** คนกรุงให้แค่ 5.87 เต็ม 10 / การศึกษาเด่น / สวล.-คุณภาพชีวิต-จราจรไม่เห็นผล ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลสำรวจภาคสนามเรื่อง ประเมินผลงานผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา: กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,200 ครัวเรือน ในระหว่างวันที่ 25 -30 เมษายน 2552 ผลการสำรวจพบว่า ตัวอย่างส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 80 ติดตามข่าวสารผ่านสื่อมวลชนเป็นประจำอย่างน้อย 1-2 วันต่อสัปดาห์ ทั้งนี้ เมื่อสอบถามความคิดเห็นของประชาชนต่อการดำเนินงานตามนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พบว่า นโยบายด้านการศึกษามีคะแนนเฉลี่ยความคาดหวัง 3.83 จากคะแนนเต็ม 5 คะแนน ในขณะที่คะแนนการรับรู้ได้ 3.11 คะแนน นโยบายด้านสุขภาพมีคะแนนเฉลี่ยความคาดหวัง 3.68 คะแนน คะแนนเฉลี่ยการรับรู้ 2.98 คะแนน นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมมีคะแนนเฉลี่ยความคาดหวัง 3.55 คะแนน เฉลี่ยการรับรู้ 2.83 การแก้ปัญหายาเสพติดมีคะแนนเฉลี่ยความคาดหวัง 3.47 คะแนน เฉลี่ยการรับรู้ 2.43 นโยบายกรุงเทพเมืองน่าอยู่มีคะแนนเฉลี่ยความคาดหวัง 3.42 คะแนน เฉลี่ยการรับรู้ 2.77 การแก้ไขปัญหาจราจรมีคะแนนเฉลี่ยความคาดหวัง 3.37 คะแนน เฉลี่ยการรับรู้ 2.50 สำหรับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนนั้นมีคะแนนเฉลี่ยความคาดหวัง 3.26 ในขณะที่คะแนนเฉลี่ยการรับรู้เท่ากับ 2.71 ตามลำดับ ประเด็นที่น่าพิจารณาคือเมื่อทำการวิเคราะห์ Gap Analysis ความคาดหวังกับการรับรู้เห็นปฏิบัติจริงในการดำเนินงานตามนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครนั้น พบว่า มีเพียงการดำเนินงานตามนโยบายด้านการศึกษาเท่านั้นที่ตกอยู่ในพื้นที่ที่ 1 (Quadrant 1 ) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ประชาชนมีความคาดหวังสูง และมีการรับรู้เห็นปฏิบัติจริงในระดับสูงด้วยเช่นกัน แสดงให้เห็นว่าผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครทำได้ตามความคาดหวังของประชาชน ขณะที่นโยบายด้านอื่นๆ ได้แก่ นโยบายด้านสุขภาพ นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม การแก้ปัญหายาเสพติด นโยบายกรุงเทพฯ เมืองน่าอยู่ การแก้ไขปัญหาจราจร และความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนนั้น ตกอยู่ในพื้นที่ที่ 2 (Quadrant 2 ) ซึ่งเป็นพื้นที่ประชาชนมีความคาดหวังสูงในขณะที่มีการรับรู้เห็นปฏิบัติจริงในระดับต่ำ นั่นหมายความว่าการดำเนินงานตามนโยบายดังกล่าวข้างต้นเป็นสิ่งที่ต้องเร่งปรับปรุงแก้ไข นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาความพึงพอใจโดยภาพรวมของประชาชนต่อผลงานของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนปัจจุบันนั้นพบว่า ประชาชนร้อยละ 8.1 ระบุน้อย-ไม่พอใจเลย ร้อยละ 12.8 ระบุค่อนข้างน้อย ร้อยละ 23.4 ระบุปานกลาง ร้อยละ 31.0 ระบุค่อนข้างมาก และร้อยละ 24.7 ระบุพึงพอใจมากที่สุด ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาคะแนนเฉลี่ยควมพึงพอใจจากคะแนนเต็ม 10 คะแนนนั้นพบว่าคะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 5.87 จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่สอบผ่านเพียงเกินครึ่งมาเล็กน้อยเท่านั้น สำหรับผลความคิดเห็นกรณีกิจกรรมต่างๆ ของกรุงเทพมหานครที่จำเป็นต้องทำนั้น พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่เกือบร้อยละร้อย คือร้อยละ 99.5 เห็นว่าควรต้องมีการฟื้นฟูสภาพแม่น้ำลำคลอง ร้อยละ 97.9 ระบุการติดไฟฟ้าส่องทางเดิน ร้อยละ 97.5 ระบุระบบสาธารณสุขของกรุงเทพมหานคร อาทิ ยุงลาย /การแพร่ระบาดของโรคร้าย ร้อยละ 94.1 ระบุการเพิ่มจุดติดตั้งกล้องวงจรปิด ร้อยละ 87.2 ระบุการตรวจจับความเร็วของรถยนต์และรถจักรยานยนต์ในเขตชุมชน ร้อยละ 82.1 ระบุการทำพื้นที่ใต้ทางด่วนให้เป็นลานกีฬา ร้อยละ 81.5 ระบุการจัดมหกรรมสินค้าราคาถูก ร้อยละ 78.9 ระบุการจัดกิจกรรมธรรมะในสวน และร้อยละ 74.3 ระบุการจัดกิจกรรมทำบุญ 5 ศาสนา ตามลำดับ |