วันเสาร์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

สร้างเต้านมใหม่ โดยใช้เนื้อเยื่อตัวเอง


สร้างเต้านมใหม่ โดยใช้เนื้อเยื่อตัวเอง

วันเสาร์ ที่ 04 กรกฎาคม 2552 เวลา 0:00 น

  
ปัจจุบันความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในการตรวจเต้านมและการส่งเสริมการตรวจเต้านมด้วยตนเอง ทำให้ค้นพบมะเร็งในระยะแรก ๆ ได้มากขึ้น ซึ่งทำให้อัตราการรอดชีวิตสูงขึ้น การผ่าตัดซึ่งเป็นการรักษาหลักได้พัฒนาเปลี่ยนแปลงจากอดีตที่มุ่งเน้นเพียงการรอดชีวิต เป็นการผ่าตัดที่จะคำนึงถึงคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและความสวยงามมากขึ้น
   
สำหรับในผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งเต้านมก็เช่นเดียวกัน ไม่มีความจำเป็นต้องตัดเต้านมออกหมดทุกรายหรือในรายที่จำเป็นต้องผ่าตัดเต้านมออก ก็สามารถทำการผ่าตัดสร้างเสริมเต้านมได้ทันทีในการผ่าตัดนั้น ด้วยการใช้เต้านมเทียมหรือการใช้เนื้อเยื่อของตัวผู้ป่วยเอง ซึ่งเนื้อเยื่อที่นิยมนำมาสร้างเต้านมใหม่ได้แก่ กล้ามเนื้อและชั้นไขมันบริเวณหน้าท้อง และกล้ามเนื้อและไขมันบริเวณที่หลัง
   
วิธีการผ่าตัดแบบ LD flap (Latissimus Dorsi flap) เป็นวิธีที่ใช้ในการผ่าตัดเพื่อสร้างเต้านมใหม่สำหรับผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ต้องทำการผ่าตัดเต้านมออก ซึ่ง วิธีการนี้จะใช้ผิวหนังกล้ามเนื้อ Latissimus Dorsi และไขมันบริเวณหลังมาผ่าตัดตกแต่งเสริมภายหลังการผ่าตัดเลาะเนื้อเต้านมออกทั้งหมด การผ่าตัดใช้กล้ามเนื้อที่หลังเป็นวิธีหนึ่งที่ทำกันมากขึ้นในปัจจุบัน เนื่องจากผู้ป่วยฟื้นฟูสุขภาพได้เร็วกว่าการใช้กล้ามเนื้อหน้าท้อง เป็นวิธีการที่ปลอดภัยมีผลแทรกซ้อนน้อย ระยะการพักรักษาตัวในโรงพยาบาลเทียบเท่ากับการผ่าตัดมะเร็งเต้านมตามปกติคือประมาณ 3 วัน และแม้ว่าการผ่าตัดวิธี LD flap จะดูยุ่งยากเล็กน้อย แต่ก็เพิ่มเวลาในการผ่าตัดไม่มากนัก และเนื่องจากวิธีการนี้ไม่จำเป็นต้องใช้เต้านมเทียมช่วยเสริม แต่ใช้เพียงแผ่นผิวหนังและชั้นไขมันบริเวณหลังรวมไปถึงกล้ามเนื้อ LD ของตัวผู้ป่วยเองทั้งหมด ดังนั้นผลของการผ่าตัดในระยะยาวแล้ว จะได้ลักษณะของเต้านมที่สร้างขึ้นใหม่เหมือนเต้านมจริงมากที่สุด ทั้งในด้านรูปร่างและลักษณะเนื้อเต้านมจากการสัมผัส ทำให้รู้สึกว่ายัง มีเต้านมอยู่เช่นเดิม
   
หลักเกณท์ในการคัดเลือกผู้ป่วยที่จะทำผ่าตัดสร้างเต้านมใหม่ด้วยการใช้กล้ามเนื้อ Latissimus Dorsi ได้แก่
   
1. ผู้ป่วยที่มีเต้านมขนาดเล็กถึงปานกลาง
   
2. ผู้ป่วยที่มีเต้านมหย่อนคล้อย ไม่มาก
   
3. ผู้ป่วยที่ไม่สามารถใช้กล้ามเนื้อหน้าท้องมาตกแต่ง ได้ เนื่องจากมีรอยแผลเป็นบริเวณหน้าท้องมาก่อน
   
4. ใช้ผ่าตัดเสริมเพื่อแก้ไขในผู้ป่วยที่เคยผ่าตัดเสริมเต้านมด้วยวิธีอื่นมาก่อน
   
การเลาะกล้ามเนื้อ LD มีอยู่ 2 วิธี คือ
   
1. Latissimus Dorsi miniflap คือ การเลาะเอากล้ามเนื้อ LD บางส่วนให้เพียงพอปิดส่วนที่เป็นมะเร็งเต้านม หลังทำการผ่าตัด
   
2. The extended LD flap technique เป็นการเลาะเอากล้ามเนื้อ LD มาทั้งหมด รวมทั้งแผ่นผิวหนัง เนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง ชั้นไขมันรอบ ๆ ทำให้ได้เนื้อเยื่อในปริมาณเพียงพอสำหรับทำเต้านมใหม่ หลังจากทำการผ่าตัด
สภาพผู้ป่วยหลังผ่าตัด
   
หลังผ่าตัดผู้ป่วยจะมีแผลผ่าตัดบริเวณเต้านมข้างที่ทำผ่าตัด ซึ่งเป็นแผลเส้นตรงยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร ที่หลังข้างเดียวกับที่ทำผ่าตัดเต้านมออก ซึ่งศัลยแพทย์จะผ่าตัดในแนวบริเวณขอบเสื้อชั้นในเพื่อเน้นความสวยงามของแผล หลังผ่าตัดสามารถใส่เสื้อในปิดรอยแผลผ่าตัดภายหลังแผลหายดีแล้ว และมีท่อระบายน้ำเหลือง 2 สาย จากแผลผ่าตัดเต้านม และแผลผ่าตัดที่หลัง
   
โดยทั่วไปผู้ป่วยที่รักษาในโรงพยาบาลรามาธิบดีส่วนใหญ่จะนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลภายหลังผ่าตัดประมาณ 2 วันและสามารถกลับบ้านพร้อมท่อระบายน้ำเหลือง และมาติดตามการรักษาหลังกลับบ้านได้ประมาณ 1 สัปดาห์ สำหรับท่อระบายน้ำเหลืองจะคาไว้ประมาณ 10-14 วัน จึงสามารถถอดออกได้
   
ส่วนวิธีการผ่าตัดอีกแบบหนึ่งคือ Transverse Rectus Abdominis Musculocutaneous flap หรือ TRAM flap after mastectomy หมายถึงการผ่าตัดตกแต่งหรือเสริมสร้างเนื้อเต้านมขึ้นใหม่โดยใช้กล้ามเนื้อและชั้นไขมันบริเวณหน้าท้องมาผ่าตัดตกแต่งเสริมภายหลังการผ่าตัดเลาะเนื้อเต้านมออก
   
การผ่าตัดโดยใช้กล้ามเนื้อและชั้นไขมันบริเวณหน้าท้องเป็นวิธีหนึ่งที่ทำกันมากในปัจจุบัน เนื่องจากเป็นวิธีการ ที่ปลอดภัยมีผลแทรกซ้อนน้อย และระยะการนอนรักษาตัวประมาณ 3-5 วัน ซึ่งการผ่าตัดวิธีนี้ สามารถเพิ่มคุณภาพชีวิตในผู้ป่วยมะเร็งเต้านม ทั้งในแง่ตัวผู้ป่วยเอง ครอบครัวและสังคม
   
หลักเกณท์ในการคัดเลือกผู้ป่วยที่จะทำผ่าตัดสร้างเต้านมใหม่ด้วยการใช้กล้ามเนื้อ และชั้นไขมันบริเวณหน้าท้อง ได้แก่
   
1. เหมาะสมสำหรับเต้านมทุกขนาด ในผู้ป่วยมะเร็ง เต้านม
   
2. ผู้ป่วยที่มีเต้านมหย่อนคล้อยมาก

สภาพผู้ป่วยหลังผ่าตัด
   
หลังผ่าตัดผู้ป่วยจะมีแผลผ่าตัดบริเวณเต้านมข้างที่ทำการผ่าตัดและแผลผ่าตัดบริเวณหน้าท้องส่วนล่างสุด ซึ่งเป็นแผลเส้นโค้งตามแนวพับของท้องซึ่งศัลยแพทย์จะผ่าตัดในแนวบริเวณหน้าท้องส่วนล่างสุดตามแนวขอบกางเกงใน เพื่อเน้นความสวยงามของแผลหลังผ่าตัด อาการปวดสามารถระงับได้ด้วยยาแก้ปวดชนิดฉีดในวันแรกหลังผ่าตัด หลังจากนั้นสามารถระงับด้วยยาแก้ปวดชนิดรับประทาน หลังผ่าตัดไม่เกิน 24-48 ชั่วโมงผู้ป่วยส่วนใหญ่สามารถลุกนั่งบนเตียงและลุกเดินได้ โดยทั่วไปผู้ป่วยจะนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลภายหลังผ่าตัดประมาณ 3-5 วันและสามารถกลับบ้านได้ แต่ยังคงต้องใส่ท่อระบายน้ำเหลือง และต้องมาติดตามการรักษาหลังกลับบ้านได้ประมาณ 1 สัปดาห์
   
เมื่อติดตามผลของการผ่าตัดในระยะยาวแล้ว จะได้ลักษณะของเต้านมที่สร้างขึ้นใหม่ เหมือนเต้านมจริงมากที่สุด ทั้งในด้านรูปร่างและลักษณะเนื้อเต้านมจากการสัมผัส สร้างความพึงพอใจ และความรู้สึกว่ายังมีเต้านมอยู่เช่นเดิมได้เป็นอย่างดี
   
การเสริมสร้างเต้านมขึ้นมาใหม่ โดยใช้เนื้อเยื่อหรือผิวหนังของตัวเอง นอกจากจะเป็นการลดค่าใช้จ่ายแล้ว ยังช่วยให้ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ต้องทำการผ่าตัดเต้านมออกไป มีความมั่นใจในการใช้ชีวิตประจำวันมากขึ้น อีกทั้งยังช่วยลดปัญหาการผ่าตัดเต้านมหลาย ๆ ครั้งได้มากทีเดียว
   
ดังนั้น ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ต้องทำการผ่าตัดก้อนเต้านมออก และต้องการเสริมสร้างเต้านมใหม่ วิธีการดังกล่าวนี้ จะเป็นอีกหนึ่งวิธีการที่จะช่วยผู้ป่วยได้มาก แต่ต้องไม่ลืมปรึกษาศัลยแพทย์ก่อนถึงผลดีผลเสียของวิธีการแต่ละวิธี.

นพ.ประกาศิต จิรัปปภา
ภาควิชาศัลยศาสตร์ แผนกศัลยกรรมต่อมไร้ท่อและเต้านม
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryID=493&contentID=6377

 




Insert movie times and more without leaving Hotmail®. See how.