วันจันทร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2552

แบบนี้ก็มีจริง ๆ ด้วย !! 'อาการหลงผิด

' ป่วยจิตชนิด 'ไม่รู้ตัว'

หลายวันก่อนหน้านี้ซึ่งเกิดกรณีขัดแย้งในครอบครัวของอดีตนักร้องดังบางคน โดยมีการดำเนินการทางกฎหมาย มีการท้าพิสูจน์กันและกัน โดยการ "ตรวจสุขภาพจิต" นั้น กับกรณีของครอบครัวดังกล่าวนี้ ณ ที่นี้จะไม่ขอก้าวล่วง อย่างไรก็ตาม กับบางแง่มุม กับมุมของสาธารณสุขด้านสุขภาพจิต ก็มีประเด็นที่น่าคิด...
   
"โรคจิต-โรคทางจิต" โรคนี้มีหลายกลุ่มอาการ
   
และบางกลุ่มอาการถ้าดูผิวเผินจะดูไม่ออก ?!?
   
ทั้งนี้ ว่ากันในเชิงวิชาการแพทย์ กับเรื่องของโรคจิตในภาพรวมทั่วไป มิใช่การเฉพาะเจาะจงไปที่กรณีใดกรณีหนึ่ง นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักสุขภาพจิตสังคม กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุขให้ความรู้ความเข้าใจผ่าน "สกู๊ปหน้า 1 เดลินิวส์" ว่า... เรื่องของ โรคจิต (Psychosis) นั้นถือเป็นโรคที่คนกลัวกันมาก ซึ่งสาเหตุของการเจ็บป่วยสามารถ เกิดได้ทั้งจากความผิดปกติทางร่างกาย ความผิดปกติของจิตใจ ความกดดันจากสิ่งแวดล้อม และโรคจิตก็เป็นโรคที่ผู้ป่วยไม่ค่อยยอมรับว่าตัวเองป่วย
   
"ผู้ป่วยมักจะมีอาการเสียการรับรู้ต่อสภาพความเป็นจริง ทำให้มีความเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรมและบุคลิกภาพ บางครั้งรุนแรงจนไม่สามารถดำเนินชีวิตอย่างปกติเหมือนคนธรรมดาได้"
   
นพ.ทวีศิลป์ บอกต่อไปว่า... สำหรับการตรวจหาอาการทางจิตนั้น โดยหลักการแพทย์ผู้ทำการตรวจและรักษาจะพิจารณาลักษณะอาการของผู้ป่วยจากหลักการ 3 ข้อเบื้องต้นคือ... 1.ผู้ป่วยมีบุคลิกภาพเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมหรือไม่ ?, 2.ผู้ป่วยมีการรับรู้ที่ผิดปกติไปจากเดิมหรือไม่ ? และ 3.ผู้ป่วยไม่สามารถรับรู้อาการป่วยของตนเองใช่หรือไม่ ? ซึ่งหลักการ 3 ข้อนี้จะบ่งบอกในเบื้องต้นได้
   
ข้อแรก ที่มักเห็นได้ชัดคือผู้ป่วยจะมีอาการผิดแผกแตกต่างไปจากเดิม เช่น จากที่เคยเป็นคนคุยน้อยก็คุยมากขึ้น หรือจากคนที่เคยเป็นคนร่าเริงก็เปลี่ยนเป็นอยู่คนเดียวเงียบ ๆ, ข้อที่สอง ในการสังเกตความเปลี่ยนแปลงสามารถสังเกตได้จากการที่ผู้ป่วยมักบ่นว่าได้ยินเสียงในหูแว่ว ๆ เพียงคนเดียว เห็นภาพหลอน หรือมีอาการพูดคนเดียวเพียงลำพังเป็นเรื่องเป็นราว, ข้อที่สาม ส่วนใหญ่จะมีอาการในข้อแรกและข้อที่สองประกอบ โดยคนรอบข้างสามารถสัมผัสได้ ในขณะที่ผู้ป่วยเองไม่สามารถรับรู้ถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ ถ้าแพทย์พิจารณาแล้วว่าเข้าข่ายหลักเกณฑ์ใน 3 ข้อนี้ ถ้ามีปัญหาข้อใดข้อหนึ่ง จึงจะตรวจอย่างละเอียดต่อไป
   
กับรูปแบบของโรคจิตนั้น นพ.ทวีศิลป์ให้ข้อมูลว่า... จะมีการแสดงออกทางอาการแตกต่างกันไป อาทิ อาการคลุ้มคลั่ง อาการเรื่อยเปื่อย อาการประสาทหลอน อาการซึมเฉย อาการหลงผิด กลุ่มอาการรวม เป็นต้น
   
"กลุ่มอาการที่มีการรักษาในโรงพยาบาลมากที่สุด คือกลุ่มอาการจิตเภท ซึ่งทางการแพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดที่แน่ชัด โดยเป็นกลุ่มที่ต้องมีการสังเกตอาการต่อเนื่อง และต้องได้รับการประเมินแบบทดสอบทางจิตวิทยาจากผู้ชำนาญการ เนื่องจากบางรายอาการอาจแสดงออกชัด แต่บางรายอาการอาจแสดงออกไม่ชัด" ...ผู้อำนวยการสำนักสุขภาพจิตสังคมระบุ
   
พร้อมทั้งบอกอีกว่า... การประเมินผล หรือการใช้แบบทดสอบทางจิตวิทยา เพื่อวิเคราะห์อาการ หรือเพื่อบ่งชี้ว่าบุคคลนั้น ๆ ปกติ หรือผิดปกติทางจิตหรือไม่ จะต้องมีคณะกรรมการตรวจสอบ รวมถึงจะต้องใช้วิธีการที่หลากหลายในการทดสอบสภาพจิต อาทิ... การเขียน การพูด การอ่าน การดู จึงจะชี้ชัดได้
   
"เพราะในผู้ป่วยทางจิตบางรายนั้น หากไม่มีการทำการทดสอบดังที่ว่ามา ก็จะพบว่าแทบจะมีบุคลิกที่ไม่แตกต่างไปจากคนปกติธรรมดาทั่วไปเลย ยกเว้นเมื่อพูดเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรือมีกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่งที่ไปกระทบกับบุคคลนั้น ๆ ถึงจะมีอาการแสดงออกมาให้คนภายนอกเห็น"
   
นพ.ทวีศิลป์อธิบายให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคจิตในภาพ รวมเพิ่มเติมด้วยว่า... กลุ่มอาการหนึ่งที่ก็มีการพบบ่อยคือ... กลุ่มอาการที่เรียกว่า "อาการหลงผิด" หรือ "ดิลยูชันแนล ดิสออร์เดอร์ (Delusional Disorder)" ซึ่งกลุ่มอาการนี้โดยปกติก็จะไม่แสดงอาการอื่น ๆ ที่ผิดปกติ   ให้เห็น
   
ผู้ป่วยกลุ่มอาการลักษณะนี้ "สามารถใช้ชีวิตปกติกับคนอื่น ๆ ได้โดยแยกไม่ออก สามารถพูดจารู้เรื่อง ทำอะไรได้ทุกอย่างเหมือนคน   ทั่วไป" เป็นเหตุให้การพยากรณ์โรคทำได้ยาก เนื่องจากไม่ได้คิดว่าตัวเองเจ็บป่วย แต่หากถูกกระทบจากเรื่องที่คิดคำนึงและหมกมุ่นอยู่ และเชื่อว่าเป็นสิ่งที่ใช่ ตรงกับความคิดตัว จึงจะแสดงอาการออกมา ซึ่งโดยปกติผู้ป่วยกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ป่วยแล้วจะไม่ค่อยเข้ารับการรักษา
   
"เพราะคิดว่าตนเองไม่ได้ป่วย ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นมักไม่กระทบกับตัวคนป่วย แต่จะกระทบกับคนรอบข้างแทน" ...ผู้อำนวยการสำนักสุขภาพจิตสังคม ระบุ
   
ทั้งนี้ นพ.ทวีศิลป์ชี้ไว้ว่า... ปัจจุบันปัญหาสัมพันธภาพในครอบครัวเป็นปัญหาใหญ่ทางสังคมใกล้ตัวคนไทย ซึ่งควรยึดหลัก "ปรับ 4 เติม 3" คือ... ปรับอารมณ์ มีสติ, ปรับความคิด มองด้านดี, ปรับการกระทำ เลือกวิธีที่เหมาะสม, ปรับเป้าหมาย ไม่ยึดมั่นถือมั่น, เติมศรัทธา เชื่อมั่นว่าทุกอย่างจะดีขึ้น, เติมมิตร มีคนที่ไว้ใจไว้ขอคำปรึกษา, เติมจิตใจให้กว้าง รับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างรอบด้าน "แล้วปัญหาก็จะไม่เกิด"
   
"ป่วยทางจิตแต่ดูเหมือนปกติ" อาการแบบนี้ก็มีด้วย...จริง ๆ
   
เป็นเรื่องจริงด้านสุขภาพจิตในภาพรวม...มิได้เฉพาะเจาะจง
   
ถ้าไม่รู้จัก "ปรับ 4 เติม 3" ไม่ว่าใครก็มีโอกาสเสี่ยง !?!?!.
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryID=23&contentID=5506

Please visit my blog.Thank you so much.
http://www.sanamluang.bloggang.com
http://tham-manamai.blogspot.com



What can you do with the new Windows Live? Find out