วันจันทร์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

" ตรอกยาฉุน " ไร้ยา เหลือเพียงแค่ชื่อ

 

ไร้ยา เหลือเพียงแค่ชื่อ

“ ตรอกยาฉุน ”

 

สุดารา สุจฉายา : เรื่อง

เมื่อกรุงเทพฯ เป็นมหานครใหญ่ที่มีพื้นที่กว้างขวาง ถนนหนทาง ตรอกซอกซอยก็มีมากตามไปด้วย ทั้งชื่อเรียกก็แตกต่างและซ้ำซ้อนกัน โดยชื่อส่วนใหญ่มีที่มาจากผู้สั่งตัดถนน กลุ่มชนหรือบุคคลสำคัญที่มีนิวาสถานอยู่ ณ ที่นั้น หรือแม้กระทั่งเป็นแหล่งอาชีพที่ทำกันมากในตรอกซอยนั้น ดังเช่นตรอกเล็ก ๆ แยกขวามือเมื่อลงจากสะพานหัน (เข้าทางพาหุรัด) ที่ปัจจุบันรู้จักกันในนาม “ ตรอกยาฉุน ”

อาเจ่กฮวด ผู้มีอาชีพเกี่ยวข้องกับยาฉุนมาตั้งแต่อายุ ๑๐ กว่าขวบ

“ ตรอกยาฉุนนี่คนไทยเรียก เป็นคนที่อื่นตั้งให้ ส่วนทางราชการแต่เดิมเขาเรียก ถนนริมคลองสะพานหัน บ้าง ริมคลองโอ่งอ่าง บ้าง หรือบ้างก็เรียก ถนนริมคลองขุดใหมส่วนคนจีนเรียกว่า ซิงคุ่ยตั้ง แปลว่า คลองขุดใหม่ คำว่า ซิง แปลว่าใหม่ คุ่ย แปลว่าเปิด ตั้งก็คือ คลอง ไงละ ” สมชัย ฐิติพรรณกุล หรือ อึ้งคิมฮวด เจ้าของร้านจินฮั่วเซ้ง วัย ๗๔ ปี ผู้มีเชื้อสายเก๊กเอี้ยะ คือ เป็นจีนแคะผสมแต้จิ๋ว บอกกล่าวถึงที่มาของชื่อตรอกแห่งนี้

บรรยากาศภายในร้านจินฮั่วเซ้ง ที่เต็มไปด้วยห่อยาฉุน

คลองขุดใหม่ ที่อาเจ่กพูดถึงข้างต้น คือ คลองรอบกรุง ซึ่งสมัยโบราณคลองหรือแม่น้ำสายเดียวกัน จะมีหลายชื่อเรียก เพราะชาวบ้านเรียกชื่อแม่น้ำหรือคลองเป็นตอน ๆ ไปตามที่จุดที่ผ่าน อย่างคลองรอบกรุงนี้ต้นคลองอยู่แถบบางลำพู ก็เรียก คลองบางลำพู เมื่อผ่านสะพานหัน เรียก คลองสะพานหัน ผ่านวัดเชิงเลน (วัดบพิตรภิมุข) เรียก คลองวัดเชิงเลน และช่วงสุดท้ายเรียก คลองโอ่งอ่าง เพราะปลายคลองแต่เดิมเป็นแหล่งขายโอ่ง อ่าง กระถาง และภาชนะต่าง ๆ

อาเจ่กฮวดเล่าให้ฟังว่าเมื่อ ๕๐ กว่าปีที่แล้ว ตรอกนี้ทั้งตรอกเป็นแหล่งค้าขายยาฉุนหรือยาเส้นที่ใหญ่ที่สุดของกรุงเทพฯ มีร้านค้าขายยา ๑๐๐-๑๕๐ เจ้า ส่วนใหญ่เป็นร้านขายส่ง มีทั้งส่งภายในประเทศและต่างประเทศ บางร้านก็แปรรูปมามวนเป็นบุหรี่ด้วย ร้านของอาเจ่กเองก็เป็นร้านขายส่งและปัจจุบันเป็น ๑ ใน ๒ ร้านที่ยังคงดำรงอาชีพสืบเนื่องต่อมาจากก๋งในตรอกแห่งนี้

ปัจจุบันยาฉุนถูกบรรจุใส่ลงถุงพลาสติก แทนการพับใส่เข่งมาขาย

“ ขายกันคึกคักมาก เป็นคนจีนทั้งนั้น...ส่วนใหญ่คนค้าเป็นแต้จิ๋ว ส่วนคนในไร่ยาเป็นพวกจีนแคะทั้งนั้น ผู้ค้ารายใหญ่ในตรอกนี้เป็นพวกแซ่ลิ้ม อย่างร้านง่วนสูนตรามือ ขายพริกไทยนี่ ก็ขายยาฉุนในตรอกนี้มาก่อน ยาฉุนถูกลำเลียงมาจากต่างจังหวัด บรรทุกเรือเอี๊ยมจุ๊นมาเข้าคลองนี้แหละ สมัยก่อนคลองมันใหญ่กว่านี้มาก แล้วมาถมจนเหลือแค่นี้ แรก ๆ ใส่เข่งบรรทุกมาขึ้น หามส่งไปตามร้านต่าง ๆ ร้านที่ส่งนอกก็เอาไปบรรจุลังไม้อีกต่อหนึ่ง ตอนหลังถนนหนทางดีแล้วจึงขนส่งมาทางรถ ”

 

เมืองกาญจน์ ไร่ยา และจีนแคะ

“ ยาฉุนคือยาสูบที่นำใบมาหั่นเป็นยาเส้นนี่แหละ ถ้านำไปบ่มแล้วรสเข้มข้น กลิ่นฉุน ก็เรียกยาฉุน เอาไปย้อมสีให้ออกแดงสวย ก็เรียกยาแดง ส่วนยาจืดเขาไปล้างน้ำให้รสมันจืด ยาฉุนสมัยก่อนทำกันมากที่กาญจนบุรี เป็นไร่ ๆ เลย ส่วนยาจืดปลูกแถวบางช้าง ดำเนินสะดวก ราชบุรีนั่น ” อาเจ่กเปิดฉากอธิบายความแตกต่างของคำต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับยา ซึ่งมีรายละเอียดขั้นตอนการผลิตที่เกี่ยวข้องกับศักพท์ต่าง ๆ อยู่มาก ด้วยอาเจ่กมิได้เป็นแค่ผู้ค้าเท่านั้น แต่ยังเคยเป็นผู้ผลิต ทำไร่ยามาตั้งแต่วัยเยาว์อีกด้วย

เส้นยาฉุนมีลักษณะหยาบกว่ายาจืด และสีเข้มกว่ามาก

อาเจ่กเล่าว่า ก๋งหรือพ่อของตนนั้นมาจากเมืองจีน เมื่อเข้ามาเมืองไทยก็เดินทางไปสมทบกับญาติพี่น้องหรือคนบ้านเดียวกันที่ไปทำไร่ยาสูบอยู่ที่กาญจนบุรี ซึ่งส่วนใหญ่ร้อยละ ๙๐ เป็นจีนแคะ การทำไร่ในอดีตนั้นเป็นการบุกเบิกป่าเข้าไปทำ ด้วยต้นยาต้องอาศัยดินที่อุดมสมบูรณ์และอากาศที่หนาวเย็น เพื่อให้ได้ผลผลิต คือ ใบยาสูบที่งามและรสยาที่ฉุน ไร่ยาจะทำได้ประมาณ ๕ ปี ก็จำเป็นต้องโยกย้ายเปลี่ยนที่ใหม่ เพราะดินจะจืด ให้ใบยาที่ด้อยคุณภาพลง อาเจ่กยืนยันว่าเมืองกาญจน์ คือ แหล่งกำเนิดของไร่ยาสูบในเมืองไทย ก่อนจะแพร่หลายขึ้นไปทางภาคเหนือและภาคอื่น ๆ

“ สมัยก่อนปลูกกันหลายอำเภอ ทั้งอำเภอเมือง ท่าม่วง ท่ามะกา ต่อไปจนถึงบ้านโป่ง ราชบุรี มาระยะหลัง ๓๐ ปีมานี่ถึงขยายไปทางเพชรบูรณ์ หล่มสัก แล้วจึงแพร่หลายทางภาคเหนือ พันธุ์ที่เราปลูกเป็นพันธุ์พื้นเมืองดั้งเดิม เขาเรียกพันธุ์ไทย ส่วนทางหล่มสักเป็นพันธุ์ลูกผสม เรียก พันธุ์อีเหลือง เดี๋ยวนี้เมืองกาญจน์เหลือปลูกแค่ ๕ เปอร์เซ็นต์เอง ทำกันลึกเข้าไปตามชายแดน แถวสังขละโน่น ”

สอดคล้องกับที่หนังสือ สมุดราชบุรี ซึ่งตีพิมพ์ในสมัยรัชกาลที่ ๖ ที่ให้รายละเอียดเกี่ยวกับการทำมาหากินของประชาชนในมณฑลราชบุรี อันประกอบด้วยจังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม ราชบุรี เพชรบุรี กาญจบุรี และประจวบคิรีขันธ์ ได้กล่าวถึงประวัติและการประกอบอาชีพทำยาฉุนไว้ว่า

“ ยาซึ่งสำหรับประชาชนชาวสยามใช้มวนบุหรี่และกินกับหมาก คือ ยาฉุน ทั้งชนิดที่เปนม้วนและเปนตั้งนั้น ย่อมปรากฏชื่อเสียงมาแต่กาลก่อนนานว่า ยาเกาะกร่าง และ ยาปากแพรก เปนชนิดที่ดีมีชื่อเสียงนิยมใช้กันทั่วไป ทั้งนี้เพราะมีจำนวนที่ได้ทำออกจำหน่ายแพร่หลายไปทั่วพระราชอาณาจักร์มาเปนเวลานาน ”

สภาพตรอกยาฉุนในปัจจุบัน เป็นตรอกเล็ก ๆ อาคารส่วนใหญ่เป็นห้องแถวไม้ ระโยงระยางไปด้วยสายไฟ

ในหนังสือยังให้รายละเอียดเพิ่มว่า ยาเกาะกร่างกับยาปากแพรกเป็นชนิดเดียวกัน โดยปลูกที่เกาะกร่าง ริมแม่น้ำแม่กลองก่อน จึงได้ชื่อว่ายาเกาะกร่าง ครั้นต่อมาภายหลังดินมีรสจืดลง จึงเลื่อนมาปลูกที่ตำบลปากแพรก อันเป็นที่ตั้งตัวเมืองกาญจน์ จึงได้ชื่อว่ายาปากแพรก และการปลูกได้ขยายไปยังจังหวัดราชบุรีในท้องที่อำเภอท่ามะกา (ปัจจุบันอยู่ในท้องที่ จ. กาญจนบุรี-ผู้เขียน) บ้านโป่ง ประมาณ ๙,๐๐๐ ไร่ และมีปลูกเล็ก ๆ น้อย ๆ ในจังหวัดเพชรบุรีและประจวบคีรีขันธ์ หากแต่เป็นการเพาะปลูกใช้สอยภายในพื้นที่เท่านั้น อีกทั้งรสยาก็ไม่เป็นที่นิยมของคนทั่วไปด้วย

การเพาะปลูกทำกันเป็นไร่ โดยเข้าไปบุกเบิกพื้นที่ป่า โดยเฉพาะป่าไผ่หรือป่าไม้รวก ดินดีเหมาะสมกับการปลูกต้นยามากกว่าป่าประเภทอื่น ๆ เพราะเป็นดินปนทราย หรือที่เรียกว่าดินทรายขี้เป็ด นิยมถางป่าเตรียมพื้นดินในราวเดือน ๔ (มีนาคม) พอเดือน ๘ เดือน ๙ ฝนตก เริ่มเพาะลูกยาในพื้นที่ที่ไม่ใช่ไร่ซึ่งจะใช้ปลูก ด้วยวิธีการหว่านเมล็ด พอต้นยาขึ้นสูงได้ราว ๓ นิ้ว จึงแยกนำไปปลูกยังอีกแห่งหนึ่ง (ยังไม่ใช่ในไร่) เพื่อไม่ให้ต้นยาเบียดกันตาย การแยกไปปลูกนี้ ชาวไร่เรียก “ แต้มยา ” และก่อนนำไปแต้มต้องเตรียมที่ทาง โดยขุดดินทำเป็นร่องเล็ก ๆ แล้วแต้มห่างราว ๔ นิ้วต่อหนึ่งต้น เด็ดใบเล็ก ๆ ทิ้งให้เหลือต้นละ ๒ ใบ ราวครึ่งเดือนต้นยาจะสูงขึ้นประมาณหนึ่งคืบ จึงพร้อมนำไปปลูกในไร่ได้ วิธีปลูกไม่ต้องยกร่อง แต่ขุดหลุม ๆ ละต้น ห่างราวศอกคืบ เป็นแถวแนว ช่วงเวลาดังกล่าวต้องดูแลให้น้ำและเด็ดใบเล็ก ๆ ออก พ้น ๒๐ วันจึงพรวนดินยกขึ้นเป็นร่องและไม้ต้องเด็ดใบอีก เพียงดูแลป้องกันหนอนและโรคต่าง ๆ ประมาณ ๓ เดือนก็เก็บใบยาได้

ภายในตรอกมีห้องแถวที่สร้างเป็นอาคารตึกแบบจีนอยู่ ๓ ห้องติดกัน สภาพด้านนอกค่อนข้างเก่า

วิธีการเพาะปลูกดูแลต้นยาในหนังสือยังให้รายละเอียดอีกมาก แต่ไม่สามารถนำมากล่าวในที่นี้ได้ทั้งหมด อย่างไรก็ดีสิ่งที่บันทึกไว้เมื่อครั้งรัชกาลที่ ๖ มีหลายอย่างที่ยังทำสืบเนื่องมาจนถึงยุคก๋งและอาเจ่ก

 

ยาตั้ง ยาเต้าหู้ ยาหมอน ยาแดง

ล้วนคือยาฉุน

“ ผมเกิดที่ลูกแก ท่ามะกา พ่อต้องปั่นจักรยานเข้าไปทำงานในไร่ แล้วตอนหลังก็ออกมาทำยาเส้นส่งขาย ก่อนจะย้ายเข้ากรุงเทพฯ มาเปิดร้านในตรอกยาฉุน ทำกิจการร่วมกับเพื่อนที่อยู่สิงคโปร์ ส่งยาขายออกต่างประเทศ ตอนเข้ากรุงเทพฯ ผมอายุ ๑๐ กว่าขวบแล้ว ” อาเจ่กฮวดเล่าถึงบรรยากาศและขั้นตอนการทำยาฉุนเมื่อ ๖๐ กว่าปีก่อน

ลวดลายปูนปั้นตุ๊กตาจีนด้านนอกอาคารของตึกจีน

“ ใบยาบ่ม หั่น เสร็จตั้งแต่ในไร่ ก่อนจะส่งออกมาขายเป็นก้อน ๆ การเก็บใบยานั้นมีการแบ่งคุณภาพใบยาออกเป็นขั้น ๆ ถ้าเป็นใบที่อยู่ชั้นล่างต้น คุณภาพเลว มักไม่เก็บ เพราะไม่คุ้มค่าแรง ใบชั้นล่างนี้เรียก ยาตีนดิน ถัดต่อขึ้นไปข้างบน เรียก ยารองตีนดิน มีคุณภาพขึ้นมาหน่อย แต่ยังไม่ดี จนถัดขึ้นไปอีกเรียก ยาดี และดีที่สุด เรียก ยายอด เป็นใบที่อยู่ยอดต้น คล้ายการเก็บใบชา เมื่อเก็บใบมาแล้ว ขั้นตอนแรกก่อนนำไปหั่น ต้องฉีกก้านกลางใบออก แล้วนำไปบ่มในที่อบอุ่นให้ตายนึ่งสัก ๔-๕ วัน คือ ให้ใบเหลืองแล้วจึงนำออกมาหั่นเป็นเส้นหยาบ ๆ ด้วยมือ โดยใช้เขียงหั่นที่มีช่องสำหรับม้วนใบยาใส่ลงไปเป็นการเฉพาะ หั่นแบบเก่านี้เส้นยาจะไม่ช้ำ ไม่ดำ ต่างจากที่ใช้เครื่องจักรหั่นอย่างปัจจุบัน หลังจากหั่นได้ยาเป็นเส้นแล้วให้นำมาจุงเส้น คือ ใช้มือยกเส้นยาให้แยกแล้วเกลี่ยวางบนแผงจนทั่ว จากนั้นนำแผงไปตากแดดทันที มิฉะนั้นยาจะดำ ตากทิ้งไว้จนเย็น หากยายังไม่แห้งก็ปล่อยทิ้งไว้ให้กินน้ำค้าง พอเช้าตากแดดอีกครั้ง พลิกอีกด้านเพื่อให้แห้งสนิท แต่ถ้าฝนตกต้องรีบเก็บ ไม่เช่นนั้นยาจะเสีย เมื่อยาแห้งดีแล้วนำมาพับทำเป็นก้อนสี่เหลี่ยม มีสองชนิด ชนิดก้อน ๖ ขีด เรียก ยาเต้าหู้ ส่วนยาชนิดก้อน ๘ ขีด มีขนาดยาวกว่าหน่อย เรียก ยาหมอน ความแตกต่างของยาสองชนิดนี้ นอกจากอยู่ที่ขนาด น้ำหนัก แล้ว ก็คือสีและรส ยาหมอนมีสีเหลืองทองเข้มกว่ายาเต้าหู้ และรสยาก็ฉุนกว่า เนื่องจากใช้เวลาการบ่มนานถึง ๕ วัน ส่วนยาเต้าหู้เพียงแค่ ๓ วัน ยาหมอนราคาแพงกว่ายาเต้าหู้ เมื่อ ๖๐-๗๐ ปีก่อนราคายาหมอนก้อนหนึ่ง ๑๕ สตางค์ ส่วนยาเต้าหู้ ๑๐ หรือ ๑๑ สตางค์ แต่ปัจจุบันยาฉุน ไม่ฉุนก็ราคาพอ ๆ กัน ”

โครงเครื่องบนภายในที่ทำด้วยไม้ บางห้องได้บูรณะทาสีใหม่

สำหรับยาเส้นที่เรียกว่า ยาแดง นั้น เกิดจากเมื่อหั่นเป็นเส้นแล้ว เขานำมาย้อมสี เอาสีผสมอาหารที่เป็นผงผสมน้ำ ใส่กระบอกฉีดลงในยาที่ตากบนแผงให้ทั่ว คนไทยไม่นิยมยาย้อมสี แต่มักทำส่งสิงคโปร์และอินโดนีเซีย อาเจ่กย้ำว่ายายิ่งแดงเขายิ่งชอบ ส่วนที่เรียกว่า ยาตั้ง เป็นการแยกยาฉุนมาพับขายเป็นแผ่นสี่เหลี่ยม ขนาดราว ๓ X ๓ นิ้ว แล้วมีปลอกยี่ห้อคาด เรียงขายเป็นตั้ง ๆ เมื่อนำยามาขึ้นที่ตรอกยาฉุน ถ้าเป็นยาคุณภาพดี จะถูกจับอัดใส่ลังส่งต่างประเทศ ลังหนึ่งน้ำหนักราว ๒๐๐ กว่ากิโล แล้วแต่ละร้านก็ตีตรายี่ห้อของตน อาเจ่กว่าร้านหนึ่ง ๆ มีหลายยี่ห้อ เพื่อใช้จำแนกคุณภาพของยา ถ้าเป็นยาคุณภาพไม่ดี ก็นำไปมวนใบตองขาย ซึ่งในตรอกฉุนแต่เดิมทำอยู่หลายร้าน และนิยมจ้างผู้หญิงกับเด็กตัดหัวยา คือ มวนแล้วตัดหัวตัดท้ายใบตอง

ยาตั้งในสมัยปัจจุบัน เมื่อมีพลาสติกจึงนำมาบรรจุเป็นห่อ ๆ มีหลายยี่ห้อ

ปัจจุบันความรุ่งเรืองของอาชีพค้าขายยาฉุนในตรอกแห่งนี้ ได้กลายเป็นอดีตที่แทบจะหาร่องรอยและคนบอกเล่าถึงที่มาของชื่อเกือบไม่ได้ ด้วยสองร้านสุดท้ายในตรอกใกล้เลิกราเต็มที เนื่องจากไร้ผู้สืบทอดอาชีพของบรรพชน

ในจำนวนสองร้านภายในตรอกยาฉุน ร้านหนึ่งวางขายยาจืดด้วย สังเกตเส้นยาจะละเอียดกว่ายาฉุน

“ ลูก ๆ ไม่มีใครเอา ดูไม่เป็นแยกไม่ออก เพราะเขาไม่ได้ฝึก ร่ำเรียนเป็นหมอ เป็นวิศวกร จบกันหมดแล้ว ปีหน้าก็ว่าจะเลิก เพราะตอนนี้เขาไม่นิยมสูบยากันแล้ว ที่ส่งนอกเหลืออยู่ไม่กี่เจ้า จำนวนที่สั่งก็ลดลงเรื่อย ๆ อีกอย่างลูก ๆ เห็นว่าอายุมากแล้ว อยากให้หยุด ” อาเจ่กกล่าวในสิ่งที่ดูเหมือนจะเป็นสัจธรรมของหลายอาชีพดั้งเดิม ที่มีแนวโน้มต้องล้มหายตายจากไปกับกาลเวลาแล้วจริง ๆ

.......................................................

ขอขอบคุณ : คุณสมชัย กวางทองพานิช และคุณศักดา เสถียรนภาพร ที่ช่วยติดต่อประสานงานในการสัมภาษณ์ครั้งนี้

                                                                          http://www.lek-prapai.org/web%20lek-prapai/bangkok/bangkok-trokyachun.htm

--
Please visit my blog.Thank you so much.
http://www.sanamluang.bloggang.com
http://tham-manamai.blogspot.com
http://lifeanddeath2mcu.blogspot.com
http://www.thaiyogainstitute.com
http://www.thaihof.org
http://www.parent-youth.net
http://www.tzuchithailand.org
http://www.presscouncil.or.th
http://www.pdc.go.th
http://thainetizen.org
http://www.ictforall.org
http://www.biz652.com
http://dbd-52.hi5.com