วันอาทิตย์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

พิพิธภัณฑ์อัญมณีและเครื่องประดับไทย

พิพิธภัณฑ์อัญมณีและเครื่องประดับไทย
คลิสตัล 3 แสนกระรัตที่ใหญ่ที่สุดในโลก

แสงแวบวับแวววาวสะท้อนเข้าตายามต้องไฟ…นั่นคือคุณสมบัติอย่างหนึ่งของอัญมณี ที่ฉันได้เห็นเมื่อได้มีโอกาสเข้าไปเยือนใน "พิพิธภัณฑ์อัญมณีและเครื่องประดับไทย" ในรั้วจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งส่วนใหญ่คนมักไม่ค่อยรู้กันว่าในจุฬานั้นจะมีอัญมณีทรงคุณค่าระดับโลกซุกซ่อนอยู่

งานนี้คุณผู้หญิงหลายๆ ท่านที่ชื่นชอบในแสงสีวาววับของเครื่องประดับเพชรพลอยและอัญมณีต่างๆ ก็ไม่ต้องนึกอิจฉาฉันหรอก เพราะหากมีเวลาก็สามารถไปเที่ยวชมกันได้ โดยพิพิธภัณฑ์แหงนี้ มีแนวคิดที่อยากให้ผู้เข้าชมได้เรียนรู้ตั้งแต่จุดกำเนิดของอัญมณี ไปจนถึงขั้นกลายเป็นเครื่องประดับที่สูงค่าในท้ายที่สุด

ทั้งนี้อัญมณีแต่ละแบบแต่ละประเภทในพิพิธภัณฑ์นี้ล้วนแล้วแต่เป็นอัญมณีแท้ที่ได้มาจากธรรมชาติ โดยจะแบ่งพื้นที่จัดแสดงเป็น 5 ส่วน ด้วยกัน ซึ่งเมื่อเดินทางมาถึง เจ้าหน้าของพิพิธภัณฑ์ก็ไม่พูดพล่ามทำเพลงพาฉันเดินชมในส่วนแรกทันทีนั่นก็คือ ส่วน "การจัดแสดงแบบจำลองการเกิดอัญมณี และเหมืองอัญมณี"

ในส่วนนี้แสดงให้เห็นว่า อัญมณีราคาแพงเหล่านั้นเกิดจากหิน...หินที่ดูด้อยค่าแต่หากได้รับสารประกอบในระดับที่เหมาะสมกับการเกิดอัญมณีเหล่านั้นๆ เป็นเวลาหลายหมื่นหลายแสนหลายล้านปี จนมนุษย์ได้มาค้นพบและนำมาผ่านกระบวนการต่างๆ กระทั่งกลายมาเป็นอัญมณีที่สูงค่าและสวยงาม

การจัดแสดงแบบจำลองการเกิดอัญมณีและเหมืองอัญมณีในส่วนที่หนึ่ง
บริเวณ โต๊ะช่าง
ที่ใช้ในการเจียระไนอัญมณี

ซึ่ง หิน แร่ หรือสารอินทรีย์ ที่จะมาเป็นอัญมณีได้นั้นจะต้องมีความสวยงาม สามารถนำไปใช้ตกแต่งเป็นเครื่องประดับได้ โดยมีคุณสมบัติสำคัญ 3 ประการ คือ ความสวยงาม ความคงทน และหายาก เพราะคุณสมบัติเหล่านี้กระมังที่ทำให้เหล่ามวลอัญมณีทั้งหลายมีราคาแพง

ในอดีตการทำเหมืองพลอยในประเทศไทยเป็นการขุดแร่รายย่อยของชาวบ้านในพื้นที่ต่างๆ โดยใช้วิธีร่อนแร่บริเวณท้องลำธารทั่วไป ต่อมาในปี พ.ศ.2446 ได้มีการขอประทานบัตรสำรวจและทำเหมืองพลอยในเขตพื้นที่จังหวัดจันทบุรี ตราด กาญจนบุรี และแพร่ แล้วมีการเปิดทำเหมืองโดยใช้เครื่องมือและเครื่องจักรขนาดใหญ่ รวมทั้งนำเทคโนโลยีอันทันสมัยมาใช้

ตัวอย่างเครื่องประดับต่างๆ ที่ทำจากทองคำ
ถึงว่าแต่ก่อนฉันเคยได้ยินลุงๆ ป้าๆ แถวบ้านเขาบอกว่า จะออกจากหมู่บ้านไปขุดทองจะได้ร่ำรวยกลับมา แต่จนบัดนี้ฉันก็ยังไม่เห็นว่าจะมีใครรวยเป็นเศรษฐีสักคน เพราะการจะร่ำรวยได้นั้นฉันว่ามันไม่ได้ขึ้นอยู่ที่งานอย่างเดียวมันต้องอาศัยความขยันซื่อสัตย์อดทน และมีความสุขกับงานที่ทำเสียมากกว่า

จากการขุดแร่แล้ว ก็ต้องมาจำแนกลักษณะของเพชรพลอยซึ่งจะใช้ ระบบผลึก สามารถแยกได้เป็น 6 ระบบ คือ ระบบสามแกนเท่า หรือพวกผลึกรูปลูกบาศก์ ลูกเต๋า เช่น เพชร การ์เบต สปิเนล เป็นต้น, ต่อมาคือระบบสองแกนเท่า หรือหน้าตัดผลึกรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส เช่น เพทาย และรูไทล์, ระบบสามแกนราบ เช่น ควอตซ์ และคอรันดัม

ระบบที่สี่คือ ระบบสามแกนต่าง หรือหน้าตัดรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า เช่น โทแพช และแอนสตาไทต์, ระบบหนึ่งแกนเอียง เช่น ยิปซัม และสปอดูมีน, และระบบสุดท้ายคือ ระบบสามแกนเอียง เช่น เทอร์คอยส์ เป็นต้น อ่านดูแล้วอาจจะยังงงงง นึกภาพไม่ออก ฉันขอแนะนำให้ลองมาที่พิพิธภัณฑ์อัญมณีแห่งนี้ดูสักครั้ง นอกจากจะได้เห็นภาพแล้วยังสามารถรายละเอียดเพิ่มเติมกับวิทยากรได้โดยตรงอีกด้วย

จากส่วนแรกฉันเดินต่อมายังส่วนที่สอง คือ "การจัดแสดงตัวอย่างแร่และอัญมณีทุกประเภท" ในส่วนนี้จะจัดแสดงตั้งแต่ผลึกแร่แบบก้อนดิบ และผลึกที่ผ่านการเจียระไนแล้ว ซึ่งการเจียระไนก็จะแบ่งเป็นการเจียรแบบหลังเต่าหรือแบบที่โค้งมน เหมาะกับอัญมณีที่ไม่ค่อยจะบริสุทธิ์หรือมีตำหนิมาก กับการเจียรแบบเหลี่ยมเจียระไน ซึ่งจะมีลักษณะเป็นเหลี่ยมๆ ทำยากกว่าการเจียรหลังเต่า เหมาะสำหรับอัญมณีที่มีความบริสุทธิ์มาก และการทำเหลี่ยมจะทำให้เกิดแสงแพรวพราว ระยิบระยับมากกว่าอีกด้วย

หินที่ได้รับสารประกอบที่เหมาะสมกับการเกิดเป็นอัญมณี
ในการจัดแสดงส่วนที่สองนี้ มีตู้โชว์อัญมณีอยู่ครบทุกประเภท แล้วแต่ละประเภทยังแบ่งชื่อย่อยไปตามแต่ละสีอีกด้วย จนฉันไม่สามารถจำชื่อทั้งหมดได้เพราะมันช่างเยอะเสียเหลือเกิน อัญมณีบางประเภทฉันยังไม่เคยได้ยินชื่อเลยด้วยซ้ำ

ระหว่างที่ชมในส่วนนี้ เจ้าหน้าที่ตั้งคำถามขึ้นมาว่า รู้ไหม อะไรแข็งที่สุดในโลก? ซึ่งแน่นอนคำตอบก็คือเพชร แล้วรู้ไหม อัญมณีอะไรเหนี่ยวที่สุด? ฉันอั้มๆ อึ่งๆ ชั่วครู่แล้วก็ตอบไปว่าใช่เพชรอีกหรือเปล่า เจ้าหน้าที่ส่ายหน้าพร้อมบอกกับฉันว่า หยกเป็นอัญมณีที่เหนียวที่สุด ทนต่อการโดนกระแทกกะเทาะ ส่วนเพชรแข็งที่สุดในโลกนั้นจะทนต่อการขูดขีด

นอกจากนั้นเจ้าหน้าที่ยังแนะให้ฉันฟังถึงวิธีดูอัญมณีแบบง่ายๆ ว่า "หากเป็นเพชรถ้าดูมีสีรุ้งๆ น่าจะเป็นพวกแก้วมากกว่า ถ้าเป็นมุกที่มีผิวเรียบเสมอเท่ากันหมดอาจจะเป็นมุกปลอม วิธีทดสอบมุกจริงง่ายๆ คือ เอามุกไปขูดกับฟัน หากขรุขระเล็กน้อยก็น่าจะเป็นมุกแท้ และหากเป็นพลอยถ้าเอาแว่นขยายไปส่องด้านในดูสวยสดใสไม่มีตำหนิเลย ก็น่าจะเป็นของปลอม เพราะจริงๆ แล้วธรรมชาติของอัญมณีมันจะมีตำหนิอยู่บ้างซึ่งตำหนิเหล่านั้นก็คือรอยของชั้นหินนั้นเอง"

ตู้แสดงอัญมณีประเภทต่างๆ ในส่วนที่สอง
ฉันแอบจำข้อมูลเหล่านี้ไว้แม่น เผื่อวันใดมีโอกาสได้ช่วยเหลือสาวๆ สวยๆ เลือกเครื่องประดับ จะได้ดูมีภูมิกับเขาบ้าง ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะพาฉันเดินชมต่อไปยังส่วนที่สาม คือ "การจัดแสดงการเจียระไนเพชร และการเจียระไนอัญมณี" ซึ่งในส่วนนี้มีโต๊ะเครื่องมือ เครื่องใช้ของช่างในการเจียระไนอัญมณีให้ออกมาเป็นรูปแบบ รูปทรงที่สวยงามต่างๆ ดูจากเครื่องมือเครื่องใช้เหล่านี้ และผลึกอัญมณีที่เห็น ช่างคงต้องใช้ความละเอียดและประณีตมากโขเลยเชียวหละ

ถัดจากส่วนนี้เป็นส่วนที่สี่ คือ "การจัดแสดงตัวอย่างโลหะมีค่า และวิธีการผลิตเครื่องประดับทองคำ แพลทินัม และเงิน" และส่วนสุดท้ายได้แก่ "การจัดแสดงตัวอย่างเพชร อัญมณีสังเคราะห์ และอัญมณีเลียนแบบ" เช่น คลิสตัลของ Swarovski และ Synthetic Cubic Zirconia เป็นต้น นอกจากนี้ในพิพิธภัณฑ์ยังมีตู้จัดแสดงโชว์คลิสตัล หรือแก้วสังเคราะห์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีน้ำหนักมากถึง 62 กิโลกรัม 3 แสนกระรัต 100 เหลี่ยมเจียระไน ซึ่งหากใครอยากเห็นก็ต้องมาลองชมที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้

ในตอนแรกที่มาฉันยังคิดว่า ผู้หญิงนี่ก็แปลก...จะปักใจชอบเพชรชอบพลอยอะไรกันหนักหนา แพงๆ ก็แพง แต่มาตอนนี้ฉันก็ได้รู้ว่า อัญมณีเหล่านี้ช่างดึงดูดใจอย่างไม่น่าเชื่อ ยิ่งได้เรียนรู้เรื่องราวของมันก็ยิ่งทำให้รู้สึกถึงคุณค่าและอยากมีไว้ในครอบครอง ขนาดฉันเป็นผู้ชายยังคิดแบบนี้ นี่ถ้าเป็นผู้หญิงฉันว่าเมื่อได้เข้ามาดูในพิพิธภัณฑ์แล้วคงต้องรีบตรงดิ่งไปหาซื้อหาใส่กันอย่างแน่นอน

หลังจากที่ฉันเดินชมความงามของเหล่าอัญมณีจนเต็มอิ่มแล้ว ติดกับห้องพิพิธภัณฑ์ยังมี "ห้องสมุดอัญมณีและเครื่องประดับ" ให้ฉันได้เพิ่มเติมความรู้ และดูผลงานเครื่องประดับอัญมณีสวยๆ อีกหลากหลายแบบ ทั้งยังมีหนังสือด้านธรณีวิทยาและอัญมณีศาสตร์ โลหะวิทยา การผลิต การออกแบบ การตลาด รายงานการวิจัย และอีกหลากหลายทั้งในและต่างประเทศให้ผู้ที่เข้ามาเยี่ยมชมในพิพิธภัณฑ์หรือผู้ที่สนใจสามารถมาศึกษาเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง

เจ้าหน้าที่แอบบอกทิ้งท้ายว่า ก่อนหน้านี้เพชรได้รับความนิยมมาก แต่ในตอนนี้เพชรกำลังจะหมดความนิยม ในขณะที่พลอยสีกำลังมาแรงแซงโค้ง ยิ่งสีเข้มก็ยิ่งมีราคา ลองหาซื้อเครื่องประดับพลอยสีไปฝากแฟนสักชิ้นซิ แฟนรักตายเลย ฉันยิ้มและแอบรู้สึกโชคดีในใจที่ยังไม่มีแควน




"พิพิธภัณฑ์อัญมณีและเครื่องประดับไทย" สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) อาคารอัญมณี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถ.พญาไท กรุงเทพฯ ผู้ที่สนใจสามารถเข้าชมภายในพิพิธภัณฑ์ได้ทุกวันจันทร์ - ศุกร์ เวลา 09.00-12.00 น. และ 13.00-16.30 น. อัตราค่าเข้าชมต่อคน คนต่างชาติ 100 บาท คนไทย 50 บาท นักเรียน/นักศึกษา 20 บาท พร้อมวิทยากรคอยให้ความรู้ หากมาเป็นหมู่คณะควรโทรแจ้งลวงหน้า หรือสอบถามโทร 0-2218-5470 ต่อ 22
https://www.myfirstbrain.com/AroundTheCity_View.aspx?Id=56816


ที่มาข้อมูล : ผู้จัดการ


Hotmail® has a new way to see what's up with your friends. Check it out.