบินในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง

ทีนี้ก็มาดูความโดดเด่นอีกอย่างหนึ่งของวัดสวนพลูที่เตะตาฉันตั้งแต่เดินเข้ามาภายในบริเวณวัดแห่งนี้ นั่นก็คือเรือนไม้สองชั้นทาด้วยสีเหลืองครีมคาดน้ำตาลเข้ม ที่ฉันมารู้ภายหลังว่านี่คือ "หมู่กุฏิ" ของพระสงฆ์ ด้วยขนาดของวัดที่ไม่ใหญ่โตนัก ที่นี่จึงไม่มีการแบ่งส่วนของพุทธาวาสและสังฆาวาสอย่างชัดเจน หมู่กุฏินี้จึงตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกับอุโบสถและวิหารต่างๆ นั่นเอง

หมู่กุฏิพระ เรือนไม้ขนมปังขิง
เรือนไม้ขนมปังขิงสีสันสดใส

หมู่กุฏินี้เองที่เป็นสิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งของวัดสวนพลู โดยคนที่ชอบถ่ายภาพ ไม่ว่าจะเป็นช่างภาพอาชีพหรือมือสมัครเล่นก็อาจจะเคยไปฝึกฝีมือถ่ายภาพกับหมู่กุฏิที่วัดแห่งนี้มาบ้างแล้ว เพราะความสวยงามโดดเด่นไม่เหมือนที่ใด โดยหมู่กุฏิที่ว่ามานี้ไม่ใช่เรือนไม้ธรรมดา แต่มีลักษณะเป็นเรือนไม้สองชั้นแบบเรือนขนมปังขิง ฝาไม้ตีซ้อนเกล็ด และบริเวณชายคาก็ประดับด้วยไม้ฉลุที่แผงกันแดดเหนือทางเข้า ราวลูกกรงระเบียงชั้นบน และแผงกันแดดระหว่างเสาระเบียง อีกทั้งหมู่กุฏิที่วัดสวนพลูนี้ยังได้รับรางวัลอนุรักษ์ดีเด่น มรดกสถาปัตยกรรมในประเทศไทยจากสมาคมสถาปนิกสยาม เมื่อปี พ.ศ.2545 อีกด้วย

ไม่รู้ว่าจะเป็นการไม่เหมาะสมหรือไม่ หากจะบอกว่าหมู่กุฏิที่วัดสวนพลูนี้น่ารักน่าอยู่มากทีเดียว และยังเหมาะแก่การเป็นแบ็คกราวด์ถ่ายรูปแนวอาร์ตๆ ย้อนยุคหน่อยๆ อีกทั้งสีเหลืองและน้ำตาลที่ใช้ทาสีกุฏินั้นก็แจ่มดีแท้ หากมีนางแบบมายืนก็คงจะขึ้นกล้องน่าดู แต่ถึงอย่างไรที่นี่ก็เป็นเขตวัด แถมยังเป็นกุฏิพระอีกต่างหาก จึงไม่เหมาะสมสักเท่าไรหากจะมีนางแบบมายืนโพสต์ท่าถ่ายรูป เอาเป็นว่าเก็บไปแต่ภาพสถาปัตยกรรมสวยๆ อย่างเดียวก็เพียงพอแล้ว




วัดสวนพลู ตั้งอยู่ที่ 58 ซอยเจริญกรุง 42/1 ถนนเจริญกรุง แขวงบางรัก เขตบางรัก กรุงเทพฯ การเดินทาง หากมาจากท่าเรือสะพานตากสิน หรือลงมาจากรถไฟฟ้าสถานีสะพานตากสิน ให้เดินเลี้ยวซ้ายเข้ามาทางด้านหลังโรงแรมแชงกรีลา เดินมาจนสุดทางแล้วเลี้ยวขวา แล้วเดินตรงมาอีกประมาณ 50 เมตร วัดสวนพลูจะอยู่ทางซ้ายมือ หรือหากมาทางถนนเจริญกรุง วัดจะอยู่ปากซอย 42/1 ตรงข้ามโรงพยาบาลเลิศสิน มีป้ายชื่อวัดเห็นได้ชัดเจน สอบถามรายละเอียด โทร 0-2234-4471


ที่มาข้อมูล : ผู้จัดการ
https://www.myfirstbrain.com/AroundTheCity_View.aspx?Id=62319


Hotmail® has a new way to see what's up with your friends. Check it out.