วันอาทิตย์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2552

รับมืออย่างเข้าใจ กับนิสัย"เถียงแหลก"ของลูก

รับมืออย่างเข้าใจ กับนิสัย"เถียงแหลก"ของลูก
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 21 เมษายน 2552 12:32 น.
ขอบคุณภาพประกอบจาก dailymail
       "เด็กตอนเล็ก ๆ เลี้ยงง่ายมาก ไม่ร้อง ไม่งอแง กินนมอิ่มแล้วก็นอน แต่ทำไมพอโตแล้วเถียงเก่งเหลือเกิน"
       
       มีคุณพ่อคุณแม่หลายคนที่คิดตรงกันกับประโยคข้างต้น และอาจกำลังเหนื่อยใจกับการรับมืออาการ "ดื้อ - เถียงแหลก" ของลูก ๆ อยู่ในตอนนี้ก็เป็นได้ และโดยทั่วไปแล้ว ผู้ใหญ่อย่างเรา ๆ ท่าน ๆ ก็มักจะไม่พอใจเมื่อเด็กตัวเล็ก ๆ เถียงกลับ และมักเกิดอารมณ์ขุ่นมัว บ่นว่า ตำหนิติเตียนเด็ก ๆ ซึ่งการกระทำเช่นนั้นล้วนแล้วแต่ทำให้ปัญหาลุกลามไปมากขึ้น ทั้ง ๆ ที่พฤติกรรมเหล่านั้นเกิดขึ้นเพียงเพราะเด็ก "เรียนรู้" ว่าการเถียงจะทำให้เขาได้มาในสิ่งที่ต้องการ
       
       พฤติกรรมการเป็น "เจ้าหนูจอมเถียง" ที่ไม่น่ารักดังกล่าวสามารถแก้ไขให้หายได้ ด้วยการเข้าใจถึงต้นตอของปัญหาที่อาจเกิดได้จาก
       
       1. มีผู้ใหญ่ให้เลียนแบบ
       

       ถ้าลูกน้อยกลายเป็นคนที่ชอบโต้เถียง บางครั้งอาจมาจากการที่เด็กซึมซับพฤติกรรมในบ้านของผู้ใหญ่ ทั้งการพูดจา การใช้โทนเสียง พ่อแม่อาจลองสังเกตดูว่ามีใครในบ้านที่แสดงพฤติกรรมอย่างนั้นออกมาให้เด็กเห็นหรือเปล่า ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นพ่อแม่ หากรวมถึงปู่ย่าตายาย พี่ป้าน้าอา พี่เลี้ยง เพื่อนบ้าน ฯลฯ ถ้ามีคนที่มีพฤติกรรมดังกล่าวอยู่ใกล้ ๆ กับเด็ก พ่อแม่ก็ไม่ควรจะตำหนิ หรือลงโทษลูก ๆ แต่ควรบอกกล่าวให้ผู้ใหญ่ให้เพลา ๆ พฤติกรรมดังกล่าวลงเสีย ก่อนที่เด็กจะเลียนแบบจนกลายเป็นคนไม่น่ารัก
       
       2. ขาดคนสนใจ
       
       มีเด็กจำนวนไม่น้อยที่รู้สึกว่าตัวเองขาดรัก และไม่มีใครสนใจพวกเขา รวมถึงคุณพ่อคุณแม่ด้วย ดังนั้นเด็กกลุ่มนี้จึงอาจเป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่พร้อมจะโต้เถียงกับทุกคน แต่นั่นเป็นการทำไปเพราะต้องการเรียกร้องความสนใจจากผู้ใหญ่ทั้งหลาย และเด็ก ๆ ก็ไม่สนใจแล้วว่า เมื่อทำออกไปแล้วผลที่ได้กลับมาจะเป็นอย่างไร อย่างน้อย เขาก็ได้รับความสนใจมาแล้วนี่นา
       
       ทางแก้ของปัญหานี้มีหลายแบบ เช่น จับลูกมาคุยกันแบบจริงจังว่าพฤติกรรมแบบนี้เป็นเรื่องที่ไม่น่ารักเอาเสียเลย พร้อมกับบอกลูกว่าพฤติกรรมแบบไหนถึงจะน่ารัก และยอมรับได้
       
       แต่เด็กบางคนก็ยังไม่หยุด เมื่อมาถึงตอนนี้ อีกหนึ่งทางออกที่จะช่วยได้ก็คือ "ไม่สนใจ"
       

       ส่วนหนึ่งผู้ใหญ่ต้องเข้าใจว่า มีเด็กบางคนเกิดการเรียนรู้ว่า การดื้อ หรือการเถียง นั้นสามารถดึงผู้ใหญ่ให้รู้สึกหงุดหงิด หรือให้มาสนใจเขาได้ นั่นก็หมายความว่า เกมครั้งนี้ พวกเด็ก ๆ ชนะ เพราะสามารถดึงผู้ใหญ่ให้มาอยู่ในการควบคุมของเขาได้ ดังนั้นการที่ผู้ใหญ่ไม่สนใจจะช่วยให้เด็กดื้อกลุ่มนี้เข้าใจได้เสียทีว่า พฤติกรรมเหล่านั้น "ไม่เวิร์ก"
       
       เมื่อเวลาผ่านไปสักพัก จนลูกเลิกงอแง และสงบสติอารมณ์ได้ พ่อแม่ก็ควรจะพาลูกมานั่งคุยกัน และบอกถึงพฤติกรรมดี ๆ ที่พวกเขาควรทำเพื่อที่เขาจะได้กลายเป็นเด็กน่ารักในสายตาของพ่อแม่ค่ะ
       
       เรียบเรียงจาก more4kids.info

http://www.manager.co.th/Family/ViewNews.aspx?NewsID=9520000044212


Rediscover Hotmail®: Get e-mail storage that grows with you. Check it out.