วันศุกร์ที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

รับมือ “ไข้หวัดใหญ่เม็กซิโก”/ศ.นพ.ประเสริฐ เอื้อวรากุล ภาควิชาจุลชีววิทยา

รับมือ "ไข้หวัดใหญ่เม็กซิโก"/ศ.นพ.ประเสริฐ เอื้อวรากุล ภาควิชาจุลชีววิทยา
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 30 เมษายน 2552 07:39 น.
       ช่วงนี้หลายคนอาจตื่นตระหนกกับโรค "ไข้หวัดใหญ่เม็กซิโก" ซึ่งแพร่ระบาดอยู่ในประเทศเม็กซิโกและขยายไปยังประเทศอื่นๆ เพื่อให้เกิดความเข้าใจในเจ้าไวรัสนี้ เรามีความรู้มาฝากครับ
       

       1.โรคไข้หวัดใหญ่เม็กซิโก หรือแต่เดิมเรียกไข้หวัดหมู เป็นไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่จากเชื้อไวรัสชนิด A สายพันธุ์ H1N1 ที่มีสารพันธุกรรมของไวรัสของคน หมู และนกผสมกัน แต่มีความแตกต่างจากไข้หวัดดั้งเดิมที่พบในหมูที่เกิดขึ้นได้ตามฤดูกาล อีกทั้งลักษณะสายพันธุ์ ไม่คล้ายคลึงกับไข้หวัดใหญ่ในคน ไวรัสสายพันธุ์นี้เป็นการกลายพันธุ์ของเชื้อในตัวคน ไม่ใช่จากหมูสู่คน ดังนั้น ภายหลังการประชุมวิชาการหารือเร่งด่วนไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์เม็กซิโก H1N1 ของกรมควบคุมโรคของไทยเมื่อวันที่ 27 เม.ย.จึงให้เรียกชื่อว่า "ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์เม็กซิโก" สาเหตุที่แพร่กระจายอย่างรวดเร็ว เนื่องจากคนไม่มีภูมิต้านทานโรคชนิดนี้ตามธรรมชาติ และวัคซีนสำหรับโรคนี้จะต้องใช้เวลาหลายเดือนในการพัฒนาขึ้นมา
       
       2.การติดต่อจากคนสู่คน ไม่ใช่จากหมูสู่คน ไม่เหมือนไข้หวัดนก เชื้อไข้หวัดใหญ่เม็กซิโก มีการแพร่ติดต่อเช่นเดียวกับโรคไข้หวัดใหญ่ในคนโดยทั่วไป คือ เชื้อนั้นจะอยู่ในเสมหะ น้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย แพร่ไปยังผู้อื่นโดยการไอ หรือจามรดกันในระยะใกล้ชิด หรือติดจากมือและสิ่งของที่มีเชื้อปนเปื้อนอยู่ และเชื้อจะเข้าสู่ร่างกายทางจมูกและตา เช่น การแคะจมูก การขยี้ตา มักพบในคนที่แข็งแรงช่วงอายุ 20-40 ปี ส่วนประชาชนที่บริโภคหมูก็ไม่ต้องกลัว เพราะหากปรุงสุกก็ไม่มีอันตรายอะไร
       
       3.อาการ คล้ายคนเป็นไข้หวัดใหญ่ คือ มีไข้สูง ปวดเมื่อยตามร่างกาย ไอ มีน้ำมูก นอกจากนี้ ในผู้ที่ร่างกายอ่อนแอ เป็นโรคเบาหวาน โรคหัวใจ หากติดเชื้อจะทำให้มีอาการที่รุนแรงขึ้นได้ ขอย้ำเพื่อไม่ให้ตื่นตกใจ ผู้ที่มีอาการไข้หวัดธรรมดา ปวดหัว ไม่ต้องมาพบแพทย์ ยกเว้นรายที่มีไข้สูง ปวดเมื่อยตามร่างกาย ขอให้มาพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษา ซึ่งหากค้นพบผู้ป่วยได้เร็ว แยกโรค แยกผู้ป่วยไม่ให้กระจายเชื้อ โดยสวมหน้ากากอนามัยและให้ยาทามิฟลู หรือโอเซลทามิเวียร์ภายใน 48 ชั่วโมงที่มีไข้ ส่วนใหญ่รอดชีวิต ซึ่งขณะนี้ไทยมียาต้านไวรัส "ทามิฟลู" สำรองไว้ 3 ล้านเม็ด ซึ่งสามารถรักษาคนได้ 3 แสนคน และกรณีฉุกเฉินองค์การเภสัชกรรม สามารถผลิตเพิ่มได้อีกประมาณ 1 ล้านเม็ด
       
       4.ความแตกต่าง ไข้หวัดนกจะกระจายไปทุกระบบของร่างกาย แต่ไข้หวัดใหญ่เม็กซิโกจะไปเฉพาะระบบทางเดินหายใจ จึงทำให้อาการรุนแรงน้อยกว่า อย่างไรก็ตาม ในผู้ป่วยบางรายอาจเกิดปอดอักเสบที่อาจนำไปสู่ระบบหายใจล้มเหลวและทำให้เสียชีวิตได้
       
       5.ความรุนแรงของไข้หวัดใหญ่เม็กซิโก หากเทียบกับไข้หวัดนกนับว่าน้อยกว่า มีเพียง 6% เท่านั้นที่เสียชีวิต แต่ความสามารถแพร่ระบาดขยายวงกว้างได้มากกว่า ขณะที่ผู้ป่วยไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1 ซึ่งเป็นสายพันธุ์รุนแรงที่ทั่วโลกให้ความสำคัญมีผู้เสียชีวิตสูงถึง 65%
       
       6.มาตรการของโลก ขณะนี้องค์การอนามัยโลก ( WHO) ได้ประกาศยกระดับการแพร่ระบาดจากระดับ 3 ซึ่งเป็นการติดต่อจากสัตว์สู่คนและคนสู่คนในวงจำกัด มาเป็นระดับ 4 ที่เป็นการติดต่อจากคนสู่คน และขยายวงกว้างในระดับประเทศ ได้แก่ สหรัฐฯ สเปน แคนาดา ฝรั่งเศส อิสราเอล สวีเดน สหราชอาณาจักร และนิวซีแลนด์ ซึ่งหมายความว่า มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากที่จะเป็นโรคระบาดไปทั่วโลก ทั้งนี้การเพิ่มระดับการเตือนภัยมีความสำคัญเพราะ เป็นการส่งสัญญานถึงรัฐบาลชาติต่างๆ ว่าสมควรเพิ่มการตรวจตรา เตรียมความพร้อมที่จะรับมือ และประเมินอย่างจริงจังเรื่องขั้นตอนต่างๆ ที่จะใช้รับมือหากโรคนี้ระบาดไปทั่วโลก
       
       อย่างไรก็ตาม ไม่อยากให้ประชาชนตื่นตระหนกจนเกินเหตุ แต่ควรรับมือด้วยความระมัดระวัง โดย...ล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่หรือเจลล้างมือ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5หมู่ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ งดสูบบุหรี่ งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และหลีกเลี่ยงการไปในที่ชุมชน หรือสถานที่แออัด
       
       นอกจากส่งผลต่อสุขภาพ ยังส่งผลต่อโลกด้วยครับ
       
       เรียบเรียง: ยุพดี ห่อเนาวรัตน์
http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9520000048167

Windows Live™: Keep your life in sync. Check it out.