วันอาทิตย์ที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

ลูกปัดปริศนา ตรีรัตนะ (3) ร่องรอยสำคัญของการสืบค้นหาสุวรรณภูมิ

วันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11397 มติชนรายวัน


ลูกปัดปริศนา ตรีรัตนะ (3) ร่องรอยสำคัญของการสืบค้นหาสุวรรณภูมิ


คอลัมน์ แกะ(รอย)ลูกปัด

โดย บัญชา พงษ์พานิช plearnstan@gmail.com




มีการพบ "ลูกปัดตุ๊กตาหรือตรีรัตนะทองคำ" อีกสองแบบที่เขาสามแก้ว จังหวัดชุมพร ซึ่งชาวบ้านยังมองไม่หนีไปจาก "ตัวตุ๊กตา" ที่พบทำด้วยเนื้อหิน เพราะคล้ายกันมาก เพียงแต่ทำได้ง่ายกว่า ด้วยการนำลวดทองกลมหรือแบน มาบิดขดเป็นรูปคล้ายตรีรัตนะ ซึ่งหากดูโดยละเอียดจะพบว่าคล้ายกับตัว อักขระพราหมีโบราณ "มะ" ของอินเดียภาคเหนือในสมัยเมื่อประมาณสองพันปีก่อนโน้น

ในหนังสือเล่มเดิม Early Indian Symbols : Numismatic Evidence ว่าด้วยสัญลักษณ์โบราณของอินเดียจากหลักฐานบนเหรียญตราของ Dr.Savita Sharma ตีพิมพ์ที่กรุงเดลีเมื่อปี พ.ศ.2533 ระบุว่าตัวอักขระพราหมี "มะ" นี้ละม้ายมากกับ สัญลักษณ์ทอรีน "Taurine" ที่นิยมใช้ในอินเดียสมัยโบราณ ด้วยรูปลักษณ์คล้ายกับการประสมของพระอาทิตย์กับพระจันทร์ ในทำนอง สุริยันและจันทรา (combination of Sun and Moon) อันหมายถึงความอุดมสมบูรณ์ซึ่งสัมพันธ์กันกับภาพโคนนทิและภูเขาที่มีเสี้ยวเดือนประดับอยู่ ซึ่งหมายถึงเอกองค์พระศิวเทพในศาสนาพราหมณ์โบราณ โดยสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นร่องรอยการเคารพสุริยันและจันทราอันเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในทั่วทั้งโลกในสมัยโบราณ

เธอระบุว่า "พระอาทิตย์" นั้นถือเป็นบุรุษมหาเทพสูงสุดเสมือน "องค์อิศวร" หรือ "อาทิพุทธะ" ในขณะที่ "พระจันทร์" นั้นเสมือนเทพีแห่งสรรพสิ่งในธรรมชาติ "ปรารถนา" "ธรรมะ" และ "สังฆะ" รังสรรค์ซึ่งธาตุทั้งห้าอันรวมถึงมนุษยชาติและจักรวาล



การนำสัญลักษณ์ "สุริยัน-จันทรา" อันไม่ได้แสดงเพียง 2 สิ่งสูงสุดเท่านั้น แต่ยังแสดงถึงการประสานพลังกันของ 2 ด้านเข้าด้วยกันจึงเป็นประเด็นสำคัญ ยิ่งกว่านั้นเธอยังเสนอต่อไปถึง "Taurine Symbol" ซึ่งเป็นภาพของ "หัวพระโคกับเขาคู่" ที่มีพบในอารยธรรมลุ่มน้ำสินธุโบราณสมัยโมเหนโชดาโรนั้นน่าจะหมายถึงปศุปัตินาถหรือมหาแห่งมวลสัตว์ (Pasupati, the lord of beasts) ในศาสนาโบราณ โดยทิ้งท้ายไว้อีกว่าสัญลักษณ์แห่ง "สุริยัน-จันทรา" นี้ยังละม้ายเหมือน สัญลักษณ์แห่งจักรราศีพฤษภ (the Zodiacal sign "Taurus") ของโลกกรีกโบราณที่แทนด้วยภาพศีรษะและเขาคู่ของพระโคเช่นกัน

Dr.Savita Sharma เสนอว่า ชะรอยรูป "สุริยัน-จันทรา" ที่มาละม้ายคล้าย "อักขระ มะ" "Taurine Symbol" และ "the Zodiacal sign Taurus" ของทั้งอารยธรรมโมเหนโชดาโร อินเดียโบราณ และกรีกโบราณ แล้วสานต่อมาเป็นรูป "นนทิบาท" และ "ตรีรัตนะ" นี้ น่าจะอยู่ในสายการวิวัฒน์ของรูปสัญลักษณ์เหล่านี้ร่วมกัน รวมถึงสัญลักษณ์ "ตรีศูล" ของทั้งพระศิวะและวิษณุเทพด้วย

กับยังบอกอีกด้วยว่าไม่เพียงแต่ศาสนาพราหมณ์และพุทธเท่านั้นที่เคยร่วมใช้สัญลักษณ์นี้ ยังมีศาสนาเชนหรือไชนนะ ซึ่งใช้สัญลักษณ์ตรีรัตนะหรือนนทิบาทอย่างแพร่หลาย ด้วยความหมายถึงหลักพื้นฐาน 3 ประการ คือ สังโยคญาณ (การรู้ชอบ-samyaka jnana), สังโยคจริต (การปฏิบัติชอบ-samyaka charitra) และสังโยคทัศนะ (การเห็นชอบ-samyaka darsana) และได้หมายเหตุไว้ว่าในยุคสาญจีและภารหุตนั้น สัญลักษณ์ตรีรัตนะนี้ยังมีความหมายถึงองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วย

ในขณะที่กุมาราสวามี (Coomaraswamy) ชี้ว่าหลังพุทธศตวรรษที่ 9 แวดวงศาสนาพุทธและไชนนะ ได้เลิกใช้สัญลักษณ์นี้ คงมีเหลือใช้แทนองค์ "พระศรีหรือพระลักษมี" ในศาสนาพราหมณ์เท่านั้น

ผมขอสรุปผลการตามรอย "ลูกปัดตรีรัตนะ" ที่ต่อเนื่องมา 3 ตอน เพื่อการช่วยกันแกะหาร่องรอยต่อไปของท่านทั้งหลายดังนี้

-หนึ่ง "ลูกปัดตรีรัตนะ" นี้ มีวิวัฒนาการสืบเนื่องกันมาแต่โบราณของมนุษยชาติ โดยหมายเอาสิ่งเคารพบูชาสูงสุดของมวลมนุษย์ในแต่ละยุคสมัยและบริบทเป็นที่หมาย ตั้งแต่พระอาทิตย์ พระจันทร์ พระโค-พฤษภ จนกระทั่งพระรัตนตรัย-ไตรรัตนะ

-สอง มีการร่วมใช้เครื่องหมายเหล่านี้ร่วมกัน พร้อมทั้งหมุนเวียนเปลี่ยนถ่ายกันไปมา ตามที่คิดเห็นและให้คุณค่า ตั้งแต่ลัทธิพิธีบูชาธรรมชาติจนกระทั่งเทพดึกดำบรรพ์ พระศาสดาและหลักศาสนาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในระหว่าง 3 ศาสนายุคโบราณเมื่อประมาณ 2,000 ปีก่อน คือ พราหมณ์ พุทธ และไชนนะ หรือ เชน โดยมีหลักฐานการใช้อย่างแพร่หลายมากในแวดวงพระพุทธศาสนาเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ 3-6

-สาม มีความเป็นไปได้ว่าลูกปัดตรีรัตนะเหล่านี้ถูกนำเข้ามาในดินแดนภาคใต้ของไทย ซึ่งร่วมสมัยประมาณพุทธศตวรรษที่ 3-5 โดยช่างหรือนักเดินทางจากอินเดียโบราณผู้นับถือเทพหรือศาสนาใดศาสนาหนึ่ง โดยมีความเป็นไปได้มากที่สุดที่จะเป็นศาสนาพุทธ ซึ่งเป็นที่นิยมใช้อย่างแพร่หลายมากในอินเดียขณะนั้น

-สี่ หลักฐานเหล่านี้อาจเป็นร่องรอยสำคัญของการสืบค้นหาสุวรรณภูมิ ที่กล่าวกันว่าพระเจ้าอโศกมหาราชทรงส่งสมณทูตสายที่ 9 มาเผยแผ่พระพุทธศาสนา ในดินแดนเอเชียอาคเนย์ โดยยังไม่เคยมีการพบรอยพระพุทธศาสนาอายุเก่าขนาดนี้ในที่ใดมาก่อน

ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ลูกปัดตรีรัตนะ ทั้งหินและทองคำเหล่านี้ ที่ชาวบ้านมองเห็นเป็น ตุ๊กตา หรือตัวแมงมุม ก็ย่อมไม่ธรรมดา อย่างน้อยก็บอกได้ว่าผู้คนบนแผ่นดินไทยเมื่อ 2,000 ปีก่อนนั้นมีศรัทธาและศาสนาสากลกันแล้ว มิใช่คนป่าคนดงที่ไกลห่างจากอารยธรรมแต่อย่างใด


หน้า 21
http://www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01sun02240552&sectionid=0120&day=2009-05-24

Insert movie times and more without leaving Hotmail®. See how.