วันที่ 3 พฤษภาคม 2552 เวลา 00:00 น. |
สาวรุ่นใหม่กับศาสตร์ใหม่ 'ดุจดาว วัฒนปกรณ์' ดีกรี 'นักแดนซ์บำบัดจิต'
| "แดนซ์ มูฟเมนท์ ไซโค เธอราปี (Dance Movement Psycho Therapy)" หรือเรียกสั้น ๆ ว่า "แดนซ์ มูฟเมนท์ เธอราปี" นี่มิใช่แค่การเต้นหรือการแสดง คำ ๆ นี้ยังเป็นคำใหม่ในสังคมไทย แต่ก็มีคนไทยรุ่นใหม่ข้ามน้ำข้ามทะเลไปเรียนรู้จากต่างประเทศ แล้วนำความน่าสนใจกลับมาเผยแพร่ในเมืองไทย สาวไทยรุ่นใหม่คนนี้... "ดุจดาว วัฒนปกรณ์" ดุจดาว วัฒนปกรณ์ หรือ "ดาว" สาวไทยรุ่นใหม่วัย 29 ปี เธอเป็นทั้งนักแสดงละครเวทีมากฝีมือ และอดีตเคยทำงานด้านสื่อทีวี เธอเดินทางไปต่างประเทศเพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับ "แดนซ์ มูฟเมนท์ เธอราปี" ซึ่งเป็นการ "บำบัด" รูปแบบหนึ่ง โดย "ใช้ศิลปะการเต้นเป็นอุปกรณ์" เป็นเครื่องมือในการช่วยบำบัด ดาวเล่าให้ฟังว่า เธอเป็นคนกรุงเทพฯ โดยกำเนิด คุณพ่อชลิต และตะวัน (พี่ชาย) มีอาชีพเป็นวิศวกร ส่วนคุณแม่เฟื่องฟ้าทำงานธนาคารพาณิชย์ โดยเธอซึ่งเป็นลูกคนเล็กกลับมีอาชีพที่แตกต่างไปจากคนอื่น ๆ ในครอบครัว คือเรียนจบปริญญาตรีคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน สาขาวิทยุและโทรทัศน์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อปี 2545 แล้วทำงานพิธีกร เล่นละครเวที งานพิธีกรคือทำรายการเพื่อสุขภาพ รายการท่องเที่ยว ส่วนละครเวทีนั้น มีที่มาตั้งแต่ก่อนเรียนจบปริญญาตรี โดยเพื่อนส่งบทละครประกวดรางวัล สดใส อวอร์ด ซึ่งได้รับรางวัล จึงต้องทำโปรเจคท์ต่อ จากนั้นก็เข้ากลุ่มละครเวทีที่ชื่อว่า ดรีมบอกซ์ และ บี-ฟลอร์ ซึ่งมีกิจกรรมการแสดงหลากหลาย ถามว่าทำไมตอนนั้นไม่เบนเข็มเล่นละครเวทีแบบเชิงพาณิชย์ที่อาจทำให้เธอมีชื่อเสียงโด่งดัง ดาวตอบแบบไม่ลังเลว่า ไม่เคยคิด เพราะไม่ใช่ดารา และไม่ชอบอะไรแบบนี้ แต่ละครเวทีแบบเล็ก ๆ เป็นอะไรที่อยากทำจริง ๆ มันมีวิชาให้ฝึกเยอะ มันฝึกคน ฝึกฝนทักษะ รู้สึกแค่นี้ก็ดีแล้ว ซึ่งตอนนั้นเป็นเด็ก ตอนนั้นก็ทำตรงนั้นไว้ก่อน ภายภาคหน้าค่อยว่ากันทีหลัง และก็ทำไปเรื่อย ๆ จากนั้นก็ไปเรียนต่อต่างประเทศ "ต้องการจะไปเรียนต่อตั้งแต่เรียนจบแล้ว แต่ตอนนั้นยังไม่รู้ว่าจะเรียนอะไรดี เพราะจะเรียนบริหารก็ไม่ใช่ เรียนวารสารศาสตร์ ก็ไม่เอาแล้ว อยากหาสิ่งที่เราสนใจ และชอบจริง ๆ ก็หาไปเรื่อย ๆ ระหว่างทำละครเวที จนเจอ แดนซ์ มูฟเมนท์ ไซโค เธอราปี ที่เป็นศาสตร์ใหม่ ซึ่งเราเคยมีความสงสัยมาตลอดว่าการเคลื่อนไหวกับจิตใจมันเกี่ยวเนื่องกันอย่างไร และทำไมมันเกิดผลกับเรา ซึ่งศาสตร์นี้ตอบได้" ดาวเล่าต่อไปว่า ครอบครัวสนับสนุนเรื่องเรียน รวมถึงเรื่องการแสดง แม้ว่าจะมีบางมุมที่อาจจะไม่เข้าใจ เพราะคุณแม่ทำงานธนาคาร คุณพ่อเป็นวิศวกร พี่ชายก็เป็นวิศวกร แต่ลูกสาวคนเล็กมาทางศิลปะ ซึ่งเล่นละครบางทีก็ไม่ได้เงิน เล่นฟรี แต่ก็ยังทำ ซึ่งครอบครัวก็สนับสนุน เพราะคิดว่าคงเอาตัวรอดได้ "ที่ไปเรียนต่อไม่ใช่สาขาด้านการแสดง แต่เป็นการบำบัดจิตให้คนโดยใช้ศิลปะการเคลื่อนไหว รู้สึกถูกใจเนื้อหาที่อยู่ในคอร์สมาก ๆ อยากรู้มาก และไม่ปรึกษาใครก่อนด้วย" เมื่อสมัครสอบเพื่อเรียนศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยโกลด์ สมิธส์ ยูนิเวอร์ซิตี้ ออฟ ลอนดอน ประเทศอังกฤษได้ เธอดีใจมาก โดยบอกว่า เมื่อไปเรียนแล้วเหมือนไปอยู่อีกโลกหนึ่ง เพราะชีวิตไม่เคยอยู่ในวงการที่เกี่ยวกับการทำงานในการรักษาจิตใจคน อยู่แต่กับทางศิลปะ ทางบันเทิงตลอดเวลา แค่ให้ความสุขกับคน ตรงที่เรียนนี้เป็นการเอาศิลปะมาบำบัดคน ซึ่งวัตถุประสงค์ในการใช้มันแตกต่าง ซึ่งเธออธิบายความต่างจากละคร จากการแสดงว่า ในแง่ในการบำบัดโดยการเคลื่อนไหวนั้น เป็นการทำให้คนอื่นเขารู้ว่าตัวเขามีสารอะไร ไม่เกี่ยวอะไรกับสารจากเราเหมือนที่สื่อในการแสดงแล้ว แต่เป็นสารของเขาเอง ศึกษาจากการเคลื่อนไหว "เหมือนเป็นหมอรักษาคนไข้ แต่เป็นเชิงจิต ช่วยเหลือกัน ทำความเข้าใจกัน ซึ่งบำบัดคือทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงตัวคนไข้ ไม่ได้บอกว่าเป็นโรคอะไร แต่ช่วยให้เข้าใจมากขึ้นผ่านการเคลื่อนไหวแบบอิสระ เพราะว่าบางครั้งแม้คุณจะไม่พูด แต่การเคลื่อนไหวมันส่งสารออกมา เราก็เรียนวิเคราะห์การเคลื่อนไหว การเคลื่อนไหวมันลิงก์อะไรกับทางด้านจิตใจ ซึ่งก็จะอยู่ในการเคลื่อนไหวหมดเลย และที่ต้องมีศาสตร์ตรงนี้ออกมาเพราะเป็นการมองอีกมุมหนึ่งมากกว่า มองว่าคุณป่วยก็ต้องรักษา ให้ยา แต่ศาสตร์นี้คือ ถ้าทำให้เขาหายแล้ว ในระยะยาวทำให้เขาหายขาดเลยดีไหม ให้เข้าใจตัวเอง เปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน พึ่งพาตัวเอง" ดาวหรือดุจดาวบอกอีกว่า แม้ว่าจะรักษาไม่หาย แต่อาจทำให้เขาอยู่กับสิ่งที่เขาเป็นได้ ยอมรับมันได้ อยู่ในสังคมโดยไม่ก่อให้เกิดปัญหา เป็นการช่วยให้ไม่เกิดปัญหาในตัวเอง ซึ่งกรณีหนัก ๆ ที่เคยเจอคือบำบัดผู้ป่วยหญิงที่เคยก่ออาชญากรรม เธอถูกจับ แต่มีประวัติป่วยทางจิต ต้องส่งมาโรงพยาบาล และรักษา ซึ่งต้องทำจิตบำบัดในกลุ่มหญิงล้วนที่ไม่เคยเกิดจิตบำบัดเลย แต่ก็กล้าเข้าไปลองทำดู "มันยากกับการสร้างกลุ่มวัฒนธรรม กลุ่มบำบัด เป็นเรื่องอ่อนไหวมาก เป็นผู้ หญิง บางคนเป็นแม่ต้องระมัดระวัง เราไปเพื่อเข้าใจเขา ไปเพื่อให้เขารู้ว่ามีคนอยากจะฟังเขา ไม่ได้อยู่คนเดียวในโลกนี้ มีคนเห็นว่าเขาสำคัญ มีคนอยู่ข้าง ๆ เขา การบำ บัดนี้ไม่หาย เพราะคนไข้เซนซิทีฟมาก ต่อต้านมาก และระยะเวลาสั้นมาก แต่ก็สำเร็จในเชิงวัฒนธรรมองค์กร ว่ายังมีที่สำหรับเขา" ก่อนปิดท้ายบทสนทนา ดุจดาวบอกว่า เธอเรียนจบกลับมาไทยเมื่อเดือน ก.ย. ปีที่แล้ว ก็แสดงละครเวทีบ้าง อย่างเรื่อง ซัมทิงค์ เอลฟ์ ซึ่งเพิ่งจบไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ ซึ่งตอนนี้ก็ยังอยู่ในระหว่างการปรับตัว "ตอนนี้ยังไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไร เพราะเมืองไทยไม่มี แดนซ์ มูฟเมนท์ เธอราปี ถ้าอยากทำก็คงต้องเซตอัพเอง คือเอางานไปเสนอเขา ซึ่งถ้าทำแล้วมีใครสนใจก็น่าจะเป็นเรื่องดี" ดุจดาว กล่าว น่าติดตามว่าเธอจะตั้งไข่ศาสตร์นี้ในเมืองไทยได้แค่ไหน ศาสตร์ในศิลปะที่ท้าทายความสามารถของคนไทย. 'แดนซ์ มูฟเมนท์ เธอราปี' "นอกจากความรู้ที่ได้ติดตัวเพื่อตั้งใจมาทำงานในเมืองไทย สิ่งที่นอกเหนือจากความรู้ที่ได้กลับมานั้น คือความสัมพันธ์กับคนในครอบครัวที่ดีขึ้น" ดุจดาวกล่าวถึงอีกข้อดีของการไปเรียน "แดนซ์ มูฟเมนท์ เธอราปี" จากประเทศอังกฤษ และว่า "ทุกวันนี้เริ่มแชร์ความรู้สึกกับคนในครอบครัวมากขึ้น เพราะสไตล์คนกรุงเทพฯที่ทำงานไม่ตรงกัน ไม่เจอกัน จึงไม่ได้คุยกันเท่าไร แต่สุดท้ายเราเริ่มคุยกัน เริ่มถามไถ่ว่ากิจกรรมของคนในครอบครัวแต่ละคนคืออะไร ซึ่งก็เป็นความสัมพันธ์ที่ดีทีเดียว" ดุจดาวให้คำแนะนำคนไทยในยุคที่สภาพสังคมไม่ค่อยเอื้ออำนวยให้มีสุขภาพจิตที่ดีว่า "อยากให้ทุกคนเอาเวลาเข้าอินเทอร์เน็ต หรือดูทีวี สัก 1 ชั่วโมง มาดูจิตใจตัวเองบ้าง ดูเพื่อเช็กว่าเป็นอย่างไรบ้าง อย่าตัดสินว่าดีไม่ดี เพราะมาตรฐานผิดถูกมีมากในสังคมไทย ดูเพื่อเช็กว่าเป็นอย่างไร แต่อย่าไปตัดสินใจตนเองว่าดีหรือไม่ดี ถูกหรือผิด เพราะนั่นคือมัวแต่ดูข้างนอก ข้างในไม่ดูว่ามันยุ่งเหยิงขนาดไหน ร่างกายมีชีวิตจิตใจ ต้องหมั่นดูแลกันบ้าง" สุภารัตน์ ยอดศิริวิชัยกุล รายงาน/จเร รัตนราตรี ภาพ | http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=197953&NewsType=1&Template=1
| |
Insert movie times and more without leaving Hotmail®.
See how.