'เศรษฐพร'ยัน 3G เดินตามแผน ประมูลคลื่นความถี่ในไตรมาส 3 | โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ | 1 พฤษภาคม 2552 12:01 น. | | | กทช.ประชาพิจารณ์ร่างการใช้คลื่นความถี่ 3G ครั้งสุดท้ายสรุปแบ่งกลุ่มความถี่เป็นกลุ่มละ 5เมกะเฮิรตซ์ ตามมาตรฐาน ITU คาดไม่เกิน 2 สัปดาห์ประกาศในราชกิจจานุเบกษา มั่นใจใบอนุญาตเสร็จตามกำหนด พร้อมให้งบ TRIDI เดินหน้าพัฒนาส่งเสริมการวิจัยด้านโทรคมนาคม 30 ล้านบาท นายเศรษฐพร คูศรีพิทักษ์ คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) กล่าวว่าเมื่อวานนี้(30 เม.ย.)ได้มีการทำประชาพิจารณ์ร่างการใช้คลื่นความถี่สำหรับ 3G เสร็จแล้ว คาดว่าสามารถสรุปรายละเอียดนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมบอร์ดกทช.ได้ในสัปดาห์หน้าและจะสามารถลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาในอีก 2 สัปดาห์หลังจากนั้น ทั้งนี้การทำประชาพิจารณ์ครั้งนี้ได้ข้อสรุปเรื่อง แนวทางการจัดสรรคลื่นความถี่สำหรับ 3G โดยอิงตามหลักของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ไอทียู) คือแบ่งเป็นกลุ่มๆ ละ 5 เมกะเฮิรตซ์จากเดิม 15 เมกะเฮิรตซ์เพื่อง่ายต่อการจัดสรร หากในอนาคตอาจมีการจัดสรรความถี่ให้ผู้ประกอบการนำไปให้บริการในบางพื้นที่บางภูมิภาค ดังนั้นคาดว่ากระบวนการต่างๆจะเสร็จสิ้นและสามารถประมูลคลื่นความถี่ได้ในระยะเวลาใกล้เคียงกับไวแม็กซ์ หรือตามกำหนดเดิมภายในไตรมาส 3 ปีนี้โดยไม่จำเป็นต้องเลื่อนไปถึงปลายปีแต่อย่างใด นอกจากนั้นในขณะนี้กทช.ยังไม่ได้สรุปว่าจะเลือกบริษัทที่ปรึกษารายไหน เพราะเพิ่งปิดรับข้อเสนอ (Proposal) จากบริษัทต่างๆเมื่อวันที่ 30 เม.ย.ที่ผ่านมา ทั้งนี้ในการทำประชาพิจารณ์ 3G นั้นมีข้อสังเกต 2-3 เรื่องหลักเรื่องแรกคือข้อกำหนดการใช้เทคโนโลยีที่เป็นกลาง มีความต้องการให้กทช.อธิบายความหมายให้ชัดเจนว่าหมายถึงสิ่งใด หากผู้ประกอบการเลือกเทคโนโลยีที่ใช้แล้วต้องมาขออนุญาตจาก กทช.อีกเพราะเหตุใด ซึ่งกทช.ได้แจ้งว่าถ้าเลือกเทคโนโลยีใหม่นอกเหนือจากที่กทช.ได้ประกาศมาตรฐานไปแล้ว 2 เทคโนโลยีคือCDMA 2000 และWCDMAให้แจ้งกทช.เพื่อขอความเห็นชอบจากกทช.เพราะกทช.จะประกาศมาตรฐานการใช้งานออกมา เพื่อไม่ให้รบกวนการใช้คลื่นความถี่อื่นๆ ส่วนข้อสังเกตอีกประการหนึ่งเกี่ยวกับอนาคตหากมีการนำเข้าอุปกรณ์ที่ใช้คลื่นความถี่ต่ำลักษณะเดียวกับไวไฟ เช่น Femtocell ก็ไม่จำเป็นต้องขออนุญาตนำเข้าอุปกรณ์จากกทช.ได้หรือไม่เพราะอุปกรณ์ที่ใช้เทคโนโลยีดังกล่าวไม่มีความแตกต่างจากการเชื่อมต่อเครือข่ายไร้สายแบบไวไฟที่ปัจจุบันบรรจุในโน้ตบุ๊กและสัญญาณไม่ได้รบกวนการทำงานของอุปกรณ์อื่นๆซึ่งเรื่องดังกล่าวอยู่ในดุลยพินิจของกทช. นายเศรษฐพรกล่าวว่าในส่วนของไวแม็กซ์ ขณะนี้คณะทำงานได้จัดทำแผนความถี่วิทยุเสร็จแล้วและจะส่งเข้าบอร์ดกทช.พิจารณาได้ประมาณสัปดาห์หน้าและจัดทำประชาพิจารณ์ได้ในเดือนพ.ค.ที่จะถึงนี้ โดยหัวข้อที่จะต้องนำมาถกในการทำประชาพิจารณ์ เช่นเรื่องจำนวนใบอนุญาตที่จะจัดสรร,ช่วงความถี่ที่จะเลือกให้บริการไวแม็กซ์ ระหว่าง 2.3 เมกะเฮิรตซ์ และ 2.5 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งคาดว่าจะใช้ 2.3 เมกะเฮิรตซ์ไปก่อน หรืออาจมีข้อพิจารณาว่าใช้คลื่น 2.5 เมกะเฮิรตซ์ได้ในบางพื้นที่ แต่หากพื้นที่ใดที่มีการจัดสรรคลื่น 2.5 เมกะเฮิรตซ์ใช้ในกิจการกระจายเสียงไปก่อนหน้ามีการจัดตั้งคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ก็จะใช้เพื่อให้บริการไวแม็กซ์ไม่ได้ ดังนั้นหากในอนาคตมีการจัดตั้งกสทช.ก็จะทำให้การจัดสรรคลื่นเพื่อใช้ในกิจการโทรคมนาคม กิจการแพร่ภาพกระจายเสียง ดำเนินการได้สะดวกยิ่งขึ้น ส่วนวิธีการจัดสรรคลื่นความถี่คาดว่าจะใช้การประมูลเช่นเดียวกับ 3G เพราะทั้งไวแม็กซ์ และ 3G ต่างเป็นทรัพยากรความถี่ที่มีมูลค่าสูง (High Value Spectrum) ขณะเดียวกันการออกใบอนุญาตไวแม็กซ์ก็อาจจะแบ่งเป็นภูมิภาค (Regional License) หรือทั่วประเทศ (National License) โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปหลังจากทำประชาพิจารณ์ หรือภายใน 3เดือนนับจากนี้เนื่องจากกระบวนการที่เกี่ยวข้องกทช.ได้ว่าจ้างที่ปรึกษาจากธนาคารโลกมาอบรมและทำงานร่วมกันกับกทช. นายสุธรรม อยู่ในธรรม กรรมการกทช.กล่าวว่าการใช้งบประมาณกทช.ในปีนี้จะไม่มีการลงทุนใหม่ๆโดยไม่จำเป็น แต่จะเน้นในเรื่องการให้ทุนวิจัยและพัฒนาโทรคมนาคมเป็นหลัก เพื่อเสริมสร้างความรู้ด้านโทรคมนาคมของบุคลากรของไทยให้มีความต่อเนื่อง และไปต่อยอดทางธุรกิจได้ เพราะในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัวการสร้างความรู้เป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้อุตสาหกรรมอยู่รอดต่อไปได้ นายสุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมโทรคมนาคม สำนักงานกทช. (TRIDI) กล่าวว่า ปีนี้ TRIDI ได้รับงบประมาณเพื่อใช้ในการให้ทุนวิจัยและพัฒนาบุคลากร 30 ล้านบาท ซึ่งได้กำหนดแนวทางวิจัยไว้เป็นระเบียบ 4 ฉบับ โดยฉบับที่ 1 เป็นเรื่องการอุดหนุนการวิจัยด้านไอซีที แก่สถาบันการศึกษา หน่วยงานรัฐและเอกชน ฉบับที่ 2 เป็นการติดตามประเมินผลการจ่ายค่าตอบแทนให้รัดกุม ฉบับที่ 3 เป็นเรื่องให้ทุนการศึกษา ฝึกอบรมระดับปริญญาโท และเอก และฉบับที่ 4 เรื่องการบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญาและผลประโยชน์ในเชิงวิจัย แบ่งประโยชน์ระหว่างเอกชนและTRIDI "รูปแบบการให้ทุนมี 3 แนวทาง เรื่องแรกเป็นงานเชิงวิชาการ นำไปจดสิทธิบัตรได้ต่อไปเรื่องที่สองเป็นงานวิจัยต้นแบบจะเปิดกว้างให้นิติบุคคลที่สนใจพัฒนาผลิตภัณฑ์ และแนวทางที่สาม กำหนดทิศทางการวิจัยและจัดทำโรดแมปให้แก่คนในวงการนี้ ส่วนมูลค่าในอุตสาหกรรมนี้จะเพิ่มขึ้นหลังจากให้ทุนเป็นอย่างไรเป็นเรื่องที่กำลังเก็บข้อมูลเพราะที่ผ่านมาในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทย ไม่มีการเก็บข้อมูลกันอย่างจริงจัง" นายสุพจน์กล่าว Company Related Links : NTC
| | http://www.manager.co.th/CyberBiz/ViewNews.aspx?NewsID=9520000048895 | |
Windows Live™: Keep your life in sync.
Check it out.