วันเสาร์ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

วันที่ 30 เม.ย. 2518

ภาพวินาทีเวียดนามใต้ได้รับการปลดปล่อย

รายงานโดย :สมาน สุดโต รายงานจากนครโฮจิมินห์:
วันพฤหัสบดีที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2552
วันที่ 30 เม.ย. 2518 หรือเมื่อ 34 ปีที่แล้ว ผู้ที่ติดตามข่าวสงครามเวียดนามคงได้เห็นภาพการหนีกันอย่างโกลาหลของกองกำลังต่างชาติ

และกองกำลังเวียดนามใต้ที่เบียดเสียดยัดเยียดขึ้นเฮลิคอปเตอร์หลบหนีที่สถานทูตอเมริกันในไซง่อน หลังจากพ่ายแพ้ต่อกองทัพประชาชนเวียดนามที่มาปลดปล่อยเวียดนามใต้
ทำเนียบประธานาธิบดีปัจจุบันมีชื่อว่า ทำเนียบเอกภาพ
ทันทีที่รถถัง 2 คัน ของกองทัพประชาชนพังประตูเหล็กทำเนียบประธานาธิบดีที่ตั้งอยู่ที่เลขที่ 108 Nguyen Du Street นายทหารที่บังคับการรถถัง ยศร้อยเอกกระโดดลงจากรถ วิ่งตรงไปยังห้องโถง ชั้นล่างทำเนียบประธานาธิบดี ที่ เดืองวันมินห์ ประธานาธิบดีในขณะนั้นยืนคอยเพื่อเจรจาสงบศึก แต่นายทหารผู้นั้นแจ้งว่าไม่มีการเจรจาแล้ว ต้องยอมจำนนเท่านั้น
ต่อจากนั้น ธงชาติสีแดงมีดาวทองตรงกลาง ของเวียดนามได้ขึ้นโบกสะบัดที่ชั้น 4 ของทำเนียบประธานาธิบดี นับแต่วินาทีนั้นเวียดนามใต้ได้รับการปลดปล่อย รวมกันเป็นเอกภาพ เป็นเวียดนามหนึ่งเดียว สมเจตนารมณ์ของประธานโฮจิมินห์ ที่ตั้งไว้ก่อนถึงอสัญกรรมในปี 2512

ดังนั้น เมื่อถึงวันที่ 30 เม.ย.ของทุกปี จะมีการฉลองเอกภาพ แต่ปีนี้ครบปีที่ 34 รัฐบาลเวียดนามประกาศหยุดงาน 4 วัน ฉลองควบกับวันแรงงาน (1 พ.ค.) และวันหยุดเสาร์อาทิตย์ คาดว่าจะมีผู้ร่วมฉลองทั่วประเทศ รวมทั้งนครโฮจิมินห์ หรือไซง่อนเดิม ผู้บริหารนครโฮจิมินห์จึงสั่งให้ผู้รับเหมาที่ทำงานยังไม่เรียบร้อยตามถนนต่างๆ ในนครโฮจิมินห์ ให้จัดการให้เรียบร้อยเพื่อจะไม่มีปัญหาจราจรและเป็นอุปสรรคต่อประชาชนที่ร่วมฉลองความยิ่งใหญ่

2 ประเทศในแผ่นดินเดียว

เมื่อ 34 ปีที่แล้ว สาธารณรัฐประชาชนเวียดนามถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเทศคือเวียดนามเหนือ และเวียดนามใต้ โดยใช้เส้นขนานที่ 17 เป็นเส้นแบ่ง เขตแดน

ประชาชนไซง่อนยินดีที่ปลดปล่อยภาคใต้สำเร็จ
การที่แบ่งเป็น 2 ประเทศก็สืบเนื่องมาจากข้อตกลงทางการเมืองที่กรุงเจนีวา หลังจากที่ประเทศฝรั่งเศสซึ่งปกครองเวียดนามมาตั้งแต่ปี 2401 ต้องพ่ายแพ้แก่ประชาชนเวียดนามในการรบที่ เดียนเบียนฟู 7 พ.ค. 2497 ตอนนั้นกองกำลังฝรั่งเศสกว่า 8,000 คน ต้องตกเป็นเชลยของเวียดนาม

ศุขปรีดา พนมยงค์ เขียนไว้ในหนังสือเรื่อง โฮจิมินห์ เทพเจ้าผู้มีลมหายใจ ว่า ชัยชนะที่เดียนเบียนฟูเป็นชัยชนะอันยิ่งใหญ่ของชาติอาณานิคมเอเชียที่มีต่อมหาอำนาจเช่นฝรั่งเศส ผู้เป็นเจ้าแห่งยุทธศาสตร์สงครามป้อมค่ายประชิด ผู้โอ้อวดว่าไม่มีทางแพ้อาณานิคมของตน และแน่นอนเหตุการณ์ที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อนทำให้นายทหารระดับสูงฝรั่งเศสเสียหน้าเป็นอย่างยิ่ง

ผลสะท้อนทางการเมือง ณ ที่ประชุมกรุงเจนีวา หลังพ่ายแพ้ที่เดียนเบียนฟู รัฐบาลฝรั่งเศสที่มีนาย ปิแอร์ มองเดส ฟรองก์ เป็นนายกรัฐมนตรี กับ ฟามวันดง แห่งเวียดนาม ได้บรรลุข้อตกลงในสนธิสัญญาเจนีวา โดยสรุปได้ว่าดินแดนเวียดนามนับแต่เส้นขนานที่ 17 ขึ้นไปทางเหนือ ให้อยู่ในความปกครองของสาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนาม ที่มีท่านโฮจิมินห์เป็นประธานประเทศ ส่วนใต้เส้นขนานที่ 17 ลงมา ที่มีไซง่อนเป็นเมืองหลวง ฝรั่งเศสเป็นผู้ดูแล

นี่คือต้นเหตุให้มี 2 ประเทศในแผ่นดินเดียวกัน

ทหารกองพลที่10 โจมตีสนามบินไซง่อน

พยายามรวมประเทศ

เมื่อประเทศอันเป็นที่รักถูกแบ่งเป็น 2 ประเทศ ในขณะที่ฝรั่งเศสซึ่งพ่ายแพ้ ณ เดียนเบียนฟู กำลังถอนตัว สหรัฐอเมริกาได้พยายามเข้ามาแทนที่ ท่านประธานโฮจิมินห์ หรือลุงโฮ ของชาวเวียดนามในขณะนั้นอายุ 75 ปี แต่ยังเต็มไปด้วยความมุ่งมั่นที่จะทำให้เวียดนามมีเอกภาพ หรือเป็นประเทศเดียวกันให้ได้ โดยเฉพาะหลังจากเกิดเหตุการณ์เรือพิฆาตแมคดอกซ์ ของสหรัฐ ล้ำน่านน้ำเวียดนามที่อ่าว ตังเกี๋ย แล้วเกิดปะทะกับเรือเร็วตรวจฝั่งของเวียดนาม อเมริกาฉวยโอกาสส่งเครื่องบินทิ้งระเบิดเวียดนามเหนือที่ฮานอย และเมืองยุทธศาสตร์ที่สำคัญๆ อีกหลายเมือง

ศุขปรีดา เขียนว่า สงครามกู้ชาติครั้งที่ 2 (ของลุงโฮ) เปิดฉากขึ้น เป็นสงครามเวียดนามกับ จักรวรรดินิยมอเมริกา และลูกสมุนเวียดนามใต้ ภายหลังอเมริกาละเมิดข้อตกลงปี 2497 โดยเริ่มให้ โงดินเดียม โค่น เบาได๋ (จักรพรรดิเวียดนาม) แล้วตั้งสาธารณรัฐเวียดนามขึ้นมา

ต่อมาโงดินเดียมที่เป็นประธานาธิบดีคนแรก หลังจากเป็นสาธารณรัฐก็ถูกอเมริกาเขี่ยทิ้ง เพราะบริหารประเทศไม่เอาไหน เมื่อมีการรัฐประหารเกิดขึ้นจึงถูกประหารชีวิต แล้วสหรัฐอเมริกาเอาคนที่สามารถชี้นิ้วได้ขึ้นครองอำนาจ แต่ไม่ได้หยุดยั้งความรักชาติชาวเวียดนามได้ ในปี 2503 จึงเกิดแนวร่วมปลดปล่อยเวียดนามใต้ หรือเวียดกง ซึ่งท่านประธานโฮจิมินห์ และกรมการเมืองพรรคคอมมิวนิสต์ ได้มีมติสนับสนุนทุกวิถีทางให้ปลดปล่อยเวียดนามใต้ให้ได้

ประชาชนไซง่อนแสดงความต้อนรับกองกำลังปลดปล่อย
ในช่วงนั้นการส่งกำลังทหาร ยุทธสัมภาระจากเวียดนามเหนือเป็นไปด้วยความยากลำบาก ต้องผ่านเส้นขนานที่ 17 ลงไปทางใต้ โดยอาศัยเส้นทางป่าเขาที่ลดเลี้ยวเคี้ยวคด ต่อมาเส้นทางดังกล่าวมีชื่อว่า เส้นทางโฮจิมินห์

ในขณะที่การต่อสู้ปลดปล่อยเวียดนามใต้ดำเนินการอยู่นั้น สุขภาพท่านประธานโฮจิมินห์ในวัยกว่า 75 ปี ก็ถดถอยไปเรื่อยๆ แต่ก็ยังหวังว่าจะมีโอกาสไปเยี่ยมเยียนพี่น้องทางภาคใต้สักวันหนึ่งเมื่อได้รับการปลดปล่อยแล้ว โดยให้กำลังใจ (นักรบ) ว่า สู้กับฝรั่งเศสใช้เวลาถึง 10 ปี จึงชนะ การสู้กับอเมริกาที่มีกำลังและอานุภาพมากกว่าอาจต้องใช้เวลามากกว่านั้นก็ได้ แต่ชัยชนะจะต้องเป็นของประชาชนชาวเวียดนามเท่านั้น

แต่ท่านไม่มีโอกาสมีชีวิตอยู่ดูชัยชนะของประชาชาติชาวเวียดนาม เพราะเมื่อวันที่ 2 ก.ย. 2512 ท่านก็ถึงแก่อสัญกรรมอย่างสงบในวัย 79 ปี
ต่อมาอีก 5 ปี หลังอสัญกรรมของโฮจิมินห์ คือ 30 เม.ย. 2518 ชาวเวียดนามทั้งมวลก็ประกาศ ชัยชนะเหนือศัตรูที่มีพลังอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาได้อย่างสิ้นเชิง ความเป็นเอกภาพกลับมาสู่ประเทศเวียดนามตามเจตนารมณ์ท่านประธานโฮจิมินห์อีกครั้ง นักหนังสือพิมพ์เล่าเหตุการณ์

ฟามก็อกโตน
ฟามก็อกโตน หรือ องต่วน รองประธานสมาคมนักหนังสือพิมพ์เวียดนาม ที่นักหนังสือพิมพ์ไทยรู้จัก เล่าบรรยากาศและความรู้สึกในฐานะสื่อมวลชนเวียดนามเมื่อ 34 ปีให้ฟังว่า เมื่อรู้ว่าได้รับชัยชนะ ขับไล่ผู้รุกรานออกไปได้ เหมือนยกภูเขาออกจากอก รู้สึกดีใจ ปลอดโปร่ง ตื้นตันชนิดบรรยายไม่ถูก เป็นชัยชนะที่รอคอยและปรารถนามานานหลายปี เพื่อให้เห็นภาพว่าดีใจอย่างไร องต่วนยกมือทั้งสองออกจากอก แสดงความโล่งใจ เพราะความรู้สึกกดดันได้ หมดสิ้น

องต่วน ในฐานะนักข่าวยศร้อยโทกองทัพบก (ก่อนเกษียณมียศ นายพันตรี) แห่งหนังสือพิมพ์ทหารรายวัน บอกว่าในกรุงฮานอยไม่มีใครเรียกใคร แต่ทุกคนออกจากบ้านมาฉลองกันเต็มถนน ประชาชนกอดกันแสดงความดีใจ และความภูมิใจต่อชัยชนะ

บางคนไม่มีอุปกรณ์ที่จะเอามาฉลอง หยิบเอาหม้ออะลูมิเนียมและภาชนะอื่นๆ มาตีฉลองกันอย่างสนุกสนาน เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วทั้งประเทศ

หนังสือพิมพ์พิมพ์มาเท่าไรก็ขายหมดเกลี้ยง

องต่วน ในนามสมาคมนักหนังสือพิมพ์เวียดนาม ได้มอบภาพเหตุการณ์เมื่อ 34 ปี ที่กองทัพปลดปล่อยเวียดนามได้บุกเข้ายึดทำเนียบประธานาธิบดี เวียดนามใต้ และภาพที่ศัตรูกำลังหนี รวมทั้งภาพที่ประชาชนชาวเวียดนามออกมาแสดงความยินดี ซึ่งเป็นภาพที่สมาคมฯ เก็บไว้ให้กับ โพสต์ทูเดย์ ด้วย
 
http://www.posttoday.com/lifestyle.php?id=44977



Hotmail® has a new way to see what's up with your friends. Check it out.