วันเสาร์ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

กว่าสิบปีที่รอคอย วัฒนา นาคประดิษฐ์ มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม

กว่าสิบปีที่รอคอย วัฒนา นาคประดิษฐ์ มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม


  4-5 ปีหลังมานี้สถานการณ์การเมืองถือว่าเป็นช่วงเวลาแห่งการชิงไหวชิงพริบระหว่างฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล ที่ต่างฝ่ายต่างผลัดกันรุกผลัดกันรับ ต่างฝ่ายต่างคิดกลเกมมากมาย เพื่อโน้มน้าวชักชวนให้ฝ่ายของตนเองมีมวลชนมากขึ้น เพื่อสร้างอำนาจต่อรองทางการเมือง การวิพากษ์วิจารณ์การเมืองในยามนี้ จึงควรทำใจให้นิ่งๆ ละจากความรัก โลภ โกรธ หลงในตัวบุคคล รวมถึงควรตรวจสอบตัวเองอย่างซื่อสัตย์ด้วยว่า "ตัวเรานั้นมี 2 บรรทัดฐาน" ในการตัดสินใจหรือไม่     เพราะหากเราวิพากษ์วิจารณ์เหตุการณ์ต่างๆ โดยไม่คำนึงถึง "หลักการ" เราจะกล่าวโทษกันไปมาไม่มีที่สิ้นสุด และจะยิ่งบ่มเพาะความเกลียดชังให้เจริญงอกงามจนยากที่จะเยียวยา ยิ่งในสถานการณ์บ้านเมืองที่ใครมีสื่อในมือนั้น ย่อมถือว่าได้เปรียบคู่ต่อสู้ไปหลายขุม สื่อที่ถูกใช้และถูกกล่าวถึงในแง่ร้ายๆ นอกจากสื่อกระแสหลักแล้ว สื่อเล็กๆ อย่าง "วิทยุชุมชน" ก็โดนเข้าเต็มๆ

     เราๆ ท่านๆ จึงมักได้ยินข่าวว่าจะปิดวิทยุชุมชนที่ต้องสงสัยว่าสนับสนุนฝ่ายตรงข้ามกับตนทุกครั้ง ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเข้าไปมีอำนาจ ณ ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล จนประชาชนทั่วไปเกิดความสับสนว่านิยามและหน้าที่ที่แท้จริงตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญของวิทยุชุมชนที่ควรจะเป็นคืออะไร

     ภายใต้การรองรับของกฎหมายรัฐธรรมนูญปี 2540 และพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับดูแลกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2543 ระบุว่า "...ให้ภาคประชาชนเข้าถึงและเข้าไปใช้คลื่นความถี่วิทยุโทรทัศน์ได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20 โดยการดำเนินการดังกล่าวของภาคประชาชนต้องไม่แสวงหากำไรในทางธุรกิจ และหากภาคประชาชนไม่พร้อม องค์กรอิสระต้องให้การสนับสนุน..."

     แม้กฎหมายจะรองรับสิทธิในการเข้าถึงคลื่นความถี่ แต่ก็ใช่ว่าการจัดตั้งสถานีวิทยุชุมชนจะสามารถเกิดขึ้นได้ทันที เพราะการจัดตั้งสถานีวิทยุชุมชนในแต่ละที่นั้น ต้องใช้ความเห็นชอบร่วมกันของชุมชน การหาสถานที่ตั้งก็ต้องเป็นที่สาธารณะที่ทุกคนสามารถเข้ามาใช้ประโยชน์ได้ การตั้งชื่อยิ่งต้องสอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนในชุมชน รวมถึงการเตรียมความคิดความเข้าใจในนิยามของวิทยุชุมชน การฝึกให้เกิดความคุ้นเคยในการใช้อุปกรณ์ในห้องส่งกระจายเสียง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องใช้เวลา เพื่อให้วิทยุชุมชนสามารถทำงานได้จริงดังคำขวัญที่ว่า วิทยุชุมชนเป็นของชุมชน เพื่อชุมชน และโดยชุมชน

     กระทั่งปี 2544 วิทยุชุมชนแห่งแรกจึงถือกำเนิดขึ้นที่จังหวัดกาญจนบุรี และทยอยเกิดขึ้นให้หลายพื้นที่ทั่วประเทศไทย โดยบางพื้นที่ใช้คำว่าจุดปฏิบัติการเรียนรู้วิทยุชุมชน ตลอดระยะเวลาที่ดำเนินการนั้น วิทยุชุมชนถือว่าเป็นแหล่งเรียนรู้ แหล่งข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์มากมาย เป็นพื้นที่ที่ทั้งผู้ส่งสารและผู้รับสารสามารถแลกเปลี่ยนความรู้ในหลายเรื่อง

     ตั้งแต่การทำมาหากิน วันเวลาการปิดเปิดน้ำของชลประทาน ใครที่วัวหายก็สามารถฝากข่าวผ่านมาทางวิทยุชุมชนได้ การเลือกตั้งท้องถิ่นเอง ชุมชนจะมีอาสาสมัครอยู่ตามหน่วยเลือกตั้ง ซึ่งจะรายงานทางโทรศัพท์ถึงสถานการณ์การเลือกตั้งและผลคะแนนเข้ามายังรายการวิทยุชุมชน ก่อเกิดชุมชนทางอากาศที่พึ่งพาช่วยเหลือกัน สิ่งเหล่านี้สื่อกระแสหลักเข้าไม่ถึง ในแต่ละปีชาวบ้านต่างจัดงานบุญต่างๆ ตามแต่วัฒนธรรมท้องถิ่นนั้นๆ ในหลายรูปแบบ ตั้งแต่ผ้าป่า, โต๊ะจีน, เลี้ยงน้ำชา เพื่อระดมทุนให้การดำเนินการวิทยุชุมชนดำรงอยู่ได้

     แต่ด้วยฐานคิดแห่งความหวังดี หรือฐานคิดที่ต้องการแบ่งแยกแล้วปกครอง ก็สุดจะคาดเดา ปี 2547 รัฐบาลโดยกรมประชาสัมพันธ์อนุญาตให้วิทยุชุมชนสามารถมีโฆษณาได้ 6 นาทีต่อชั่วโมง ส่งผลให้วิทยุชุมชนเพิ่มจาก 500 สถานี เป็นกว่า 4,000 สถานีในปัจจุบัน ซึ่งมีทั้งวิทยุชุมชนตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ และที่แอบแฝงตั้งขึ้นมาเพื่อหารายได้จากการโฆษณา ขายปุ๋ยขายยาฆ่าแมลง แม้กระทั่งการเปิดเพลงของค่ายเพลงใหญ่ๆ

     ก็ทำให้หลายคนตั้งคำถามว่า ต่างกับการโฆษณาแฝงอย่างไร ขณะที่ในทางนโยบายเอง การจัดตั้งองค์กรอิสระเพื่อมากำกับดูแลเรื่องการจัดสรรคลื่นความถี่ให้เกิดความเป็นธรรม ที่ใช้ชื่อว่า คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ หรือ กสช.ก็ยังไม่สามารถจัดตั้งให้เป็นรูปเป็นร่างได้ หลายส่วนจึงใช้ช่วงสุญญากาศแบบนี้เข้ามาใช้คลื่นความถี่ โดยเรียกตัวเองว่าวิทยุชุมชน ก็ยิ่งสร้างความสับสนทั้งผู้จัดตั้งเอง ผู้รับฟังและสาธารณชนทั่วไป ต่อเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญมากขึ้นไปอีก

     แต่หากเรายึดสุภาษิตที่ว่า "มาช้าดีกว่าไม่มา" จะช่วยให้เราไม่เป็นทุกข์มากจนเกินไป เพราะกว่า 10 ปี จากมาตรา 40 ของรัฐธรรมนูญปี 2540 จนถึงมาตรา 47 ของรัฐธรรมนูญปี 2550 กฎหมายลูกอย่างพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 จึงคลอดออกมา โดยที่มาตรา 78 ของบทเฉพาะการ ได้ให้อำนาจคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตประกอบกิจการบริการชุมชนชั่วคราว (วิทยุกระจายเสียงชุมชน) 

     ปัจจุบัน กทช.ได้จัดทำร่างหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตประกอบกิจการบริการชุมชนชั่วคราวเสร็จเรียบร้อยแล้ว เหลือเพียงขั้นตอนสุดท้ายที่สำคัญไม่แพ้ขั้นตอนอื่นๆ คือ การรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อร่างฉบับดังกล่าว ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 11 พฤษภาคม 2552 ณ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพฯ

     กว่า 10  ปี ที่ผู้ดำเนินการวิทยุชุมชน และเพื่อนมิตรจากหลากหลายอาชีพ ที่ยืนหยัดเคียงบ่าเคียงไหล่ช่วยเหลือ เพื่อให้วิทยุชุมชนดำเนินงานอยู่ได้ท่ามกลางการพิสูจน์ตัวเอง การหล่อหลอม เรียนรู้ร่วมกัน ลงมือทำเพื่อสั่งสมประสบการณ์ สมควรอย่างยิ่งที่จะมีที่ยืนในสังคมอย่างสง่างาม.

 http://www.thaipost.net/tabloid/030509/4028

 



Insert movie times and more without leaving Hotmail®. See how.