วันอาทิตย์ที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

ความเคารพ

วันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11397 มติชนรายวัน


ความเคารพ


คอลัมน์ รื่นร่ม รมเยศ

โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก




ความเคารพมาจากคำว่า ครุ ซึ่งแปลว่า หนัก การเคารพก็คือการทำให้หนัก การทำให้หนักก็คือรู้ว่าเป็นเรื่องสำคัญ ถอดความอีกทีเพื่อให้ "สื่อ" กันเข้าใจสำหรับคนสมัยนี้ก็คือ การตระหนักในความสำคัญของสิ่งนั้น ไม่ดูเบาในสิ่งนั้นเอง

ถอดรหัสถึงสามชั้นจึงจะพอฟังรู้เรื่องว่างั้นเถอะ

พูดถึงความเคารพ คนยังเข้าใจผิดว่า เพียงกิริยากราบๆ ไหว้ๆ หรือคำนับกันตามมารยาทสังคมนั้นคือความเคารพ ความจริงยังมิใช่ เพราะคนที่ยกมือไหว้คนอื่นทางกายภาพที่มองเห็นนั้น ในใจกำลังแช่งชักหักกระดูกคนที่ตนไหว้อยู่ก็ได้ หรือคนที่ยกมือไหว้โจรปลกๆ อยู่นั้น ก็เพราะกลัวโจรมันจะทำร้ายเอา หาใช่เพราะนับถือหรือตระหนักในคุณความดีอะไรไม่

คารวะหรือเคารพจริงๆ เป็นคุณสมบัติทางใจ เป็นความตระหนักถึงความสำคัญด้วยความซาบซึ้ง มีมากมายในพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าทรงยกมา 6 อย่างที่ชาวพุทธจะพึงให้ความสำคัญหรือเคารพ คือ

1.พระพุทธเจ้า ต้องตระหนักในคุณความดีของพระพุทธองค์ว่า พระองค์ทรงมีปัญญารู้แจ้งจริง มีความบริสุทธิ์เพราะความรู้แจ้งจริง และมีพระมหากรุณาเผื่อแผ่แก่สัตว์โลกทั้งหลาย

2.พระธรรม ต้องตระหนักว่าคำสอนของพระองค์นำผู้ปฏิบัติให้พ้นจากความทุกข์ได้จริงๆ

3.พระสงฆ์ ต้องตระหนักว่า พระสงฆ์เป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติเพื่อพ้นทุกข์ ปฏิบัติชอบยิ่ง เป็นเนื้อนาบุญของชาวโลก เป็นผู้สืบต่อพระศาสนา

4.การศึกษา ต้องตระหนักว่าการฝึกฝนอบรมตนให้สมบูรณ์ด้วยศีล สมาธิ ปัญญา เป็นเรื่องสำคัญยิ่ง การศึกษาในทางพุทธมิใช่การเล่าเรียนเท่านั้น หากรวมถึงการปฏิบัติที่เรียนมาด้วย

5.ความไม่ประมาท ต้องตระหนักในการควบคุมสติของตนเอง มิใช่เผอเรอ มีสติกำกับอยู่เสมอไม่ว่าจะกระทำสิ่งใด

6.การต้อนรับแขก ต้องตระหนักว่าผู้มาเยือนไม่ว่าใคร ถือว่าเป็นผู้นำสิริมงคลมาให้ ควรพูดจาปราศรัยต้อนรับด้วยไมตรีจิต

ที่ทรงแสดงไว้ 6 อย่าง ก็ใช่ว่าจะมีเพียงเท่านี้ สิ่งอื่นที่มีความสำคัญก็พึงอนุโลมเข้าในสิ่งที่ควรเคารพเหมือนกัน เช่น เจติยสถานต่างๆ รวมถึงบุคคลที่มีอุปการคุณและเจริญด้วยคุณวุฒิ วัยวุฒิ มีบิดามารดา ครูอาจารย์ พระมหากษัตริย์ เป็นต้น

ความเคารพเป็นเรื่องของความตระหนักซาบซึ้งในใจดังกล่าวมา การแสดงความเคารพเป็นเครื่องแสดงออกให้เห็นว่าในใจเราซาบซึ้งในสิ่งนั้นจริงๆ

การแสดงความเคารพมีทั้งหมด 5 วิธี

1.อัญชลี พนมมือเฉยๆ เช่น เวลาฟังเทศน์

2.นมัสการ หรือวันทา พนมมือไหว้ คือพนมมือแล้วยกขึ้นจดศีรษะ

3.อภิวาท กราบด้วยเบญจางคประดิษฐ์ กราบแบบทิเบตเรียกอัษฎางคประดิษฐ์

4.อุฏฐานะ หรือปัจจุคมนะ ลุกขึ้นยืนแสดงความเคารพ

5.สามีจิกรรม แสดงความนอบน้อมโดยวิธีที่สมควรอื่นๆ เช่น ถอดหมวก ถอดรองเท้า เป็นต้น

คนที่มีความเคารพและแสดงความเคารพถูกต้องต่อบุคคลและสิ่งที่ควรเคารพนับเป็นคนรู้กาลเทศะและน่ารักน่าคบ อยู่ที่ไหนย่อมเจริญแน่นอน

จากที่กล่าวมาว่า คำว่า "เคารพ" มาจากคำว่า "ครุ" ที่แปลว่าหนัก ท่านผู้รู้ท่านหนึ่งทักว่า แปลเอาเองหรือเปล่า ขอเรียนว่ามิได้แปลเอาเองครับ โบราณาจารย์ท่านแปลและอธิบายมาก่อน ผมจำท่านมาว่าอีกทีหนึ่ง ถ้าท่านยังไม่ "สนิทใจ" ลองดูคำอื่นๆ ที่ท่านใช้เกี่ยวกับการแสดงความเคารพก็ได้

มีข้อสังเกตคือ คำบาลีนั้นถ้าเป็น "การแสดงความเคารพ" ท่านใช้คำว่า ครุกาโร แปลตามตัวอักษรว่า "การกระทำให้หนัก" ถ้าเป็นคำกิริยาพูดถึงคนเคารพสิ่งใดสิ่งหนึ่งท่านใช้คำว่า ครุกโรติ (ครุ+กโรติ) แปลตามตัวอักษรว่า "ย่อมกระทำให้หนัก" ถ้าพูดถึงคนที่ควรเคารพ ท่านใช้คำว่า ครุกาตพฺโพ (ครุ+กาตพฺโพ) แปลตามตัวอักษรคือ "ควรทำให้หนัก" หรือครุฏฺฐานีโย (ครุ+ฐานีโย) แปลตามตัวอักษรว่า "ผู้ควรแก่ฐานะที่หนัก" พอมองเห็นนะครับว่าคำว่า "หนัก" เกี่ยวพันกับ "ความเคารพ" อย่างไร เหมือนกับคำว่า อุรโค ที่แปลว่า "สัตว์ไปด้วยอก" หมายถึง งู สุนโข แปลตามตัวอักษรว่า "สัตว์ที่ขุดดินเก่ง" หมายถึง หมา ถ้าไม่ถอดความถึงสองชั้น ก็ไม่มีทางมองเห็นว่า "อก" กับ "งู" "ดิน" กับ "หมา" มันเกี่ยวกันอย่างไร

โอ๊ย! ปวดหัว เข้าเรื่องความเคารพต่อดีกว่า

การแสดงความเคารพ เป็นเครื่องหมายถึง ความเป็นคนที่มีอารยธรรมและวัฒนธรรมอันดีงามอย่างวัฒนธรรมการแสดงความเคารพของไทยเรา คือการไหว้อันอ่อนช้อยสวยงาม ชาติอื่นๆ อาจมีการไหว้กัน เช่น อินเดีย ลังกา แต่ทำไม่ได้อ่อนช้อยงดงามเท่าคนไทยสมัยก่อน

ที่ใช้คำ "สมัยก่อน" ก็เพราะคนไทยสมัยนี้ไหว้แบบไม่เป็นเอาเสียเลย เจ้าเงาะที่ "ประนมมือเมินหน้าท่าแบกขวาน" ยังจะไหว้สวยกว่าคนสมัยนี้ด้วยซ้ำ ที่เป็นเช่นนี้เพราะไปเห่อการ "จับมือ" แบบวัฒนธรรมฝรั่งกันมากขึ้น

ที่น่าขำก็คือ เรารณรงค์ให้เด็กรู้จักไหว้ผู้ใหญ่ แต่ผู้ใหญ่กลับไม่เห็นความสำคัญ งานมอบรางวัลแก่นักเรียนผู้ชนะการประกวดมารยาทไทยครั้งหนึ่ง (หลายปีมาแล้ว) ผู้ใหญ่ที่เป็นประธานมอบรางวัลแก่เด็ก ยื่นมือให้เด็กจับ เด็กยกมือไหว้อย่างนอบน้อม ไม่ยอมจับมือตอบ เห็นแล้วสะใจดี

ถ้าอยากให้เยาวชนในชาติรู้จักสัมมาคารวะ รู้จักกราบ รู้จักไหว้ ผู้ใหญ่ก็ควรปฏิบัติให้เป็นแบบอย่างด้วย ไม่ใช่สักแต่พูดๆ แล้วไม่ทำ

สมัยพุทธกาล เมื่อพระพุทธเจ้าทรงเห็นพระไม่เคารพกันตามอาวุโส พระองค์ทรงต้องการให้สำนึกว่า คนที่เจริญแล้วต้องรู้จักเคารพกัน จึงทรงเล่านิทานให้พวกเธอฟัง

มีสัตว์สามตัว คือ ช้าง ลิง นกกระทา อาศัยอยู่ในป่า แรกๆ ต่างก็ไม่เคารพกัน วันหนึ่งสัตว์ทั้งสามตกลงกันว่าใครเกิดก่อนจะได้รับการเคารพจากสัตว์อื่น แล้วการพิสูจน์อาวุโสก็เกิดขึ้น โดยเอาต้นไทรที่มองเห็นเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า ใครที่เห็นต้นไทรนี้มาตั้งแต่เมื่อใด

ช้างบอกว่า ตั้งแต่ตนยังเป็นลูกช้าง

ลิงบอกว่า ตนก็เห็นมันมาตั้งแต่ยังเป็นลูกลิง

ฝ่ายนกกระทาบอกว่า พวกท่านรู้ไหม แต่ก่อนต้นไทรมิได้อยู่ที่นี่ ฉันกินผลไม้มาจากป่าไกลโพ้นแล้วมาขี้ไว้ตรงนี้ ไทรต้นนี้เกิดจากเมล็ดไทรที่ข้าขี้ไว้ สำแดงว่าฉันแก่กว่าพวกท่าน

ช้างและลิงต่างยกให้นกกระทาเป็นตั้วเฮียตั้งแต่บัดนั้น

สัตว์เดียรัจฉานมันยังรู้จักสัมมาคารวะต่อกัน แล้วคนล่ะจะเรียกว่าผู้เจริญได้อย่างไร ถ้าแม้การกราบการไหว้ยังทำไม่เป็น

หน้า 7
http://www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01bud02240552&sectionid=0121&day=2009-05-24

Hotmail® has a new way to see what's up with your friends. Check it out.