วันจันทร์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

นิติศาสตร์แนวพุทธ การชี้กรรมของศาล

นิติศาสตร์แนวพุทธ การชี้กรรมของศาล

ในสภาพการณ์ของสังคมไทยที่มีปัญหาข้อขัดแย้งกันมากมาย อีกทั้งยังมีปัญหาภูมิคุ้มกันบกพร่องในเรื่องของคุณธรรม-จริยธรรม ผู้คนจำนวนมากหลงผิดคิดถึงแต่เรื่องอำนาจ ผลประโยชน์ และทรัพย์สินเงินทอง เหมือนเช่นทุกวันนี้ ได้ส่งผลให้มีคดีความขึ้นสู่ศาลเพิ่มขึ้นจำนวนมาก

นับต่อแต่นี้ไป ศาลทุกศาล ไม่ว่าจะเป็นศาลรัฐธรรมนูญ ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง หรือศาลทหาร ก็คงต้องรับภาระหน้าที่อันหนักอึ้งในการที่จะ "ชี้กรรม" ให้กับผู้ถูกกล่าวหาหรือคู่พิพาทต่างๆ

ซึ่งหากศาลสามารถชี้กรรมได้ อย่างถูกต้อง เป็นธรรม ก็จะเป็นที่ยอมรับของคู่ความทุกฝ่ายและประชาชน ปัญหาแต่ละเรื่องก็คงจะยุติหรือเบาบางลงไปเมื่อคดีถึงที่สุด

ในทางตรงกันข้าม หากมีการชี้กรรมผิดพลาด หรือชี้ขาด ชี้เกิน แทนที่ปัญหาจะได้รับการเยียวยาแก้ไข โอกาสที่จะลุกลามบานปลายใหญ่โตย่อมมีอยู่สูง

เกี่ยวกับเรื่อง "กรรม" นั้น ท่านพุทธทาสภิกขุได้เคยแสดงธรรมบรรยายไว้ในชุดที่เรียกว่า "ศึกษาพุทธศาสนาตามวิธีของวิทยาศาสตร์" โดยท่านอธิบายว่า คำว่า กรรม หรือ การกระทำนั้น พระพุทธเจ้าท่านพูด 2 ภาษา คือ ภาษาธรรม กับ ภาษาศีลธรรม

ซึ่งมีนัยยะแห่งความหมายพอสังเขปดังนี้ คือ

1) ภาษาธรรม เป็นภาษาที่พระพุทธเจ้าใช้พูดกับผู้มีปัญหาถึงขั้นที่จะหลุดพ้นได้ คือ พูดอย่างผู้รู้พูดกับผู้รู้ หรือพูดสอนคนไม่รู้ให้กลายเป็นผู้รู้ ซึ่งเป็นการอธิบายตามหลักวิทยาศาสตร์ ตามหลักธรรมชาติโดยแท้

กล่าวคือ กรรมจะมีจุดเริ่มต้นที่ "ผัสสะ" คือ เมื่ออายตนะข้างใน ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กับอายตนะข้างนอก คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์ พบกันเข้า จะทำให้เกิดความรู้สึกที่เรียกว่า วิญญาณทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ตามสภาวธรรมของร่างกายและจิตใจ เปรียบเสมือนการมีเมล็ดพืชอยู่ เมื่อมีแผ่นดิน มีน้ำ มีอากาศ มีสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมก็จะหน่องอกขึ้นมาตามธรรมชาติ

เมื่อมีผัสสะ แล้วก็จะมี "เวทนา" เกิดขึ้น คือ ความรู้สึกเป็นสุข เป็นทุกข์ หรือไม่สุข ไม่ทุกข์ และหลังจากนั้นก็จะมีความอยากไปตามอำนาจของเวทนานั้น ซึ่งก็คือ "กิเลส ตัณหา" นั่นเอง

จากกิเลส ตัณหา ก็จะเกิด "อุปาทาน" คือ ยึดมั่นถือมั่นไปตามความอยาก แล้วจะทำให้เกิดจิตชนิดที่เรียกว่า "ตัวฉัน" หรือ "ตัวกู ของกู" ขึ้นมา ฉันต้องการ ฉันอยากคิด อยากทำ อยากพูด ฯลฯ เกิดตัวฉันที่มีความรู้สึกอยาก เกิดความคิดที่จะสนองความอยาก ความต้องการของตัวเองเรียกว่า "มโนกรรม"

จากนั้นก็อาจมีการแสดงออกด้วยการกระทำเรียกว่า "กายกรรม" และอาจมีการพูดที่เรียกว่า "วจีกรรม"

หลักพระพุทธศาสนาที่แท้จริงนั้น สามารถสรุปได้เพียงคำเดียวคือ "การไม่มีตัวตน" หมายความว่า ความรู้สึกสุข ทุกข์ หรือไม่สุข ที่เรียกว่า เวทนา นั้น มันเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติของสิ่งที่มีร่างกาย มีชีวิต มีจิตใจ มีอะไรให้ปรุงแต่งนึกคิดได้ สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ของคนอื่น ไม่ใช่ของพระเจ้า หรือของใครทั้งสิ้น

การที่จะทำให้ กรรมสิ้นไปนั้น ต้องจัดการกับสิ่งที่เรียกว่า "ตัวตน" ให้ได้ หากไม่เกิดความรู้สึกที่เรียกว่า "ตัวกู ของกู" เมื่อใด จิตนั้นก็จะอยู่เหนือวิสัยที่จะมีกรรมได้

และเมื่อนั้นก็จะสิ้นกรรม บรรลุสุ่นิพพาน เป็นพระอรหันต์ ไม่มีดี ไม่มีชั่ว ไม่มีบาป ไม่มีบุญ ไม่มีดำ ไม่มีขาว ฯลฯ

2) ภาษาศีลธรรมหรือภาษาคน เป็นภาษาที่พระพุทธเจ้าใช้พูดกับปุถุชนคนธรรมดาทั่วไป ที่ยังมีตัวกู ของกูอยู่ เหตุที่ต้องใช้ภาษาศีลธรรมในการเทศนาสั่งสอนก็เพราะ พระพุทธเจ้าเห็นว่าคนในโลกกว่า 99 เปอร์เซ็นต์ ยังไม่อยู่ในสภาวะที่พร้อมจะหลุดพ้น หรือสิ้นกรรมได้ จึงต้องมีระบบสำหรับคนส่วนใหญ่เหล่านี้

พระพุทธเจ้าจึงพูดถึงการมี บุคคล มีสัตว์ มีผู้ทำกรรม มีผู้ได้รับผลกรรม มีดี มีชั่ว และสอนว่า จงพยายามทำแต่ความดี ทำดีให้มาก ทั้งนี้เพื่อว่าจะได้มีศีลธรรมในโลก มนุษย์จะได้อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข อย่างผาสุกตามแบบของชาวโลก

ซึ่ง คำสอนในลักษณะเช่นนี้ จะมีเหมือนกันในทุกศาสนา ไม่ใช่การเรียนรู้ในเรื่องของกรรมตามหลักวิทยาศาสตร์ เป็นกรรมตามความเชื่อของบุคคลที่ยังยึดมั่นถือมั่นในเรื่องของตัวตน ซึ่งเมื่อมีตัวตนก็จะเกิดกิเลส ตัณหา เกิดโลภะ โทสะ โมหะ ของตัวตนนั้นๆ ขึ้นมา

ถ้าความอยากนั้นฉลาดหรือถูกต้อง ก็จะทำให้เกิดการกระทำที่เรียกว่า "ความดี" แต่หากความอยากนั้นเป็นไปในทางไม่ดี ก็จะเกิดการกระทำที่เรียกว่า "ความชั่ว"

จากที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่า แท้จริงแล้วการทำความดีก็คือ การพยายามก้าวเดินไปสู่จุดหมายปลายทางที่เรียกว่า "นิพพาน" นั่นเอง เพราะการกระทำต่างๆ ในความหมายของคำว่า ความดีนั้น ส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่สอนให้คนลดความเป็นตัวตน เป็นตัวกู ของกู ให้น้อยลงทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการให้ทาน การเสียสละ การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ การเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม ฯลฯ

ในทางตรงกัน ข้าม การกระทำต่างๆ ที่เรียกว่า "ความชั่ว" นั้น จะเห็นได้ว่า เป็นสิ่งที่ช่วยทำให้เพิ่มอุปาทานเพิ่มความรู้สึกยึดมั่นถือมั่น เพิ่มความรู้สึกที่เรียกว่าตัวกู ของกู ทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม ในการทำความดีตามแบบของชาวโลกนั้น ต้องพึงระมัดระวังให้ดี หากเข้าใจผิด คิดไปในทิศทางที่ไม่ถูกต้อง โดยมุ่งทำดีเพื่อหวังลาภ ยศ สรรเสริญ ทรัพย์สินเงินทองเป็นสำคัญ หรือแม้กระทั่งมุ่งทำเพื่อส่วนรวม แต่ยึดเอาความคิดเห็นของตนเป็นใหญ่ ไม่ยอมฟังใคร หรือไม่รู้จักคำว่า ปล่อยวาง ในจังหวะ เวลาที่เหมาะสมแล้ว การทำความดีนั้นก็อาจจะแปลกแปร่ง ผิดเพี้ยนไป และอาจจะกลายเป็นคนที่เรียกว่า "ติดดี" หรือ "หลงดี" ไป

ซึ่งในทางภาษาธรรมแล้ว ผลที่ได้ก็คงไม่ต่างไปจากการทำความชั่ว เพราะเป็นเรื่องของการเพิ่มความรู้สึกในตัวตนเหมือนกัน

ครั้งหนึ่งท่านพุทธทาสได้บรรยายให้คณะผู้พิพากษาฟังในหัวข้อเรื่อง "หลักพุทธศาสนาสำหรับผู้พิพากษา"

มีผู้พิพากษาคนหนึ่งถามท่านว่า การที่ผู้พิพากษาตัดสินประหารชีวิตจำเลย ถือว่าเป็นบาปหรือไม่

ท่านตอบว่า ไม่บาป เพราะผู้พิพากษาอยู่ในฐานะ "ผู้ชี้กรรม" เท่านั้น สิ่งที่จำเลยได้รับย่อมเป็นผลจากการกระทำของเขาเอง ผู้ใดทำกรรมอันใดไว้ ดีหรือชั่ว ก็ย่อมเป็นไปตามกรรมนั้น

แต่ถ้าหากผู้พิพากษาชี้ผิด ชี้พลาด ชี้ขาด หรือชี้เกิน ส่วนที่ผิด พลาด ขาด หรือเกินนั้น ก็จะตกเป็นกรรมของผู้พิพากษานั้นเอง

จาก คำตอบของท่านพุทธทาสดังกล่าว ผู้เขียนเห็นว่า น่าจะเป็นการตอบโดยอธิบายคำสอนของพระพุทธเจ้าในแง่ของ "ภาษาศีลธรรม" มากกว่า เพราะท่านพูดในลักษณะที่ยังมีตัวตนของจำเลยและตัวตนของผู้พิพากษาอยู่

หาก เป็นการตอบในทาง "ภาษาธรรม" ก็เข้าใจว่า ท่านน่าจะตอบในทำนองว่า สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการกระทำของจำเลย การพิจารณาพิพากษาคดีของศาล หรือการกระทำของบุคคลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในคดีทั้งหมด ย่อมเป็นไปตามหลัก "ปฏิจจสมุปบาท" คือเพราะสิ่งนี้เป็นปัจจัย สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น

ดังนั้น ไม่ว่าผู้พิพากษาจะตัดสินคดีอย่างไร ย่อมไม่ผิด ไม่มีถูก ไม่มีบุญ ไม่มีบาป ทุกสิ่งทุกอย่างย่อมเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ตามกฎเกณฑ์แห่งธรรมชาติทั้งสิ้น

ในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้พิพากษา หรือตุลาการนั้น แม้จะทำหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต เที่ยงธรรม ปราศจากอคติใดๆ ทั้งปวงก็ตาม แต่โอกาสที่จะชี้กรรมผิดย่อมเกิดขึ้นได้ ด้วยเหตุ ด้วยปัจจัย ด้วยเงื่อนไขต่างๆ มากมาย

ทั้งนี้ จุดที่จะก่อให้เกิดความผิดพลาดมีอยู่ 3 เรื่องใหญ่ๆ คือ การฟังข้อเท็จจริงคลาดเคลื่อน การวินิจฉัยข้อกฎหมายไม่ถูกต้อง และ การใช้ดุลพินิจไม่เหมาะสม

ปัญหาในเรื่องของการฟังข้อเท็จจริงนั้น อาจกล่าวได้ว่า มีความสำคัญมากที่สุด เพราะหากศาลฟังข้อเท็จจริงได้อย่างถูกต้อง ย่อมนำไปสู่การวินิจฉัยข้อกฎหมายและการใช้ดุลพินิจที่ถูกต้องเหมาะสมไปด้วย

แต่หากศาลฟังข้อเท็จจริงคลาดเคลื่อน โอกาสที่การวินิจฉัยข้อกฎหมายจะผิดพลาดหรือการใช้ดุลพินิจไม่เหมาะสมย่อมมีอยู่สูงยิ่ง

ในการค้นหาความจริงนั้น บางครั้ง บางคดี เป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเลย ทั้งนี้ เพราะเหตุว่าสภาพปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมทุกวันนี้ นับวันจะมีแต่ความยุ่งยาก สลับซับซ้อนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในแง่ของ "ตัวปัญหา" ที่มีปัจจัยเงื่อนไขต่างๆ เกี่ยวข้องมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเศรษฐกิจ สังคม การเมือง กระแสโลกาภิวัตน์ ฯลฯ ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา

และในแง่ของ "พยานหลักฐาน" ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งบางเรื่องเป็นข้อมูลทางเทคนิค หรือเทคโนโลยีขั้นสูง ที่ผู้มีความรู้เชี่ยวชาญเท่านั้นจะสามารถทำความเข้าใจได้

หรือแม้แต่พยานพื้นฐานอย่างพยานบุคคลก็มีปัญหาอยู่ไม่น้อย เพราะจิตมนุษย์นั้นไซร้ยากแท้หยั่งถึง

ทุกวันนี้การพูดโกหกในสังคมไทยดูเหมือนจะเป็นเรื่องธรรมดา ที่เราได้ยินได้ฟังกันเป็นประจำจนชินชา

คนที่พูดอย่างทำอย่าง มีตัวอย่างให้เห็นมากมายในสังคม

ประกอบกับที่ผ่านมาเราได้ปล่อยให้ศาลเป็นศาลาโกหกมาอย่างยาวนาน โดยไม่มีมาตรการเชิงรุกใดๆ ที่จะจัดการกับพยานที่เบิกความเท็จเลย ซึ่งเมื่อคนชอบพูดโกหก พบกับนักกฎหมายที่เป็นลูกหลานศรีธนญชัย ท่านผู้อ่านก็คงจะทราบดีว่าอะไรจะเกิดขึ้น คงเป็นเรื่องยากที่ศาลจะได้รับรู้ข้อมูลอย่างครบถ้วน ถูกต้อง ตรงไปตรงมา

นอกจากนั้น ศาลไทยยังคุ้นเคยกับระบบกล่าวหามาอย่างยาวนาน กล่าวคือ ผู้พิพากษาจะวางตัวเป็นกลางอย่างเคร่งครัด ไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวหรือก้าวก่ายการนำพยานหลักฐานเข้าสืบของคู่ความถึงแม้ ขณะนี้การพิจารณาคดีบางประเภทอย่างเช่น คดีที่อยู่ในอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง หรือ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กฎหมายจะบัญญัติให้เน้นการนำระบบไต่สวนมาใช้

แต่ในทางปฏิบัติก็ ดูเหมือนว่า ศาลค่อนข้างที่จะระมัดระวังในการใช้อำนาจอยู่พอสมควรเหตุผลหนึ่ง น่าจะเป็นเพราะว่า หากศาลลงไปยุ่งเกี่ยวกับการนำพยานหลักฐานเข้าสืบมากเกินไป ก็คงเกรงว่าจะถูกกล่าวหาว่า ลำเอียง หรือเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

ผลที่สุดจึงปล่อยให้เป็นเรื่องของคู่ความต่อสู้กันเองเสียเป็นส่วนใหญ่ หลักฐานได้มาเท่าไหร่ ศาลก็วินิจฉัยชี้ขาดไปตามนั้น

จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า การที่ศาลจะสามารถชี้กรรมได้อย่างถูกต้องนั้น นอกจากจะอาศัยความรู้ ความสามารถของผู้พิพากษาแล้ว ยังจะต้องอาศัยทุกคน ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นโจทก์ จำเลย อัยการ ทนายความ พยาน ฯลฯ ในการที่จะช่วยเหลือ สนับสนุน นำข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง ครบถ้วน เสนอต่อศาล ตามบทบาทหน้าที่ของตนเอง

หากบุคคลที่เกี่ยวข้องไม่ได้ความร่วมมือ หรือทำหน้าที่ขาดตกบกพร่อง ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลหรือสาเหตุใดก็ตาม โอกาสที่ศาลจะชี้กรรมผิดพลาดย่อมมีอยู่สูง

ซึ่งในท้ายที่สุด ทุกคนที่เกี่ยวข้องก็คงจะได้รับ "ผลกรรม" จากการกระทำของตนเอง ส่วนจะมาก จะน้อยอย่างไร ในรูปแบบไหน ก็คงแล้วแต่สิ่งที่แต่ละคนได้กระทำลงไป

หากมองในแง่ของ "ภาษาธรรม" ก็หมายถึงว่า โอกาสที่จะทำให้เกิดความรู้สึกในการเป็นตัวกู ของกู ของบุคคล ที่เกี่ยวข้องก็คงจะมีมากขึ้น เนื่องจากผลแห่งคดีที่ไม่ถูกต้องเที่ยงธรรมนั้น ย่อมเป็นธรรมดาที่จะถูกวิพากษ์ วิจารณ์ในทางลบ

และก็แน่นอนว่า บุคคลที่เกี่ยวข้องย่อมเกิดความรู้สึกในความเป็นตัวตนของตนเองไปต่างๆ นานา เป็นต้นว่า ฉันไม่ผิด ฉันไม่พอใจคนวิจารณ์ ฉันรู้สึกผิด ฉันขอโทษ ฉันจะปรับปรุงตัว ฉันไม่แคร์ ฉัน... ฯลฯ โอกาสที่จิตจะได้รับการพัฒนาให้สูงขึ้น มีความสงบมากขึ้น ย่อมลดลงไปด้วย

แต่หากพิจารณาในแง่ของ "ภาษาคนหรือภาษาศีลธรรม" ก็หมายถึงว่า ท่านได้สร้างบาปสร้างกรรมให้กับคู่ความและบุคคลต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งประชาชนคนไทยที่ได้รับความเดือดร้อนจากผลแห่งคดีนั้น

และจะต้องชดใช้กรรมที่ตัวเองได้ก่อขึ้น ตามหลักของ "กฎแห่งกรรม" ไม่ว่าจะเป็นชาตินี้ ชาติหน้า หรือชาติไหนๆ ก็ตาม
ผู้เขียน: 
โดย โสต สุตานันท์


--
Please visit my blog.Thank you so much.
http://www.sanamluang.bloggang.com
http://tham-manamai.blogspot.com
http://lifeanddeath2mcu.blogspot.com
http://www.thaiyogainstitute.com
http://www.thaihof.org
http://www.parent-youth.net
http://www.tzuchithailand.org
http://www.presscouncil.or.th
http://thainetizen.org
http://www.ictforall.org
http://elibrary.nfe.go.th
http://www.pdc.go.th
http://www.biz652.com
http://dbd-52.hi5.com