โรคชิคุนกุนยา (Chikungunya) สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคชิคุนกุนยาในจังหวัดพัทลุง รายงานล่าสุดเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2552 พบผู้ป่วยโรคชิคุนกุนยาแล้ว 33 คน โดยสำรวจพบผู้ป่วยครั้งแรกเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2552 กลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยสูงสุด คือระหว่าง 25-34 ปี อาชีพที่พบผู้ป่วยสูงสุด คือกลุ่มเกษตรกร นักเรียน นักศึกษา และอาชีพรับจ้าง อำเภอที่พบผู้ป่วยมากสุด คืออำเภอป่าพะยอม อำเภอกงหรา อำเภอเขาชัยสน และอำเภอเมือง ตามลำดับ โดยผู้ป่วยทั้งหมดได้เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลอำเภอนั้น ผู้ป่วยทุกรายอยู่ในอาการปลอดภัย
อัตราการแพร่ระบาดเพิ่มมากขึ้นหลังมีผู้ป่วยเดินทางกลับจากรับจ้างกรีดยางพาราจากจังหวัดใกล้เคียง เบื้องต้นทางจังหวัดได้เรียกเจ้าหน้าที่สาธารณสุขประชุมด่วน เพื่อรับมือป้องกันโรคดังกล่าวไม่ให้มีการแพร่ระบาดของโรคเพิ่มมากขึ้น โดยเน้นให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ออกติดตามเฝ้าระวังผู้ป่วยในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง และรณรงค์ให้ความรู้กับประชาชน และหากพบผู้ป่วยเพิ่มในพื้นที่ใดให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขเข้าควบคุมโรคทันที กรมควบคุมโรคร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดวางแผนกำลังดำเนินการระดม อสม.ในพื้นที่ที่มีผู้ป่วย กำจัดลูกน้ำยุงลายทั้งในบ้าน และรอบๆ บ้าน ในสวนทุก 7 วัน พ่นหมอกควันเคมีทำลายยุงตัวแก่ทั้งตำบล ติดต่อกันทุกสัปดาห์ และได้แจ้งให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ โดยเฉพาะจังหวัดในพื้นที่ภาคใต้ เฝ้าระวังโรคอย่างใกล้ชิด เนื่องจากอยู่ในช่วงฤดูฝน ทำให้ปริมาณยุงลายมีมากขึ้น และแจ้งโรงพยาบาล สถานีอนามัยทั่วประเทศ สังเกตอาการผู้ป่วยหากพบมีไข้สูง ร่วมกับอาการผื่น และมีอาการปวดข้อต่างๆ ซึ่งเป็นอาการเฉพาะของโรคนี้ ขอให้นึกถึงว่าเป็นโรคชิคุนกุนยา
ลักษณะของโรค
โรคชิคุนกุนยา (Chikungunya) เป็นโรคติดเชื้อไวรัสชิคุนกุนยาที่มียุงลายเป็นพาหะนำโรค มีอาการคล้ายไข้เดงกี แต่ต่างกันที่ไม่มีการรั่วของพลาสมาออกนอกเส้นเลือด จึงไม่พบผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมากจนถึงมีการช็อก
การติดเชื้อไวรัสชิคุนกุนยาเดิมมีรกรากอยู่ในทวีปแอฟริกา ผู้บรรยายลักษณะของโรคชิคุนกุนยาเป็นคนแรก คือ Marion Robinson และ W.H.R. Lumsden ในปี ค.ศ. 1955 ซึ่งก่อนหน้านั้นสามปีเกิดมีการระบาดของโรคในดินแดนที่ราบสูงมากอนดี พรมแดนระหว่างประเทศโมแซมบิก และแทนซาเนียในปัจจุบัน จากนั้นก็พบการระบาดของเชื้อชิคุนกุนยาเป็นครั้งคราวในทวีปแอฟริกา เอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ทวีปแอฟริกา
ในทวีปแอฟริกามีหลายประเทศพบเชื้อไวรัสชิคุนกุนยา โดยมีการแพร่เชื้อ 2 วงจร คือ ชนิดวงจรชนบท คน-ยุง-ลิง ซึ่งมีลิงบาร์บูน เป็นโฮสต์ และอาจทำให้มีผู้ป่วยจากเชื้อนี้ประปราย หรืออาจมีการระบาดเล็กๆ ได้เป็นครั้งคราว เมื่อมีผู้ที่ไม่มีภูมิคุ้มกันเข้าไปในพื้นที่ที่มีเชื้อนี้อยู่ และคนอาจนำมาสู่ชุมชนเมือง โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มียุงลายชุกชุมมาก ทำให้เกิดวงจรในเมือง คน-ยุง จากคนไปคน โดยยุงลายเป็นพาหะ
ทวีปเอเชีย
การแพร่เชื้อชิคุนกุนยาในทวีปเอเชียต่างจากในแอฟริกา การเกิดโรคเป็นชนิดวงจรในเมืองจากคนไปคน โดยมียุงลายเป็นพาหะที่สำคัญ ระบาดวิทยาของโรคมีรูปแบบคล้ายคลึงกับโรคติดเชื้อที่นำโดยยุงลายอื่นๆ ซึ่งอุบัติการของโรคเป็นไปตามการแพร่กระจาย และความชุกชุมของยุงลาย หลังจากที่ตรวจพบครั้งแรกในประเทศไทย ก็มีรายงานจากประเทศต่างๆ ในทวีปเอเชีย ได้แก่ เขมร เวียตนาม พม่า ศรีลังกา อินเดีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์
การระบาดครั้งแรกในประเทศอินเดียเกิดขึ้นที่เมืองกัลกัตตาเมื่อปี ค.ศ. 1963 จากนั้นพบการระบาดเป็นครั้งคราว จนกระทั่งในปี 2005-2006 พบการระบาดใหญ่ที่หมู่เกาะทางตอนใต้ของอินเดีย มีผู้เสียชีวิต 237 ราย และประชากรหนึ่งในสามติดเชื้อไวรัสชิคุนกุนยา ในช่วงเวลาใกล้เคียงกันเมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ. 2006 พบการระบาดของไวรัสชิคุนกุนยาในประเทศปากีสถาน
การระบาดในประเทศสิงคโปร์เกิดขึ้นเมื่อเดือนมกราคม ค.ศ. 2008 รายงานผู้ป่วย 10 ราย ทางการสิงคโปร์ได้ออกมาตราการเฝ้าระวังโรคอย่างใกล้ชิด
ข้อมูลจนถึงเดือนกันยายน ค.ศ. 2008 ในประเทศมาเลเซีย พบผู้ป่วยโรคชิคุนกุนยา 1,975 ราย กว่าครึ่งอาศัยอยู่ในรัฐยะโฮร์ โดยก่อนหน้านั้นพบการระบาดเพียงเล็กน้อยในกี่ครั้ง ส่วนใหญ่เป็นแรงงานที่มาจากประเทศอินเดีย และคนมาลาเซียที่เดินทางไปท่องเที่ยวประเทศอินเดีย
ประเทศไทย
ในประเทศไทยมีการตรวจพบครั้งแรกพร้อมกับที่มีไข้เลือดออกระบาด และเป็นครั้งแรกในทวีปเอเชีย เมื่อปี พ.ศ. 2501 โดยแยกเชื้อไวรัสชิคุนกุนยาได้จากผู้ป่วยโรงพยาบาลเด็ก กรุงเทพมหานคร
โรคชิคุนกุนยาจะพบมากในฤดูฝน เมื่อประชากรยุงเพิ่มขึ้น และมีการติดเชื้อในยุงลายมากขึ้น พบโรคนี้ได้ในทุกกลุ่มอายุ ซึ่งต่างจากไข้เลือดออก และหัดเยอรมันที่ส่วนมากพบในผู้อายุน้อยกว่า 15 ปี
ในประเทศไทยพบมีการระบาดของโรคชิคุนกุนยา 7 ครั้ง ในปี พ.ศ. 2531 ที่จังหวัดสุรินทร์ พ.ศ. 2534 ที่จังหวัดขอนแก่น และปราจีนบุรี ในปี พ.ศ. 2536 มีการระบาด 3 ครั้งที่จังหวัดเลย นครศรีธรรมราช และหนองคาย การแพร่ระบาดของโรคชิคุนกุนยาในปี 2551 พบที่จังหวัดนราธิวาส รายงานผู้ป่วยที่ตำบลละหาร อำเภอยี่งอ ตั้งแต่เดือนกันยายน 2551 ถึงวันที่ 12 ตุลาคม 2551 พบรายงานผู้ป่วยรวมทั้งหมด 170 ราย ใน 2 จังหวัด คือนราธิวาส ใน 3 อำเภอ ได้แก่ ยี่งอ 99 ราย เจาะไอร้อง 9 ราย และ อ.แว้ง 44 ราย และพบที่ อ.ไม้แก่น จ.ปัตตานี จำนวน 18 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต
สำหรับในปีนี้ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคชิคุนกุนยาในจังหวัดพัทลุง รายงานล่าสุดเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2552 พบผู้ป่วยโรคชิคุนกุนยาแล้ว 33 คน โดยสำรวจพบผู้ป่วยครั้งแรกเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2552 กลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยสูงสุดคือระหว่าง 25-34 ปี อาชีพที่พบผู้ป่วยสูงสุดคือกลุ่มเกษตรกร นักเรียน นักศึกษา และอาชีพรับจ้าง อำเภอที่พบผู้ป่วยมากสุดคืออำเภอป่าพะยอม อำเภอกงหรา อำเภอเขาชัยสน และอำเภอเมือง ตามลำดับ โดยผู้ป่วยทั้งหมดได้เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลอำเภอนั้น ผู้ป่วยทุกรายอยู่ในอาการปลอดภัย พบว่าอัตราการแพร่ระบาดเพิ่มมากขึ้นหลังมีผู้ป่วยเดินทางกลับจากรับจ้างกรีดยางพาราจากจังหวัดใกล้เคียง
สาเหตุ
เกิดจากเชื้อไวรัสชิคุนกุนยา ซึ่งเป็น RNA Virus จัดอยู่ใน genus alphavirus และ family Togaviridae ไวรัสชิคุนกุนยามีความใกล้ชิดกับ O'nyong'nyong virus และ Ross River virus ที่พบในประเทศออสเตรเลีย รวมทั้งไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคไข้สมองอักเสบ eastern equine encephalitis และ western equine encephalitis
เชื้อไวรัสชิคุนกุนยาติดต่อกันได้โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรคที่สำคัญ เมื่อยุงลายตัวเมียกัด และดูดเลือดผู้ป่วยที่อยู่ในระยะไข้สูง ซึ่งเป็นระยะที่มีไวรัสอยู่ในกระแสเลือด เชื้อไวรัสจะเข้าสู่กระเพาะยุง และเพิ่มจำนวนมากขึ้น แล้วเดินทางเข้าสู่ต่อมน้ำลาย เมื่อยุงที่มีเชื้อไวรัสชิคุนกุนยาไปกัดคนอื่นก็จะปล่อยเชื้อไปยังคนที่ถูกกัด ทำให้คนนั้นเกิดอาการของโรคได้
ระยะฟักตัวของโรคโดยทั่วไปประมาณ 1-12 วัน แต่ที่พบบ่อยประมาณ 2-3 วัน
ระยะติดต่อเป็นช่วงระยะเวลาที่ผู้ป่วยไข้สูง ประมาณวันที่ 2 – 4 เนื่องจากเป็นระยะที่มีเชื้อไวรัสชิคุนกุนยาอยู่ในกระแสเลือดมากที่สุด
ที่มาของชื่อไวรัส
ชื่อของเชื้อไวรัสชิคุนกุนยามาจากคำในภาษา Makonde ซึ่งเป็นภาษาของชนพื้นเมืองในแอฟริกา อาศัยอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศแทนซาเนีย และทางตอนเหนือของประเทศโมแซมบิก รากศัพท์พื้นเมืองเดิมเรียกว่า kungunvala ซึ่งมีความหมายเป็นภาษาอังกฤษว่า "that which bends up" สอดคล้องกับลักษณะอาการปวดข้อของโรค
อาการของโรค
ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูงอย่างฉับพลัน มีผื่นแดงขึ้นตามร่างกาย และอาจมีอาการคันร่วมด้วย พบตาแดง แต่ไม่ค่อยพบจุดเลือดออกในตาขาว ส่วนใหญ่แล้วในเด็กจะมีอาการไม่รุนแรงเท่าในผู้ใหญ่
ในผู้ใหญ่อาการที่เด่นชัดคืออาการปวดข้อ ซึ่งอาจพบข้ออักเสบได้ ส่วนใหญ่จะเป็นที่ข้อเล็กๆ เช่น ข้อมือ ข้อเท้า
อาการปวดข้อจะพบได้หลายๆ ข้อเปลี่ยนตำแหน่งไปเรื่อยๆ อาการจะรุนแรงมากจนบางครั้งขยับข้อไม่ได้ อาการจะหายภายใน 1-12 สัปดาห์ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปวดข้อเกิดขึ้นได้อีกภายใน 2-3 สัปดาห์ต่อมา และบางรายอาการปวดข้อจะอยู่ได้นานเป็นเดือนหรือเป็นปี
ไม่พบผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงถึงช็อก ซึ่งแตกต่างจากโรคไข้เลือดออก อาจพบ tourniquet test ให้ผลบวก และจุดเลือดออกบริเวณผิวหนังได้
ความแตกต่างระหว่างโรคไข้เลือดออกเดงกีกับโรคชิคุนกุนยา
ในโรคชิคุนกุนยา ผู้ป่วยจะมีไข้สูงเกิดขึ้นอย่างฉับพลันกว่าในโรคไข้เลือดออกเดงกี ผู้ป่วยมักจะมาโรงพยาบาลเร็วกว่า ส่วนระยะของไข้สั้นกว่าในโรคไข้เลือดออกเดงกี ผู้ป่วยที่มีระยะไข้สั้นเพียง 2 วัน พบในโรคชิคุนกุนยาได้บ่อยกว่าในโรคไข้เลือดออกเดงกีโดยส่วนใหญ่ไข้ลงใน 4 วัน ถึงแม้จะพบจุดเลือดได้ที่ผิวหนัง และการทดสอบทูนิเกต์ให้ผลบวกได้ แต่ส่วนใหญ่จะพบจำนวนทั้งที่เกิดเองและจากทดสอบน้อยกว่าในโรคไข้เลือดออกเดงกี
ไม่พบผื่นเลือดออกที่มีลักษณะวงขาวๆในโรคชิคุนกุนยา แต่พบผื่นแบบผื่นแดงนูนราบ และพบอาการตาแดงในโรคชิคุนกุนยาได้บ่อยกว่าในโรคไข้เลือดออกเดงกี
พบอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและปวดข้อในโรคชิคุนกุนยาได้บ่อยกว่าในโรคไข้เลือดออกเดงกี
ในโรคชิคุนกุนยา เนื่องจากไข้สูงฉับพลัน พบการชักร่วมกับไข้สูงได้ถึงร้อยละ 10-15
การวินิจฉัย
มีไข้สูง เกิดผื่น ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระดูกหรือข้อ ปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา เลือดออกตามผิวหนัง
ตรวจนับเม็ดเลือดพบว่ามีจำนวนเม็ดเลือดขาวต่ำ และเกล็ดเลือดปกติ ซึ่งสามารถแยกจากไข้เดงกีได้
ตรวจพบแอนติบอดีจำเพาะต่อเชื้อในเลือดจากการตรวจปฏิกิริยาน้ำเหลืองสองครั้งด้วยวิธี Haemagglutination Inhibition (HI) โดยระดับแอนติบอดีเพิ่มขึ้น 4 เท่า ถ้าตรวจ
เลือดครั้งเดียว ต้องพบระดับแอนติบอดีมากกว่า 1 : 1,280 หรือตรวจพบภูมิคุ้มกันชนิด IgM โดยวิธี ELISA
ตรวจพบเชื้อได้จากเลือด โดยวิธี PCR หรือโดยการแยกเชื้อ
การวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการ
การแยกเชื้อไวรัสจากซีรั่ม เก็บตัวอย่างเลือดโดยเจาะจากเส้นเลือดดำที่แขนประมาณ 5 มิลลิลิตร ใส่ในหลอดที่ปราศจากเชื้อ ทิ้งไว้ที่อุณหภูมิห้องประมาณ 15 – 30 นาที แช่น้ำแข็ง หรือเก็บไว้ในตู้เย็นธรรมดา ห้ามแช่แข็ง นำส่งห้องปฏิบัติการภายใน 24 ชั่วโมง หรือในกรณีที่มีตู้แช่แข็ง -70 องศาเซลเซียส หรือไนโตรเจนเหลว หรือน้ำแข็งแห้ง สามารถแยกซีรัมจากก้อนเลือดที่แข็งตัวเก็บไว้เพื่อนำส่งห้องปฏิบัติการภายหลัง โดยนำส่งในน้ำแข็งแห้ง หรือไนโตรเจนเหลว ภายใน 2 – 3 วัน
การตรวจทางน้ำเหลืองมีการตรวจหลายวิธี เช่น ELISA, Haemagglutination–inhibition test น้ำเหลืองประมาณ 1 – 2 มิลลิลิตร เก็บ 2 ครั้ง ห่างกัน 7-14 วัน ครั้งที่ 1 ในวันที่ผู้ป่วยเข้ารับการรักษา ครั้งที่ 2 ห่างจากครั้งที่ 1 ประมาณ 7-14 วัน เก็บตัวอย่างโดยเจาะเลือดจากหลอดเลือดดำประมาณ 3-5 มิลลิลิตร ใส่หลอดแก้วที่ปลอดเชื้อ ปั่นแยกเฉพาะน้ำเหลืองใส่ในหลอดที่ปลอดเชื้อ ปิดจุก และพันด้วยพาราฟิล์มหรือเทปให้แน่น ปิดฉลากเขียนชื่อนามสกุลผู้ป่วย วันที่เจาะเก็บเลือด และการตรวจทางน้ำเหลืองวิทยาที่ต้องการ จากนั้นเก็บน้ำเหลืองดังกล่าวไว้ที่ 4 องศาเซลเซียส หรือในช่องแช่แข็งของตู้เย็นรอจนได้ตัวอย่างที่ 2 แล้วจึงส่งพร้อมกัน
ข้อแนะนำวิธีการเก็บและการส่งตัวอย่างตรวจโรคไข้ปวดข้อออกผื่นชิคุนกุนยา
เจาะเลือดครั้งที่หนึ่ง ในวันที่ผู้ป่วยเข้ารับการรักษา และเจาะเลือดครั้งที่สอง ห่างจากครั้งแรก 7-14 วัน
วิธีการเก็บน้ำเหลืองจากหลอดเลือดดำ โดยเจาะเลือดจากหลอดเลือดดำประมาณ 3 - 5 มล. ใส่หลอดแก้วที่ปลอดเชื้อปั่นแยกเฉพาะน้ำเหลืองใส่ในหลอดที่ปลอดเชื้อ ปิดจุกและพันด้วยพาราฟิล์มหรือเทปให้แน่น ปิดฉลากเขียนชื่อนามสกุลผู้ป่วย วันที่เจาะเก็บเลือด และระบุการตรวจทางน้ำเหลืองวิทยาที่ต้องการ จากนั้นเก็บน้ำเหลืองดังกล่าวไว้ ในช่องแช่แข็งของตู้เย็นรอจนได้ตัวอย่างที่ 2 แล้วจึงส่งพร้อมกัน
วิธีการเก็บตัวอย่าง โดยใช้กระดาษซับเลือดมาตรฐาน โดยเจาะเลือดจากปลายนิ้วแตะเลือดบนกระดาษซับเลือด หรือถ้าเจาะเลือดเพื่อการอื่นอยู่แล้วก็หยดเลือดลงบนกระดาษให้เลือดซึมจนชุ่มทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ทิ้งไว้ให้แห้งที่อุณหภูมิห้อง กระดาษที่ซับเลือดแล้วอย่าให้ถูกแดด หรือเก็บในที่ร้อน และไม่ควรเก็บไว้นานเกิน 1 เดือน
ข้อจำกัดในการเก็บตัวอย่างด้วยกระดาษซับเลือดมาตรฐาน ได้แก่ กระดาษซับเลือดมีราคาสูง ประมาณแผ่นละ 10 บาท การเก็บกระดาษที่ซับแล้วไว้นานเกินหนึ่งเดือน จะมีผลให้ปริมาณแอนติบอดีลดลง ซึ่งอาจทำให้ผลการตรวจผิดพลาดได้ นอกจากนี้ยังไม่สามารถสกัดเลือดที่ถูกซับในกระดาษออกมาได้ และไม่สามารถตรวจซ้ำได้ในรายงานที่ให้ผลกำกวม เนื่องจากน้ำเหลืองที่สกัดจากระดาษซับเลือดมีปริมาณน้อย
การรักษา
ปัจจุบันยังไม่มีการรักษาที่จำเพาะเจาะจงสำหรับโรคชิคุนกุนยา ส่วนใหญ่เป็นการรักษาตามอาการและประคับประคอง เช่น ยาลดอาการไข้ ปวดข้อ และการพักผ่อน ผลการศึกษาวิจัยในระยะหลังพบว่า ยาคลอโรควิน (chloroquin) ได้ผลดีในการบรรเทาอาการที่เกิดจากโรคชิคุนกุนยา และมีคุณสมบัติต้านไวรัสชิคุนกุนยาได้อีกด้วย งานวิจัยที่มหาวิทยาลัยมาลายา ประเทศมาเลเซีย ใช้ยาคลอโรควินขนาดวันละ 250 มิลลิกรัม พบว่าได้ผลดีมาก เช่นเดียวกับงานวิจัยที่อิตาลีและฝรั่งเศสเมื่อปี 2006 ซึ่งพบว่าการรักษาด้วยยาคลอโรควินได้ผลดีเช่นกัน
การป้องกัน
การป้องกันโรคชิคุนกุนยาที่ดีที่สุดคือ ป้องกันไม่ให้ถูกยุงลายกัด ไม่ว่าจะเป็นการใช้สารไล่ยุง DEET, icaridin, PMD หรือ IR3535 สวมใส่เสื้อผ้าที่ป้องกันไม่ให้ยุงกัด ยาทากันยุงชนิดที่มีส่วนผสมของไพรีธรอยด์ช่วยป้องกันได้พอสมควร หรือฉีดวัคซีน
ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนสำหรับไวรัสชิคุนกุนยาที่มีประสิทธิภาพ การวิจัยเมื่อปี 2000 พบว่าวัคซีนที่ทำการวิจัยไม่ได้ผล พบว่าเชื้อชิคุนกุนยาเกิดภาวะต้านวัคซีนมาถึงร้อยละ 98 ภายหลังได้รับวัคซีน 28 วัน วัคซีนดีเอ็นเอเป็นเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดที่นำมาศึกษาการผลิตวัคซีนสำหรับเชื้อชิคุนกุนยา โดยออกแบบเป็นวัคซีนชนิดผสม ใช้ลำดับสารพันธุกรรมของเปลือกหุ้มตัวไวรัสมาเป็นสารกระตุ้นให้ร่างกายสร้างแอนติบอดี ในเบื้องต้นพบว่าได้ผลดีมากในหนูทดลองทั้งระดับภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้น และสามารถกระตุ้นการทำหน้าที่ของเม็ดเลือดขาวชนิด T-cell ได้เป็นอย่างดี
ที่มา : ศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงเทพ