วันอาทิตย์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ศิลป์ พีระศรี อนุสรณ์

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ศิลป์ พีระศรี อนุสรณ์
ผลงานศิลปะของอาจารย์ศิลป์และลูกศิษย์ภายในพิพิธภัณฑ์

ผู้ที่อยู่ในแวดวงศิลปะ หรือแม้จะไม่ได้อยู่ในวงการศิลปะก็ตาม เชื่อว่าน่าจะเคยได้ยินชื่อ "ศิลป์ พีระศรี" ผ่านหูมามากกว่าหนึ่งครั้ง สำหรับผู้ที่ไม่ได้อยู่ในวงการ ชื่อของศิลป์ พีระศรี ก็อาจจะเป็นที่รู้จักเพียงแง่ของศิลปินและประติมากรผู้มีผลงานปั้นหลายชิ้น แต่สำหรับคนที่อยู่ในแวดวงศิลปะ ชื่อของศิลป์ พีระศรีนั้นมีความหมายหลายอย่าง คือเป็นทั้งอาจารย์ที่รักของชาวศิลปากร ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากร อีกทั้งยังถือว่าเป็นบิดาของวงการศิลปะร่วมสมัยของไทยอีกด้วย

ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี
และเพื่อเป็นการรู้จักอาจารย์ศิลป์และผลงานของท่านให้มากขึ้น ฉันจึงถือโอกาสในวันที่ 15 กันยายน ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันเกิดของอาจารย์ศิลป์ และถือเป็นวัน "ศิลป์ พีระศรี" พาไปดูเรื่องราวเกี่ยวกับอาจารย์ศิลป์ที่ "พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ศิลป์ พีระศรี อนุสรณ์" ที่ตั้งอยู่ในรั้วเดียวกับกรมศิลปากร หรือจะเดินลัดเลาะมาจากคณะจิตรกรรมของมหาวิทยาลัยศิลปากรก็ได้เช่นกัน

แม้พิพิธภัณฑ์แห่งนี้จะมีขนาดเล็กกะทัดรัด แต่ก็มีเรื่องราวของอาจารย์ศิลป์ไว้ให้ศึกษาครบถ้วน ตั้งแต่ประวัติของท่าน ที่เป็นคนอิตาลีโดยกำเนิด มีชื่อเดิมว่า คอร์ราโด เฟโรจี โดยก่อนที่จะเดินทางมาอยู่และมีชื่อเสียงในเมืองไทยนั้น ท่านเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่สถาบันศิลปะที่เมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี จนเมื่อ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 มีพระราชประสงค์จะได้ช่างปั้นผู้เชี่ยวชาญในการสร้างอนุสาวรีย์ ศาสตราจารย์ศิลป์จึงได้รับเลือกให้เข้ามารับราชการในตำแหน่งช่างปั้นประจำกรมศิลปากร

นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของศาสตราจารย์ศิลป์ในประเทศสยาม และในขณะนั้นรัฐบาลได้มีนโยบายดำเนินการก่อสร้างอนุสาวรีย์ เพื่อนำไปติดตั้งตามหัวเมืองต่างๆ ศาสตราจารย์ คอร์ราโด จึงต้องรับภาระงานอย่างหนักเพียงลำพัง ด้วยเหตุนี้ในปี พ.ศ.2476 ท่านจึงริเริ่มให้มีการจัดตั้งโรงเรียนศิลปะแห่งแรกขึ้นในประเทศไทย เพื่อผลิตบุคลากรผู้มีความชำนาญในงาน ปั้นมาสรรค์สร้างอนุสาวรีย์ของชาติ โรงเรียนศิลปากรแผนกช่างจึงถือกำเนิดขึ้น ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนประณีตศิลปกรรม และยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยศิลปากร ในปี พ.ศ.2486 โดยมีศาสตราจารย์ คอร์ราโด ดำรงตำแหน่งคณบดีประติมากรรมคนแรกของมหาวิทยาลัย

ศาสตราจารย์คอร์ราโด มาเปลี่ยนชื่อเป็นศิลป์ พีระศรีก็เมื่อหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง เมื่อประเทศอิตาลียอมแพ้สงครามแก่ฝ่ายสัมพันธมิตร ชาวอิตาเลียนในประเทศไทยจึงตกเป็นเชลยของฝ่ายสัมพันธมิตร ด้วยเหตุผลทางการเมือง หลวงวิจิตรวาทการจึงดำเนินการทำเรื่องขอโอนสัญชาติ นาย คอร์ราโด เฟโรจี มาเป็นสัญชาติไทย และเปลี่ยนชื่อเป็น "นาย ศิลป์ พีระศรี" ในเดือนมกราคม พ.ศ.2487 เพื่อคุ้มครองท่านไว้ไม่ให้ต้องถูกเกณฑ์ไปเป็นเชลยศึกในการสร้างทางรถไฟสายมรณะ และสะพานข้ามแม่น้ำแควที่กาญจนบุรี

พระบรมรูปของรัชกาลที่ 9 ฝีมือปั้นของอาจารย์ศิลป์
สำหรับภายใน "พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ศิลป์ พีระศรี อนุสรณ์" นั้น แต่เดิมนั้นห้องนี้เคยเป็นสถานที่ทำงานของอาจารย์ศิลป์มาก่อน และการจัดแสดงด้านในก็ยังคงบรรยากาศห้องทำงานเก่าของท่านไว้ เมื่อก้าวเท้าเข้าไปในด้านใน ก็จะพบกับห้องโทนสีสดใส ผนังห้องเป็นสีเหลือง เพดานเป็นสีเขียวสดใส ซึ่งเป็นสีที่ท่านชอบ อีกทั้งยังเป็นเดียวกับที่บ้านที่อิตาลีของท่านด้วย

ภายในห้องนี้เป็นที่จัดแสดงนิทรรศการนี้ แบ่งเป็นสองห้องด้วยกัน ห้องด้านนอกซึ่งอยู่ติดกับประตูทางเข้า เป็นห้องที่จัดแสดงผลงานจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ ทั้งของอาจารย์ศิลป์เอง และของบรรดาลูกศิษย์ผู้ใกล้ชิด เช่น เฟื้อ หริพิทักษ์, ประยูร อุลุชาฎะ, ชลูด นิ่มเสมอ, จำรัส เกียรติก้อง, เขียน ยิ้มศิริ, สวัสดิ์ ตันติสุข, ทวี นันทขว้าง ฯลฯ ซึ่งผลงานเหล่านี้ ส่วนใหญ่เป็นงานศิลปกรรมในยุคเริ่มแรกของศิลปะร่วมสมัยในประเทศไทย ซึ่งอาจารย์ศิลป์ พีระศรี เป็นผู้สอนและวางรากฐานไว้ให้

ส่วนห้องทางด้านในนั้น เป็นส่วนที่จำลองบรรยากาศโต๊ะทำงานของอาจารย์ศิลป์เมื่อยังมีชีวิตอยู่ โดยมีโต๊ะยาวตัวหนึ่งตั้งอยู่กลางห้อง จัดแสดงเครื่องมือเครื่องใช้ของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ซึ่งมีทั้งเครื่องพิมพ์ดีด เครื่องเล่นแผ่นเสียง เครื่องมือปั้น ข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัวต่างๆ

ในห้องเดียวกันนี้ยังมีตู้ใบใหญ่ซึ่งจัดแสดงแบบร่างอนุสาวรีย์และประติมากรรมชิ้นสำคัญ เช่น แบบร่างพระบรมรูปรัชกาลที่ 6 แบบร่างพระศรีศากยทศพลญาณ พระประธานพุทธมณฑล และต้นแบบพระเศียรรัชกาลที่ 8 แบบร่างภาพจิตรกรรมฝาผนังในหอพุทธรัตนสถาน พระบรมมหาราชวัง เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีหนังสือหายากซึ่งเป็นหนังสือที่ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ใช้สำหรับค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับศิลปะตะวันตกอีกด้วย

ต้นแบบพระบรมรูปสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ
ส่วนบนหลังตู้ก็จะมีงานปั้นชิ้นเล็กๆ ฝีมือของอาจารย์ศิลป์เช่นกัน ซึ่งงานปั้นชิ้นที่น่าสนใจก็จะเป็นรูปปั้นพระพุทธรูปปางสมาธิบนฐานบัว ซึ่งนอกจากจะปั้นได้งดงามสมจริงแล้ว ใต้ฐานของพระพุทธรูปองค์นี้ก็ยังมีอัฐิของอาจารย์ศิลป์เก็บไว้ด้วย และพอถึงวันที่ 15 กันยายน วันศิลป์ พีระศรี ลูกศิษย์ลูกหาก็จะมากราบอัฐิของอาจารย์ศิลป์ที่นี่ด้วย

พิพิธภัณฑ์อาจารย์ศิลป์นั้นไม่ใหญ่โต เดินดูเดี๋ยวเดียวก็ทั่ว แต่ใครมาแล้วก็อย่าเพิ่งรีบกลับ เพราะใกล้ๆ กันนั้นยังมี "หอประติมากรรมต้นแบบ" ซึ่งแต่เดิมเป็นโรงปั้นหล่อและหลอมโลหะของกรมศิลปากรมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2499 แต่ตอนหลังได้ย้ายโรงปั้นหล่อนี้ไปที่ศาลายา พื้นที่ตรงนี้จึงได้จัดทำเป็นหอประติมากรรมต้นแบบ เป็นที่จัดนิทรรศการและเป็นแหล่งข้อมูลด้านประติมากรรมและศิลปกรรมให้คนที่สนใจได้เข้ามาชมกัน

ประติมากรรมที่จัดแสดงส่วนใหญ่นี้จะเป็นประติมากรรมต้นแบบที่หล่อด้วยปูนปลาสเตอร์ และมีบางส่วนที่หล่อเป็นโลหะ ซึ่งประติมากรรมเหล่านี้ถูกใช้เป็นแบบเพื่อหล่อเป็นโลหะสำหรับนำไปประดิษฐานเป็นอนุสาวรีย์ตามสถานที่สำคัญต่างๆ หลายแห่งในประเทศไทย ซึ่งเมื่อฉันได้เข้ามาดูภายในหอประติมากรรมนี้ก็เห็นว่ามีรูปปั้นหลายรูปที่คุ้นตากันดี และหลายชิ้นก็ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ ไม่ว่าจะเป็น พระบรมราชานุสาวรีย์ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ที่ประดิษฐานอยู่ที่เชิงสะพานพุทธฯ ซึ่งเป็นผลงานการออกแบบของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ และปั้นโดยอาจารย์ศิลป์ พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสิน ที่วงเวียนใหญ่ พระบรมราชานุสาวรีย์พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ด้านหน้าสวนลุมพินี

ส่วนที่อนุสาวรีย์ที่เห็นอยู่ในจังหวัดอื่นๆ ก็เช่น ต้นแบบของ พระศรีศากยะทศพลญานประธานพุทธมณฑลสุทรรสน์ ซึ่งประดิษฐานอยู่ที่พุทธมณฑล พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนารายณ์ ที่จังหวัดลพบุรี และอนุสรณ์ดอนเจดีย์นั่นก็ฝีมืออาจารย์ศิลป์ และมีอีกหลายอนุสาวรีย์ด้วยกัน โดยภายในหอประติมากรรมต้นแบบนี้ไม่ได้มีแต่ผลงานของอาจารย์ศิลป์เพียงคนเดียวเท่านั้น แต่ยังมีผลงานของลูกศิษย์ลูกหาของท่าน รวมๆ แล้วเป็นร้อยชิ้นเลยทีเดียว นับเป็นอีกสถานที่หนึ่งที่คนชอบศิลปะไม่ควรพลาดชมเลยทีเดียว


ภายในพิพิธภัณฑ์ยังคงบรรยากาศห้องทำงานของอาจารย์ศิลป์ไว้
ประติมากรรมต้นแบบของอนุสาวรีย์ต่างๆ
ภายในพิพิธภัณฑ์




พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ศิลป์ พีระศรี อนุสรณ์ และหอประติมากรรมต้นแบบ ตั้งอยู่ที่ กรมศิลปากร ถนนหน้าพระธาตุ กรุงเทพฯ 10200 เปิดให้เข้าชมในวันจันทร์ - วันศุกร์ (ปิดวันเสาร์ - อาทิตย์ และวันนักขัตฤกษ์) ในเวลา 09.00-16.00 น. โดยไม่เสียค่าเข้าชม สอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร 0-2223-6162


ที่มาข้อมูล : ผู้จัดการ
https://www.myfirstbrain.com/AroundTheCity_View.aspx?Id=58019


Hotmail® has ever-growing storage! Don't worry about storage limits. Check it out.