วันอาทิตย์ที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2552

นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร ซึ่งเป็นนกนางแอ่นเฉพาะถิ่นที่ไม่มีรายงานพบที่อื่นใดบนโลก ยกเว้นเมืองไทย

วันที่ 07 มิถุนายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11411 มติชนรายวัน


ชื่อนั้นสำคัญฉะนี้ (5)


คอลัมน์ ประสานักดูนก

โดย น.สพ.ไชยยันตร์ เกษรดอกบัว




"นักดูนกอาจสงสัยว่าชื่ออังกฤษของนก เหตุใดช่างแสดงความเป็นเจ้าเข้าเจ้าของตัวนก"

เช่น Blyth"s Kingfisher, Jerdon"s Baza, Pallas"s Fish-eagle, Gould"s Frogmouth หรือนกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร ซึ่งเป็นนกนางแอ่นเฉพาะถิ่นที่ไม่มีรายงานพบที่อื่นใดบนโลก ยกเว้นเมืองไทย

"ชื่อนกเหล่านี้เป็นการให้เกียรติบุคคล เรียกว่า eponym เป็นที่นิยมในแวดวงนักปักษีวิทยาหรือผู้ค้นพบนกชนิดใหม่ต่างๆ ในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศมหาอำนาจ เช่น สหราชอาณาจักร (อังกฤษ) เยอรมนี ฮอลแลนด์ หรือฝรั่งเศส"

ในศตวรรษที่ 19 ซึ่งการล่าอาณานิคมกำลังเฟื่องฟู มีการค้นพบดินแดนใหม่ๆ เปิดโอกาสให้ศึกษา สำรวจและค้นพบพรรณพืชและสัตว์ป่านานาชนิด

"การตั้งชื่อตามบุคคลไม่ใคร่นิยมนักในชื่อนกที่เป็นภาษาไทย" นกทั่วโลกมีกว่า 10,000 ชนิด (ไม่สามารถกำหนดจำนวนที่แน่นอนได้ เพราะแม้แต่นักปักษีวิทยาต่างกลุ่ม ต่างสมาคมก็ยังถกกันไม่เสร็จว่า "เท่าไหร่" กันแน่)

"ประมาณ 20% ใช้หลักการตั้งชื่อด้วย eponym นี่แหละ แต่สำหรับนกไทย มีนก 35 ชนิดเท่านั้น ใช้ชื่ออังกฤษเรียกตามชื่อคน"

บุคคลที่ได้รับเกียรติให้ชื่อไม่ตายไปกับตัวนั้น อาจจะมีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ หรืออาจจะเป็นเพียงเหล่าตัวละครหรือบรรดาเทพเทวดาในเทพนิยายของชาวกรีก-โรมัน ในยุคแรกๆ ของศตวรรษที่ 19 ผู้ค้นพบนกชนิดใหม่ ในอดีตนับพันชนิด เนื่องจากมีดินแดนรอการสำรวจอีกมาก จากเดิมแหล่งกำเนิดและศูนย์รวมอารยธรรมและความเจริญสมัยใหม่ (ของยุคเก่า)

"ในการเดินทางล่องเรือทะเลไปยังดินแดนต่างๆ เพื่อประกาศความเป็นเจ้าของอาณานิคมของพวกฝรั่งมังค่า เจ้าหน้าที่ทหาร หรือนายแพทย์ประจำเรือรบเหล่านั้น ที่มีความสนใจธรรมชาติรอบตัว จึงกลายเป็นนักธรรมชาติวิทยาหรือนักปักษีวิทยาสมัครเล่น"

ยามว่างจากการปฏิบัติหน้าปล้นชิงแผ่นดินจากคนพื้นเมือง ก็สำรวจ เก็บข้อมูล เมื่อพบนกตัวที่สงสัยว่าไม่เคยมีการศึกษามาก่อนหรือรูปลักษณ์แปลกๆ ก็จัดการยิงให้ตายแล้วสตัฟฟ์เป็นตัวอย่างนกส่งมาให้นักปักษีวิทยาที่ทำงานในพิพิธภัณฑ์หรือมหาวิทยาลัยในประเทศมหาอำนาจต่างๆ

จะว่าโหดก็ไม่ผิดกระไรนัก แต่ถือว่าการยิงนกเพื่อเก็บตัวอย่างสะสมในพิพิธภัณฑ์เป็นวิถีปกติที่ยอมรับทั่วไปในอดีต เช่นเดียวกับการล่าสัตว์ป่าเพื่อความต้องการของมนุษย์ หากไม่มีความจำเป็นแล้วในปัจจุบัน เพราะมีทางเลือกอื่นในการศึกษานก เช่น การตรวจพันธุกรรมจากขนนกหรือเนื้อเยื่อบางส่วน โดยไม่จำเป็นต้องปลงชีวิตของนกทั้งตัว

"จากกิจกรรมการสำรวจและสะสมตัวอย่างเกิดขึ้นไปพร้อมกับการล่าอาณานิคม ประเทศที่มีเครือข่ายการสำรวจด้วยเรือทะเลในสมัยนั้น กลายเป็นมหาอำนาจในการสร้างองค์ความรู้ทางปักษีวิทยาไปด้วยโดยอัตโนมัติ" หากสนใจใคร่รู้ลองพลิกคู่มือดูนกไทย จะผ่านตาบรรดาชื่อบุคคลดังต่อไปนี้ เช่น Blyth, Gould, Jerdon, Hogdson หรือ Tritram

นับว่าชาวอังกฤษเป็นมหาอำนาจอย่างแท้จริง "เฉพาะชื่ออังกฤษของนกไทยจำนวน 998 ชนิด ตั้งชื่อเป็นเกียรติแด่คนอังกฤษกว่า 20 ชนิด"

โรคภัยไข้เจ็บและภยันตรายจึงเป็นอุปสรรคที่เลี่ยงไม่ได้ สำหรับการสำรวจในดินแดนใหม่ ไม่เคยถูกสำรวจหรือรู้จักกันมาก่อน เช่น ป่าดิบชื้นในเขตศูนย์สูตรที่อุดมด้วยสัตว์ป่าและโรคร้ายนานาชนิด

ด้วยเหตุนี้ในยุคแรกของการตั้งชื่อนก นักปักษีวิทยามักจะให้เกียรติบุคคลที่เก็บตัวอย่างได้เป็นคนแรก เพราะยกย่องนับถือในความอุตสาหะและวิริยะ ฟันผ่าอุปสรรคนานัปการจนรอดชีวิตมาได้และทำให้โลกทั้งโลก (ในมุมคิดของฝรั่ง) ได้รู้จักนกชนิดใหม่ตัวนั้นแม้จะเป็นแค่ตัวอย่างนกที่ไร้ซึ่งชีวิตแล้วก็ตาม

"ต่อมายุคสมัยเปลี่ยน แนวคิดก็เปลี่ยนตาม ชื่อนกในภาษาอังกฤษ อาจแฝงด้วยผลประโยชน์ ตอบสนองความอยากรู้อยากเห็นของฝรั่งเกี่ยวกับนกมากขึ้น" ผลพวงของการกระหายความรู้ทางธรรมชาติที่อาจจะเรียกว่าเป็นผลพลอยได้ด้านดีของยุคล่าอาณานิคมก็ว่าได้ นักปักษีวิทยาจึงอาจตั้งชื่อนกเป็นเกียรติแด่มหาเศรษฐี นายธนาคารหรือราชสกุลที่เอื้อเฟื้อ สนับสนุนการเดินทางสำรวจดินแดนใหม่ หรือดินแดนเก่าที่ค้นพบกันแล้วแต่อาจจะยังมีอะไรหลบซ่อนรอเวลาให้ค้นพบอีกมาก ตามความคิดของนักสำรวจรุ่นนั้น

ลางทีก็ฮั้วกันชัดๆ ตามประสานักวิชาการต่างตอบแทน แบบสะกิดหลังกันเบาๆ ว่า ไอจะตั้งชื่อนกตัวนี้ให้ยูล่ะนะ ในฐานะที่เป็นเพื่อนร่วมวิชาชีพ และช่วยเหลือเอื้อเฟื้อกันมา

"เผื่อว่ายูจะคิดแบบเดียวกันกับนกชนิดที่ยูกำลังศึกษาอยู่ซะงั้น!"

หน้า 21
http://www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01sun02070652&sectionid=0120&day=2009-06-07