วันอาทิตย์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2552

ดงดอกท้อ

 
วันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 4100

ดงดอกท้อ


คอลัมน์ Dejavu

โดย สุมิตรา จันทร์เงา


อากาศต้นเดือนกุมภาพันธ์ของไต้หวันกำลังเย็นสบาย ยังไม่อุ่นนักแต่ก็ไม่หนาวจัด

สำหรับคนขี้ร้อนแค่แจ็กเกตกันลมสักตัวก็เอาอยู่ อุณหภูมิเฉลี่ยน่าจะราวๆ 15-25 องศาเซลเซียส

ช่วงนั้นคนกรุงเทพฯยังสุขสันต์อยู่กับความเย็นยาวนานข้ามปีของลมหนาว

ระหว่างทางมุ่งหน้าลงใต้สู่ทะเลสาบสุริยัน-จันทรา ดอกไม้รายทางสีสันสดใสเริ่มมีให้เห็นเป็นระยะ แสดงว่าฤดูใบไม้ผลิเริ่มต้นขึ้นแล้ว...

บ้านเมืองที่ผู้คนต้องทนทรมานกับความหนาวเย็นจับจิต โดยเฉพาะพวกที่บ้านเรือนจมอยู่ใต้กองหิมะนานหลายเดือนนั้นฤดูใบไม้ผลิคือสัญญาณแห่งความสดใสในรอบปีที่กำลังหวนกลับมาอีกครั้ง

ฤดูใบไม้ผลิจึงมีความหมายเชิงสัญลักษณ์แห่งความหวังอันทรงพลังที่ปรากฏอยู่ในงานศิลปะทุกแขนง ทั้งเสียงเพลง ภาพเขียน บทกวี ภาพยนตร์ ฯลฯ

ในญี่ปุ่นดอกซากุระคือเครื่องหมายประจำฤดูกาลนี้ ส่วนที่จีนแผ่นดินใหญ่และไต้หวันเมื่อได้เห็นดอกท้อคลี่กลีบอ่อนหวานออกรับแดดเจิดจ้าในสายลมอุ่น นั่นแหละฤดูใบไม้ผลิมาถึงแล้ว

ที่สวนสนุกและหมู่บ้านวัฒนธรรมชนเก้าเผ่า ไม่มีใครคาดคิดว่าจะได้เห็นดงดอกท้อสีชมพูหวานบานสะพรั่งอยู่เต็มสวนตลอดแนวถนนที่ตัดผ่านสวนขนาดใหญ่ที่ด้านหนึ่งสร้างขึ้นเป็นสวนสนุกอีกด้านเป็นสวนรุกขชาติแบบสวนฝรั่ง

เดิมที่นี่เป็นเพียงหุบเขาเวิ้งว้าง แต่เมื่อขาดแคลนทรัพยากรท่องเที่ยวรัฐบาลไต้หวันก็ใช้เวลาไม่กี่ปีเนรมิตสวนสวรรค์ฝีมือมนุษย์สร้างที่ตอบสนองความต้องการของคนทุกประเภทมาไว้ด้วยกัน เด็กๆมีเครื่องเล่นแบบสวนสนุกไว้ล่อ ผู้ใหญ่มีหมู่บ้านวัฒนธรรมโชว์การแสดงหลากหลายให้เลือกชม ส่วนคนหนุ่มสาวมีสวนรุกขชาติกว้างใหญ่ให้จูงมือกันไปเดินเล่น โดยเฉพาะในฤดูดอกไม้บานตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม

ดอกท้อ (peach flower) เป็นพันธุ์ไม้พื้นเมืองที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศจีน ชาวจีนจึงถือเป็นไม้มงคลมาแต่โบราณกาล ในเทศกาลสำคัญทั้งงานมงคลและการไหว้เจ้าลูกท้อสีชมพูอมแดงจึงมีบทบาทเป็นผลไม้สำคัญระดับนางเอกของงานเสมอ

เมื่อดอกท้อบานชาวจีนก็จะตื่นเต้นยินดีไม่ต่างจากคนญี่ปุ่นที่ออกจากบ้านไปชื่นชมดอกซากุระกันเป็นมหกรรมแห่งความสนุกสนานรื่นเริงประจำปี เทศกาลชมดอกท้อบานที่ไต้หวันจึงคึกคักไม่แพ้กันเพราะดอกท้อก็ไม่ต่างจากซากุระที่มีช่วงเวลาบานเพียงสั้นๆ ประมาณไม่เกิน 10 วัน และจะค่อยๆ ทยอยบานไม่ตรงกันในแต่ละพื้นที่

โชคดีจริงๆ ที่ได้ไปเห็นดงดอกท้อที่งามไม่แพ้ซากุระเลย

ท้อ เป็นภาษาแต้จิ๋ว ส่วนจีนกลางเรียก เถา ภาษาญี่ปุ่นเรียก โมโมะ มีสามสีคือ ชมพู แดง และขาว แต่ส่วนใหญ่ที่ไต้หวันเรามักจะเห็นกันเป็นสีชมพู ทั้งชมพูอ่อนและชมพูแก่ ลักษณะของดอกท้อจะคล้ายคลึงกับดอกซากุระ คือออกดอกตามกิ่งเหมือนกันแต่ขนาดใหญ่กว่านิดหน่อย มีกลีบดอกกว้างกว่าและเกสรที่ยาวกว่า นอกจากนั้นดอกท้อยังมีกลีบดอกแบบดอกซ้อนขณะที่ดอกซากุระมีกลีบชั้นเดียว

เมื่อถึงเวลาออกดอก ท้อจะทิ้งใบทั้งต้นปล่อยให้ดอกสีชมพูหรือขาวชูช่อพราวไสวอยู่ตามกิ่งก้านสีน้ำตาลเข้ม งามสุดพรรณนา ขนาดของลำต้นมีตั้งแต่สูงเพียงท่วมหัวไปจนถึงลำต้นสูงใหญ่จนต้องแหงนคอตั้งบ่า มองแต่ไกลสีชมพูบนเรือนยอดสองฟากฝั่งโน้มกิ่งเข้าหากันเป็นซุ้มโค้งธรรมชาติราวภาพวาดศิลปินเรืองนาม คนหนุ่มสาวเดินเที่ยวคุยกันกะหนุงกะหนิง หลายคนมาเป็นครอบครัว บ้างก็มาเป็นคู่ บ้างมากับสุนัขตัวโปรด

สูดกลิ่นหอมใหม่ของฤดูกาล

ในญี่ปุ่นดอกท้อถือเป็นดอกไม้ประจำเทศกาลเด็กผู้หญิง เมื่อถึงฤดูดอกท้อบานจะมีการประดับตุ๊กตาฮินะของเด็กผู้หญิงในบ้านแล้วตกแต่งด้วยดอกท้อ ส่วนคนจีนถือว่าการรับประทานลูกท้อหรือซิ่วท้อจะมีโชคลาภ จึงนิยมมอบให้กันเป็นของขวัญในโอกาสสำคัญต่างๆ พวกกวีก็มักจะชอบเปรียบเทียบแก้มสีชมพูเรื่อของหญิงสาวว่างามเหมือนสีดอกท้อ งามอย่างไรนั้นลองดูภาพที่เก็บมาฝากก็แล้วกัน

ตามคติจีนยังมีเรื่องเล่าอีกว่าไม้ท้อถือเป็นไม้ศักดิ์สิทธิ์ บางคนนิยมนำกิ่งท้อไปต้มเป็นน้ำสำหรับอาบในวันขึ้นปีใหม่ ส่วนพวกพ่อมดหมอผีก็ใช้ไม้นี้ปราบหรือบังคับวิญญาณภูติผีให้เชื่อฟังได้ บางคนนำไปทำเป็นเครื่องรางของขลังหรือแขวนที่ประตูบ้านกันผีก็มี (ดูลำต้นสาขาและกิ่งก้านแล้วก็น่าเกรงขามไม่น้อย)

บางตำนานบอกว่าผลท้อสวรรค์ต้องรอเวลายาวนานถึง 3,000 ปีจึงจะสุกครั้งหนึ่ง เมื่อสุกบรรดาเซียนจะมาแย่งกันเก็บไปกินเพื่อให้อายุยืน ผลไม้นี้จึงมีสรรพคุณเป็นยาอายุวัฒนะอีกอย่าง

ในบรรยากาศอันสดชื่นงดงามนั้นการได้เดินเล่นอยู่ในดงดอกท้อแค่ช่วงเวลาสั้นๆ ก็ยืดอายุไปได้อีกหลายปีค่ะ :D (หน้าพิเศษ D-Life)

หน้า 22
http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02dlf21270452&day=2009-04-27&sectionid=0225


Rediscover Hotmail®: Get e-mail storage that grows with you. Check it out.