อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ให้สัมภาษณ์ Financial Times | |||
ที่มา: http://www.siamintelligence.com/ft-interview-with-abhisit-vejjajiva/ แปลและเรียบเรียงจาก - FT: Interview with Abhisit Vejjajiva ฟังเสียงการสัมภาษณ์อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะที่นี่
ไฟแนนเชียล ไทมส์ : ประเทศไทยเคยมีชื่อเสียงว่าเป็นดังมณีของเอเชีย, หนึ่งในพยัคฆ์ทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง, ผู้คนมักจะเปรียบเทียบกับไต้หวัน: แต่ตอนนี้การเปรียบเทียบประเทศเริ่มละม้ายฟิลิปปินส์เข้าไปทุกที มีบางอย่างที่ดูเหมือนจะผิดพลาดอย่างร้ายแรง มีอะไรที่ผิดพลาดเช่นนั้นหรือไม่? อภิสิทธิ์ : ผมคิดว่ามีความท้าทายใหญ่ๆ ที่เราต้องรับมือ อันดับแรกสุดเลย เราเห็นแนวโน้มของการทำลายระบบนิติรัฐในสองสามปีที่ผ่านมา ในอดีตผมคิดว่าเรามีปัญหากับการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งบางทีอาจเป็นที่ระดับท้องถนน หรือบางทีอาจจะเป็นช่องโหว่ หรือไม่ก็เป็นเพราะการผ่อนคลายในการบังคับใช้กฎหมาย แต่ในภาพใหญ่ เราไม่ได้มีปัญหาความไม่สงบเรียบร้อยในภาพรวม เป็นที่แน่ชัดว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปหมดแล้วจากเมื่อสองสามปีที่ผ่านมา นี่ก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำไมผมถึงรู้สึกว่ารัฐบาลได้ทำในสิ่งที่ถูกต้องแล้ว ประการที่สอง, ผมคิดว่าเรามีความแตกแยก จากความขัดแย้งทางการเมืองในช่วงสี่ห้าปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลมาจากที่เราต้องทำความเข้าใจผลลัพธ์จากกระบวนการประชาธิปไตย ผมยังคงยืนยันเสมอว่า ความเชื่อที่ว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเรื่องการแบ่งแยกระหว่าง เมืองและชนบท หรือเป็นเรื่องของการแบ่งแยกทางชนชั้น เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง มันอาจมีส่วนอยู่บ้าง ดังที่เราเห็นภาพของผลการเลือกตั้งในเมืองและชนบทที่เกิดขึ้นทั่วๆ ไป แต่คุณไม่สามารถพูดได้ว่าผู้คนที่สนับสนุนคุณทักษิณไม่มีคนรวย หรือคนชั้นกลางร่วมอยู่ด้วย ในทำนองเดียวกันฝ่ายตรงข้าม คือคนที่เข้าร่วมกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ก็มีคนชนบทอยู่เป็นจำนวนมากเช่นกัน และก็มีกระทั่งคนที่ลงคะแนนให้พรรคประชาธิปัตย์, หรือเพื่อไทย หรือพลังประชาชน/ไทยรักไทย ในท้องที่ที่แต่ละพรรคชนะการเลือกตั้งโดยภาพรวมมาก นั่นก็หมายถึงผู้สนับสนุนที่เป็นคนชนบทเช่นกัน นั่นจึงเป็นการวิเคราะห์ที่ผิดพลาด ประเด็นสำคัญจึงอยู่ที่ความคาดหวังที่ผู้คนมีต่อกระบวนการประชาธิปไตย กลุ่มหนึ่งเน้นถึงเจตจำนงของคนส่วนใหญ่ ซึ่งก็แน่นอนว่าเป็นเรื่องถูกต้อง ดังนั้นพวกเขาจึงมองว่าเมื่อผลการเลือกตั้งออกมาก็ต้องยอมรับ ส่วนอีกกลุ่มไม่ได้ถึงกับปฏิเสธ แต่ก็ยืนยันว่า, ซึ่งผมก็คิดว่าถูกต้องนะ, กระบวนการประชาธิปไตยหมายถึงการที่รัฐบาลมีอำนาจจำกัด ผลลัพธ์จากคนส่วนใหญ่ไม่ได้มอบอำนาจให้คุณทำตัวอยู่เหนือกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายการเลือกตั้ง หรือกฎหมายการคอร์รัปชั่น แน่นอนว่าเมื่อคุณแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการละเมิดกฎหมาย คุณต้องเชื่อใจศาลหรือองค์กรอื่น ซึ่งในระบอบประชาธิปไตยมักจะไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ดังนั้นมันจึงมีความสับสนในเรื่องเหล่านี้ และที่สำคัญ ที่ทำให้เรื่องเลวร้ายลงก็คือ มีบางกลุ่มไปไกลขนาดที่ว่าให้ใช้หลักรัฐศาสตร์แก้ปัญหาด้านกฎหมาย ในขณะที่อีกกลุ่มก็ไปไกลขนาดที่ว่าให้ใช้กระบวนการทางกฎหมายแก้ปัญหาทางการเมือง นี่ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้น และรัฐบาลของผมก็จะต้องพยายามแก้ไขให้ถูกต้อง ไฟแนนเชียล ไทมส์ : ปัญหาของคุณในแง่ภาพลักษณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาพลักษณ์ในระดับนานาชาติ คือดูเหมือนว่าคุณจะอยู่ข้างกฎหมาย ไม่ได้อยู่ข้างหลักประชาธิปไตยหรือไม่? อภิสิทธิ์ : ผมว่ามันไม่เป็นธรรมเท่าไหร่นะที่มองกันเช่นนั้น อย่างน้อยผมก็อยู่ในการเมืองแบบเลือกตั้งมาเกือบสองทศวรรษ จุดยืนหนึ่งของผมตลอดเวลา 18 ปีในการเมืองก็ชัดเจน: คือผมไม่สนับสนุนกระบวนการที่ไม่เป็นประชาธิปไตย แต่เมื่อสิ่งที่เกิดขึ้น ก่อนรัฐประหารครั้งก่อน มันชัดเจนว่าเรามีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ละเมิดหลักการประชาธิปไตย คุณกำลังพูดถึงผู้เสียชีวิตจำนวน 2,000 คน จากนโยบายที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน คุณได้เห็นการแทรกแซงองค์กรอิสระซึ่งถูกคาดหวังว่าจะต้องเป็นกลาง อาทิเช่นคณะกรรมการการเลือกตั้ง ดังนั้นเราจึงคัดค้านเรื่องดังกล่าว ผมติดอยู่ในระบอบรัฐสภา และผมก็ไม่เคยออกนอกแนวทางนี้ เมื่อการประท้วงเกิดขึ้นเมื่อปีกลาย ทุกครั้งที่ผู้ประท้วงทำในสิ่งที่ผมรู้สึกว่าไม่ถูกต้อง ผมก็จะพูดในสิ่งที่ผมไม่เห็นด้วย หลังการรัฐประหาร จุดยืนผมก็ชัดเจน ผมไม่เห็นด้วยกับมัน แต่ผมก็คิดว่าวิธีที่เร็วที่สุด และราบรื่นที่สุดในการกลับคืนมาสู่สภาวะปกติไม่ใช่เป็นการสร้างความรุนแรงในท้องถนน แต่คือการทำให้ผู้นำการรัฐประหารต้องยึดมั่นในคำสัญญาว่าพวกเขาจะคืนอำนาจให้กับประชาชนในช่วงเวลาที่บอกไว้ว่าประมาณ 1 ปี ตัวรัฐธรรมนูญเองก็ผ่านการลงประชามติ แน่นอว่าเราอาจไม่ชอบเงื่อนไขทั้งหมด แต่มันก็ได้รับการสนับสนุนจากเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน และมันก็ควรจะได้รับการแก้ไขเมื่อเรากลับคืนสู่สภาวะปกติ และตัวรัฐธรรมนูญเองก็อาจมีเงื่อนไขที่พรรคการเมืองมองว่ามันไม่เหมาะสม แต่พวกเขาก็ยอมรับมัน พวกเขายอมรับกติกาเมื่อพวกเขาเข้าร่วมการลงสมัครเลือกตั้ง และเมื่อพวกเขาละเมิดกติกาพวกเขาก็ต้องยอมรับผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น ไฟแนนเชียล ไทมส์ : เงื่อนไขใดที่คุณมองว่าไม่สามารถยอมรับได้ อภิสิทธิ์ : เราได้พูดว่ามีบางมาตราที่เรารู้สึกว่าจะต้องแก้ไข เช่นบทบาทของ ส.ส. หรือ วุฒิสมาชิก และอื่นๆ ไฟแนนเชียล ไทมส์ : คุณอยากให้วุฒิสมาชิกมาจากการเลือกตั้งไหม? อภิสิทธิ์ : แน่นอน ไฟแนนเชียล ไทมส์ : คุณอยากจะขัดเกลาเงื่อนไขที่ให้มีการยุบพรรคการเมือง จากการความผิดลหุโทษทางอาญาของเจ้าหน้าที่เพียงคนเดียวไหม? อภิสิทธิ์ : ผมไม่เห็นด้วยกับการยุบพรรค แต่ผมคิดว่าเราต้องวางสมดุล กับการที่คณะกรรมการบริหารพรรครู้ว่าการละเมิดกฎหมายของพรรค และพวกเขาต้องยอมรับผลพวงจากการกระทำนั้น หากคุณยังจำได้เมื่อตอนที่มีการยุบพรรคไทยรักไทย ผมเป็นเสียงหนึ่งที่บอกว่าพรรคใหม่ที่ตั้งขึ้นต้องสามารถใช้ชื่อไทยรักไทยได้ หากสมาชิกปรารถนา จุดยืนผมเกี่ยวกับเรื่องนี้ชัดเจนมาตลอด แต่สิ่งที่สามารถพูดได้ก็คือเงื่อนไขที่เป็นปัญหาจะต้องได้รับการแก้ไข และอีกอย่างที่ควรตระหนักก็คือคนที่มีผลประโยชน์โดยตรง และต้องการผลักดันเรื่องนี้ ในฐานะที่เป็นวาระส่วนตัว จะสร้างเงื่อนไขให้มีการต่อต้าน ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อปีกลาย นี่จึงเป็นสิ่งที่ เมื่อผมเข้ารับตำแหน่งผมจึงอยากให้องค์กรที่เป็นกลาง — บางทีอาจจะเป็นสถาบันการศึกษา — เป็นคนเริ่มกระบวนการ เพื่อไม่ให้เกิดข้อครหาว่านักการเมืองทำเรื่องเหล่านี้เพื่อตัวพวกเขาเอง น่าเสียดายที่ฝ่ายค้านปฏิเสธข้อเสนอนี้ มันไม่ใช่เราที่ยุติกระบวนการดังกล่าว มันเป็นพรรคฝ่ายค้านที่ปฏิเสธข้อเสนอ ดังนั้นผมจึงอยู่ในกระบวนการที่จะค้นหาแนวทางใหม่ เพื่อให้สิ่งต่างๆ เกิดขึ้น ในเวลาเดียวกันในขณะที่ผู้ประท้วงส่วนใหญ่มีความรู้สึกอย่างบริสุทธิ์ถึงความไม่เป็นธรรม และต้องการรูปแบบประชาธิปไตยที่ดีขึ้น แต่มันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าแกนนำผู้ชุมนุมประท้วงต้องการความรุนแรง และสนใจผลประโยชน์ส่วนตัวของตนเอง ไฟแนนเชียล ไทมส์ : เมื่อมองจากผิวหน้า ดูเหมือนว่าประเทศถูกแบ่งแยกเป็นสองฝ่าย ในขณะที่พรรคหนึ่งได้อำนาจ แต่อีกฝ่ายมองว่าไม่มีใครเป็นตัวแทนของพวกเขาเลย คุณจะทำอย่างไรเพื่อชักจูงให้คนเสื้อแดงมองว่าคุณเป็นตัวแทนผลประโยชน์ของพวกเขาด้วย? อภิสิทธิ์ : มีความแตกต่างที่ชัดเจน เพราะเมื่อคุณทักษิณเป็นนายกฯ เขาได้กล่าวว่าจะดูแลประโยชน์ของคนที่ลงคะแนนให้เขาก่อน ผมไม่เคยทำเช่นนั้น และตลอดเวลาที่ผมรับตำแหน่งผมไม่เคยแบ่งแยกใคร เมื่อมีการประท้วงแบบสันติ หรือมีการคัดค้านต่อสื่อที่หลากหลาย ผมไม่เคยเข้าไปแทรกแซง ผมรับฟังพวกเขา ผมผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งที่ผมไม่เคยต้องการเมื่อปีกลายเลย ถ้ามองแบบนี้ความจริงผมควรจะยุติไม่ให้กระบวนการเดินหน้าไป นี่เป็นเหตุหนึ่งที่พิสูจน์ว่าผมอยู่ที่นี่เพื่อทำงานให้ทุกคน และทุกมาตรการที่ผมได้ออกไป ก็ไม่เคยมีการแยกเขาแยกเรา ในความเป็นจริงแล้วมันสามารถมองได้ว่าแพ็คเกจที่เราได้ผลักดันในแง่ของแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะจำนวนเงินที่เราได้ใส่ลงไปในการพยุงราคาพืชผล ให้เงินสนับสนุนคนที่มีรายได้น้อย คุณสามารถมองได้ว่าเราทำสิ่งเหล่านี้ให้กับคนที่ไม่เคยลงคะแนนให้เรา ไฟแนนเชียล ไทมส์ : นั่นเป็นสิ่งที่คุณต้องการทำใช่ไหม? อภิสิทธิ์ : อะไรที่ผมทำ เป็นสิ่งที่ผมคิดว่าผมได้พิสูจน์ตัวว่าผมไม่ได้อยู่ในตำแหน่งเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของใคร ผมอยู่ในตำแหน่งเพื่อทำงานให้กับทุกคน ไฟแนนเชียล ไทมส์ : คุณไม่ยุบสภาด้วยเหตุผลอะไร? อภิสิทธิ์ : ด้วยสองเหตุผล, ประการแรกฝ่ายค้านไม่ได้ยอมรับกติกาปัจจุบัน หากผมยุบสภาและจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ หากมีการกระทำผิดและมีการยุบพรรคเกิดขึ้นอีก อะไรจะเกิดขึ้น? เราก็ย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้นอีก มีคนพูดถึงผมมาก ผมอ่านเรื่องราวที่บอกว่าผมแพ้การเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย : ความจริงมันก็มีเพียง 100,000 คะแนนที่เป็นส่วนต่างระหว่างพวกเขากับพวกเรา จากทั้งหมด 30 ล้านคะแนน ในช่วงเดือนมกราคม เราชนะการเลือกตั้งซ่อมถึง 21 จาก 27 ที่นั่ง ทั้งหมดก็อยู่ในพื้นที่ชนบทด้วย ประเด็นจึงไม่ใช่ว่าผมจะชนะหรือไม่ แต่สิ่งแรกคือกติกาต้องได้รับการยอมรับ เราต้องไม่ไปตกอยู่ในวงจรที่ว่า มีการทำผิดกติการเลือกตั้ง มีการยุบพรรค คนรู้สึกว่าไม่มีความยุติธรรม แล้วก็เพิ่มความโกรธแค้นต่อไป ประเด็นที่สอง คือผู้ประท้วงมีการปราศรัยอย่างเปิดเผยว่าจะไม่ยอมให้พวกเราหาเสียงในบางพื้นที่ นี่ไม่ใช่เงื่อนไขที่ประชาธิปไตยที่เสรี และเป็นธรรม เราเห็นแนวโน้มนี้ในช่วงการเลือกตั้งซ่อม ถ้าคุณแบ่งประเทศออกเป็นส่วนๆ ให้พรรคการเมืองหาเสียงได้เฉพาะในพื้นที่ของตัวเอง มันไม่ได้ช่วยอะไร หากการเลือกตั้งนั้นเปลี่ยนเป็นความรุนแรง ผมต้องการให้ความรู้สึกนี้จางหายไปก่อนที่เราจะมีการเลือกตั้ง นอกจากนี้มันก็ชัดเจนว่าในช่วงสามเดือนที่ผ่านมา เป็นเวลาของประเทศไทยที่ต้องการเสถียรภาพ เพื่อให้สามารถใช้ยารักษาความตกต่ำทางเศรษฐกิจ และทำตามความต้องการคนส่วนใหญ่ ซึ่งก็คือการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ ไฟแนนเชียล ไทมส์ : คุณบอกว่ามีผู้ประท้วงบางส่วนรู้สึกอย่างบริสุทธิ์ถึงความไม่เป็นธรรม คุณคิดว่ามันมีข้อเท็จจริง หรือเป็นเพียงความรู้สึก? อภิสิทธิ์ : ผมมองว่ามันมีทั้งสองส่วน ผมคิดว่ามันมีบางกรณีที่พวกเขามีสิทธิที่จะรู้สึกถึงความไม่เป็นธรรม ผมเข้าใจถึงความรู้สึกพวกเขาต่อคดีของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่ดำเนินไปอย่างล่าช้า แต่ปัญหาคือคดีของกลุ่มพันธมิตรฯ และการสอบสวนนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นขณะผมรับตำแหน่ง ไฟแนนเชียล ไทมส์ : เมื่อคุณไม่มีการฟ้องร้องพวกเสื้อเหลือง คนก็มองว่าคุณทำให้กระบวนการล่าช้าออกไป อภิสิทธิ์ : มันไม่ใช่หรอกครับ ตำรวจกำลังดำเนินการฟ้องร้องอยู่… แต่แน่นอนว่าปัญหาไม่ได้มาจากซีกรัฐบาล ดังนั้นมันจึงไม่ใช่เป็นปัญหาจากระบบ คดีหนึ่งที่เป็นความรุนแรงอย่างชัดเจนในช่วงการประท้วงของกลุ่มพันธมิตรฯ — คือรูปที่เป็นที่รู้จักดีในสื่อต่างชาติ ที่มีคนใช้ปีนในกลุ่มผู้ประท้วง นั่นเกิดขึ้นเมื่อ…หากความจำผมไม่ผิด คือเดือนสิงหาคม เมื่อผมเข้ามารับตำแหน่งผมยังไม่เห็นความคืบหน้าเรื่องนี้ สิ่งแรกที่ผมทำเมื่อผมเข้ามารับหน้าที่ คือเรียก ผบ.ตร. เข้ามาแล้วพูดว่า นั่นเป็นหลักฐานที่ชัดแจ้งมากเลยนะ ใครสักคนจะต้องฟ้องคดีนี้ และหมายจับก็ถูกออกหลังจากนั้น คนที่อยู่ตรงข้ามกับรัฐบาลอาจมองว่าทำไมมันจึงใช้เวลาสี่ถึงห้าเดือน แต่พวกเขาลืมไปว่าผมไม่ได้มีอำนาจตอนนั้น ไฟแนนเชียล ไทมส์ : คุณได้รับเลือกเป็นนายกฯ เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม การประท้วงที่สนามบินสิ้นสุดลงสองอาทิตย์ก่อนคุณเข้ามามีอำนาจ แต่สี่เดือนผ่านไปโดยไม่มีอะไรเกิดขึ้น? อภิสิทธิ์ : ผมเรียก ผบ.ตร. เข้ามาแล้วบอกถึงความกังวลว่าคดีดำเนินไปได้ช้ามาก พวกเขาก็จึงเริ่มดำเนินการไปบางอย่าง พวกเขาดำเนินคดีเรื่องการยึดทำเนียบก่อน ตอนนี้พวกเขาก็ออกหมายเรียกคนที่เกี่ยวข้องตอนนี้พวกเขาก็เริ่มดำเนินคดีสนามบินแล้ว พูดอย่างตรงไปตรงมา ผมตั้งใจจะเคลียร์คดีเหล่านี้หลังการประชุมอาเซียนซัมมิต เพราะผมวางลำดับความสำคัญของปัญหาเศรษฐกิจไว้สูงสุด และจำต้องทำงบประมาณของปีหน้าให้เสร็จ หลังจากนั้นก็เป็นเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ และจัดการคดีที่ยังคั่งค้างให้เสร็จโดยเร็วที่สุด โชคร้ายที่เหตุการณ์เช่นนี้ (เหตุการณ์ จราจลช่วงสงกรานต์) เกิดขึ้นเสียก่อน ไฟแนนเชียล ไทมส์ : คุณเคยให้สัมภาษณ์ในช่วงการยึดสนามบินว่า การส่งทหารเข้าไปไม่ใช่ความคิดที่ดีนัก แล้วตอนนี้คุณก็ให้ทหารลงไปบนท้องถนนเมื่ออาทิตย์ก่อน ทำไมถึงเปลี่ยนความคิดไป? อภิสิทธิ์ : ผมไม่คิดว่าระดับความรุนแรงในการประท้วงที่เกิดขึ้นสองครั้งจะเหมือนกัน ถ้าคุณฟังผู้นำการประท้วง แต่หากยกเรื่องนี้ออกไป ข้อแตกต่างก็คือ เมื่อคนอยู่ในทำเนียบรัฐบาล เมื่อคนอยู่ในสนามบิน การใช้ปฏิบัติการทางทหารไม่ว่ากรณีใดผมคิดว่ามันมีความเสี่ยงอย่างมาก ผมจึงใช้การตัดสินที่คล้ายกันในคืนวันที่ 13 เมษา เมื่อมีคนอย่างมากที่สุด 4,000 คน และบางทีอาจมีต่ำกว่า 2,000 คนรอบทำเนียบ การตัดสินใจของผมคือไม่ให้ทหารเข้าไป (สลายการชุมนุม) แต่ให้ทำการเจรจา แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนนี้ ดังที่คุณทราบดี การปิดถนนตามแยกต่างๆ รถขนแก๊ส และอื่นๆ เหตุการณ์เหล่านี้จะต้องมีการดำเนินการจัดการ มันเป็นเรื่องจราจล ไม่ใช่การประท้วง ดังนั้นผมไม่ได้เปลี่ยนความคิดอะไร ไฟแนนเชียล ไทมส์ : แล้วพวกเสื้อน้ำเงินล่ะ? อภิสิทธิ์ : ผมพูดได้พูดไปอย่างชัดเจนแล้วว่า เราจะต้องไม่สร้างสีใหม่ขึ้นมาอีก ไฟแนนเชียล ไทมส์ : มีใครในพรรคของคุณพยายามสร้างสีใหม่ขึ้นมาไหม? อภิสิทธิ์ : ไม่ใช่คนในพรรคของผม รมต. มหาดไทยต้องการรณรงค์เกี่ยวกับการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ดังนั้นพวกเขาจึงมีเหล่าอาสาสมัคร ใส่เสื้อสีน้ำเงิน แต่ตอนนี้มีข้อสงสัยว่ามันอาจจะถูกใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่น ผมคิดว่าพวกเขาเอาสีน้ำเงินมาจากสีในธงชาติ ไฟแนนเชียล ไทมส์ : แล้วเรื่องคนเสื้อน้ำเงินในพัทยาล่ะ? อภิสิทธิ์ : ในพัทยามันเป็นอีกเรื่องหนึ่งไปเลย มันเป็นคนท้องถิ่น อาสาสมัคร และอื่นๆ อย่งไรก็ตามตอนนี้ก็มีข้อสงสัยและความกังวลว่ามันอาจจะถูกใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่น ผมจึงได้บอกให้ยุติการดำเนินการดังกล่าวเสีย
อภิสิทธิ์ : มีนักการเมืองอีกหลายคนปรากฎตัวที่นั่น ไฟแนนเชียล ไทมส์ : มีพยานหลักฐานพอเพียงที่จะสรุปได้ว่าเขาเกี่ยวข้องกับการจัดตั้งคนคลุมหน้า ใช้ไม้หน้าสาม และอย่างน้อยก็มีปืนหนึ่งกระบอก อภิสิทธิ์ : คำสั่งผมชัดเจน คือไม่ให้มีการใช้ความรุนแรง เมื่อมีความรุนแรงเกิดขึ้นจากทั้งสองสี พวกเขาจะถูกสอบสวนและได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน ไฟแนนเชียล ไทมส์ : คุณได้รับคำยืนยันจากคุณเนวินว่าเขาไม่ได้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไหม? อภิสิทธิ์ : ผมยังไม่ได้คุยกับเขา การสอบสวนจะมีการดำเนินการต่อไป ใครที่มีส่วนเกี่ยวข้องจะต้องถูกสอบสวนด้วย ไฟแนนเชียล ไทมส์ : รวมทั้งคุณเนวิน ถ้าหากเขามีส่วนเกี่ยวข้อง? อภิสิทธิ์ : ถ้าเขามีส่วนเกี่ยวข้อง, ใช่ ไฟแนนเชียล ไทมส์ : คุณพูดถึงแง่มุมเกี่ยวกับสงครามชนชั้น ซึ่งเป็นมุมมองใหม่และเป็นประเด็นที่รบกวนอยู่มาก อภิสิทธิ์ : มันเป็นเรื่องโฆษณาชวนเชื่อ (propaganda) ไฟแนนเชียล ไทมส์ : คุณคิดว่าเรื่องนี้ยังมีพลังอยู่ไหม? อภิสิทธิ์ : มันเป็นสิ่งที่ถูกส่งเสียงสะท้อนไปมาในคนบางกลุ่ม แต่ผมยืนยันว่าถ้าคุณมองนโยบายของรัฐบาล มันไม่มีความลำเอียงทางชนชั้นเลย ไฟแนนเชียล ไทมส์ : คุณเห็นอย่างไรกับความเห็นเรื่อง 'ประชาธิปไตยของคนรวย' (democracy of the rich) จากนักวิเคราะห์การเมืองอย่าง คุณฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์? [1] อภิสิทธิ์ : เขาต้องหาข้อพิสูจน์เรื่องนี้ มีนโยบายใดที่ผมเอื้อประโยชน์ให้คนรวยบ้าง ความจริงแล้วมันตรงข้ามกันเลย มันเป็นเรื่องผิดปกติหากจะกล่าวหารัฐบาลว่าเป็นรัฐบาลของคนรวยในเมื่อนโยบายเหล่านี้ถูกออกแบบมาเพื่อคนยากจน มันไม่มีเหตุผลเอาเลย แล้วคุณจะอธิบายผู้ลงคะแนนเสียงในภาคใต้ว่าอย่างไร? พวกเขาร่ำรวยไหม? ภาคใต้เป็นพื้นที่ยากจนอันดับสองของประเทศรองจากภาคอีสาน แล้วพวกเขายังคงสนับสนุนเราอย่างต่อเนื่อง ผมไม่เข้าใจว่าเหตุใดข้อเท็จจริงพื้นฐานเช่นนี้จึงได้ถูกมองข้ามไป ไฟแนนเชียล ไทมส์ : คุณมองว่าเรื่องนี้ถูกส่งเสียงสะท้อนไปมากับคนบางกลุ่ม ทำไมคุณถึงคิดเช่นนี้? อภิสิทธิ์ : มันก็มีการพูดกันทั่วไปนั่นแหละ ไฟแนนเชียล ไทมส์ : คุณคิดว่ามันจะเป็นปัญหากับคุณไหม? อภิสิทธิ์ : แน่นอนมันต้องเป็นปัญหาแน่หากมีการแบ่งแยกเช่นนั้นเกิดขึ้น หรือแม้แต่การแบ่งแยกใดก็ตามที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ชนชั้น, เผ่าพันธุ์, ศาสนา… ทั้งหมดล้วนเป็นสิ่งอันตราย นี่จึงเป็นสิ่งที่เราต้องประกาศถึงข้อเท็จจริงพื้นฐานว่า ทำไมเราต้องไปสนับสนุนคนที่ทำให้มีการแบ่งแยกเกิดขึ้นในชาติ ทำไมไม่สนับสนุนคนที่ทำให้เกิดการสามัคคี และทำไมจึงไม่ใช้ความพยายามเพื่อตรวจสอบและวิเคราะห์สิ่งที่คนกล่าวอ้าง คุณจะอธิบายผู้ลงคะแนนในภาคใต้ได้อย่างไร คุณจะอธิบายผู้ลงคะแนนในกรุงเทพได้อย่างไร? คนกรุงเทพไม่ได้เลือกเราทุกครั้ง เราแพ้การเลือกตั้งสองครั้งก่อนในกรุงเทพฯ เราเพิ่งได้รับชัยชนะในกรุงเทพฯ จากการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และการเลือกตั้งครั้งก่อน ไฟแนนเชียล ไทมส์ : ตอนนี้เรื่องที่น่ากังวลก็คือดูเหมือนมีกลุ่มธุรกิจบางกลุ่มตกเป็นเป้าหมายด้วย ภาคธุรกิจของเมืองไทยไม่เคยต้องตกเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบทางการเมืองโดยตรงมาก่อน ปัญหานี้รบกวนคุณบ้างไหม อภิสิทธิ์ : มันชัดเจนว่าคนที่ต้องการแบ่งแยกประเทศจะไม่ยอมยุติ พวกเขาจะลากทุกคนเข้ามาเกี่ยวข้องในความขัดแย้งนี้ ไฟแนนเชียล ไทมส์ : คุณคิดว่าคุณทักษิณคือบุคคลคนนั้น? อภิสิทธิ์ : เขาก็ยอมรับอย่างเปิดเผยนี่ ไฟแนนเชียล ไทมส์ : คุณคิดว่าเขาเป็นผู้นำอุดมการณ์ของคนเสื้อแดงไหม? อภิสิทธิ์ : ผมจะไม่บอกว่าเป็นเรื่องอุดมการณ์ แต่เขาเป็นผู้นำ ไฟแนนเชียล ไทมส์ : เขามีบทบาทอะไร? อภิสิทธิ์ : คุณต้องไปถามผู้ชุมนุมประท้วงดู ไฟแนนเชียล ไทมส์ : แล้วการตามหาตัวเขาไปถึงไหนแล้ว คุณได้คุยกับประเทศนิการากัว และสหรัฐอาหรับอิมิเรตส์แล้วหรือยัง? อภิสิทธิ์ : เรียบร้อยแล้ว, เราต้องการให้คนไทยทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมายฉบับเดียวกัน ไฟแนนเชียล ไทมส์ : คุณจะให้เขากลับมาประเทศไทยงั้นหรือ? อภิสิทธิ์ : ผมเคยบอกอย่างนั้นเสมอ ไฟแนนเชียล ไทมส์ : คุณไม่คิดว่ามันจะทำให้เกิดความวุ่นวายขึ้นหากนำเขามาขึ้นศาลในกรุงเทพหรือ? อภิสิทธิ์ : มันเป็นความรับผิดชอบของเราที่จะต้องดูแลเหตุการณ์นี้ ผมคิดว่าผู้คนที่มีเหตุมีผล และคำนึงถึงความไม่ธรรม และหลักการประชาธิปไตย จะถอยห่างออกจากคนที่ต้องการปลุกปั่นความรุนแรง และมีวาระส่วนตัว ไฟแนนเชียล ไทมส์ : คุณจะจำกัดประชาธิปไตยเพื่อจัดการกับสถานการณ์นี้… อภิสิทธิ์ : ผมจะไม่จำกัดสิทธิตามระบอบประชาธิปไตย ผมถูกตั้งกระทู้ซักถามในสภา ผมกำลังสนับสนุนกระบวนการประชาธิปไตย ผมพูดว่า พรก. สถานการณ์ฉุกเฉินจะต้องถูกยกเลิกโดยเร็วที่สุด การประท้วงตามระบอบประชาธิปไตยสามารถเกิดขึ้นได้ แต่สิ่งที่เราไม่ยอมรับคือการปลุกปั่นให้เกิดความรุนแรง และการจราจล ไฟแนนเชียล ไทมส์ : คุณพอจะให้ช่วงเวลาที่จะมีการยกเลิก พรก. ฉุกเฉินได้ไหม อภิสิทธิ์ : ไม่เกินสองสามวัน ไฟแนนเชียล ไทมส์ : ต้นอาทิตย์หน้า? อภิสิทธิ์ : เป็นไปได้ ไฟแนนเชียล ไทมส์ : นี่หมายถึงว่าวิทยุุชุมชนบางแห่งและเว็บไซต์ที่ถูกปิดกั้นไป จะกลับมาเปิดใหม่ได้ด้วย? อภิสิทธิ์ : ใช่ ตราบใดที่พวกเขาไม่ละเมิดกฎหมาย ไฟแนนเชียล ไทมส์ : ซึ่งรวมถึงการยั่วยุให้เกิดความรุนแรง? อภิสิทธิ์ : ใช่ ผมไม่คิดว่าคุณจะอนุญาตให้คนในประเทศของคุณไปออกวิทยุหรือทีวี แล้วพูดว่า ไปเผาที่นั่นที่นี่กันเถอะ ไปฆ่าใครสักคนกันเถอะ ไฟแนนเชียล ไทมส์ : คุณคิดว่าเศรษฐกิจไทยจะติดลบไปเท่าไหร่ คุณพูดเมื่อวานนี้ว่าราว 5%? อภิสิทธิ์ : ใช่ ไฟแนนเชียล ไทมส์ : นั่นเป็นการคาดการณ์แบบเลวร้ายที่สุด หรือเป็นการคาดการณ์ที่คิดว่าจะเป็นจริงที่สุด? อภิสิทธิ์ : ขึ้นกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลก ซึ่งผมไม่คิดว่าจะมีใครทำนายได้ถูกต้อง แต่ผมคิดว่า -3 ถึง -5 น่าจะใกล้เคียง ไฟแนนเชียล ไทมส์ : ธนาคารกลางเพิ่งลดการประมาณการเป็น -3.5 คุณคิดว่า -3.5 เป็นสิ่งที่คุณคิดไว้แล้วไหม? อภิสิทธิ์ : ใช่ ไฟแนนเชียล ไทมส์ : คุณกรณ์บอกว่าคุณจะกระตุ้นเศรษฐกิจ และพยายามบรรเทาผลกระทบจากปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ? อภิสิทธิ์ : เราเพิ่งวางกรอบแผนกระตุ้นเศรษฐกิจรอบสอง ผมไม่คิดว่าเราจะต้องเปลี่ยนแปลงอะไรอีก เรายังจะต้องแต่งเติมรายละเอียดอื่นๆ โดยเฉพาะแหล่งที่มาของเงินทุน ไฟแนนเชียล ไทมส์ : (จะมีการใช้งบกระตุ้นเศรษฐกิจ) ประมาณกี่เปอร์เซนต์ของ GDP? อภิสิทธิ์ : มันเป็นเกมส์ของตัวเลขนะ เพราะมันขึ้นอยู่กับว่าคุณจะคิดรวมๆ ไปเท่าไหร่ และเรากำลังพูดถึงแผนการณ์กระตุ้นเศรษฐกิจในระยะเวลาสามปี ผมเห็นตัวเลขของประเทศต่างๆ ผมไม่คิดว่ามันจะเปรียบเทียบอะไรกันได้ ไฟแนนเชียล ไทมส์ : แต่คุณให้ตัวเลขคร่าวไม่ได้หรือ อภิสิทธิ์ : คุณต้องการตัวเลขสามปี หรือหนึ่งปีล่ะ ไฟแนนเชียล ไทมส์ : หนึ่งปี? อภิสิทธิ์ : แต่ประเทศอื่นเขาไม่ได้คิดกันแบบนี้ ไฟแนนเชียล ไทมส์ : ถ้างั้นสามปีล่ะ? อภิสิทธิ์ : ถ้าเป็นสามปี ตัวเลขก็ราว 15% นี่คือตัวเลขตลอดสามปี ดังนั้นมันก็เท่ากับปีละ 5% ไฟแนนเชียล ไทมส์ : คุณคิดไหมว่าธุรกิจเริ่มชะลอตัวลงจากปัญหาเหล่านี้? อภิสิทธิ์ : แน่นอน เหตุการณ์เหล่านี้จะเพิ่มระดับความวิตกกังวล ไฟแนนเชียล ไทมส์ : คุณคิดไหมว่าจากมุมมองของญี่ปุ่น: พวกเขาเคยมองประเทศไทยในฐานะประเทศรองรับการลงทุนนอกจากจีน - จีน + 1 - ซึ่งมักเป็นประเทศไทย แต่ปัญหาจากความมั่นคงทางการเมืองอาจคลี่คลายไปอย่างรวดเร็ว คุณเคยอธิบายต่อข้อกังวลเช่นนี้หรือไม่ อภิสิทธิ์ : ผมคิดว่ามีความกังวลอยู่ทั่วไป และเราก็ต้องพูดถึงประเด็นเหล่านี้อย่างรวดเร็ว กระบวนการของผมค่อนข้างชัดเจน: ในด้านนโยบายทางเศรษฐกิจผมได้ให้นโยบายไปแล้วถึงสิ่งที่จำเป็นต้องทำ ดังนั้นจึงไม่มีข้อวิตกกังวลเรื่องมดอีก และพื้นฐานด้านการเงินของระบบที่นี่ก็อยู่ในแง่ดี ส่วนปัญหาด้านการเมืองสำหรับผม ก่อนอื่นเลยก็คือการฟื้นฟูระบบนิติรัฐ ส่วนอันดับสองคือการค้นหาทางออกทางการเมือง ไฟแนนเชียล ไทมส์ : ภาพความวุ่นวายเมื่อวาน คุณไม่คิดว่ามันจะ… อภิสิทธิ์ : มันไม่ได้ถึงกับเลวร้ายเมื่อเทียบกับเหตุการณ์อื่นๆ หลายคนมองว่ามันเป็นการควบคุมสถานการณ์ที่ยอมรับได้ ไฟแนนเชียล ไทมส์ : คุณคิดว่าจะมีคนจากฝ่ายตรงข้าม พยายามเชื่อมความแตกแยกนี้หรือไม่ อภิสิทธิ์ : อาจจะมีบางส่วน หรือบางคน หรืออาจจะส่วนใหญ่ ผมไม่ทราบหรอก แต่คงไม่ทุกคน ไฟแนนเชียล ไทมส์ : คุณคิดว่านี่เป็นงานที่เป็นไปได้ไหม? อภิสิทธิ์ : ผมเชื่อ ผมเชื่อแบบนั้นนะ ผมยังเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ไม่ต้องการเห็นความรุนแรง ไม่ต้องการเห็นความขัดแย้งโดยไม่มีที่สิ้นสุด ไม่ต้องการเห็นเงินในกระเป๋าต้องสูญเสียไปจากการลากสถานการณ์เช่นนี้ออกไป ไฟแนนเชียล ไทมส์ : เราพูดถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ไหม? อภิสิทธิ์ : ได้สิ ไฟแนนเชียล ไทมส์ : เราตระหนักดีถึงหัวข้อที่ละเอียดอ่อนเช่นนี้ แต่คุณทักษิณได้กล่าวว่าสถาบันเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองมากขึ้น? [2] อภิสิทธิ์ : เขาก็กล่าวหาทุกคนนั่นแหละ มีใครที่เขาไม่กล่าวหาบ้าง? ผมไม่คิดว่าคุณรายงานข่าวเขาถูกต้องในหนังสือพิมพ์ของคุณ… ไฟแนนเชียล ไทมส์ : ใช่คำตอบที่ว่า… อภิสิทธิ์ : เราตรวจสอบคำตอบคำสัมภาษณ์นั้นแล้ว การเข้าพบ [3] ที่ถูกกล่าวอ้าง ไม่ได้เป็นการถกเถียงเกี่ยวกับการรัฐประหาร เราได้ตรวจสอบแล้ว ดังนั้นเราจึงกังวลเกี่ยวกับการสัมภาษณ์นั้น เราจึงไปตรวจสอบข้อเท็จจริงพื้นฐานและมันก็ไม่ได้เป็นเรื่องจริง มันเป็นเรื่องแปลกที่เขาอ้างหรือกล่าวถึงบุคคลที่ไม่ได้อยู่ในที่ประชุม [4] แล้วนำไปกล่าวอ้างเช่นนั้น มันเป็นส่วนหนึ่งของวาระส่วนตัวของเขา ไฟแนนเชียล ไทมส์ : เขากุเรื่องขึ้น? อภิสิทธิ์ : มันไม่ใช่เรื่องจริง ไฟแนนเชียล ไทมส์ : ประเทศไทยเป็นประเทศที่ให้ความเคารพรักพระมหากษัตริย์อย่างสูง เมื่อมีการสืบราชสันตติวงศ์ จะมีความรู้สึกต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย นี่จะไม่เป็นเรื่องยากลำบากที่จะจัดการหรือ มันจะไม่เป็นช่วงเวลาไม่สงบในประเทศหรือ คุณจะผ่านเรื่องนี้ไปได้อย่างไร? อภิสิทธิ์ : ผมคิดว่าเราต้องมองสถาบันในฐานะของสถาบัน และพระราชวงศ์จะคงอยู่เหนือการเมือง ราชวงศ์จะยังคงเกี่ยวข้องกับงานหลายอย่างที่ทำเพื่อราษฎร เห็นได้ชัดจากภูมิปัญญาและความพยายามของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตลอดหกทศวรรษที่มีให้กับราษฎรไทย มันก็เหมือนกับประเทศอื่นที่มีสถาบันฯ ซึ่งมีกระบวนการของการสืบราชสันตติวงศ์ เหตุการณ์จะมีการพัฒนาขึ้น เช่นเดียวกับเมื่อหกสิบปีก่อนที่ในหลวงทรงขึ้นครองราชสมบัติ บทบาทของพระมหากษัตริย์ก็มีการเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งเป็นผลพวกจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไฟแนนเชียล ไทมส์ : คุณคิดว่ากระบวนการพัฒนาการจะดำเนินต่อไปไหม? อภิสิทธิ์ : ผมเชื่อว่าคนไทยจะทำให้เป็นเช่นนั้น ไฟแนนเชียล ไทมส์ : เหมือนที่คุณพูดว่า สถาบันอยู่นอกการเมือง… อภิสิทธิ์ : พระองค์ไม่ได้อยู่นอกการเมือง พระองค์ทรงอยู่เหนือการเมืองเสมอมา ไฟแนนเชียล ไทมส์ : คุณได้เข้าเฝ้าฯพระเจ้าอยู่หัว และได้ทูลเกล้าฯ ถวายรายงานสถานการณ์ทางการเมืองกับพระองค์หรือไม่? อภิสิทธิ์ : คุณก็ได้รายงานไปแล้วว่า มันเป็นกระบวนการทางรัฐสภา ไฟแนนเชียล ไทมส์ : ถ้างั้นคุณมีการเข้าเฝ้าฯ เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายรายงานกับพระองค์บ่อยครั้งไหม? อภิสิทธิ์ : ก็ นายกฯทุกคนก็ปฏิบัติเช่นนั้น ไฟแนนเชียล ไทมส์ : เนื้อหาในการประชุมเป็นเช่นไร? อภิสิทธิ์ : คุณก็ได้รายงานไปแล้ว ไฟแนนเชียล ไทมส์ : คุณเข้าเฝ้าฯพระองค์ครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่? อภิสิทธิ์ : ผมคิดว่าเป็นช่วงราวเดือนกุมภาพันธ์ แต่ก็เห็นได้ชัดว่าผมมีประจักษ์พยานคนอื่นเข้าเฝ้าฯ อยู่ด้วย รวมทั้งพระราชวงศ์ท่านอื่นก็ทรงอยู่ด้วย การเข้าเฝ้าฯอย่างเป็นทางการ และที่มีรายงานก็เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ [5] ไฟแนนเชียล ไทมส์ : แต่คุณไม่ได้เข้าเฝ้าฯ เลยนับแต่เหตุการณ์ที่พัทยา? อภิสิทธิ์ : ยังเลย ไฟแนนเชียล ไทมส์ : คุณไม่จำเป็นต้องทูลเกล้าฯ… อภิสิทธิ์ : ผมมีภาระหน้าที่ ที่จำต้องกระทำ ไฟแนนเชียล ไทมส์ : กลุ่มพันธมิตรฯ กล่าวอ้างว่าพวกตนปกป้องพระราชบัลลังก์ ในสถานการณ์ที่มีการแตกแยกในสถานการณ์ทางการเมือง พวกเขาก็ได้ดึงสถาบันพระมหากษัตริย์ลงมาอยู่ในการอภิปรายทางการเมือง คุณมีความกังวลกับเรื่องนี้ไหม? อภิสิทธิ์ : ผมพูดตั้งแต่วันแรกที่เข้ารับตำแหน่งว่า หนึ่งในภารกิจหลักของผมคือ ไม่ต้องการให้ใครดึงสถาบันพระมหากษัตริย์ลงมาในความขัดแย้ง ไม่ว่าฝ่ายไหนจะมีความตั้งใจอย่างไรก็ตามที ไฟแนนเชียล ไทมส์ : แล้วกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพล่ะ? กฎหมายนี้ทำให้ภาพลักษณ์เมืองไทยย่ำแย่อย่างมาก คุณคิดว่าจะต้องมีการแก้ไขไหม? อภิสิทธิ์ : ผมคิดว่ามันจะต้องมีการแก้ไขกระบวนการบังคับใช้ ไฟแนนเชียล ไทมส์ : คุณหมายความว่าอย่างไร? อภิสิทธิ์ : ผมหมายความว่ามันจะต้องมีแนวทางชัดเจนว่า คนที่ละเมิดกฎหมายหรือถูกตั้งข้อสงสัยว่าละเมิดกฎหมายได้รับการปฏิบัติอย่างไร ผมคิดว่าปัญหาอยู่ที่การตีความในด้านที่เป็นเสรีภาพมากเกินไป รวมทั้งกระบวนการที่ทำให้เกิดความสับสนและความขัดแย้งที่เกิดจากตัวกฎหมาย ก็เป็นปัญหาเช่นกัน ไฟแนนเชียล ไทมส์ : คุณยกตัวอย่างได้ไหม? อภิสิทธิ์ : เหตุการณ์ล่าสุดก็คือกรณีเว็บไซต์ประชาไท ซึ่งมีการจัดการผิดพลาดอย่างชัดเจน และมันก็เป็นเรื่องขัดแย้งกับนโยบายของผม มีการกระทำบางอย่างที่ไม่ควรจะเป็นเกิดขึ้นในคดีนี้ ไฟแนนเชียล ไทมส์ : นั่นไม่ใช่กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แต่เป็น พรบ. ความผิดทางคอมพิวเตอร์? อภิสิทธิ์ : ผมคิดว่าเป็นเรื่องเดียวกัน มีคนไปหาคนที่ใช้ พรบ.ความผิดทางคอมพิวเตอร์ แล้วก็ใช้กฎหมายนี้แทน นี่ก็เป็นสาเหตุและสิ่งที่เกิดขึ้น ไฟแนนเชียล ไทมส์ : สิ่งที่คุณทำและควบคุมได้คือ? อภิสิทธิ์ : ก่อนจะเกิดคดีประชาไท ผมคิดว่าก่อนหน้านี้เรามีการทำงานร่วมกันที่ดีระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจกับคนที่ดูแลเว็บไซต์ ไฟแนนเชียล ไทมส์ : แล้วมันมีปัญหาเกิดขึ้น? อภิสิทธิ์ : ผมหวังว่ามันเป็นเรื่องที่แยกจากกัน และมีการทำสิ่งที่ถูกต้อง ไฟแนนเชียล ไทมส์ : จะมีอะไรเกิดขึ้นต่อไป อาทิตย์หน้าและเดือนหน้าจะมีอะไรเกิดขึ้น? อภิสิทธิ์ : จะมีการยกเลิก พรก. ฉุกเฉิน ผมหวังว่ากระบวนการทางรัฐสภาจะก้าวหน้าต่อไป มีทางออกทางการเมืองเกิดขึ้นและทุกคนก็ยอมรับมันได้ ไฟแนนเชียล ไทมส์ : นั่นจะเกิดขึ้นได้อย่างไร? อภิสิทธิ์ : ต้องมีการปฏิรูปการเมือง และการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไฟแนนเชียล ไทมส์ : จะมีการพูดคุยกับคนอย่างคุณทักษิณไหม อภิสิทธิ์ : จะให้ผมคุยเรื่องอะไรล่ะ ไฟแนนเชียล ไทมส์ : ถ้าอย่างนั้นก็แสดงว่าคุณต้องการ ทางออกในเชิงสถาบัน? อภิสิทธิ์ : ใช่ แน่นอน ไฟแนนเชียล ไทมส์ : จะต้องใช้ระยะเวลาเท่าไหร่? อภิสิทธิ์ : จะมีการพูดคุยกันถึงกรอบระยะเวลาที่ชัดเจนด้วย หมายเหตุ [1] อ่าน เหตุใดคนไทยจึงโกรธ [2] Financial Times สัมภาษณ์ทักษิณ ชินวัตร [3] ระหว่างองคมนตรีและพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว [4] หมายถึง พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อ้างข้อมูลจาก พล.อ. พัลลภ ปิ่นมณี [5] ดูข่าว อภิสิทธิ์ และภริยา เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสที่คณะผู้นำอาเซียน เลขาธิการอาเซียน พร้อมด้วยคู่สมรสเข้าเฝ้าฯ-พระราชทานเลี้ยงรับรอง ณ วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคิรีขันธ์ เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2552 เวลา 19.30 น.
| |||
|
Windows Live™ SkyDrive™: Get 25 GB of free online storage. Check it out.