วันพฤหัสบดีที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

“ชีวิตทวนกระแส” ของเกษตรกรรุ่นใหม่ บนวิถีไทย “ไท”

"ชีวิตทวนกระแส" ของเกษตรกรรุ่นใหม่ บนวิถีไทย "ไท" 

มูลนิธิสยามกัมมาจล

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

 

 

 

เยาวชนในศูนย์การเรียนรู้ชาวดินเกี่ยวข้าวในแปลงปลูกข้าวของพวกเขาซึ่งกำลังออกรวง

 

เมื่อยังเล็ก ใครหลายคนคงแอบฝันอยากเป็นเกษตรกร แต่พอโตขึ้น หลายคนเริ่มเปลี่ยนใจ เพราะในยุคโลกาภิวัตน์ ความทันสมัย และความสะดวกสบาย ดูจะเป็นสิ่งที่ทุกคนถวิลหา ไม่ว่าใครก็อยากทำงานสบายๆ ไม่ต้องตรากตรำกว่าจะได้เงินมาแต่ละบาท อาชีพเกษตรกรรมที่เคยวาดฝันเมื่อยามเด็กจึงกลายเป็นอาชีพท้ายๆ ที่คนรุ่นใหม่จะนึกถึง ที่สำคัญ "การเลือก" ที่จะมีอาชีพเกษตรกร กลับกลายเป็นเรื่องที่คนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย แม้แต่พ่อ แม่ ซึ่งเป็นเกษตรกร...

 

กระนั้น ในภาวะที่ดูเหมือนว่าคนรุ่นใหม่ล้วนแต่ทิ้งบ้านไปอยู่เมือง ยังมี "คนรุ่นใหม่" หลายคนที่เลือกเส้นทางเดินของชีวิต "ทวนกระแส" ดังตัวอย่างของ 7 เกษตรกรรุ่นใหม่ ผู้เข้าร่วมกิจกรรมในโครงการส่งเสริมการจัดการความรู้ของเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น (4 ภาค) ซึ่งดำเนินการสถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.) ภายใต้การสนับสนุนของมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)    

 

 "...ผมได้ตัดสินใจที่จะอยู่บ้านหลังเรียนจบ ม.6 และเลือกที่จะศึกษาต่อมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ที่เปิดโอกาสให้ผมได้อยู่บ้าน แต่มันก็เป็นเรื่องที่คนในชุมชนไม่เห็นด้วยเท่าไหร่นัก เพราะมันอาจเป็นค่านิยมเลยก็ว่าได้ ที่เด็กทุกคนเมื่อเรียนจบ ม.6 ต้องไปเรียนต่อที่ในเมืองหรือไม่ก็ไปทำงานหาลูกหาเมียมาให้แม่ที่อยู่บ้านเลี้ยง..." ศักดา เหลาเกตุ เยาวชนรักษ์ถิ่นเกิด วัย 19 ปีจากศูนย์การเรียนรู้ชาวดิน อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น ยืนยันถึงการตัดสินใจเลือกเส้นทางชีวิตของเขา

 

ศักดาเลือกเรียนในระบบเปิดที่บ้านเกิด แทนที่จะละถิ่นเข้าเมืองเพื่อศึกษาต่อด้านการเกษตรในมหาวิทยาลัย เหมือนเพื่อนๆ เพราะมองว่าเขาสามารถทำการเกษตรได้แม้อยู่ที่บ้าน อีกทั้งยังเป็นการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริงบนผืนนา หาใช่การเรียนรู้แต่ทฤษฎีที่ไร้การปฏิบัติจริง ถึงแม้ว่าการยืนยันที่จะอยู่นอกกรอบนี้จะมีแรงเสียดทานมาก แต่ทุกวันนี้เขาก็ยังสนุกกับการเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ของชุมชน บนวิถีกสิกรรมพอเพียง

 

อย่างไรก็ดี การยืนหยัดนอกกรอบของศักดาอาจไม่แข็งแรง หากไม่มี พ่อ "สำเนียง วงศ์พิมพ์" ผู้บุกเบิกศูนย์การเรียนรู้ชาวดิน เป็นแบบอย่าง รวมทั้งเอื้ออำนวยให้มีกระบวนการเรียนรู้ และพัฒนาทักษะต่างๆ ร่วมกันกับเพื่อนๆ พ่อสำเนียงในอดีตมีอาชีพนักมวย และเป็นพระเอกหมอลำ ซึ่งรักอาชีพการทำนาด้วยหลักคิดที่ปู่ฝากไว้แต่เด็กที่ว่า "ไม่ว่าคนจะทำอาชีพอะไร แม้แต่คนขับเครื่องบินก็ยังต้องกินข้าว" อาชีพเกษตรกรรมจึงเป็นอาชีพที่มั่นคง ไม่มีวันตกงาน "การทำนาและข้าว" ในมโนสำนึกของพ่อสำเนียงจึงเป็นสิ่งล้ำค่าอย่างยากจะหาสิ่งใดเหมือน

 

จิตวิญญาณด้านการเกษตรในตัวพ่อสำเนียงยังเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เมื่อกว่าสามปีก่อน พ่อสำเนียงยอมสวนกระแสเศรษฐกิจ เสียสละที่ดินรอบเขื่อนอุบลรัตน์ประมาณ 4 ไร่ ทุ่มเทแรงกายแรงใจจัดทำศูนย์การเรียนรู้ชาวดิน เพื่อเป็นแหล่งฟูมฟักเยาวชนไม่ให้หลงใหลไปในทางที่ผิด ขณะเดียวกันก็แฝงการปลูกฝังเยาวชนให้มีแนวคิดเรื่องเกษตรพอเพียง รู้จักการพึ่งพาตนเอง ทำบ้านดิน ปลูกผักปลอดสารเคมี ขุดบ่อเลี้ยงปลา เพาะเห็ด และทำปุ๋ยหมักไว้ใช้เองและจำหน่ายหารายได้ พ่อสำเนียงจะย้ำกับเยาวชนเสมอว่าคนเราต้องรู้จักตนเอง การขยันทำมาหากินจะทำให้เราไม่มีวันอดตาย ที่สำคัญจะต้องยึดมั่นในคุณธรรม เพราะธรรมจะเป็นภูมิคุ้มกันให้แก่เรา

 

สหกรณ์การเกษตรยั่งยืนแม่ทา กิ่งอำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ เป็นอีกหนึ่งแหล่งบ่มเพาะเกษตรกรรุ่นใหม่ที่ความเข้มแข็ง อ้ายกนกศักดิ์ ดวงเรือนแก้ว นายก อบต.แม่ทา จังหวัดเชียงใหม่ คนปัจจุบัน เป็นกลจักรสำคัญที่ทำให้เยาวชนในพื้นที่ไม่ต้องละถิ่นฐาน แต่เรียนรู้และภาคภูมิใจในวิถีเกษตรกรรมยั่งยืนของชุมชน ซึ่งในอดีต อ้ายกนกศักดิ์เคยแสวงโชคในเมืองกรุง เรียกได้ว่าอาบน้ำร้อนมาแล้ว จนได้เรียนรู้ว่าไม่มีที่ไหนที่มีความสุขและความมั่นคงในชีวิตเตรียมพร้อมให้แก่ชีวิตมากเท่าบ้านเกิดและผืนแผ่นดินอันอุดมที่ถือเป็นต้นทุนก้อนใหญ่ของสังคมไทยจนทำให้เขากล้าที่จะยืนนอกแถว

 

"หากเราปลูกพืชแล้วใช้สารเคมี ยาฆ่าแมลง สารกำจัดวัชพืช เพื่อให้พืชผลของเราไม่ถูกรบกวน ก็เท่ากับว่าเรากำลังทำตัวฝืนธรรมชาติ เป็นศัตรูกับธรรมชาติทั้งหมด แล้วไปเป็นมิตรกับพืชผลของเราเพียงอย่างเดียว ซึ่งจะทำให้มีปัญหาตามมาไม่รู้จักจบ แต่หากกลับกัน เมื่อเราเป็นมิตรกับธรรมชาติแล้ว ธรรมชาติทั้งหมดก็จะเป็นมิตรกับเราด้วย" อ้ายกนกศักดิ์ว่าอย่างนั้น

 

นอกจากนี้ เพิก "ยุทธศักดิ์ ยืนน้อย" นักเกษตรกรรมรุ่นที่ 3 ของตำบลแม่ทา ถือเป็นอีกกำลังสำคัญของสหกรณ์การเกษตรยั่งยืนแม่ทา จังหวัดเชียงใหม่ แต่ก่อน เพิกเคยหวังว่าวุฒิความรู้ ปวส.ด้านการจัดการจะทำให้เขามีอาชีพสุขสบาย ทำงานโก้ๆ ในสำนักงาน ไปไหนก็มีคนนับหน้าถือตา แต่เมื่อไม่สามารถหางานมาสร้างคุณค่าและรายได้เลี้ยงปากท้องได้ เพิกจึงต้องหันหลังกลับมาทำงานเกษตรของครอบครัว และได้รู้จักกับวิถีเกษตรกรรมยั่งยืนที่ทำให้เขาปลดเปลื้องหนี้สินของครอบครัว ทั้งยังมีความมั่นคงในชีวิต อาชีพมากขึ้น

 

เพิกกล่าวว่าเมื่อเขาคิดต่างไปจากอดีตที่วัดคุณค่าของการงานที่ "ตัวเงิน" มาเป็นการวัดคุณค่าที่ "การอยู่อย่างพอเพียง" พึ่งพาตนเองได้ ก็ทำให้งานเกษตรกรรมอันหนักหน่วงที่เปรียบเป็นยาขม กลับกลายเป็นวิถีชีวิตใหม่ที่มีความสุขมากขึ้น หากวันนั้นเขาไม่กล้าคิดทวนกระแส เขาก็ไม่แน่ใจว่าจะเขามีวันนี้ได้ 

ขณะที่อีกหนึ่งหนุ่มเลือดนักเกษตร วัต "อนุพงษ์ วิเศษ" เยาวชนรักบ้านเกิดจากเชียงของ จังหวัดเชียงราย เป็นอีกเยาวชนที่มีใจรักด้านการเกษตรไม่แพ้กัน นอกจากจะยึดอาชีพเกษตรกรตามครอบครัวแล้ว วัตยังขันอาสาทำหน้าที่เป็นนักจัดรายการให้ความรู้ด้านการเกษตรแก่ชาวบ้านในชุมชน

 

สมพร ทองเพิ่ม เป็นเยาวชนอีกคนหนึ่งที่ยึดมั่นในอาชีพเกษตรกร สมพรเลือกที่จะเดินทวนกระแสลาออกจากการเป็นครูสอนการอาชีพของศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช เนื่องจากรู้ดีว่าความสุขของเขาหาใช่จะพบได้ในสวนคอนกรีต หากแต่เป็นเรือกสวนไร่นาของครอบครัว เขามักจะบอกกับใครๆ ว่าวันเวลาในสวนช่างผ่านไปไวเหมือนโกหก ผิดกับเวลาที่นั่งอยู่ในสำนักงานที่แต่ละนาทีช่างเนิ่นช้า

 

สมพรตัดสินใจลาออกจากอาชีพที่มีรายได้ประจำมาเป็นเกษตรกรผู้ปลูกและพ่อค้าขายกล้วยหอมอย่างเต็มตัว ทั้งยังหาญกล้าตัดวงจร ไม่พึ่งพิงพ่อค้าคนกลาง ต่างจากเกษตรกรรุ่นพ่อแม่ที่ไม่ทันเหลี่ยมมุมและแรงกดขี่ของนายทุนที่ทำให้เกษตรกรเสียเปรียบ บนเส้นทางปลูกกล้วยหอมของสมพร เขาได้ประยุกต์ใช้ความรู้ที่ได้จากการปฏิบัติที่เห็นแบบอย่างมาจากครอบครัว เข้ากับวิชาความรู้ที่ได้จากมหาวิทยาลัย โดยให้ความสำคัญกับการตลาดมาก สมพรมีสโลแกนว่า "ปลูกได้จะต้องขายให้เป็น" นอกจากจะเป็นนักปฏิบัติตัวยงแล้ว สมพรยังเป็นนักจัดการความรู้ชนิดหาตัวจับยากคนหนึ่งเมื่อเทียบกับเพื่อนวัยเดียวกัน

 

ไม่แตกต่างกันนักกับสมพร ทองเพิ่ม นัก "วิษณุ ศิริเสน" ทายาทฟาร์มเพาะพันธุ์ปลานิลและปลาดุกรายใหญ่ในอำเภอพระพรหม จังหวัดนครศรีธรรมราช ก็เป็นอีกนักปฏิบัติและมีจิตวิญญาณการเกษตรเต็มตัว ด้วยต้นทุนเดิมที่มีอยู่ทำให้วิษณุเติบโตในเส้นทางเกษตรกรรมได้รวดเร็วจนใครๆ แอบฉงนสงสัย ทว่าความจริงเบื้องหลังหน้าฉากอันสวยงาม วิษณุต้องอาศัยความรัก ความทุ่มเท และความพากเพียรพยายามอย่างมากกว่าจะเดินตามรอยเท้าของพ่อวินัย ศิริเสน ได้อย่างไม่อายใคร

 

ความบากบั่นของวิษณุไม่ได้เป็นเพียงคำพูดจายกย่องชมเชย ที่ผ่านมา วิษณุคว้ารางวัลด้านการเกษตรมาแล้วหลายรางวัล ขณะที่เรียนอยู่ชั้น ปวช.ที่วิทยาลัยการอาชีพนครศรีธรรมราช เขาได้รับรางวัลชนะเลิศระดับภาค 3 ปีซ้อนจากการแข่งขันทักษะการผสมเทียมปลา ยิ่งกว่านั้นยังเคยได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ในการแข่งขันทักษะวิชาการขององค์การเกษตรกรในอนาคตแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อกท.) อีกด้วย      

 

จากเรื่องราวของ 7 เกษตรกรรุ่นใหม่ในข้างต้น จะเห็นได้ว่า การที่คนรุ่นใหม่จะหันกลับคืนสู่วิถีเกษตรในชุมชนนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นได้เพียงเพราะ "แรงขับดันด้านใน" ของแต่ละคนเท่านั้น แต่สิ่งที่จะทำให้พวกเขาสามารถหลุดออกจากวิถีเก่าๆ ได้ คงต้องอาศัยปัจจัยภายนอกมาเกื้อหนุนอีกแรง ทั้งที่เป็นฐานของครอบครัว ชุมชน รวมทั้งผู้สนับสนุนทั้งหลายที่คอยกระตุ้น เติมพลัง ทั้งทุน ความรู้ และกระบวนการเรียนรู้

 

สำหรับเกษตรกรเลือดใหม่ทั้ง 7 ได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดและประสบการณ์ ในงานเวทีระพีเสวนา การเรียนรู้เพื่อความเป็นไท ครั้งที่ 2 ภูมิปัญญาวิถีชีวิตไทยไท "จากวันนั้นถึงวันนี้ ฤาสิ้นไร้ผู้สืบสาน" ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ณ หอประชุมมหิศร ธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่ กรุงเทพฯ เพื่อแสดงเจตนารมณ์รับไม้ต่อด้านภูมิปัญญาการเกษตรของไทยจากครูภูมิปัญญารุ่นพ่อแม่ ทั้งยังมุ่งมั่นที่จะยกระดับอาชีพเกษตรกรให้เป็นอาชีพที่มีศักดิ์ศรี และทำให้เกษตรกรเป็นผู้ที่อยู่ได้อย่างมีความสุข

 




http://www.prachatai.com/05web/th/home/16745

โดย : ประชาไท   วันที่ : 7/5/2552


Windows Live™: Keep your life in sync. Check it out.