วันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 4108 รวมหัวประกอบการเพื่อสังคม ตอนที่ 1 กรณีศึกษาโครงการ "Product for Life" ช่วยเหลือผู้ติดเชื้อเอดส์ให้พึ่งพาตนเอง
คอลัมน์ คิด Creative Thailand สร้างเศรษฐกิจไทยด้วยความคิดสร้างสรรค์
BY TCDC
ผู้ประกอบการสังคมคือองค์กรธุรกิจรูปแบบใหม่ที่สอดคล้องกับจิตสำนึกทางสังคมของคนในปัจจุบัน องค์กรประเภทนี้แสวงผลกำไรด้วยตนเอง เพื่อนำรายได้นั้นไปดำเนินกิจการภายใน และกระจายผลกำไรไปยังชุมชนที่สนับสนุนช่วยเหลืออยู่ด้วย
มูลนิธิเอดส์แห่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ประกอบการสังคมที่ทำงานร่วมกับบ้านจิตตเมตต์ และ Norwegian Church Aid ให้การสนับสนุนแม่ผู้ติดเชื้อเอดส์และลูกๆ ที่รวมตัวกันทำอาชีพหัตถกรรมเลี้ยงปากท้อง ริเริ่มขึ้นเป็นโครงการ "Product for Life" หรือผลิตภัณฑ์แห่งชีวิต โดยมี TCDC เป็นผู้ให้คำปรึกษาด้านกลยุทธ์
กรณีศึกษาของขั้นตอนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ Product for Life ให้แข่งขันได้ในตลาดและเติบโตได้อย่างยั่งยืน สรุปได้ดังนี้
ด้านการตลาด ทาง TCDC ตั้งคำถามซึ่งเป็นพื้นฐานของธุรกิจไปฝ่ายมูลนิธิ จากนั้นนำคำตอบที่ได้รับไปสานต่อเป็นวัตถุดิบในกระบวนการตลาด อาทิ ผลิตภัณฑ์คืออะไร ใครคือลูกค้า จะทำอย่างไรให้คนรู้จัก จะพัฒนาคุณภาพสินค้าอย่างไร ดีมานด์-ซัพพลายอยู่ตรงไหน นั่นคือโจทย์ที่ คุณสมทอง ศรีสุทธิวงศ์ ที่ปรึกษามูลนิธิเอดส์แห่งประเทศไทย และชุมชนผู้ผลิตสินค้าต่างๆ ต้องไปทำการบ้านมา พร้อมกับหาช่องทางการจำหน่ายสินค้า
กลยุทธ์เบื้องต้น สร้างการรับรู้ถึงกิจกรรม ที่ทางมูลนิธิเอดส์แห่งประเทศไทยกำลังทำอยู่ด้วยการนำสินค้าไปออกงานแฟร์ต่างๆ
กลยุทธ์ระยะยาว สร้างภาพลักษณ์ของมูลนิธิ ออกแบบอัตลักษณ์ของแบรนด์ (brand identity) รวมถึงสร้างแบรนด์ Product for Life ให้ติดตลาด โดย TCDC แนะให้มูลนิธินำจุดแข็งของตัวเองมาพัฒนาเป็นแบรนด์ จากนั้นจึงผลิตสื่อประชาสัมพันธ์เพื่อขยายการรับรู้ของผู้บริโภคและกระตุ้นยอดขาย เช่น โบรชัวร์ แค็ตตาล็อก และเว็บไซต์
ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อสร้างพลังให้กับแบรนด์ ทาง TCDC แนะให้ใช้การออกแบบเข้าพัฒนาภาพลักษณ์เบื้องต้น และหานักออกแบบเข้าช่วยในกระบวนการดังกล่าวด้วย กลยุทธ์เบื้องต้น เนื่องจากมูลนิธิต้องการนำสินค้าไปแสดงในงานวันเอดส์โลก ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2551 ทาง TCDC จึงประสานงานหานักออกแบบและสไตลิสต์คือคุณวิทมน (อาจารย์สอนภาพพิมพ์ วิทยาลัยช่างศิลป์/นักเขียนภาพประกอบ/สไตลิสต์) และคุณเจสัน รันโฮล์ม (ผู้จัดการร้าน KIOSK/สไตลิสต์/นักออกแบบแฟชั่น) เข้าช่วยสร้างจุดขาย โดยจัดสินค้าประเภทต่างๆ จากชุมชน 60 แห่งทั่วประเทศไทย ที่ยังระเกะระกะให้เกิดเป็นชุดตะกร้าของขวัญ (hamper) ที่มีเรื่องราว มีสีสันหน้าตาสวยงาม และเป็นหมวดหมู่ชัดเจนขึ้น ซึ่งเมื่อวางจำหน่ายก็ได้รับความสนใจอย่างมาก
กลยุทธ์ระยะยาว ทางมูลนิธิตัดสินใจสานต่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์กับคุณวิทมน เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ในอนาคตมีทั้งความสวยงามและประโยชน์ใช้สอย ซึ่งจะทำให้ลูกค้าสนใจซื้อสินค้าได้เรื่อยๆ บนหลักของอุปสงค์และอุปทาน ไม่ใช่ซื้อแค่ครั้งเดียวเพราะต้องการช่วยเหลือผู้ติดเชื้อเท่านั้น อย่างไรก็ตาม มูลนิธิได้ตั้งโจทย์ให้นักออกแบบว่าการออกแบบจะต้องไม่เข้าไปเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของชุมชนเดิม
ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.thaiaids.org
หน้า 48 http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02biz04250552&day=2009-05-25§ionid=0214
| | | |
|
check out the rest of the Windows Live™. More than mail–Windows Live™ goes way beyond your inbox.
More than messages