พท.ข้องใจ"ปู่ชัย" ตั้ง"ดิเรก-สมศักดิ์"นั่งประธาน2คณะ สวนทางวิปรบ.มั่นใจเป็นกลาง-สังคมยอมรับผลสอบ
ปธ.วิปรัฐบาลมั่นใจ "ดิเรก"เป็นกลาง เชื่อสังคมยอมรับผลสอบชุด"สมศักดิ์" "สดศรี"แนะเพิ่มบทเฉพาะกาล ม.237 เพื่อนิรโทษกรรม วิปค้านอยากเชิญ"บิ๊กบัง"ร่วมแก้ไขด้วย ปธ.สมานฉันท์ฯรับหนักใจ แนะแยกประเด็นนิรโทษฯต่างหาก ขณะที่"ป๋าเหนาะ"นั่งที่ปรึกษาและกรรมการ
ปธ.วิปรัฐบาลมั่นใจ "ดิเรก"เป็นกลาง
นายชินวรณ์ บุญยเกียรติ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรครัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวถึงการแต่งตั้งนายดิเรก ถึงฝั่ง ส.ว.นนทบุรี เป็นประธานคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า เมื่อวิป 3 ฝ่ายได้มอบหมายให้นายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภาเป็นผู้แต่งตั้งก็ต้องยอมรับ โดยเห็นว่านายดิเรกก็เป็นตัวแทนจากวิปวุฒิสภาและเป็นอดีตข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ เชื่อว่าจะสามารถขับเคลื่อนและสร้างความปรองดองได้ เพราะนายดิเรกมีความเป็นกลางพอสมควร ไม่น่าจะมีปัญหาเรื่องการยอมรับ ส่วนกรณีที่นายดิเรกระบุว่าจะใช้เวลาในการทำงานเบื้องต้น 45 วันนั้นถือเป็นเรื่องของคณะกรรมการว่าจะวางกรอบการทำงานและกำหนดภารกิจอย่างไร โดยมองว่าเงื่อนไขเวลาไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่ประเด็นปัญหาที่จะเป็นกลไกที่จะนำไปสู่เป้าหมายถือเป็นเรื่องสำคัญกว่า ซึ่งรัฐบาลโดยเฉพาะนายกฯ ได้ประกาศจุดยืนชัดเจนว่าจะไม่เข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงและพร้อมหากเห็นว่าแนวทางการลาออกหรือยุบสภาจะเป็นการยุติปัญหา
นายชินวรณ์ กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีที่มีผู้ตั้งข้อสังเกตุว่าคณะกรรมการฯชุดนี้มีสัดส่วนจากภาคประชาชนน้อยนั้นเป็นใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญมาตรา 135 จึงมีความจำกัด แต่สามารถเปิดใจกว้างด้วยการตั้งคณะอนุกรรมการที่มีภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมได้และท้ายสุดหากมีประเด็นที่เป็นข้อกังขาก็สามารถทำประชามติเพื่อรับฟังความคิดจากประชาชนได้ ทั้งนี้คณะกรรมการฯ สามารถนำผลการวิจัยของหน่วยงานทางวิชาการต่างๆ ทั้งจากภาคประชาชน หรือสถาบันพระปกเกล้าหรือผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญของสภาผู้แทนราษฎรที่เคยศึกษาไว้ก่อนหน้านี้มาประกอบการพิจารณาได้และทุกพรรคการเมืองก็สามารถรวบรวมประเด็นปัญหาเกี่ยวกับการใช้รัฐธรรมนูญเสนอต่อคณะกรรมการฯได้ เมื่อได้ข้อสรุปประชาชนสามารถเข้าชื่อกันตามรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เพื่อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.)ขึ้น ขณะเดียวกันภายหลังคณะกรรมการฯ เสนอเรื่องเข้าสู่สภาและมีการพิจารณาผ่านวาระ 1 และ 2 แล้วก็สามารถเปิดทำประชามติเพื่อให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นได้
วิปรบ.เชื่อผลสอบชุด"สมศักดิ์"สังคมจะยอมรับ
นายชินวรณ์ กล่าวถึงถึงการแต่งตั้งนายสมศักดิ์ บุญทอง อดีตอัยการสูงสุด เป็นประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมือง ว่า นายสมศักดิ์ถือเป็นคนที่มีความเป็นกลางและเป็นที่ยอมรับจึงคิดว่าผลภายหลังการสอบสวนแล้วเปิดผลการสอบสวนต่อสาธารณะจะสามารถตอบคำถามสังคมได้ ทั้งนี้หากพรรคเพื่อไทยหรือประชาชนมีข้อมูลอะไรเพิ่มเติมก็สามารถยื่นข้อมูลต่อคณะกรรมการชุดนี้ได้ ทั้งนี้ไม่คิดว่าการมีคณะกรรมการฯ ชุดนี้จะทำให้พรรคฝ่ายค้านนำข้อมูลเท็จมาใส่ร้ายรัฐบาลได้ ถ้าพรรคเพื่อไทยอ้างว่ามีข้อมูลการเสียชีวิตจากศูนย์แจ้งคนหายก็ควรนำมาให้คณะกรรมการฯ โดยการเปิดประชุมรัฐสภาครั้งที่ผ่านมาเราก็ได้ประกาศให้ประชาชนมาร้องเรียนต่อคณะกรรมาธิการของวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร รวมถึงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีใครเข้าร้องเรียนแม้แต่รายเดียว
เพื่อไทยข้องใจ"ปู่ชัย" ตั้ง"ดิเรก-สมศักดิ์"นั่งประธาน2คณะ
นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล ส.ส.แพร่ พรรคเพื่อไทย ในฐานะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมือง กล่าวถึงกรณีที่ นายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา มีคำสั่งแต่งตั้ง นายสมศักดิ์ บุญทอง เป็นประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมือง และแต่งตั้งนายดิเรก ถึงฝั่ง ส.ว.นนทบุรี เป็นประธานคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมาว่า พรรคเพื่อไทยขอตั้งข้อสังเกตว่าการแต่งตั้งประธานทั้ง 2 คณะดังกล่าวมีความเหมาะสมหรือไม่ รวมทั้งเป็นที่ยอมรับหรือไม่ เพราะขนาดตนอยู่ในแวดวงการเมือง ยังไม่รู้ประวัติลึกซึ้งและเมื่อเอ่ยชื่อออกมาก็ไม่เชื่อว่าจะเป็นคนกลางที่สังคมและประชาชนยอมรับได้จริง เพราะในสถานการณ์ที่เกิดวิกฤติทางการเมืองขณะนี้ คนที่เป็นประธานต้องมีคุณสมบัติที่สังคมไว้เนื้อเชื่อใจและมีประวัติผลงานที่ชัดเจน เมื่อเอ่ยชื่อแล้วทุกคนต้องรู้จัก
นายวรวัจน์ กล่าวอีกว่า ขอตั้งข้อสังเกตว่าตามระบบรัฐสภา ควรให้กรรมการตัวแทนจากพรรคต่างๆ เป็นผู้เลือกประธาน กันเอง แต่การทำเช่นนี้ถือว่าไม่เป็นประชาธิปไตย เพราะปกติแล้วไม่ว่าฝ่ายค้านและรัฐบาล น่าจะตกลงกันได้ อย่างไรก็ตาม ในการประชุมคณะกรรมการครั้งแรก พรรคเพื่อไทยจะได้มีการสอบถามประวัติที่มาที่ไปของประธานและเหตุผลในการแต่งตั้ง เพื่อให้เกิดความกระจ่างกับทุกฝ่าย
"ชินวรณ์"อ้อมแอ้มเปิดกว้างฟังความเห็น นิรโทษกรรม
นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ในฐานะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ที่ผ่านมามีประเด็นศึกษาเรื่องผลกระทบ เกี่ยวกับการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ ทั้งของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาแล้ว รวมถึงในส่วนของภาคประชาชน ก็เคยมีการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมา จึงจะมีการหยิบยกประกอบการศึกษาด้วย พร้อมเปิดให้หลายฝ่ายเข้ามีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง โดยที่ประชุมต้องพิจารณาว่าจำเป็นต้องตั้งคณะอนุกรรมการชุดใดขึ้นมาดำเนินการบ้าง
เมื่อถามว่า พรรคประชาธิปัตย์จะเสนอคณะกรรมการแก้ไขในประเด็นใดบ้าง นายชินวรณ์ กล่าวว่า แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ
1.ประเด็นที่พูดถึงกัน ได้แก่ มาตรา 190 มาตรา 265-266 และมาตรา 237
2.โครงสร้างอำนาจ เช่น ที่มาของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา กระบวนการการทำหน้าที่ของส.ส.และส.ว. และ
3.หลักการทั่วไปที่จะทำให้รัฐธรรมนูญมีความเข้มแข็ง
เมื่อถามว่า พรรคประชาธิปัตย์จะเสนอแก้ไขประเด็นการนิรโทษกรรมด้วยหรือไม่ นายชินวรณ์ กล่าวว่า เป็นเรื่องความผิดของนักการเมือง สามารถหยิบยกขึ้นมาหารือในที่ประชุมได้ เพราะนายกรัฐมนตรีได้เคยพูดไว้ก่อนหน้านี้แล้วว่า พร้อมเปิดกว้างรับฟังความเห็นของทุกภาคส่วน ถ้าข้อสรุปของที่ประชุมเป็นอย่างไร พรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่ขัดข้อง
ผู้สื่อข่าวถามว่าในการประชุมคณะกรรมการ หากพรรคเพื่อไทยเสนอให้ใช้ร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นหลักจะว่าอย่างไร กรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองฯ กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยต้องยอมรับความจริงว่าในสังคมประชาธิปไตยไม่มีใครจะได้อะไรทุกอย่าง ขณะเดียวกันก็ไม่มีใครเสียอะไรทุกอย่างเช่นกัน
"สดศรี"แนะเพิ่มบทเฉพาะกาล ม.237 เพื่อนิรโทษกรรม
นางสดศรี สัตยธรรม กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม ถึงกรณีที่นักการเมืองส่วนใหญ่เห็นว่า ควรแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 237 เกี่ยวกับการยุบพรรคว่า มาตราดังกล่าวมีข้อดี ทำให้หัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรครับผิดชอบร่วมกัน พรรคการเมืองต้องระมัดระวัง แต่ก็มีข้อเสีย คือ เมื่อมีการยุบพรรคแล้ว อาจต้องมีการเปลี่ยนขั้ว ทำให้มีผลต่อเสถียรภาพรัฐบาล
ส่วนการแก้รัฐธรรมนูญอาจนำไปสู่วิกฤตการเมืองรอบใหม่หรือไม่นั้น นางสดศรี กล่าวว่า มาตรา 237 แม้จะยุบพรรคการเมืองและเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรค แต่ในความเป็นจริง บุคคลเหล่านั้นไม่ได้ตายไปจากการเมือง ยังส่งตัวแทนเข้ามาเล่นการเมือง ดังนั้น การให้คนที่อยู่เบื้องหลัง ออกมาเล่นการเมืองจริงๆ ไปเลย จะไม่ดีกว่าหรือ ส่วนถ้ามีการแก้ไข มาตรา 237 จริง ก็อาจให้เพิ่มเติมในบทเฉพาะกาล ว่า ให้สามารถย้อนหลังไปถึงกรรมการบริหารพรรคที่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ให้ไม่ต้องถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ซึ่งก็ถือเป็นการนิรโทษกรรมไปในตัว โดยไม่ต้องร่างกฎหมายนิรโทษกรรมขึ้นมา
นายกฯ ย้ำแก้ไขรธน. ต้องเปิดกว้างให้ ปชช.มีส่วนร่วม
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม ถึงความคืบหน้าการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า มีหลายมาตราที่เป็นปัญหาและเป็นอุปสรรค ซึ่งแนวทางการแก้ไขขึ้นอยู่กับคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการเมืองเพื่อความปรองดองสมานฉันท์และการศึกษาเพื่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่จะวางกรอบในการรวบรวมความคิดเห็นจากพรรคการเมือง รวมทั้งต้องเปิดกว้างให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเหมือนในอดีตที่ผ่านมา ส่วนกรอบเวลาในการแก้ไข ต้องขึ้นอยู่กับความพอดีและไม่ช้าเกินไป
นายกฯ บอกปธ.กก.สมานฉันท์ฯ ชี้ยิ่งหลากหลาย ยิ่งดี
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคมว่า ประธานคณะกรรมการปองดองเพื่อความสมานฉันท์และศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น จะเป็นที่ยอมรับของวิปทั้ง 3 ฝ่าย ส่วนคณะกรรมการ ยิ่งมีหลากหลายความคิดเห็น ก็ยิ่งดี เพื่อลดปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง แต่ทุกอย่างต้องรับฟังเสียงของประชาชน เพื่อไม่ให้เป็นชนวนความขัดแย้งครั้งใหม่ในอนาคต
นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ได้กำชับโฆษกและบุคคลใกล้ชิดให้ระมัดระวังในการให้สัมภาษณ์ เพื่อรักษาบรรยากาศของบ้านเมือง แต่ก็ย่อมมีการตอบโต้กันบ้าง ขณะที่การสลายการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง รัฐบาลและทหารมีหน้าที่ที่จะชี้แจงข้อเท็จจริง
วิปค้านหนุนแก้ม.237 เผยอยากเชิญ"บิ๊กบัง"ร่วมแก้ไขด้วย
นายวิทยา บุรณศิริ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคมว่า เห็นพ้องกับแนวทางของนายดิเรก ถึงฝั่ง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งเรื่องกรอบระยะเวลา 45 วัน และการแก้ไขมาตรา 237 ที่ว่าด้วยการยุบพรรค เพราะอยู่ในเกณฑ์ที่ที่ประชุม 3 วิป เคยมีการหารือกันเอาไว้ในเบื้องต้น อย่างไรก็ตาม วันที่ 6 พฤษภาคมนี้ พรรคเพื่อไทยจะได้มีการหารือเพื่อสรุปแนวทางเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ชัดเจน เพื่อเตรียมนำเสนอต่อประธานคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อีกครั้ง
ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวต่อว่า ส่วนตัวอยากเชิญ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ เข้าร่วมในการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ด้วย เพื่อจะได้เปิดรับฟังความเห็นรอบด้านจากหลายฝ่ายๆ ในการทำงาน
"สมศักดิ์"หนักใจนั่งปธ.สอบสลายม็อบ ถูกจับตาเป็นกลาง
นายสมศักดิ์ บุญทอง ประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง เหตุการณ์สลายการชุมนุมทางการเมือง กล่าวเมื่อ 2 พฤษภาคมว่า รู้สึกหนักใจสำหรับการทำงานในตำแหน่งดังกล่าว เนื่องจากการทำงานครั้งนี้เป็นการทำงานระดับชาติ เชื่อว่าคงมีการตั้งคำถามถึงความเป็นกลางอย่างแน่นอน เพราะต้องยอมรับว่าเวลานี้ประเด็นปัญหาดังกล่าวมีการแบ่งเป็นฝักฝ่ายอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม ตนจะพยายามทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายในครั้งนี้อย่างดีที่สุด เพราะเชื่อว่าประชาชนกำลังเฝ้ามองการทำหน้าที่ของตนเองอยู่ ส่วนกรอบระยะเวลาในการทำงานนั้น เบื้องต้นคงต้องขอเข้าไปดูรายละเอียดคำสั่งแต่งตั้งของนายชัย ชิดชอบประธานรัฐสภา ก่อน แต่เบื้องต้นจะพยายามกำหนดกรอบการทำงานให้เสร็จสิ้นโดยเร็วที่สุด
ปธ.กก.สมานฉันท์ฯ หนุนแก้ม.237-แยกประเด็นนิรโทษฯ
นายดิเรก ถึงฝั่ง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ กล่าวเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคมว่า ควรมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 237 ที่ว่าด้วยการยุบพรรคการเมือง เนื่องจากไม่เป็นธรรมกับนักการเมืองที่มิได้กระทำความผิด อีกทั้งยังเห็นว่าการยุบพรรคการเมืองทำให้ระบอบประชาธิปไตยอ่อนแอ เพราะพรรคการเมืองเป็นแม่บทสำคัญของการปกครองระบอบประชาธิปไตย หากถูกสลายได้โดยง่ายและไม่เข้มเข็ง โอกาสที่จะพัฒนาระบอบประชาธิปไตย คงเป็นไปได้ยาก
นายดิเรก กล่าวต่อว่า ส่วนประเด็นเรื่องนิรโทษกรรมนั้น เห็นว่าควรแยกประเด็นกัน เพราะหากนำเรื่องการนิรโทษกรรม รวมกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ คงเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องนัก อีกทั้งจะทำให้การแก้รัฐธรรมนูญกลายเป็นเรื่องน่ากลัว แต่หากทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่าควรมีการนิรโทษกรรม ก็ควรไปออกกฎหมายต่างหาก ส่วนกรอบระยะเวลาในการทำงานนั้น เบื้องต้นตั้งเป้าไว้ว่าน่าจะอยู่ประมาณ 45 วัน
กก.สมานฉันท์ฯ คาดเดือนหน้ามีคำตอบแก้รธน.หรือไม่
พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช คณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและการศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในส่วนของ ส.ว. กล่าวว่า ในสัปดาห์หน้าจะได้มีการประชุมร่วมกันของทุกฝ่าย ซึ่งจะมีการวางกรอบการทำงาน หลังจากนั้นจะมีการลงพื้นที่รับฟังเสียงประชาชนจากทุกภาคส่วน โดยระยะเวลารวบรวมข้อเสนอเชื่อว่าจะเสร็จสิ้นประมาณเดือนมิถุนายน ส่วนที่มีความกังวลกันว่าหากฝ่ายการเมืองเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญบางมาตราแล้วตกลงกันไม่ได้จะทำให้เกิดปัญหาการทำงานร่วมกันนั้น พล.อ.เลิศรัตน์ ย้ำว่า ไม่น่าห่วง เพราะการทำงานจะต้องใช้มติของคณะกรรมการ หากเสียงส่วนมากเห็นด้วยก็ควรยอมรับ
พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวด้วยว่า การลงพื้นที่รับฟังความเห็นประชาชน จะนำมาสู่การเสนอให้มีการทำประชามติเพื่อขอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น ยังไม่สามารถตอบได้ แต่หากประชาชนเห็นดี ก็คงจะนำความเห็นเสนอที่ประชุมสภาเพื่อให้ร่วมกันชี้ขาด
ตั้ง2ปธ.กก."เสนาะ"นั่งที่ปรึกษารธน.
รายงานข่าวจากรัฐสภาแจ้งว่า นายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา ได้ลงนามในคำสั่งรัฐสภา 2 ฉบับ ได้แก่ คำสั่งรัฐสภา ที่ 16/2552 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมือง จำนวน 40 คน โดยมี นายสมศักดิ์ บุญทอง อดีตอัยการสูงสุด เป็นประธาน และคำสั่งรัฐสภาที่ 17/2552 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งสิ้น 40 คน มีนายดิเรก ถึงฝั่ง ส.ว.นนทบุรี เป็นประธาน มีนายเสนาะ เทียนทอง หัวหน้าพรรคประชาราช เป็นที่ปรึกษาและกรรมการ
"มาร์ค"ร้องปชช.หนุนกก.ปรองดอง
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวที่รัฐสภาเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ถึงกรณีฝ่ายนิติบัญญัติลงมติตั้ง คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเหตุการณ์การเมืองระหว่างวันที่ 8-15 เมษายน และคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยมีหลายฝ่ายรู้สึกเป็นห่วงเนื่องจากมีแต่ฝ่ายการเมือง ว่าองค์กรนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้น แต่กระบวนการทำงานของคณะกรรมการทั้ง 2 ชุด จำเป็นต้องฟังเสียงประชาชน ขณะนี้มีผู้ทรงคุณวุฒิเป็นคนนอกมาร่วมด้วย
เมื่อถามว่า ผู้ทรงคุณวุฒิก็ถูกเสนอโดยฝ่ายการเมืองเกรงจะถูกหาว่าการเมืองครอบงำหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า "ไม่หรอกครับ ยังมีคนพร้อมเข้าทำงานมาทำ ถ้าบอกว่าการเมืองทั้งหมดคงไม่ใช่ ต้องฟังเสียงประชาชนด้วย เพราะไม่มีประโยชน์ที่คนเพียง 400-500 คน จะไปแก้ปัญหากันเอง แต่ไม่สามารถแก้ปัญหาสังคมได้"
เมื่อถามว่า นายบัญญัติ บรรทัดฐาน กรรมการสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ บอกว่าความรู้สึกของสังคมเป็นสิ่งเปราะบาง นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า เป็นความเห็นที่ควรรับฟัง เพราะถ้าแก้ปัญหาสังคมไม่ได้ ก็แก้ปัญหานักการเมืองไม่ได้ เมื่อถามถึงกรณีที่ระบุว่าจะใช้เวลา 6-8 เดือน ทำให้บ้านเมืองดีขึ้น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า การประชุมอาเซียนและการฟื้นตัวเศรษฐกิจต้องใช้เวลาอย่างน้อย 7-8 เดือน จึงจะมีความชัดเจน เนื่องจากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกคาดกันว่าปีหน้าน่าจะดีขึ้น รัฐบาลจะเดินหน้าทำงานต่อไป ส่วนการแก้ปัญหาทางการเมืองให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการปรองดอง ส่วนตัวอยากเรียกร้องให้ประชาชนส่วนใหญ่หันมาสนับสนุนให้กลไกดังกล่าวสามารถทำงานได้ ไม่ควรให้บางฝ่ายที่มีวาระซ่อนเร้นอยู่สามารถมาชี้นำประเทศได้
นัดพรรคร่วมถกแก้รธน.สัปดาห์หน้า
ด้านนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคง กล่าวในเรื่องกระบวนแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า อยากให้ทุกฝ่ายมีความฉุกคิด เพราะทุกคนต่างมีหน้าที่รับผิดชอบปัญหาบ้านเมืองด้วยกัน เมื่อถามว่าการนิรโทษกรรมเหมือนทุกฝ่ายจะยอมรับกันได้แล้ว นายสุเทพกล่าวว่า อย่ารีบสรุป ธงที่ได้รับการยืนยันจากทุกฝ่าย คือจะแก้ปัญหาบ้านเมืองไม่ใช่แก้ปัญหาบุคคล ซึ่งจะนิรโทษกรรมเฉพาะความผิดทางการเมืองหรือไม่ ตนจะไม่เข้าไปยุ่งในรายละเอียด เพราะมีคณะกรรมการทำงานอยู่ซึ่งเขาจะต้องประชุมหารือกันอย่างลึกซึ้ง
เมื่อถามว่า นัดพรรคร่วมรัฐบาลส่งความเห็นถึงแนวทางแก้รัฐธรรมนูญหรือยัง นายสุเทพกล่าวว่า สัปดาห์นี้คงจะต้องทยอยส่งมาแล้ว เมื่อถามว่า จะเชิญแต่ละพรรคมาประชุมอย่างเป็นทางการหรือไม่ นายสุเทพกล่าวว่า หลังงานวันฉัตรมงคล 1-2 วัน คงจะได้ตั้งวงพูดคุยถึงปัญหาต่างๆ กัน เมื่อถามถึงกรณีที่นายกรัฐมนตรีระบุขอทำงานอีก 6-8 เดือน จากนั้นจะยอมให้แก้ไขรัฐธรรมนูญหรือยุบสภา เป็นสัญญาณอะไรหรือไม่ นายสุเทพ กล่าวว่า อย่าไปคาดเดาเลย หมอดูก็ทายผิดไปหลายคนแล้ว อย่าทำตัวเป็นหมอดูอีกเลย รัฐบาลตั้งใจแก้ปัญหาเศรษฐกิจให้ได้ เพราะรู้ว่าเป็นปัญหาใหญ่ที่ซ้ำเติมปัญหาหลายอย่าง เมื่อก่อนมาจากเรื่องสถาบันการเงิน เดี๋ยวนี้มีไข้หวัด เมื่อมาบวกปัญหาภายในของเราทำให้สถานการณ์ยากขึ้น เพราะฉะนั้นต้องระดมกำลังมาแก้ปัญหาทุกส่วน
พท.เชื่อศึกษาแก้รธน.เสร็จใน30วัน
นายพีรพันธุ์ พาลุสุข ส.ส.ยโสธร พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการเมือง เพื่อความปรองดองสมานฉันท์และการศึกษาเพื่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงกรณีที่ประชุมคณะกรรมการประสานงาน (วิป) 3 ฝ่ายมีมติให้เพิ่มคำว่า "ศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ" ในรายชื่อคณะกรรมการแทนการใช้คำว่า เพื่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพียงอย่างเดียวว่า เชื่อไม่เป็นปัญหา แต่จะต้องนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างแน่นอน เพราะสิ่งนี้คือปัญหาหลักของประเทศ ทั้งนี้ หน้าที่ของคณะกรรมการชุดดังกล่าวอาจทำการศึกษาประเด็นที่ต้องการแก้ไข และเสนอผลศึกษาไปให้ใครตัดสินใจแก้ไขก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ในกรณีนี้จะต้องเป็นไปตามที่มาตรา 291 ของรัฐธรรมนูญกำหนดเอาไว้ สำหรับระยะเวลาการศึกษาของคณะกรรมการชุดนี้ไม่ควรเกิน 30 วัน เนื่องจากที่ผ่านมามีผลการศึกษาในประเด็นปัญหารัฐธรรมนูญจำนวนมาก รวมไปถึงแต่ละพรรคการเมืองทราบดีว่าพรรคของตัวเองต้องการให้ปรับแก้ในประเด็นใด โดยพรรคเพื่อไทยจะเสนอให้นำรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 มาใช้ทั้งฉบับ
เชื่อ"เสนาะ"เหมาะนั่ง ปธ.มากที่สุด
นายพีรพันธุ์ กล่าวถึงกรณีที่มีรายงานข่าวว่านายเสนาะ เทียนทอง หัวหน้าพรรคประชาราช อาจไม่เข้าร่วมคณะกรรรมการปรองดองฯเนื่องจากประธานวิปรัฐบาลมีท่าทีที่ไม่ยอมรับว่า นายเสนาะเป็นบุคคลที่มีความเหมาะสมในการดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการชุดดังกล่าว แต่จะต้องรอดูก่อนว่าการแต่งตั้งคณะกรรมการชุดนี้นายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภาจะมีคำสั่งแต่งตั้งประธาน รองประธาน เลขานุการ ของคณะกรรมการความปรองดองลงมาเลยหรือไม่ หรือจะตั้งเพียงแต่คณะกรรมการแล้วให้ไปดำเนินการคัดเลือกกันเอง เมื่อที่ประชุมมอบอำนาจให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ดำเนินการไปแล้ว ประธานรัฐสภาจะให้ความไว้วางใจใครก็เป็นเรื่องของท่าน โดยคุณสมบัติของประธานจะต้องมีความมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาทางการเมืองอย่างแท้จริง ต้องมีความตั้งใจเห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะต้องดีรับการแก้ไข รวมไปถึงมีความเป็นผู้นำที่จะทำคณะกรรมการประสบความสำเร็จในภารกิจ และต้องเป็นบุคคลที่ทุกฝ่ายให้การยอมรับ
เมื่อถามว่า มีการตั้งข้อสังเกตว่าวิปรัฐบาลตั้งผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นอดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่เป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญ 2550 อาจจะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญมีปัญหาได้ นายพีรพันธุ์กล่าวว่า ไม่เป็นไร ตนรู้จักนายวุฒิสาร ตันไชย รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้าดี รู้ว่ามีความเชี่ยวชาญเรื่องท้องถิ่น ส่วนนายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ไม่ทราบว่าคิดเห็นอย่างไรบ้าง แต่เห็นว่าคนที่เคยเป็นลูกศิษย์มาบ่นให้ตนฟังว่าอยากจะคืนปริญญาให้กับนิด้าไป อย่างไรก็ตาม ไม่กังวลใจที่จะต้องมีการทำงานร่วมกัน เพราะการศึกษารัฐธรรมนูญจะต้องนำเหตุและผลมาพูดคุยกัน
วุฒิเลือกตัวแทน14 ส.ว.แล้ว
วันเดียวกันนี้ ในการประชุมวุฒิสภา มี น.ส.ทัศนา บุญทอง รองประธานวุฒิสภาคนที่ 2 เป็นประธานการประชุม มีการลงคะแนนเลือก ส.ว.และผู้ทรงคุณวุฒิ ไปเป็นคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองฯโดยใช้วิธีลงคะแนนลับ ปรากฏว่าที่ประชุมมีมติเลือก
1.พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ส.ว.สรรหา
2.นายตวง อันทะไชย ส.ว.สรรหา
3.นายกฤช อาทิตย์แก้ว ส.ว.กำแพงเพชร
4.นายดิเรก ถึงฝั่ง ส.ว.นนทบุรี
5.นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ส.ว.สรรหา
6.นายเจริญ ภักดีวานิช ส.ว.พัทลุง และ
7.นายประเสริฐ ชิตพงศ์ ส.ว.สงขลา
ส่วนผู้ทรงคุณวุฒิ 2 คน ที่ประชุมเลือก นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง และนายประสงศักดิ์ บุญเดช
ด้านการเลือก ส.ว.และผู้ทรงคุณวุฒิ ไปเป็นคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ ที่ประชุมใช้วิธีลงคะแนนลับ ปรากฏว่ามีมติเลือก
1.พล.ต.ท.พิชัย สุนทรสัจบูลย์ ส.ว.อุดรธานี
2.นายประวัติ ทองสมบูรณ์ ส.ว.มหาสารคาม
3.นายอโณทัย ฤทธิปัญญาวงศ์ ส.ว.สรรหา
4.นายสิงห์ชัย ทุ่งทอง ส.ว.อุทัยธานี
5.นายสุวิศว์ เมฆเสรีกุล ส.ว.สมุทรสาคร
6.นางนฤมล ศิริวัฒน์ ส.ว.อุตรดิตถ์ และ
7.พล.ต.ต.สุเทพ สุขสงวน ส.ว.สรรหา
ส่วนผู้ทรงคุณวุฒิ 2 คน ได้แก่ นพ.บรรลุ ศิริพานิช และ พล.ต.อ.ล้วน ปานรศทิพ อดีตผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ทั้งนี้ จะมีการส่งรายชื่อทั้ง 2 คณะ ให้ประธานรัฐสภาต่อไป
"ปชป."แนะสอบ 3 ปมหนุนแก้รธน.
ที่พรรคประชาธิปัตย์ นพ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงว่า พรรคสนับสนุนการทำงานของคณะกรรมการชุดแรกที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงเหตุการณ์ทางการเมืองในระหว่างวันที่ 8-15 เมษายน โดยอยากให้ตรวจสอบข้อกล่าวหา 3 เรื่องคือ
1.การขนศพไปทำลายที่ จ.ลพบุรี
2.เหตุการณ์ที่ดินแดง และ ถนนราชปรารภ ที่นำภาพที่ผู้ปฏิบัติหน้าที่ใช้กระสุนจริงยิงล้อรถ และถูกนำไปขยายผลว่าใช้ยิงประชาชน และ
3.กรณีการเสียชีวิตของพลทหารอภินพ เครือสุข ทหารรับใช้บ้านแม่ทัพภาคที่ 1 ซึ่งผู้ถูกพาดพิงจะต้องเดินสายชี้แจงข้อเท็จจริงให้ประชาชนได้รับทราบ
ในส่วนของคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อปฏิรูปการเมือง และศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถือเป็นโจทย์สำคัญของสังคมที่รัฐบาลต้องตอบให้ได้ ตนอยากให้คนที่ปลุกระดมและไม่ประสงค์ที่จะให้บ้านเมืองเข้าสู่ความสงบสุข รวมไปถึงกระบวนการใต้ดินยุติการกระทำดังกล่าวเสีย เพราะความสมานฉันท์เป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะนำวิกฤตออกจากการเมือง ความสำเร็จของคณะกรรมการชุดนี้ก็อยู่ที่ปัจจัยสำคัญคือ ต้องมีความชัดเจนในเรื่องของกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนทั้งก่อนและหลังที่มีการยกร่างแนวทางการปฏิรูปการเมือง
ด้านนายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา คณะทำงานด้านกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า มีการพูดคุยกันในพรรคเบื้องต้นเห็นด้วยหากจะแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 190, 265 และ 266 แต่ไม่เห็นด้วยที่จะเปลี่ยนเขตเลือกตั้งไปใช้แบบเขตเดียวเบอร์เดียวเหมือนรัฐธรรมนูญ 2540 เนื่องจากการเลือกตั้งแบบเขตใหญ่สามารถแก้ปัญหาการซื้อเสียงได้ดี และช่วยให้นักการเมืองมีคุณภาพมากขึ้น เพราะต้องรับผิดชอบดูแลประชาชนในวงกว้างมากขึ้น ขณะที่เขตเล็กจะทำให้นักการเมืองกลายเป็นเหมือนนักการเมืองท้องถิ่น เอาแต่ไปงานศพ งานแต่งงาน และขอสนับสนุนให้มีการแก้ไขมาตรา 63 ที่ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพในการชุมนุม ที่ควรปรับปรุงถ้อยคำให้สามารถออกกฎหมายควบคุมการชุมนุมในที่สาธารณะได้
ด้าน นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะ 1 ในคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมือง กล่าวถึงกรอบอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการชุดนี้ว่า หน้าที่ของคณะกรรมการชุดนี้ คือการไขความกระจ่างในทุกประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมืองของคนเสื้อแดงที่สังคมยังคลางแคลงใจ อย่างไรก็ตามจะนำประเด็นที่มีกระแสข่าวว่ามีเจ้าหน้าที่ป่าไม้เข้าร่วมการชุมนุมคนเสื้อแดง เข้าร่วมการตรวจสอบด้วย เพราะเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์การชุมนุมของคนเสื้อแดง โดยใช้อำนาจของคณะกรรมการเรียกผู้ที่เกี่ยวข้องมาสอบได้
ส.ว.ซัด"สาทิตย์"อุปสรรคปรองดอง
รายงานข่าวแจ้งว่า ในการประชุมวุฒิสภาเพื่ออภิปรายทั่วไปรัฐบาลโดยไม่มีการลงมติของวุฒิสภา สมาชิกได้อภิปรายกันกว้างขวาง โดยมี ส.ว.สายสรรหาและเลือกตั้งบางส่วนตั้งข้อสังเกตว่า นายอภิสิทธิ์ควรรู้เท่าทันการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงที่เตรียมนัดประชุมกันอีกครั้งในวันที่ 6 พฤษภาคม ว่า มีวัตถุประสงค์ที่ต้องการจะให้รัฐบาลยุบสภาเลือกตั้งใหม่โดยเร็ว และสงสัยว่าเหตุใดจึงต้องเร่งให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้คนบางคนกลับเข้ามามีอำนาจ เนื่องจากขณะนี้มีหลายคดีที่ศาลใกล้จะตัดสินคดี พร้อมกันนี้ยังได้แสดงความเป็นห่วงในการรับรู้ข่าวสารของประชาชนที่อาจได้รับข้อมูลด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้นจนทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้
ด้านกลุ่ม ส.ว.เลือกตั้ง อาทิ นายเกชา ศักดิ์สมบูรณ์ ส.ว.ราชบุรี นายวิทยา อินาลา ส.ว.นครพนม และนายสิงห์ชัย ทุ่งทอง ส.ว.อุทัยธานี เสนอให้รัฐบาลแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 เพื่อแก้ปัญหาทางการเมือง และนายกฯต้องกล้าตัดสินใจในเรื่องต่างๆ เพื่อแสดงภาวะความเป็นผู้นำมากกว่านี้ ขณะที่นางนฤมล ศิริวัฒน์ ส.ว.อุตรดิตถ์ กล่าวว่า จนถึงขณะนี้ยังไม่เห็นความปรองดองเกิดขึ้น เพราะบุคลากรใน ครม.หลายคนกลับเป็นตัวปัญหา ถ้าปรับทัศนคติไม่ได้จะยิ่งมีปัญหาเพิ่มขึ้น
"ดิฉันเห็นว่าทัศนคติของรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันเป็นอุปสรรคในการสร้างความปรองดองตามที่นายกฯรัฐบาลประกาศอย่างมาก อาทิ จะจัดทำซีดีเหตุการณ์การชุมนุมในวันที่ 8-14 เมษายน แจกประชาชน หรือการให้ กอ.รมน.ลงพื้นที่ในทุกจังหวัด ทั้งที่สถานการณ์ทางการเมืองที่อ่อนไหวมากอย่างนี้ควรใช้สื่อในทางที่สร้างสรรค์ มิใช่การต่อกรหรือตอบโต้กัน" นางนฤมลกล่าว
"สมชาย"แฉหว่านเงินให้เสื้อแดง 200 ล.ล้มรบ.
วันเดียวกันนี้ มีการประชุมวุฒิสภา เพื่อพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อให้คณะรัฐมนตรีแถลงข้อเท็จจริงหรือชี้แจงปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินโดยไม่มีการลงมติที่ ส.ว. 51 คน เข้าชื่อเสนอตามรัฐธรรมนูญมาตรา 161 มีถ่ายทอดสดการประชุมทางวิทยุและโทรทัศน์รัฐสภา และสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที ช่อง 11 ด้วย โดยนายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา ในฐานะผู้เสนอญัตติ อภิปรายว่า ช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมาเกิดเหตุการณ์นายกรัฐมนตรีเสี่ยงชีวิตถึง 2 ครั้ง และการยกเลิกการประชุมสุดยอดอาเซียนและประเทศคู่เจรจาทำให้ประเทศชาติเสียหายมาก ทางหนึ่งได้สะท้อนว่ารัฐบาลบริหารจัดการสถานการณ์ไม่มีประสิทธิภาพ หน่วยข่าวกรองล้มเหลว เพราะมีข่าวว่าระดมมวลชนเพื่อโค่นล้มรัฐบาลมีการรับเงิน 2 ครั้ง ครั้งละ 100 ล้านบาท ที่สำนักงานย่านรามคำแหง ครั้งแรกมี นาย "ก" และครั้งที่ 2 มี น.ส. "ย" เป็นผู้รับเงิน นอกจากนั้นมีการปลุกระดมผ่านวิดีโอลิงก์กล่าวหาประธานองคมนตรี ประธานศาล ว่า อยู่เบื้องหลังรัฐประหาร และการวางแผนลอบสังหาร แต่ไม่มีใครปกป้องผู้ใหญ่คนสำคัญในบ้านเมือง จนมีการจับกุมผู้ที่จะลอบสังหารอดีตประธานศาลฎีกา จากการวิเคราะห์สถานการณ์ทั้งหมดพบว่า บุคคลที่อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์นั้น แบ่งเป็น 4 กลุ่ม คือ กลุ่มบุคคลที่เคยเป็นอดีตคอมมิวนิสต์ที่มีบทบาททางวิชาการ เช่น เอ็นจีโอ สื่อมวลชน กลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 19 กลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ 19 กันยายน 49 และกลุ่มปัญญาชนรุ่นใหม่ ที่ใช้เว็บไซต์เป็นเครื่องมือ ทำงานสอดรับกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โดยมีเป้าหมายโค่นล้มระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขให้เป็นระบบสาธารณรัฐ รัฐบาลต้องใช้สื่อรัฐในการทำความเข้าใจกับประชาชนมากยิ่งขึ้น
จี้รบ.บังคับใช้กม.หมิ่นเบื้องสูงอย่างเคร่งครัด
ด้านนายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา กล่าวว่า นายกฯต้องตระหนักว่า รัฐบาลเป็นรัฐบาลเฉพาะกิจไม่ใช่รัฐบาลปกติ โดยภารกิจเร่งด่วนที่นายกฯต้องทำคือ การปกป้องสถาบันสูงสุดของประเทศ โดยบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ว่าด้วยการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์อย่างเร่งด่วน เพราะสถานการณ์ในขณะนี้ถือว่าเป็นสงครามที่ฝ่ายตรงข้ามพร้อมทำลายด้วยสรรพอาวุธทุกรูปแบบ และต้องยุติการเมืองที่ล้มเหลว และเพิ่มมุมมองด้านความมั่นคง ต้องใช้สื่อให้มากขึ้นโดยต้องพูดถึงสาเหตุของปรากฏการณ์ต่างๆ ต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดกับทุกฝ่าย โดยเริ่มจากการปฏิรูปตำรวจทั้งคนและระบบ เลือกใช้บุคลากรใหม่ทั้งหมด เร่งรัดการสร้างกลไกตาม พ.ร.บ.ความมั่นคงในราชอาณาจักรโดยเร็วที่สุด เพราะสามารถใช้โดยไม่ต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และเป็นกฎหมายที่เปิดให้ภาคประชาชนเข้ามาตรวจสอบในการทำงาน เพราะต้องมีการรายงานผลการปฏิบัติต่อรัฐสภา และต้องมีแผนงานวางไว้ล่วงหน้า
"นายกฯต้องจับเข่าคุยกับนายเนวิน ชิดชอบ แกนนำพรรคภูมิใจไทย อย่างตรงไปตรงมา เพื่อยุติการเมืองที่ล้มเหลว เพราะขณะนี้การเมืองไทยได้เกิดอำนาจ 3 ขา คือ
1.นายกฯสามารถได้กุมหัวใจคนในเมือง
2.นายเนวินสามารถกุมหัวใจของคนในชนบทแทนที่อดีตนายกรัฐมนตรีที่เคยใช้นโยบายประชานิยมในชนบท และ
3.ทหารและพลเรือนสนับสนุนรัฐบาลชุดนี้ ทำให้ทหารปัจจุบันไม่มีการปฏิวัติรัฐประหาร ทั้งนี้ นายกฯและนายเนวิน คงขาดกันไม่ได้ถ้าหวังที่จะอยู่รอดกันทั้งหมด การคุยกันก็เพื่อ หากรอบแห่งความพอดีในการร่วมมือกันทำงานอย่างน้อยในระยะเฉพาะหน้าอย่างน้อย 2-3 ปีถัดจากนี้ รวมถึงยกระดับการร่วมมือกันอย่างหลวมๆ แบ่งโควต้า กระทรวง และงบประมาณ เพื่อแก้ปัญหาประเทศชาติที่ทั้ง 2 คนและประเทศจะวินวินทั้งหมด โดยยกระดับจากแนวร่วมชั่วคราวเป็นแนวร่วมถาวร ส่วนที่ไม่ต้องคุยกับทหารเพราะไม่ต้องการให้อำมาตยาธิปไตยนำ" นายคำนูณกล่าว
เตือน"อภิสิทธิ์"รับมือชุมนุม 6 พ.ค.
ด้านนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ส.ว.สรรหา อดีต ส.ส.ร. 50 กล่าวว่า ปรากฏการณ์เสื้อเหลือง-เสื้อแดง เป็นผลมาจากความขัดแย้งทางการเมืองตั้งแต่ปี 2548 ต่อเนื่องถึงสงกรานต์เลือด เป็นสงครามแย่งชิงมวลชนระหว่างพรรคการเมืองโดยมีประชาชนเป็นฐานสนับสนุน หากจะแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองก็ต้องเริ่มต้นปฏิรูปนักการเมืองเพื่อให้ได้นักการเมืองที่อุดมการณ์ทำงานเพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติ ขณะนี้นักการเมืองมีการเรียกร้องให้นิรโทษกรรม แก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งล้วนเพื่อตนเองทั้งสิ้น ตนห่วงว่า หากการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้อยู่บนพื้นฐานผลประโยชน์ของประชาชน จะทำให้เกิดความแตกแยกมากขึ้น ขอเรียกร้องรัฐบาลทำให้เกิดนิติรัฐคือ เร่งรีบการออกกฎหมายที่ค้างคาและบังคับใช้กฎหมายเพื่อความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา กล่าวว่า มีเจ้าของพรรคบางพรรค ไม่ต้องการให้นายอภิสิทธิ์ บริหารประเทศต่อไป เพราะยอมรับสภาพกับการเสียผลประโยชน์เสียอำนาจไม่ได้ มีการยกระดับการต่อต้าน กล่าวพาดพิง จาบจ้วง สถาบันศาล สถาบันองคมนตรี รวมทั้งก่อจลาจล โดยมีเป้าหมายเดียวคือต้องการให้นายอภิสิทธิ์ยุบสภา แต่เมื่อแผนการต่างๆ ไม่สำเร็จจึงทำให้ผู้นำการชุมนุม ผู้นำการก่อจลาจล วางแผนใหม่ จึงอยากเตือนให้นายกฯ เตรียมการรับมือกับการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงในวันที่ 6 พฤษภาคมไว้ให้ดี เนื่องจากเชื่อว่า จะมีความพยายามในการก่อจลาจล เช่น อาจยิงระเบิด M79 เข้าไปในกลุ่มผู้ชุมนุม หรือมีการปล่อยเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่โดยอ้างว่ารัฐบาลเป็นผู้กระทำ เพื่อเป็นข้ออ้างให้ผู้ชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภาโดยมีความชอบธรรมมากขึ้น
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1241190368&grpid=05&catid=01
Hotmail® has a new way to see what's up with your friends. Check it out.