วันอังคารที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

มุมใหม่ ในความเก่า แสงเงาแห่งอดีตกาล

 
วันที่ 04 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 4102

มุมใหม่ ในความเก่า แสงเงาแห่งอดีตกาล


คอลัมน์ LIVING

โดย ณฐกร ขุนทอง


หากใครเคยไปในย่านบ้านเก่าแถวชุมชนริมน้ำเก่าแก่ของกรุงเทพมหานคร อย่างชุมชนบ้านบุ ชุมชนกุฎีจีน เดี๋ยวนี้ลองไปใหม่สิ มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น จนทำให้ชุมชนในย่านนี้น่าอยู่ขึ้นเยอะเชียว

ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะมีโครงการ "แผนที่มรดกวัฒนธรรมท้องถิ่นริมน้ำบางกอก" (ภาค 2) ปี 2552 ที่มีการนำนักศึกษาคณะสถาปัตย์ ไปลงพื้นที่ทำเวิร์กช็อป ร่วมกับชาวบ้านเพื่อหาแนวทางพัฒนาพื้นที่ร่วมกับนิทรรศการเครือข่ายอนุรักษ์ ซึ่งประกอบด้วย อีโคโมสไทย สมาคมอนุรักษ์ศิลปกรรมและสิ่งแวดล้อม (SCONTE) กรมศิลปากร และ สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ

การลงพื้นที่ครั้งนี้ก็เพื่อทำให้ชาวบ้านได้เรียนรู้ที่จะอนุรักษ์วิถีชีวิตแบบดั้งเดิม ซึ่งเป็นการสานต่อโครงการที่กรรมาธิการอนุรักษ์ศิลปะสถาปัตยกรรม สมาคมสถาปนิกสยามฯ ได้ดำเนินการไว้แล้วในอดีต โดยในครั้งนี้ทางกรรมาธิการได้เลือกให้สองชุมชนคือ ย่านกุฎีจีน และย่านบ้านบุ

เขาจะเลือกทำงานปรับปรุงในพื้นที่รอบศาสนสถานที่สำคัญซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจของคน ในชุมชน หรือไม่ก็พื้นที่ที่สามารถรับรู้ได้ถึงแม่น้ำลำคลอง ซึ่งเป็นจุดกำเนิดของการตั้งถิ่นฐาน ในย่าน หรือไม่ก็พื้นที่สาธารณะที่มีการใช้งานโดยชุมชน

เรียกว่าพอมีการปรับปรุง ใส่ไอเดียต่างๆ ทางด้านสถาปัตย์เข้าไป ทำให้หลายพื้นที่ดูสะอาดสะอ้านน่าอยู่ขึ้น จนปรุงแต่งชีวิตชาวชุมชนที่โดนความเจริญมาเบียดแทรกให้มีรสชาติ มีความรู้สึกโล่ง หายใจหายคอได้สบายมากขึ้น

ดังเช่นย่านกุฎีจีนที่ขยายตัวจากชุมชนริมน้ำ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในแง่อาคารบ้านเรือน อาคารเก่าที่เริ่มทรุดโทรมรกร้าง แต่กลับมีอาคารใหม่ที่ขัดแย้งกับอาคารเดิม แถมสภาพแวดล้อมหลายแห่งมีสภาพทรุดโทรมจากปัญหาการเข้าพื้นที่ไม่เหมาะสม

พอคณะทำงานลงพื้นที่ได้มีการปรับปรุงแก้ไขทัศนียภาพที่มีผลกระทบต่อมรดกวัฒนธรรม ในพื้นที่ และเสริมสร้างอัตลักษณ์ของพื้นที่ให้โดดเด่นมากยิ่งขึ้น

ไม่เพียงเท่านั้น ชุมชนที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานมักอุดมไปด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น จึงมีการถ่ายทอดภูมิปัญญาเหล่านั้นให้เห็นเป็นรูปธรรมด้วยการออกแบบทางกายภาพ อีกทั้งยังส่งเสริมการใช้งานพื้นที่สาธารณะให้คุ้มค่าและเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม เนื่องจากพื้นที่สาธารณะหลายแห่งไม่ได้ถูกใช้งานอย่างคุ้มค่าอย่างที่ควรจะเป็น การออกแบบที่เหมาะสมจะช่วยส่งเสริมให้เกิดกิจกรรมขึ้นในพื้นที่สาธารณะเหล่านั้น

นอกจากนี้ยังมีการสร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่ และช่วยให้ง่ายต่อการดูแลรักษาและมีอายุการใช้งานยาวนาน โดยการออกแบบเป็นพิเศษที่ต้องง่ายและประหยัด ไม่เพิ่มภาระต่อคนในพื้นที่

ส่วนย่านบ้านบุ มีการเสนอให้ควบคุมภูมิทัศน์ริมคลองบางกอกน้อยให้สะท้อนความเป็นชุมชนริมน้ำที่สวยงาม ด้วยการควบคุมความสูงอาคารและสิ่งปลูกสร้าง และให้ความสำคัญกับอาคารสำคัญในพื้นที่ เช่น อาคารที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ และอาคารที่เป็นแหล่งภูมิปัญญาพื้นถิ่น ด้วยการเปิดมุมมองจากเส้นทางสัญจรที่สำคัญ ตลอดจนปรับปรุงภูมิทัศน์ของตรอก ซอก ซอย ในชุมชน โดยเน้นบริเวณทางแยกและบริเวณร้านค้าเพื่อให้เป็นพื้นที่ทางสังคมที่สำคัญของคนในชุมชน ควบคุมรายละเอียดองค์ประกอบของสถาปัตยกรรมในแต่ละจุดให้สอดคล้องกับสภาพ รอบข้าง และประโยชน์ใช้สอย

พอลงมือออกแบบ แนวคิดของคณะทำงานจึงออกมาเป็นหลายๆ อย่าง ทั้งการปรับปรุงทัศนียภาพ, เสริมสร้างอัตลักษณ์ของพื้นที่, ส่งเสริมการใช้งานพื้นที่สาธารณะ ให้คุ้มค่าเป็นประโยชน์ต่อชาวบ้านในละแวกบ้านบุและนักท่องเที่ยว, สร้างความปลอดภัย, ออกแบบให้ประชาชนดูแลรักษาพื้นที่ได้ง่าย

ที่น่าสนใจคือส่วนเชื่อมต่อกับพื้นที่รอบข้าง ที่คณะทำงานเขามีแนวคิดเพื่อให้ง่ายขึ้น เพราะปัญหาของชุมชนบ้านบุคือการเข้าถึงไม่สะดวก การออกแบบการเชื่อมต่อกับพื้นที่ที่น่าสนใจรอบข้าง จะทำให้การเข้าถึงชุมชนง่ายขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อการ ท่องเที่ยวที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย

นอกจากได้ชื่นชมในพื้นที่จริงแล้ว ใครที่ได้แวะเวียนไปเที่ยวงานสถาปนิก"52 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 28 เมษายน-3 พฤษภาคม 2552 คงได้เห็นว่านี่คือส่วนหนึ่งในหลายนิทรรศการที่มีผู้ให้ความสนใจ และอยากลงพื้นที่ไปสัมผัสกับความเป็นอยู่ที่แท้จริงของชาวบ้านบุ และกุฎีจีนเพียบ ! :D (หน้าพิเศษ D-Life)

หน้า 16

http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02dlf15040552&day=2009-05-04&sectionid=0225


Hotmail® has a new way to see what's up with your friends. Check it out.