วันอาทิตย์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2552

เดินหน้าต่อไปธรรมาภิบาลไทย

วันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11369 มติชนรายวัน


เดินหน้าต่อไปธรรมาภิบาลไทย


โดย สังศิต พิริยะรังสรรค์ โครงการปริญญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการพัฒนาธรรมาภิบาล มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม




เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา บริษัทที่ปรึกษาความเสี่ยงทางด้านเศรษฐกิจและการเมืองหรือ PERC ได้สำรวจการคอร์รัปชั่นในภูมิภาคเอเชียพบว่า ไทยอยู่อันดับที่ 15 รองจากอินโดนีเซียเพียงประเทศเดียวอันดับของไทยอยู่ต่ำกว่ากัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ เสียอีก

ในรายงานของ PERC ระบุว่า การคอร์รัปชั่นในประเทศไทยมีความเชื่อมโยงกับเสถียรภาพทางการเมืองในปัจจุบัน

ปัญหาความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองของไทยในขณะนี้ เกี่ยวข้อง โดยตรงกับการคอร์รัปชั่นและการบิดเบือนการใช้อำนาจทางการเมืองของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่นำไปสู่การรัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 และมีการแต่งตั้ง "คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ" (คตส.) เพื่อทำหน้าที่ในการตรวจสอบการทุจริตโดยเฉพาะในเวลาต่อมา

การไต่สวนข้อเท็จจริงเรื่องการทุจริตของ พ.ต.ท.ทักษิณ โดย คตส.และสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) ในขณะนี้มี 13 คดี ประกอบด้วย

(1) การจัดซื้ออุปกรณ์ตรวจสอบวัตถุระเบิด

(2) ท่อร้อยสายไฟใต้สนามบินสุวรรณภูมิ

(3)การเลี่ยงภาษีเงินได้จากการขายหุ้น (หุ้นชินคอร์ป)

(4) เงินกู้ Exim BanK

(5) การออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย 3 ตัว 2 ตัว

(6) การจัดซื้อกล้ายาง

(7) การจ้างก่อสร้างและการจัดซื้ออุปกรณ์ห้องปฏิบัติการกลาง (Central Lab)

(8) แอร์พอร์ตลิงก์

(9) การปล่อยเงินกู้ธนาคารกรุงไทย (กฤษดามหานคร)

(10) การจัดซื้อจัดจ้างเอกชน โดยการเคหะแห่งชาติ (โครงการบ้านเอื้ออาทร)

(11) ร่ำรวยผิดปกติ การแปลงภาษีสรรพสามิตและอื่นๆ

(12) การจัดซื้อรถและเรือดับเพลิงของ กทม.

และ (13) การจัดซื้อที่ดินจากกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (ที่ดินรัชดาภิเษก)

คดีลำดับที่ (3) และ (13) ศาล มีคำตัดสินในชั้นต้นไปแล้ว

ส่วนที่เหลืออยู่เป็นคดีที่ คตส.และ อสส.ส่งฟ้องศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไปแล้ว 5 คดี คือ คดีลำดับที่ (4)(5)(6)(9) และ (11)

เป็นคดีที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาสั่งฟ้องของ อสส.2 คดี คือ คดีลำดับที่ (10) และ (12)

เป็นคดีที่อยู่ในระหว่างการทำงานร่วมของ ป.ป.ช.กับ อสส.2 คดี คือคดีลำดับที่ (1) และ (2)

สำหรับคดีที่เหลืออีก 2 คดีลำดับ (7) และ (8) นั้น อยู่ในระหว่างการดำเนินงานของ ป.ป.ช.ที่รับเรื่องการไต่สวนข้อเท็จจริงต่อจาก คตส.ที่ครบกำหนดอายุการทำงานไปเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2551

จากการไต่สวนข้อมูลของ คตส.และการพิพากษาคดีของศาลพบว่า ผู้กระทำความผิดที่เป็น "ตัวการ" และ "ตัวแทน" ในคดีต่างๆ ประกอบด้วย

(1) นักการเมืองที่เป็นข้าราชการฝ่ายการเมืองที่มีตำแหน่งหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดิน และตัวแทนของนักการเมืองที่ไปทำหน้าที่แทน เช่นคณะกรรมการในรัฐวิสาหกิจ คณะกรรมการที่ทำหน้าที่จัดซื้อจัดจ้างหรือผู้จัดทำทีโออาร์หรือตรวจรับมอบงาน ซึ่งเป็นบุคคลที่มาจากการแต่งตั้งของฝ่ายการเมือง

(2) พนักงานของรัฐ (ข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ)

และ (3) บริษัทเอกชนที่เป็นคู่สัญญา จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าทำไมในคดีกล้ายางจึงมีผู้ถูกกล่าวหามากถึง 90 คน

พฤติกรรมการคอร์รัปชั่นและการใช้อำนาจทางการเมืองที่บิดเบือนของ พ.ต.ท.ทักษิณ ประกอบด้วย รูปแบบและวิธีการดังต่อไปนี้คือ

(1) กระทำผิดหรือหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกันจนทำให้รัฐได้รับความเสียหาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป็นการกระทำความผิดต่อ พ.ร.บ.ความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐพ.ศ.2542 พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 ประมวลรัษฎากร และประมวลกฎหมายอาญา

(2) มีการใช้อำนาจทางการเมืองกำหนดนโยบายสาธารณะหรือไปดำเนินการที่เอื้อประโยชน์ให้แก่ตนเอง บริวาร เครือญาติ และพวกพ้อง เช่น กรณีการจัดซื้อที่ดินรัชดาภิเษก การปล่อยเงินกู้ของธนาคาร Exim Bank ให้กับรัฐบาลพม่าแล้วรัฐบาลไปว่าจ้างบริษัทในเครือชินคอร์ปให้เข้าไปรับงาน การปล่อยเงินกู้ของธนาคารกรุงไทยที่กรรมการธนาคารได้ยอมรับต่อ คตส.ว่า มีการสั่งการโดยนักการเมืองให้อนุมัติเงินกู้ให้กับบริษัทในเครือของกฤษดานคร ซึ่งเป็นบริษัทที่อยู่ในบัญชีหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) ที่ธนาคารไม่สามารถจะปล่อยเงินกู้ได้

(3) กรณีการให้เงินกู้แก่รัฐบาลพม่า ของ Exim Bank พบว่าเป็นการอาศัยช่องว่างทางกฎหมายที่ยังไม่มีการกำหนดแนวทางปฏิบัติที่จะกำกับการให้เงินกู้เพื่อการช่วยเหลือแก่ต่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการรับงานของเอกชนไทย

(4) มีกรณีตัวอย่างที่เป็นผลกระทบมาจากการตรวจสอบ ติดตาม และป้องกันการคอร์รัปชั่นของประเทศที่มีกฎหมายที่รัดกุมที่มีต่อไทยคือ กรณี CTX ซึ่งมาจากการเปิดเผยข้อมูลของบริษัท In Vision Technologies Inc. ที่ได้ทำข้อตกลงยอมรับกับกระทรวงยุติธรรม สหรัฐ ว่าได้ส่งเสริมให้บริษัทแพทริออท บิสซิเนส คอนซัลแตนส์ จำกัด เสนอให้หรือสัญญาว่าจะให้เงินแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลไทยและพรรคการเมืองไทย

(5) มีกรณีตัวอย่างที่เป็นเรื่องต่อเนื่องจากการตรวจสอบของ สตง.ที่ได้สรุปประเด็นหรือชี้มูลความผิดไปแล้ว แต่รัฐมนตรีซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการบังคับบัญชาไม่นำพาในการสั่งการ เช่น กรณีของท่อร้อยสายไฟฟ้าใต้ดินสนามบินสุวรรณภูมิ

(6) กรณีของคดีร่ำรวยผิดปกติ เป็นการสะท้อนถึงการแสวงหาผลประโยชน์รูปแบบใหม่อย่างเป็นชุด โดยอิงอยู่กับการกำหนดนโยบายสาธารณะ ธุรกิจการสัมปทาน การจดทะเบียนและการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ ที่นำไปสู่การสร้างมูลค่าของราคาหลักทรัพย์ในธุรกิจ ฯลฯ ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างการใช้อำนาจที่บิดเบือนกับการฝ่าฝืนกฎหมายว่าด้วยการถือครองหุ้นของรัฐมนตรี ฯลฯ

อันเป็นการบ่งชี้ถึงการแสวงหาประโยชน์ส่วนตนโดยตรง

สิ่งที่ทุกฝ่ายควรตระหนักก็คือ วิกฤตของเสถียรภาพทางการเมืองไทยที่แตกออกเป็นสองขั้วในขณะนี้ มีจุดเริ่มต้นมาจากการบิดเบือนการใช้อำนาจทางการเมืองและการคอร์รัปชั่นของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ การรัฐประหารเมื่อ 19 กันยายน 2549 เป็นเพียงความพยายามที่จะเข้าไปควบคุมการคอร์รัปชั่นและการบิดเบือนในอำนาจที่ไม่ชอบของรัฐบาลในขณะนั้น

ทั้งสองกรณีเป็นจุดเริ่มต้นที่ต่างฝ่ายต่างนำไปใช้เป็นข้ออ้างในการเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อสร้างความชอบธรรมทางการเมืองของฝ่ายตน

แท้ที่จริงแล้วทั้งสองกรณีข้างต้นจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากสังคมไทยมีภูมิคุ้มกันด้านธรรมาภิบาลอย่างเพียงพอที่ทำหน้าที่ป้องกัน กำกับ ตรวจสอบการ และถ่วงดุลการใช้อำนาจทางการเมืองของนักการเมือง พรรคการเมือง และการทำงานของเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ตลอดจนบริษัทเอกชนคู่สัญญากับรัฐ ต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งๆ ที่รัฐธรรมนูญปี 2540 ได้เริ่มต้นจัดระบบการบริหารธรรมาภิบาลไว้หลายมิติด้วยกัน เช่น การจัดตั้งองค์กรอิสระ การจัดตั้งศาลปกครอง การปรับปรุงระบบกฎหมายโดยเพิ่มเติมบทบาทของภาคประชาชนเพื่อถ่วงดุลระหว่างภาครัฐกับธุรกิจเอกชน รวมทั้งมีการตื่นตัวของขบวนการต่างๆ ในภาคประชาสังคมอยู่พอสมควรแล้ว

ผลพวงจากเรื่องเหล่านี้จะเห็นผลได้อย่างชัดเจนในภาคการจัดการสิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรม และการจัดการด้านพลังงาน แต่ในการควบคุมคอร์รัปชั่นและการเมืองที่ทุจริตกลับไม่สามารถที่จะเป็นตัวอย่างที่ดีได้และนำไปสู่เงื่อนไขของการเกิดรัฐประหาร

ผู้เขียนเห็นว่าเพื่อเอาชนะปัญหาคอร์รัปชั่นของนักการเมือง เจ้าหน้าที่รัฐ ภาคธุรกิจ สังคมไทยมีความจำเป็นต้องเร่งสร้างและพัฒนากลไกการบริหารจัดการธรรมาภิบาล เพื่อเป็นเครื่องมือในการป้องกันกำกับ ตรวจสอบการ ถ่วงดุลการคอร์รัปชั่น และการใช้อำนาจของนักการเมืองต่อไปอย่างไม่หยุดยั้งรวมทั้งต้องขยายกรอบของการควบคุมคอร์รัปชั่นและการใช้อำนาจโดยมิชอบ ทั้งในตลาดทุน ในการลงทุนต่างประเทศ ในข้อตกลงระหว่างธุรกิจภาคเอกชน และในระหว่างพันธะสัญญาที่มีต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม

ถึงเวลาแล้วที่ทั้งภาครัฐ ธุรกิจ และประชาสังคม จะต้องสร้างความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่นและการบิดเบือนการใช้อำนาจร่วมกันโดยถือเอากรณีของคดีต่างๆ ที่ คตส.ได้ประมวลไว้ เป็นบันไดที่จะสร้างความมีเสถียรภาพที่มั่นคงให้กับสังคมไทยโดยรวมต่อไป รวมทั้งเป็นการต้านรัฐประหารที่หลายฝ่ายไม่พึงประสงค์ ซึ่งเป็นภาคปฏิบัติการในการควบคุมคอร์รัปชั่นและเป็นการพัฒนาธรรมาภิบาลของไทยด้วย


หน้า 5
http://www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01act03260452&sectionid=0130&day=2009-04-26


Rediscover Hotmail®: Now available on your iPhone or BlackBerry Check it out.