วันอาทิตย์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2552

มะเร็งปอดกับมลภาวะในอากาศ คุณเสี่ยงแค่ไหน?

วันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11370 มติชนรายวัน


มะเร็งปอดกับมลภาวะในอากาศ คุณเสี่ยงแค่ไหน?


คอลัมน์ รู้ทันโรคมะเร็ง




ได้ดูข่าวทางโทรทัศน์ในกรณีที่ศาลปกครองระยองพิพากษาให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ประกาศให้ท้องที่มาบตาพุด และพื้นที่ใกล้เคียงเป็นเขตควบคุมมลพิษแล้วก็รู้สึกเห็นใจประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างมาก เพราะมลพิษที่ปล่อยออกมาทั้งในอากาศและในน้ำนั้นส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนอย่างยากที่จะหลีกเลี่ยง โดยเฉพาะปัญหาด้านสุขภาพนั้น กรมควบคุมมลพิษได้ออกมาเปิดเผยว่ามีสารก่อมะเร็งถึง 3 ชนิดที่มาบตาพุดยังเกินมาตรฐาน

ฟังดูแล้วก็น่าตกใจ เพราะความสกปรกและมลพิษในอากาศนั้นเป็นสารก่อมะเร็งชนิดเยี่ยม

และไม่เฉพาะเมืองอุตสาหกรรมเท่านั้น เมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ- ปริมณฑล เชียงใหม่ สงขลา ฯลฯ ซึ่งถือว่ามีมลภาวะเป็นพิษของควันดำ จากท่อไอเสียรถยนต์ก็มีความเสี่ยงไม่แพ้กัน นอกจากนี้ การสูบบุหรี่จัดมากกว่า 20 มวน/วัน หรือคนที่สูดดมควันบุหรี่เป็นประจำก็มีความเสี่ยง นอกจากนี้ การเป็นแผลในปอดซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากวัณโรคปอด ก็เป็น สาเหตุของมะเร็งปอดได้



มะเร็งปอดจึงจัดเป็นนักฆ่ามือหนึ่ง เพราะเป็นมะเร็งที่มีตัวเลข ผู้เสียชีวิตสูงที่สุดอันดับหนึ่งของโลกและมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในทุกปี

สำหรับคนที่เป็นมะเร็งปอดนั้นจะมีอาการแสดงที่มีความรุนแรง นอกจากอาการไอแห้งๆ อยู่เป็นเวลานานแล้ว ยังอาจไอเป็นเลือด เหนื่อย หายใจไม่เต็มที่แล้ว ผู้ป่วยอาจผอมลงได้อย่างมาก กลืนอาหารลำบาก เนื่องจากหลอดอาหารถูกกด เบื่ออาหารและอาจมีไข้ต่ำๆ หาสาเหตุ ไม่ได้ ถ้าโรคลุกลามไปกระดูกอาจมีอาการปวด หรือลุกลามไปสมองก็อาจมีอาการทางสมองได้



การวินิจฉัยนั้น คุณหมอจะถ่ายเอกซเรย์ปอด ตรวจเสมหะที่ไอออกมา เพื่อหาเซลล์มะเร็ง ส่วนการรักษานั้นมีทั้งการผ่าตัดและการรักษาโดยรังสี การทำเคมีบำบัด ซึ่งจะทำก่อนหรือหลังการผ่าตัด โดยเฉพาะในผู้ป่วยขั้นที่มะเร็งได้แพร่กระจายไปสู่ส่วนอื่นๆอย่างรวดเร็ว

ซึ่งการรักษาจะได้ผลดีแค่ไหนนั้นขึ้นอยู่กับระยะของโรค ถ้าหากรู้ว่าเป็นในระยะต้นๆ ก็อาจ รักษาได้ผลดีกว่า นอกจากนี้ ถ้าสภาพร่างกาย ผู้ป่วยแข็งแรง ไม่มีโรคร่วมอื่นๆ หรืออายุยังน้อย ความรุนแรงของโรคก็จะน้อยตามไปด้วย

หลังจากการรักษาแล้ว คุณหมอจะนัดผู้ป่วย ให้ไปตรวจโรคอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งอาจมีการตรวจเพิ่มในบางกรณีซึ่งขึ้นอยู่กับข้อบ่งชี้ทางการแพทย์

อย่างไรก็ตาม ทางที่ดีเราควรหาทางป้องกันตั้งแต่เนิ่นๆ โดยเฉพาะการเลิกสูบบุหรี่อย่างเด็ดขาด และควรตรวจคัดกรองโรคมะเร็งเมื่ออายุมากขึ้นเนื่องจากมลพิษในปัจจุบันมีมากขึ้น จนเราไม่ทันฉุกคิดเรื่องการดูแลสุขภาพ โดยเฉพาะคนที่มีญาติพี่น้องป่วยเป็นโรคมะเร็ง คนที่ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมหรืออยู่ใกล้โรงงาน ที่ใช้สารเคมีบางชนิด เช่น ไนเตรต การปนเปื้อน ของสารอาร์ซีนิก หรือสารแอสเบสโตส (หน้าพิเศษ Hospital Healthcare)

หน้า 5

http://www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01hhc03270452&sectionid=0148&day=2009-04-27

Windows Live™ SkyDrive™: Get 25 GB of free online storage. Check it out.