วันศุกร์ที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

“รับมือเศรษฐกิจ ด้วยแนวคิดเศรษฐศาสตร์”

วันที่ 08 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 เวลา 10:55:13 น.  มติชนออนไลน์

"รับมือเศรษฐกิจ ด้วยแนวคิดเศรษฐศาสตร์"



"หญิงและชายสามารถเปลี่ยนคู่เดทได้ทุกๆ 5 หรือ 10 วินาที ซึ่งเป็นธุรกิจที่ค่อนข้างดังในต่างประเทศเพื่อตอบสนองวิถีชีวิตของคนทำงานที่ไม่ค่อยมีเวลาเจอใครใหม่ๆ เมื่อครบตามเวลาที่กำหนดจะสลับเปลี่ยนคู่ไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นจึงต้องพยายามทำความรู้จักกันให้มากที่สุด ..."

 
ในยุคที่ต้องรัดเข็มขัดเพื่อความอยู่รอดท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจแบบนี้ การเตรียมความพร้อมถือเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง การตัดสินใจดำเนินชีวิตบนเหตุผลจำนวนนับไม่ถ้วน บางครั้งก็ทำให้ชีวิตเราดีขึ้นบางครั้งก็แย่ลง แต่ถ้าเราเข้าใจกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ยอมรับสิ่งที่เห็นและเป็นอยู่ อาจนำพาให้เราตัดสินใจได้อย่างมีเหตุมีผลก็เป็นได้

เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าหลักแนวคิดของทิม ฮาร์ฟอร์ด ได้ให้คำอธิบายว่าด้วยเรื่องของเศรษฐศาสตร์ที่ง่ายต่อการเรียนรู้ และขยับเข้าใกล้ชีวิตของมนุษย์อย่างเราๆ มากยิ่งขึ้น เพราะไม่ว่าเราจะทำอะไรต่างก็มีหลักของเศรษฐศาสตร์เข้ามาเกี่ยวพันเชื่อมโยงด้วยกันทั้งนั้น
 
หลักแนวคิดของ ทิม ฮาร์ฟอร์ด ที่ถ่ายทอดอยู่ในหนังสือ  "The Logic of Life" หรือ "เศรษฐศาสตร์แห่งชีวิต" ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยโดย สฤณี อาชวานันทกุล เป็นประโยชน์สำหรับนักอ่านอยู่ไม่น้อย ทำให้กระแสการตอบรับของหนังสือเล่มนี้มาแรงก้าวขึ้นสู่อันดับ 5 หนังสือขายดีของสำนักพิมพ์มติชนได้อย่างสวยงาม ทว่าความแรงของหนังสือไม่หยุดอยู่เพียงนี้ ที่ผ่านมาสำนักพิมพ์มติชนได้จัดเวทีเสวนาผ่าทางตันภายใต้หัวข้อ "รับมือเศรษฐกิจด้วยแนวคิดเศรษฐศาสตร์" เปิดกว้างให้ผู้ฟังร่วมซักถามโต้ตอบ ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมฟังเสวนาเป็นจำนวนมาก

ทั้งนี้ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในความต่าง สะท้อนมุมมองด้านเศรษฐศาสตร์ ถกเถียงข้อสงสัยกับนักคิด นักเขียน นักอ่าน 3 ท่านไม่ว่าจะเป็น ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ ผู้คร่ำหวอดในแวดวงนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์มาอย่างยาวนาน และเป็นที่รู้จักกันในวงกว้างสำหรับนามปากกาที่มีชื่อว่า "วีรกร ตรีเศศ" คอลัมนิสต์และนักเขียนผู้ฝากผลงานไว้อย่างมากมาย

สฤณี อาชวานันทกุล นักแปลอิสระผู้มากความสามารถ หรือที่นักท่องเว็บส่วนใหญ่รู้จักในชื่อ "คนชายขอบ" หรือ "Fringer" จากบล็อก http://www.fringer.org  และยังเป็นคอลัมน์นิสต์นิตยสาร หนังสือพิมพ์หลายฉบับอยู่ไม่น้อย

สำหรับผู้ดำเนินรายการ อรนุช อนุศักดิ์เสถียร อดีตนักข่าวหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น ก่อนผันตัวเองมาจับงานวิทยุกับบีบีซีไทย นอกจากนี้ยังเป็นนักแปลอิสระอีกด้วย

ก่อนหน้านี้ ทิม ฮาร์ฟอร์ด เคยมีผลงาน  The Undercover Economist หรือ "นักสืบเศรษฐศาสตร์" หนังสือเล่มแรกของทิม ฮาร์ฟอร์ด คอลัมนิสต์ประจำหนังสือพิมพ์ Financial Time ที่ประสบความสำเร็จไปทั่วโลกในการทำให้คนธรรมดาอย่างเราๆ เข้าใจและเข้าถึงเศรษฐศาสตร์ได้ง่ายยิ่งขึ้น ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์น้อยคนจะทำได้

หากกล่าวถึงเศรษฐศาสตร์ใครหลายคนในที่นี้อาจนึกไปถึงตัวเลข เส้นกราฟ ที่เป็นตัวบ่งบอกเรื่องราวของเศรษฐศาสตร์ได้อย่างชัดเจน แนวคิดการใช้ชีวิตด้วยหลักเศรษฐศาสตร์จึงเป็นเรื่องยากอยู่ไม่น้อย อย่างไรก็ตามแต่การเริ่มต้นเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ การนำชุดเครื่องมือเศรษฐศาสตร์มาวิเคราะห์เจาะลึกถึงชีวิตประจำวันของมนุษย์ เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่าพฤติกรรมที่เราอาจมองว่าไร้เหตุผลอย่างสิ้นเชิง หรือเป็นผลลัพธ์ของอารมณ์ความรู้สึกเพียงอย่างเดียวนั้น แท้จริงแล้วอาจเป็นผลพวงของการตัดสินใจอย่าง "มีเหตุมีผล" ที่เราไม่รู้ตัวว่ากำลังทำอยู่ก็เป็นได้

ด้วยความคิดหยั่งชั้นเชิงว่าด้วยเหตุด้วยผลของหลักเศรษฐศาสตร์แบบตรรกะง่ายๆ ที่ซุกซ่อนอยู่เบื้องหลังชีวิต ยกตัวอย่างเรื่องใกล้ตัวตามหลักความเป็นจริงที่คุณสฤณีอธิบายให้เราได้เห็นภาพชัดยิ่งขึ้น เช่น การเดทด่วน

"หญิงและชายสามารถเปลี่ยนคู่เดทได้ทุกๆ 5 หรือ 10 วินาที ซึ่งเป็นธุรกิจที่ค่อนข้างดังในต่างประเทศเพื่อตอบสนองวิถีชีวิตของคนทำงานที่ไม่ค่อยมีเวลาเจอใครใหม่ๆ  เมื่อครบตามเวลาที่กำหนดจะสลับเปลี่ยนคู่ไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นจึงต้องพยายามทำความรู้จักกันให้มากที่สุด ซึ่งสิ่งที่น่าสนใจในการทดลองแบบนี้คือ การออกเดทในลักษณะแบบนี้ผู้ชายจะมีแนวโน้มเลือกไม่มากเท่ากับผู้หญิง เพราะว่าผู้หญิงช่างเลือกมากกว่าผู้ชาย ว่ากันว่าผู้ชายยิ่งเวลาน้อยลงมากเท่าไหร่ก็ยิ่งไม่เรื่องมาก ซึ่งในขณะที่ผู้หญิงช่างเลือกมมากกว่า การทดลองในลักษณะแบบนี้อาจนำพาไปสู่เรื่องของการหย่าร้างระหว่างคู่สามีภรรยาก็เป็นได้ เพราะถ้าหากผู้หญิงมีโอกาสทางการศึกษาสูงมีงานทำก็จะเลือกคู่ที่สถานภาพทัดเทียมกับตัวเอง หรือว่าผู้ชายที่มีโอกาสดีมีการศึกษาสูงมากกว่าก็สามารถเลือกคู่ที่สถานภาพทัดเทียมกันได้เช่นกัน กล่าวย้อนกลับไปอีกว่าทำไมผู้หญิงช่างเลือกมากกว่าผู้ชาย  ซึ่งในหนังสือเล่มนี้มีคำตอบที่ชัดเจน" 

ดร.วรากรณ์ เสริมต่อว่า "ประเด็นที่มนุษย์เราจะเลือกคนที่แต่งงานตามมาตรฐานที่มีอยู่  เมื่อก่อนจะมีมาตรฐานสูงมากเลยยกตัวอย่างเช่นเมื่ออยู่ในเมืองที่มีผู้หญิงไม่กี่คนให้เลือก ถึงแม้ว่าอยากจะได้นางฟ้าเป็นคู่ชีวิต แต่เมื่อมีให้เลือกเพียงสามคนเราก็ต้องเลือกเฉพาะมาตรฐานตรงนั้นขึ้นมา"

ไม่เพียงเท่านี้คุณสฤณี ยังกล่าวถึงเรื่องของเศรษฐศาสตร์ที่ใกล้ชิดเข้ามาถึงตัวเรามากยิ่งขึ้นไม่เว้นแม้แต่เรื่องยาคุมกำเนิด และเรื่องการเหยียดสีผิวชนชั้นทางสังคม

"พอมียาคุมกำเนิดความสามารถของคนที่จะใช้ชีวิตแบบไร้พันธะผูกพันไม่ต้องคิดเรื่องชีวิตคู่มีอิสรภาพมากกว่าเดิม  เลือกใช้ชีวิตแบบอยู่กันไปโดยไม่ต้องแต่งงานกันด้วยซ้ำ

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการเหยียดสีผิวเป็นอะไรที่คนส่วนใหญ่คิดว่าไม่มีเหตุผล คือคล้ายกับว่าคนที่เหยียดสีผิวนิสัยไม่ดี ถ้ามีอคติมักเปลี่ยนแปลงไม่ได้ มีนักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่หลายท่านที่ลงไปศึกษาพฤติกรรมเรื่องการเหยียดสีผิวอย่างเช่น ผิวดำก็เป็นที่รับรู้ของคนทั่วไปว่าผิวดำโดยเฉพาะคนผิวดำที่เกิดมาในถิ่นที่ยากจนก็จะมีอัตราอาชญากรรมสูงและก็ไม่สนใจไปโรงเรียน ไม่ค่อยตั้งในเรียน เกเร ในขณะเดียวกันก็กระทบคนผิวดำที่ตั้งใจเรียน ไม่เกเรก็จะถูกเพื่อนๆ กีดกันไม่ให้เข้าสมาคมด้วย มันก็เกี่ยวโยงและน่าสนใจว่าจริงๆ ที่คนส่วนใหญ่ไม่ตั้งใจเรียน ก็เพราะว่าถ้าเขาตั้งใจเรียนไปแล้วจบการศึกษามาแล้วโอกาสที่จะได้เลือกงานน้อย นายจ้างไม่เลือก เพราะนายจ้างส่วนใหญ่เลือกแต่คนผิวขาว ก็เท่ากับว่าที่เขาลงทุนไปก็ไม่ได้อะไรตอบแทน มันก็เลยเป็นวงจรอุบาทว์ แต่บางทีก็อาจจะเป็นเรื่องชนกลุ่มน้อยในสังคมก็ได้"
คุณอรนุชได้กล่าวเพิ่มเติมถึงมุมมองเรื่องเศรษฐศาสตร์ว่ามีผลต่อพฤติกรรมมนุษย์กล่าวได้อีกว่าพฤติกรรมบางอย่างที่เราบอกว่ามันเสี่ยงร้อยเปอร์เซ็นต์คุณกล้าทำไปได้อย่างไร  แล้วเศรษฐศาสตร์บอกว่าคนเรามีเหตุมีผลเป็นมนุษย์เศรษฐกิจ เช่น ทำไมผู้ชายกับผู้หญิงมีเพศสัมพันธ์กันแล้วไม่สวมถุงยางอนามัย เขามีเหตุผลอะไร หรือเรายังไม่รู้เหตุผลที่แท้จริงของเขาอย่างนั้นหรือ

สำหรับดร.วรากรณ์ ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับประเด็นนี้ไว้อย่างน่าสนใจเช่นกัน "เป็นประเด็นสำคัญที่มนุษย์มีเหตุมีผลหรือเปล่า ถ้าเราคิดว่ามนุษย์ไม่มีเหตุผลทำไปเพราะความอคติ เพราะฉะนั้นไม่ต้องแก้ไขอะไรเลยยกตัวอย่างเช่น คนไทยยอมจ่ายเงินเป็นจำนวนแสนบาทเพื่อซื้อป้ายรถทะเบียนรถสวยๆ มีเงินไม่รู้จะทำอะไรเชื่อถือเรื่องโชคลาง แต่เศรษฐศาสตร์อธิบายว่าการที่คนยอมเสียเงินเป็นแสนบาทเพื่อได้เลขทะเบียนรถสวยๆ จริงๆ แล้วมีเหตุมีผลคือ คนเราจะทำอะไรก็ตามที่ต้นทุนต่ำที่สุดสำหรับตัวเอง ถ้าเรามีรถยนต์ที่ป้ายทะเบียนรถสวย มีสติกเกอร์ที่บ่งบอกถึงอำนาจรัฐหรือตำรวจอยู่ข้างหลังรถ เวลาขับรถไปบนถนนตำรวจจราจรไม่กล้ายุ่งหรอก เพราะถ้าจับรถเราต้นทุนจะสูงมากอาจโดนย้ายจากพลับพลาไชยไปอยู่แก่งค้อเลยก็ว่าได้  แต่ถ้าเป็นรถแท็กซี่จับทันทีเพราะว่าต้นทุนต่ำไม่มีทางทำอะไรได้เลย  สิ่งเหล่านี้มีเหตุมีผลหลายอย่างโดยทั้งที่เราคิดว่าไม่มีเหตุไม่มีผล ในหนังสือเล่มนี้ได้พยายามอธิบายให้ชัดเจนขึ้น"

นอกจากนี้แล้วคุณสฤณี และคุณอรนุชยังให้มุมมองเรื่องของความเสี่ยงว่าด้วยหลักเศรษฐศาสตร์ เชื่อว่าบางครั้งอาจเกิดจากแรงจูงใจภายใต้ข้อจำกัด และกล่าวถึงเหตุผลความเสี่ยงที่ว่าบางทีทำไมโสเพณีไม่สวมถุงยางอนามัยป้องกันตัวเองเวลามีเพศสัมพันธ์กับชายแปลกหน้า ทั้งๆ ที่เป็นการลงทุนที่เสี่ยงอยู่ไม่น้อย หรืออาจกล่าวได้อีกนัยหนึ่งว่าการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่สวมถุงยางอนามัยเป็นสินค้าแบบพรีเมียม เป็นสินค้าที่ดีกว่าการสวมถุงยาง แต่ก็มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อเอดส์ได้ในหลักเศรษฐ์ศาสตร์บอกว่าถ้าคุณไม่สวมถุงยางอนามัยเวลามีเพศสัมพันธ์ต้องจ่ายเงินค่าบริการเพิ่ม ซึ่งเขายอมรับความเสี่ยงนั้นเพื่อได้รับเงินมากขึ้นกว่าเดิมอย่างนั้นเหรอ

"จริงๆ แล้วการอ่านหนังสือเล่มนี้หลายๆ ครั้งบอกว่าคนที่ตัดสินใจแบบนั้น หรือแบบนี้มีเหตุมีผล กรณีของโสเพณีเขาขายบริการมีเหตุมีผลเขารู้ว่าจะบริการแบบไหนแล้วแลกกลับมาเท่าไหร่เขารู้ดีถึงความเสี่ยงนั่นอยู่แล้ว" คุณสฤณีกล่าว
ดร.วรากรณ์ กล่าวเพิ่มเติมยกตัวอย่างกรณีการดื่มแอลกอฮอล์ส่งผลดีต่อหลอดเลือด พร้อมทั้งกล่าวย้ำถึงพฤติกรรมของมนุษย์ในเชิงเศรษฐศาสตร์

"ทุกมื้ออาหารให้เรากินแอลกอฮอล์วันละ 1 แก้ว ทุกวันจะเป็นผลดีต่อหลอดเลือด ซึ่งเป็นอีกข้อเท็จจริงหนึ่งที่ทางการแพทย์ไม่กล้าบอก เพราะว่าถ้าบอกไปแล้วจะเป็นเรื่องใหญ่ อาจจะไม่ใช่กินเพียงแก้วเดียวในทุกมื้ออาหาร เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้วความเสี่ยงมี แต่ไม่มากเท่าไหร่ ซึ่งในหนังสือเล่มนี้ได้อธิบายข้อเท็จจริงออกมาทางตัวเลข แต่สิ่งหนึ่งที่เศรษฐศาสตร์ย้ำในเรื่องของการเข้าใจพฤติกรรมของมนุษย์ คือ มนุษย์ชอบผัดวันประกันพรุ่ง มนุษย์เราจะออมยังต้องบังคับกันเลย เพราะมนุษย์เราไม่ชอบการออม มีงานวิจัยมากมายบอกมาว่าถ้าเรามีรายได้มาแล้วเราใช้ไปให้หมดเลย แล้วเราไปออมทีหลังจะไม่มีวันออมได้เลย วิธีเดียวที่จะออมได้คือ ออมแบบบังคับ อย่างนี้การออมจะเกิดขึ้นได้ เพราะว่าถ้าปล่อยให้มนุษย์เสรีเกือบทุกคนเหมือนกันหมดไม่ชอบที่จะออม ชอบจะใช้จ่ายเงินก่อนแล้วถึงจะออมทีหลัง"

คุณสฤณี เสริมต่อดร.วรากรณ์อีกว่า "ทำไมคนเราต้องบังคับให้ออม ถ้าไม่บังคับก็ไม่เกิดการออม ก็คิดว่าเป็นจุดตั้งต้นที่ดี ขอสรุปนิดนึงว่าหนังสือเล่มนี้ได้บอกอะไรเรา "เศรษฐศาสตร์แห่งชีวิต" คือถ้าทุกคนมีเหตุมีผล100% ตลอดเวลาเราก็ต้องรู้ว่าการออมเงินเป็นเรื่องที่ดีแต่เราก็ไม่ออม ดังนั้นเราก็ต้องแปลว่าเราก็มีหลายๆ ครั้งการตัดสินใจของเราก็ไม่มีเหตุผลเหมือนกันดังนั้นก็เป็นจุดที่น่าสนใจว่านักเศรษฐศาสตร์อย่างทิม ฮาฟอร์ด เขามุ่งศึกษาการมีเหตุมีผลที่อยู่เบื้องหลังพฤติกรรมหรือผลลัพธ์ที่มันดูไม่ค่อยมีเหตุมีผล แต่ในขณะเดียวกันมีนักเศรษฐศาสตร์อีกหลายท่าน เรียกว่านักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมคนพวกนี้มุ่งศึกษาพฤติกรรมที่ไร้เหตุผลของมนุษย์ที่จะทำให้เกิดผลลัพธ์ที่มีเหตุมีผล ในทางกลับกันก็คิดว่าเป็นพรมแดนของเศรษฐศาสตร์ที่น่าสนใจ สำหรับหนังสือเล่มนี้มีทั้งเศรษฐศาสตร์มหภาคและจุลภาค แล้วก็มีเรื่องของพฤติกรรมมนุษย์ด้วย"

กับโจทย์ข้อสุดท้ายที่คุณอรนุชถามว่า จะรับมือกับเศรษฐกิจอย่างไรดี ด้วยเศรษฐศาสตร์แห่งชีวิต ซึ่งเศรษฐศาสตร์ในความหมายที่แปลเป็นภาษาไทยของดร.วรากรณ์นั้น อาจเรียกได้ว่า ศาสตร์แห่งความหดหู่และสิ้นหวัง แล้วเราจะอาศัยศาสตร์แห่งความหดหู่และสิ้นหวังช่วยเราอย่างไรดี ใช้ชีวิตอย่างไรกินอยู่อย่างไรไม่ให้เดือดร้อนในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้

และอีกหนึ่งโจทย์คำถามที่ว่าสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกจนถึงขีดสุด และทองคำเป็นสินทรัพย์ในการลงทุนที่มีค่า ในสภาวะแบบนี้ถ้าในอนาคตอีก 50 ปีหรืออีก 100 ปี ข้างหน้าสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำยิ่งกว่านี้อีก แต่ตอนนี้คือประเทศยังสามารถมีเงินภาษีมาช่วยหนุนกิจการที่ล้มละลายต่อไป ภาษีของประชาชนไม่เพียงพอให้อุดหนุนกิจการอะไรต่างๆ ที่ล้มละลายก็แล้วแต่นั้น ถ้าถึงภาวะแบบนั้นแล้วแต่ละประเทศต้องเอาทรัพยากรที่มีอยู่มาแลกกัน สมมติว่าตลาดการเงินล้มสลายระบบการเงินจะเกิดอะไรขึ้น แล้วถึงเวลานั้นทองคำยังจะเป็นสินทรัพย์ที่มีค่าอยู่รึเปล่า ถ้าเกิดเรามองอนาคตล่วงหน้าในการออม เราออมไว้เป็นทองคำ ในอนาคตภายภาคหน้าทองคำยังมีค่าอยู่รึเปล่า

ดร.วรากรณ์ ได้ให้คำตอบว่า "ที่บอกว่าหดหู่และสิ้นหวังก็เพราะว่ามันเป็นศาสตร์ที่บอกว่าทุกอย่างที่เราทำมีต้นทุนทั้งนั้น ไม่มีอะไรในโลกที่ทำโดยไม่มีต้นทุน ต้นทุนในที่นี้อาจไม่ใช่เงิน หรือแม้แต่ในขณะที่ท่านนั่งฟังเสวนาอยู่ที่นี่คิดว่านั่งฟรีหรือ ที่จริงไม่ได้ฟรีนะ ซึ่งจริงๆ แล้วท่านน่าจะไปเดินดูหนังสือหาความสุข แต่ท่านไม่ทำ ท่านเลือกจะมานั่งที่นี่เพราะต้นทุนที่ท่านจะมานั่งที่นี่คือการเสียสละ ถ้าท่านไปที่โน่นก็จะไม่ได้มาที่นี้ ไม่ว่าท่านทำอะไรก็มีต้นทุนอยู่เสมอ

เพราะฉะนั้นการเลือกจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ ตั้งแต่การเลือกคู่ชีวิต เลือกการใช้ชีวิต เลือกการใช้เงิน เลือกงานที่ตนเองทำ เลือกตัดสินใจในแต่ละวัน ทุกอย่างเป็นการเลือกทั้งสิ้นตั้งแต่ต้นไปจนจบ เพราะฉะนั้นเศรษฐศาสตร์จะวิเคราะห์ให้ฟังว่า ในการเลือกแต่ละอย่างมีต้นทุนอะไรบ้าง เพราะมันจะทำให้เราตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ถามว่าทองคำมีค่าไหม มีแน่นอน และมีมากกว่านี้ด้วย ถามว่ามีไว้ตอนนี้คุ้มหรือเปล่า ตอบไม่ได้ เพราะว่าเราไม่รู้ว่ามันคุ้มแค่ไหน เพราะเราไม่รู้ว่ามันจะเพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหน เพราะฉะนั้นคำตอบในระยะยาวทองคำขึ้นแน่นอน แต่ถ้าถือเป็นเงินสดอาจจะงอกเร็วกว่าทองคำและซื้อทองคำในอนาคตได้มากกว่าที่ถือไว้ข้างหน้าก็ได้ และอีกประเด็นที่น่าสงสัยว่าทองคำมันจะมีค่าตลอดเวลารึเปล่าอนาคตไม่รู้ ประการสำคัญเงินเราสามารถนำไปฝากธนาคารไปลงทุนได้ แต่ทองคำเป็นของที่มีมูลค่าตอนเมื่อเราขายเท่านั้นเอง แล้วเราก็ไม่รู้ว่ามูลค่ามันจะเป็นเท่าไหร่ในอนาคต กล่าวโดยสรุปคือมีทั้งข้อดีข้อเสียของทองคำ"

คุณสฤณีได้ทิ้งท้ายความคิดเห็นกับโจทย์คำถามข้างต้นด้วยความคิดเห็นส่วนตัว  "ส่วนเรื่องระบบการเงินที่พังพินาศ คงตอบไม่ได้ว่าจะพังพินาศจนไม่มีตลาดการเงิน จริงๆ คิดว่าประเด็นหนึ่งที่อยากเสริมคือ มีหลักการเงินอยู่อย่างหนึ่งว่าถ้าเราไม่มั่นใจว่าอะไรเป็นสิ่งที่เราจะได้ประโยชน์แน่นอนในอนาคตหรือเปล่า  เราก็ควรจะทำในสิ่งที่กระจายความเสี่ยงอาจจะกันเงินส่วนหนึ่งออมส่วนหนึ่งเอาไว้ซื้อทองคำ เรื่องของตลาดการเงินอาจจะเป็นความคิดเห็นส่วนตัวก็แล้วกัน คิดว่าตลาดการเงินรอบนี้ที่มันพังพินาศขนาดนี้ก็เพราะว่ามันเป็นเรื่องของความไม่โปร่งใสด้วยของภาคการเงินซะส่วนใหญ่"
...
ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตามแต่ การมีเหตุมีผลหรือแม้แต่พฤติกรรมมนุษย์ที่อยู่ภายใต้หลักแนวคิดของเศรษฐศาสตร์ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่จนถึงทุกวันนี้ ทุกสิ่งอย่างที่เกิดขึ้นล้วนแต่มีที่มาที่ไป หากเราเข้าใจง่าย คิดเป็น รู้ทัน การปรับตัวให้ทันในโลกของการเปลี่ยนแปลง ก็ไม่ใช่เรื่องยากต่อการเตรียมความพร้อมรับมืออนาคตที่กำลังจะเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที


http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1241754959&grpid=01&catid=08


Hotmail® has ever-growing storage! Don't worry about storage limits. Check it out.