วันอาทิตย์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

พิพิธภัณฑ์มด คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

พิพิธภัณฑ์มด
หลายเรื่องราว หลากความรู้ในพิพิธภัณฑ์มดหลายเรื่องราว
หลากความรู้ในพิพิธภัณฑ์มด

...มดตัวน้อยตัวนิด มดตัวน้อยตัวนิด มดมีฤทธิ์น่าดู ยู้ฮู...

ฉันอดที่จะพึมพำเพลงที่คุ้นเคยปากมาตั้งแต่เล็กแต่น้อยในระหว่างที่กำลังเดินเข้าสู่ "พิพิธภัณฑ์มด" ใน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ไม่ได้

หลังจากที่ร้องเพลงวนไปวนมาหลายต่อหลายรอบ สุดท้ายฉันก็มาถึงยัง พิพิธภัณฑ์มด ณ ตึกวินิจวนันดร ในคณะวนศาสตร์ จนได้ ซึ่งเมื่อเข้าไปข้างในนั้นฉันถึงกับอ้าปากค้างร้องเพลงต่อไม่ออกเลยทีเดียว เพราะเบื้องหน้าตึกเล็กๆ 2 ชั้นที่เห็นอยู่นี้มีมด...ตัวน้อยตัวนิด สารพัดชนิดในจำนวนไม่น้อยไม่นิดจัดแสดงอยู่ในห้องสี่เหลี่ยมเล็กๆมีพื้นที่ประมาณ 80 ตารางเมตร ซึ่งฉันคิดว่าถึงห้องจะเล็กแต่คงต้องบรรจุอะไรสักอย่างที่ยิ่งใหญ่กว่าขนาดของห้องไว้เป็นแน่ เหมือนกับเจ้ามดตัวน้อยตัวนิด มดมีฤทธิ์น่าดู ยู้ฮู...

มดตัวจิ๋วถูกสตาฟไว้ให้ผู้เข้าชม
ได้ดูพอสังเขป
ภายในพิพิธภัณฑ์ฉันเจอกับ รศ.ดร.เดชา วิวัฒน์วิทยา ภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ คณะวนศาสตร์ และผู้ดำเนินการจัดทำพิพิธภัณฑ์มดแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย

อ.เดชาเล่าให้ฉันฟังว่า จริงๆ แล้วพิพิธภัณฑ์มดเปิดมาตั้งแต่ พ.ศ.2544 แต่ว่าอยู่อีกตึกหนึ่งเป็นห้องเล็กๆ ขนาดแค่ 32 ตารางเมตรเท่านั้น และยังเป็นห้องเดียวกับที่เจ้าหน้าที่ใช้ในการวิจัย เมื่อมีผู้คนมาชมทำให้ไม่สะดวกต่อทั้งผู้ชมและเจ้าหน้าที่

"อีกทั้งในส่วนเดิมหรือส่วนของการวิจัย ซึ่งมีมดอยู่ประมาณ 600-700 ชนิด ที่ได้รวบรวมมาจากหลากหลายประเทศทั่วโลก คนที่มาดูเขาก็ดูแค่ตัวอย่างมดที่เรารวบรวมมา แต่เขาจะไม่ได้ประโยชน์อะไรจากตรงนี้ ผมอยากแสดงถึงคุณค่าถึงคุณประโยชน์ความสำคัญของมันมากกว่า" อ.เดชากล่าว

จากเหตุผลดังกล่าวจึงได้เปลี่ยนมาใช้ห้องที่ตึกวินิจวนันดรจัดทำพิพิธภัณฑ์มดแห่งใหม่ขึ้นโดยเรียกอีกแบบหนึ่งว่า "พิพิธภัณฑ์มดภาคประชาชน" ซึ่งเพิ่งเปิดเมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมานี่เอง อ.เดชาบอกว่า ในพิพิธภัณฑ์ได้แบ่งพื้นที่จัดแสดงเป็น 4 ส่วน ได้แก่ส่วนแรก มีชื่อว่า "มหัศจรรย์แห่งมด" จัดแสดงเป็นข้อมูลแบบนิทรรศการ เกี่ยวกับเรื่องราวต่างๆ ของมด

และแล้ววันนี้ฉันก็ได้รู้จักกับครอบครัวของน้องมด ที่ประกอบไปด้วยแม่กับลูกๆ เท่านั้นไม่มีพ่อ แต่กลับเป็นครอบครัวที่แข็งแกร่งที่สุด โดยมดทุกตัวจะถูกแบ่งหน้าที่การทำงานที่ชัดเจน คือ "มดราชินี" ซึ่งเป็นมดตัวเมียที่มีขนาดใหญ่ที่สุด เพียง 1 ตัวทำ หน้าที่ออกไข่ ควบคุมมดทุกตัวในครอบครัวและกิจกรรมทุกอย่างที่เกิดขึ้น หากมดราชินีตายก็จะทำให้ครอบครัวนั้นล่มสลายในเวลาต่อมา

ดังนั้นหากผู้ใดที่มีปัญหาเรื่องมดชอบมาก่อกวนบ้านเรือนทำอย่างไรก็ไม่หายไปสักที และคิดจะกำจัดมดทั้งหลายโดยสังหารมดราชินี เพื่อให้ครอบครัวอีกหลายสิบหลายร้อยหลายพันตัวจะได้ตายไปด้วย ก็คิดดูเถิดว่าคุณจะบาปหนาสักแค่ไหน ทางที่ดีควรจัดการกับต้นเหตุที่สามารถเรียกมดมาได้มากกว่า เพราะเมื่อมดทั้งรังตายแต่ต้นเหตุยังอยู่ก็ต้องมีมดรังใหม่มาเคาะประตูบ้านคุณอยู่ร่ำไป

ครอบครัวของมดไฟป่าของจริงแท้แน่นอน
รังมดแดงจำลอง

ต่อจากมดราชินีก็คือ "มดวรรณะสืบพันธุ์" ซึ่งเป็นมดที่มีปีก ประกอบด้วยมดเพศผู้ขนาดใกล้เคียงกับมดงานทำหน้าที่ผสมพันธุ์อย่างเดียวแล้วก็ตาย และมดเพศเมียที่มีรูปร่างขนาดใกล้เคียงกับราชินี มีหน้าที่จัดหาที่ทำรัง วางไข่ และกลายเป็นมดราชินีต่อไป ซึ่งฉันอ่านแล้วก็อดอิจฉามดตัวผู้ไม่ได้ ที่เกิดมาเพื่อผสมพันธุ์เท่านั้น งานอย่างอื่นไม่ต้องทำปล่อยเป็นหน้าที่ตัวเมีย ดูแล้วชีวิตช่างแสนสบาย แต่อีกนัยหนึ่งอาจจะเรียกได้ว่า เกาะตัวเมียกิน ก็ได้เหมือนกัน แล้วแต่จะคิดกันไป

อ. เดชา วิวัฒน์วิทยา กับมดยักษ์จำลอง
อ.เดชา อธิบายเสริมว่า มดอีกแบบหนึ่งคือมดที่เราเห็นกันบ่อยๆ เรียกว่า "มดงาน" เพราะจะมีหน้าที่ออกมาหาอาหารนอกรัง มดงานนี้จัดเป็นมดที่มีจำนวนมากที่สุดในรัง และเป็นมดเพศเมียมีหน้าที่แตกต่างกันไปเช่น หาอาหาร ดูแลไข่และมดราชินี ทำความสะอาด สร้าง และป้องกันรังของมัน

นอกจากนี้ในส่วนที่ 1 ยังมีเรื่องราวของมดอีกมากมายให้ฉันได้อึ้ง ทึ่ง ตะลึงกันไป ทั้งกำเนิดของมดบนโลกใบนี้ วิวัฒนาการ การสื่อสาร การหาอาหาร สังคม การสร้างครอบครัว รูปร่างและขนาดของน้องมด น้องมดในที่นี้ฉันหมายถึงมดตัวจิ๋วนะ ไม่ใช่สาวที่ไหน

จากส่วนแรกแล้วไปต่อกันที่ส่วนที่ 2 "สายใยสัมพันธ์แห่งมด" ซึ่งก็จัดเป็นแบบนิทรรศการเช่นกัน แสดงให้เห็นถึงการเชื่อมโยงโดยอาศัยพฤติกรรมต่างๆของมด ที่จะต้องพึ่งพิงหรือเกี่ยวข้องกับสิ่งอื่นๆ ตลอดเวลา

อ.เดชา อธิบายให้ฉันฟังว่า "มดมันไม่ได้อยู่ด้วยตัวของมันเอง มันอยู่กับสิ่งแวดล้อม อยู่กับพืช อยู่กับสัตว์ อยู่กับอะไรหลายๆ อย่าง มนุษย์ก็ไม่สามารถอยู่ได้ด้วยตัวเองต้องมีการเชื่อมโยงกับสิ่งอื่นๆ เหมือนกัน เช่น ภายในครอบครัว ระหว่างครอบครัว ครอบครัวกับหน่วยงานต่างๆ ครอบครัวของมดมีราชินีตัวเดียวกับลูกเป็นแสนๆ ตัวก็มี แต่ก็ดูแลกันดี มีความสามัคคี ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีการแบ่งหน้าที่การทำงานชัดเจน ไม่ก้าวก่ายกัน ผมเลยมองว่าทั้งที่มดเกิดมาบนโลกก่อนมนุษย์แต่มันก็ยังเป็นครอบครัวที่แข็งแรงอยู่อย่างนี้ แต่ทำไมมนุษย์เรานับวันถึงยิ่งถดถอยลงเรื่อยๆ มันเกิดอะไรขึ้น"

อาจารย์ยังกล่าวเสริมอีกว่า ตรงจุดนี้ถือเป็นการสอน การเตือนให้กับคนเราได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะเด็กๆ ที่มาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์อาจารย์จะเปรียบเทียบมดกับมนุษย์ ให้เด็กๆ ได้เรียนรู้และยึดสิ่งที่ดีๆ ของมดไปเป็นตัวอย่างในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นและการดำเนินชีวิตต่อไป ซึ่งฉันก็เห็นด้วยกับอาจารย์เป็นอย่างยิ่ง

มดจำลองที่จัดแสดงโชว์ไว้
ภายในพิพิธภัณฑ์
สำหรับในส่วนที่ 3 มีชื่อว่า "คุณค่าอนันต์แห่งมด" ฉันถือว่าจุดนี้เป็นประโยชน์อย่างมากเช่นกัน โดยเฉพาะกับชาวบ้านชาวสวน เพราะมดที่เห็นว่าตัวกระจิริดเหล่านี้กลับมีคุณค่ามากมายมหาศาลต่อมนุษย์ ทั้งการสร้างรายได้ แหล่งอาหาร และการท่องเที่ยว เช่น ขายไข่มดแดงสร้างรายได้ หรือนำไปประกอบอาหารก็ได้ ฉันเคยกินบ่อยๆตอนอยู่บ้านนอกบ้านฉัน ขอบอกเลยว่าอร่อยมากๆ รับรองได้

และส่วนสุดท้าย "ชีวิตอัศจรรย์แห่งมด" ซึ่งจะมีครอบครัวของมดตัวเป็นๆ อยู่ในตู้กระจก เพื่อแสดงให้เห็นถึงพฤติกรรม และวิถีชีวิตจริงๆ เช่นความรัก ความอดทน ความสามัคคี ความขยัน ความเสียสละ เพื่อนำไปสู่การปลูกฝังทางด้านจริยธรรมแก่เยาวชน

อ.เดชา บอกว่า มดที่อาศัยอยู่ในตู้กระจกนี้คือ "มดไฟป่า" ต่อยปวดพอๆ กับมดตะนอยเลย ถือว่าเป็นมดที่ร้ายแรง ถ้าเด็กๆ โดนต่อยละก็ร้องจ๊ากเลยเชียวหละ ดังนั้นนักท่องเที่ยวเวลาเข้าป่าก็ต้องระวังให้มาก

นอกจากนั้นภายในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ยังมีมดอภิมหายักษ์อยู่ด้วยอีก 1 ตัว ว่าแล้วก็ขอถ่ายรูปคู่กับเจ้ามดอภิมหายักษ์นี้สักหน่อยดูว่าฉันกับมันใครจะตัวใหญ่กว่ากัน และก่อนที่ฉันจะกลับออกไปด้วยความรู้ ความทึ่ง ความสนุกสนานในวันนี้ ฉันขอแอบแนะไว้หน่อยว่า "มด" แม้มันจะอยู่ด้วยกันหลายร้อย พัน หมื่น แสนตัว แต่ก็ทำหน้าที่ของมันอย่างขยันขันแข็ง มีระเบียบวินัย และรักใคร่สามัคคีปรองดองอยู่กันอย่างสงบเรียบร้อย เราน่าจะดูมดเป็นตัวอย่างแล้วนำมาปฏิบัติตามกันบ้าง เพราะถ้าทำแบบมันไม่ได้ก็อายมดละคราวนี้...




พิพิธภัณฑ์มด ตั้งอยู่ที่ชั้น 2 ตึกวินิจวนันดร ภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน ถ.พหลโยธิน เขตจตุจักร กรุงเทพฯ เปิดให้เข้าชมฟรีทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลาราชการ หากต้องการเข้าชมกรุณาโทรแจ้งล่วงหน้าหรือสอบถามได้ที่โทร 0-2579-0176 ต่อ 510


ที่มาข้อมูล : ผู้จัดการ
https://www.myfirstbrain.com/AroundTheCity_View.aspx?Id=56817


Hotmail® has ever-growing storage! Don't worry about storage limits. Check it out.