วันศุกร์ที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

เสียงจากชุมชนถึงผู้นำประเทศ: สัมมนาเอดส์ชาติครั้งที่ 12

เสียงจากชุมชนถึงผู้นำประเทศ: สัมมนาเอดส์ชาติครั้งที่ 12 

หมายเหตุผู้ดำเนินรายการ: วานนี้ (27 พ.ค.) ได้มีการเปิดการประชุมสัมมนาเอดส์ชาติ ครั้งที่ 12 โดย คณะกรรมการองค์การพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ และ 18 เครือข่ายภาคประชาสังคม ณ อิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี โดยมีนายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นประธานกล่าวเปิดงาน ถ้อยแถลงข้างล่างเป็นสาส์นจากชุมชนที่มีต่อนายกรัฐมนตรี โดยมีผู้แทนผู้มีเชื้อเอชไอวีเป็นผู้นำเสนอ

 


เรียน ท่านนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

ดิฉันขอขอบคุณท่านที่ให้โอกาสมารับฟังและมาร่วมงานสัมมนาเอดส์ระดับชาติครั้งนี้

ดิฉัน รัตนา น้อยตา จากเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย ในนามตัวแทนเครือข่ายประชาสังคมที่ทำงานด้านเอดส์ 18 เครือข่าย

จากประสบการณ์และบทเรียนการทำงานของพวกเรา จากอดีตจนถึงปัจจุบัน มีความสำคัญที่เราพบว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนที่รัฐบาลต้องให้ความใส่ใจและความสำคัญ ประเด็นสำคัญคือ รัฐยังอ่อนแอในงานป้องกันเอดส์ เนื่องเพราะหากมองไปยังกลุ่มต่างๆ ในสังคม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคนงาน กลุ่มแรงงานข้ามชาติ กลุ่มเยาวชน กลุ่มผู้หญิงทั่วไป กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มผู้ใช้ยา กลุ่มชาติพันธุ์ ฯลฯ รัฐยังไม่ได้ทำงานป้องกันกับกลุ่มคนเหล่านี้อย่างจริงจัง เราพบว่าหากรัฐจะสร้างสังคมแห่งสุขภาวะได้ ต้องให้ความสำคัญในการป้องกัน

สิ่งที่พบมีตัวอย่างสำคัญมากมาย....

ไม่ว่าจะเป็นการป้องกันในกลุ่มผู้หญิงในคู่ความสัมพันธ์ทั่วไป ซึ่งที่ผ่านมา รัฐมุ่งเน้นทำงานป้องกันในกลุ่มพนักงานบริการ แต่สิ่งที่พบคือ อาชีพไม่ใช่สาเหตุของการแพร่เชื้อ แต่ขึ้นอยู่กับวิถีชีวิตของคน ในเรื่องนี้รัฐต้องมองให้เห็นว่าถุงยางอนามัยไม่ใช่แค่การป้องกันโรคเฉพาะกลุ่ม แต่เป็นเรื่องสุขอนามัย เป็นเรื่องทั่วไปในวิถีชีวิตของคนทุกคน และต้องสร้างความรู้สึกธรรมดาต่อถุงยางอนามัย

ไม่ว่าจะเป็นการจัดสรรงบประมาณสำหรับการป้องกัน ที่ยังไม่ค่อยสอดคล้องกับวิถีชีวิต เช่น ถุงยางอนามัยที่ทั่วถึง เข้าถึงง่าย ถุงอนามัยสำหรับผู้หญิง และ การรณรงค์เข็มสะอาด ยังคงต้องส่งเสริมอย่างต่อเนื่องและดำเนินการอย่างจริงจัง ครอบคลุม มากกว่าเดิม

ไม่ว่าจะเป็นการสอนเรื่องเพศศึกษาในโรงเรียน พบว่า ครูยังมีอคติต่อเรื่องเพศ ยังไม่มีความเข้าใจอย่างลุ่มลึก ในประเด็นเรื่องเพศศึกษา เพราะยังมีอคติทางเพศอยู่ในนั้น ซึ่งเรายังไม่เห็นความจริงใจในระดับนโยบาย ว่าจะเอาความชัดเจนไว้ตรงไหน ใน สพฐ. หรือไม่อย่างไร แม้ว่างานวิจัยที่ระบุว่า "เรียน 16 คาบต่อปีรองรับว่าจะทำให้เด็กมีชีวิตทางเพศที่ปลอดภัยและสุขภาวะ" แต่ยังไม่เห็นรัฐบาลกำหนดเรื่องเพศศึกษา ที่ชัดเจน ในโรงเรียน ที่ต้องไม่ใช่แค่สร้าง "ความเก่ง" แต่ "ความดี" และ "มีสุข" ยังขาดไป

หรือแม้แต่ การตรวจเลือดของเด็กและเยาวชนที่อายุต่ำ 18 ปี กับการส่งเสริมสิทธิทางเพศในการเข้ารับบริการ รัฐเองต้องเชื่อมั่นว่าเป็นสิทธิของเด็กและเยาวชนในการเข้าถึงบริการในการดูแลสุขภาพของตนเอง ซึ่งหากรัฐมีความจริงใจควรติดตามแนวปฏิบัติให้เกิดการสนับสนุนบุคลากรที่เกี่ยวข้องดำเนินการบริการที่ปราศจากอคติ ลดการเลือกปฏิบัติ และมีความจริงใจต่อการดำเนินการอย่างแท้จริง

รวมทั้ง การตรวจเลือดก่อนฝากครรภ์ของหญิงที่มีเชื้อและผู้หญิงทั่วไป ควรได้รับการดูแลที่เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เพราะปัจจุบันยังขาดระบบการดูแล ทั้งก่อนและหลังการตั้งครรภ์ เนื่องเพราะเป็นเรื่องส่งผลให้ผู้หญิงหลายๆ คนมีความประสงค์ที่จะยุติการตั้งครรภ์ ทำให้ผู้หญิงไม่มีทางเลือก ที่จะตัดสินใจชีวิตของตัวเอง

สิ่งที่ได้กล่าวมาทั้งหมดนี้ ล้วนสะท้อนถึงจุดอ่อนทางด้านสังคมที่รัฐยังอ่อนแอและละเลย ต่อการทำงานป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี/ เอดส์ อย่างแท้จริง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ เป็นสิ่งที่ภาคประชาสังคมไทย เฝ้ามองและติดตามมาโดยตลอด และเราขอเรียกร้องให้ท่านในฐานะผู้นำประเทศ แสดงความกล้าหาญ แสดงความเข้มแข็ง แสดงความใส่ใจ ที่จะดำเนินการในเรื่องเอดส์อย่างแท้จริง โดยเฉพาะการส่งเสริมการป้องกัน อย่างเป็นรูปธรรม และเราต้องการสิ่งที่ปฏิบัติได้จริงต่อข้อเรียกร้องของเรา โดยการเริ่มต้นฟื้นฟู กระบวนการมีส่วนร่วมในการทำงานป้องกันและแก้ไขปัญหาร่วมกันระหว่างรัฐและประชาสังคม

อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญไม่น้อยกว่าการป้องกัน นั่นคือ การดูแล รักษาผู้ที่ติดเชื้อซึ่งปัจจุบันมีคนมากกว่า 100,000 คนได้รับการรักษาจากระบบหลักประกันสุขภาพ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยชีวิตหลังการกินยา เป็นเรื่องที่สำคัญมากต่อการส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ต่อเนื่องและทางเลือกในการดำเนินชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการทำงาน การเรียนหนังสือ ความสัมพันธ์ระหว่างคู่ การอยู่ร่วมในชุมชนและสังคม ล้วนเป็นสิ่งที่รัฐต้องมีนโยบายในการส่งเสริมคุณภาพชีวิตหลังจากกินยาต้านอย่างมีเป็นรูปธรรม

ท่านนายกฯ ค่ะ และที่สำคัญไปกว่านั้น ท่านต้องเป็นคนแถวหน้า ที่จะแสดงให้คนทั้งสังคมเห็นว่า เอดส์เริ่มป้องกันได้ด้วยตัวเอง และท่านต้องแสดงให้เห็นว่า พวกเราทุกๆ คน พร้อมจะร่วมสร้างสังคมที่จะอยู่ร่วมกัน ป้องกัน ดูแล รักษาเอดส์

ท่านนายกฯ ค่ะ ไม่ว่าท่านจะมีเชื้อหรือไม่ เราอยู่ร่วมกันได้ และที่สำคัญเราขอให้ท่านมีสุขภาวะทางเพศที่ดี มีสติทุกครั้งที่จะป้องกันตัวเองจากการมีเพศสัมพันธ์ เราอยากให้ท่านปลอดภัย เช่นเดียวกันกับที่พวกเราทุกคนต่างก็ต้องการความปลอดภัยและเป็นสุขทางเพศเหมือนกัน

ด้วยความศรัทธาและเชื่อมั่น

27 พฤษภาคม 2552



คณะกรรมการองค์การพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ และ 18 เครือข่ายภาคประชาสังคม
1.  
คณะทำงานเรื่องผู้หญิงในงานเอดส์
2.  
เครือข่ายเยาวชนด้านเอดส์ ประเทศไทย
3.  
เครือข่ายผู้สูงอายุและหมอเมือง
4.  
เครือข่ายแผนงานสร้างเสริมสุขภาพทางเพศ
5.  
เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย
6.  
เครือข่ายผู้ใช้ยา ประเทศไทย
7.  
เครือข่ายผู้หญิงติดเชื้อ
8.  
เครือข่ายองค์กรศาสนาด้านเอดส์
9.
เครือข่ายชาติพันธุ์
1
0. เครือข่ายแรงงานข้ามชาติ
11.
เครือข่ายสิทธิมนุษยชนกับเอชไอวี/ เอดส์
1
2. เครือข่ายพนักงานบริการ
1
3. เครือข่ายความหลากหลายทางเพศ
1
4. เครือข่ายเพศศึกษารอบด้าน
1
5. เครือข่ายคนทำงานเอดส์ในชุมชน
1
6. เครือข่ายคนทำงานในสถานประกอบการ
1
7. เครือข่ายเอดส์และยาเสพติด
1
8. กลุ่มเพื่อน ""




http://www.prachatai.com/05web/th/home/17008

โดย : ประชาไท   วันที่ : 29/5/2552


Windows Live™: Keep your life in sync. Check it out.