Sun, 2009-06-07 01:30
จดหมายข่าวศูนย์ข่าวข้ามพรมแดน รายงาน 5 ข้อห่วงใยของเครือข่ายด้านแรงงานข้ามชาติ (Migrant Working Group) และเครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ (Action Network for Migrants) ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย ต่อมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 3 มิถุนายน 2552 ระบุระยะเวลาการเปิดจดทะเบียนที่สั้นเกินไปเพียง 30 วัน ส่งผลต่อการเข้าไม่ถึงการจดทะเบียนของแรงงานข้ามชาติ นอกจากนี้ การห้ามเปลี่ยนนายจ้างข้ามกิจการจ้างงาน หรือเปลี่ยนได้เฉพาะในกิจการเดียวกันยังผลักให้แรงงานข้ามชาติต้องตกอยู่ในภาวะความเสี่ยงต่อการถูกละเมิดสิทธิจากนายจ้างมากขึ้น เผยแรงงานข้ามชาติที่เข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติยังกังวลใจในแง่ของความปลอดภัย และยังไม่สามารถเข้าถึงกฎหมายคุ้มครองแรงงานได้อย่างแท้จริง รวมถึงนโยบายของไทยยังขาดมิติเรื่องการมีสถานะทางกฎหมายของครอบครัวผู้ติดตามแรงงานข้ามชาติ
00000
จดหมายข่าวศูนย์ข่าวข้ามพรมแดน ฉบับที่ 31 (6 มิถุนายน 2552)
ข้อห่วงใยต่อแนวทางการจัดการแรงงานข้ามชาติ
ตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 3 มิถุนายน 2552
ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2552 เห็นชอบแนวทางการดำเนินการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา ที่อยู่นอกระบบผ่อนผัน ตามมติคณะกรรมการบริหารแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง ครั้งที่ 2/2552 วันที่ 27 เมษายน 2552 และเพิ่มเติมรายละเอียดเรื่องกิจการจ้างงาน 19 กิจการ ในวันที่ 3 มิถุนายน 2552 จึงทำให้กระทรวงแรงงานอนุญาตให้มีการเปิดจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวใน 6 สาขาอาชีพ คือ อาชีพประมง ต่อเนื่องจากประมง เกษตรกรรม-ปศุสัตว์ ก่อสร้าง การทำงานตามบ้าน และกิจการอื่นๆ ซึ่งในส่วนของกิจการอื่นๆ มีทั้งหมด 19 สาขาอาชีพ
โดยแรงงานต่างด้าวที่ขึ้นทะเบียนรอบใหม่จะอยู่ทำงานตามการผ่อนผันให้ได้ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2553 เท่านั้น หลังจากนั้นต้องผลักดันกลับสู่ประเทศต้นทาง ยกเว้นมีการกลับเข้ามาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และหรือประเทศต้นทางมีการพิสูจน์สัญชาติแล้ว และออกหนังสือเดินทางให้เข้ามาทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งนี้การผ่อนผันให้จดทะเบียนแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองรอบใหม่ จะต้องรอประกาศของกระทรวงมหาดไทย นับจากวันที่มีมติคณะรัฐมนตรีภายใน 3 สัปดาห์ และให้จดทะเบียนให้เสร็จสิ้นภายใน 30 วัน
สำหรับงานกรรมกร 19 กิจการ ที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ ได้แก่
1.กิจการต่อเนื่องจากการเกษตร เช่น การแปรรูปพืชผลทางการเกษตร การรับซื้อพืชไร่ พืชสวน ลานมัน ลานตากข้าว โรงสีข้าว นาเกลือ ฯลฯ
2.กิจการต่อเนื่องปศุสัตว์ เช่น โรงฆ่าสัตว์ ชำแหละเนื้อสัตว์ ฯลฯ
3.กิจการรีไซเคิล รับซื้อของเก่า คัดแยกขยะ คัดแยกของเก่า
4.กิจการทำเหมืองแร่และเหมืองหิน เช่น โรงโม่หิน โรงแต่งหิน บ่อดิน บ่อทราย ฯลฯ
5.กิจการผลิต จำหน่ายผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับโลหะ เช่น โรงกลึง โรงหล่อ โรงชุบ เชื่อมโลหะ หลอม รีด ขัดโลหะ ฯลฯ
6.กิจการผลิตจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม
7.กิจการผลิต จำหน่ายผลิตภัณฑ์จากดิน เช่น การทำอิฐ การผลิตเครื่องปั้นดินเผา เครื่องเคลือบ และเซรามิค ฯลฯ
8.กิจการผลิต จำหน่ายวัสดุก่อสร้าง
9.กิจการแปรรูปหิน
10.กิจการผลิต จำหน่ายเสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องแต่งกาย สิ่งทอ เครื่องประดับ ชิ้นส่วนรองเท้า
11.กิจการผลิต จำหน่ายผลิตภัณฑ์พลาสติก เคมีภัณฑ์ ผลิตปุ๋ย ของเล่นเด็ก
12.กิจการผลิต จำหน่ายผลิตภัณฑ์กระดาษ
13.กิจการผลิต จำหน่ายสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ไฟฟ้า แบตเตอรี่ และยานยนต์
14.กิจการขนถ่ายสินค้าทางบก ทางน้ำ คลังสินค้า
15.กิจการค้าส่ง ค้าปลีก แผงลอยในตลาดและร้านค้าทั่วไป
16.กิจการอู่ซ่อมรถ ล้าง อัดฉีด
17.กิจการปั๊มน้ำมัน แก๊ส เชื้อเพลิง
18.กิจการสถานศึกษา มูลนิธิ สมาคม สถานพยาบาล
19.กิจการการให้บริการต่างๆ เช่น การซักอบรีด การบริการที่พัก ฯลฯ [1]
มติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวนำมาสู่ความกังวลใจของเครือข่ายด้านแรงงานข้ามชาติ (Migrant Working Group) และเครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ (Action Network for Migrants) ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยใน 5 ประการ ดังนี้
(1) ระยะเวลาการเปิดจดทะเบียนที่สั้นเกินไปเพียง 30 วัน ส่งผลต่อการเข้าไม่ถึงการจดทะเบียนของแรงงานข้ามชาติ
การเปิดจดทะเบียนในระยะเวลาที่สั้นเพียงหนึ่งเดือนนั้น จากประสบการณ์ในอดีตพบว่า การประชาสัมพันธ์ของภาครัฐที่จะสื่อสารไปยังแรงงานข้ามชาติ และผู้ประกอบการดำเนินการได้ไม่เต็มที่ ทำให้แรงงานข้ามชาติไม่รับรู้/เข้าไม่ถึง/เข้าถึงยากในมาตรการต่างๆ ของรัฐบาล บางครั้งยังเกิดความสับสนของการดำเนินการในระดับพื้นที่ ก่อให้เกิดช่องทางในการทุจริต หรือการจัดทำบัตรปลอมมากขึ้น นอกจากนั้นแล้วการจดทะเบียนในช่วงเวลาสั้น ๆ ยังไม่สอดคล้องกับการจ้างแรงงานในบางประเภท เช่น ประมงทะเล หรือแรงงานตามฤดูกาล ที่จะทำให้แรงงานเหล่านี้ไม่สามารถมาจัดทำใบอนุญาตทำงานตามช่วงเวลาดังกล่าวได้
(2) การห้ามเปลี่ยนนายจ้างข้ามกิจการจ้างงาน
การห้ามเปลี่ยนนายจ้างข้ามกิจการจ้างงาน หรือเปลี่ยนได้เฉพาะในกิจการเดียวกัน เป็นการผลักให้แรงงานข้ามชาติต้องตกอยู่ในภาวะความเสี่ยงต่อการถูกละเมิดสิทธิจากนายจ้างมากขึ้น เมื่อแรงงานข้ามชาติถูกละเมิดสิทธิ และไม่สามารถเปลี่ยนนายจ้างหรือเปลี่ยนกิจการจ้างงานได้ แรงงานจะเลือกใช้วิธีการหลบหนีกลับไปสู่การเป็นแรงงานผิดกฎหมายเหมือนเดิม และไม่สามารถมาต่อใบอนุญาตทำงานได้ในปีต่อไป เป็นอุปสรรคต่อการจัดการแรงงานข้ามชาติในระยะยาวต่อไป
(3) กระบวนการพิสูจน์สัญชาติแรงงานจากประเทศพม่า
แรงงานข้ามชาติที่เข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติ โดยเฉพาะแรงงานจากประเทศพม่า ยังมีข้อกังวลใจในแง่ของความปลอดภัย และปัจจัยภายในประเทศพม่าที่ยังมีความขัดแย้งทางการเมืองและการละเมิดสิทธิดำรงอยู่ค่อนข้างมาก ปัจจัยเหล่านี้เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติทางเครือข่ายฯ เห็นว่าควรจะมีการทบทวนมาตรการดำเนินการ โดยให้มีการพิจารณามิติที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้านมากขึ้น
(4) การขาดมิติด้านการคุ้มครองแรงงาน
การดำเนินการขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติในช่วงที่ผ่านมา พบว่า แรงงานยังไม่สามารถเข้าถึงกฎหมายคุ้มครองแรงงานได้อย่างแท้จริง เช่น กรณีการเข้าถึงกองทุนเงินทดแทน ดังนั้นจำเป็นที่จะต้องมีการตระหนักถึงมิติด้านการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติให้มากยิ่งขึ้น เพื่อป้องกันมิให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบแรงงานข้ามชาติ หรือมีการจ้างแรงงานด้วยค่าแรงต่ำกว่าแรงงานขั้นต่ำที่รัฐกำหนดไว้
(5) การขาดมิติเรื่องการมีสถานะทางกฎหมายของครอบครัวผู้ติดตามแรงงานข้ามชาติ
ดังที่ได้กล่าวในเรื่องปัจจัยในประเทศต้นทางไปแล้วในข้างต้น เช่น ในประเทศพม่า พบว่า การย้ายถิ่นของแรงงานข้ามชาติจากพม่าจะมีลักษณะเฉพาะ คือ มีครอบครัวผู้ติดตามเดินทางเข้ามาพร้อมกับแรงงานข้ามชาติด้วย แต่นโยบายการจัดการแรงงานข้ามชาติของประเทศไทย ยังมองข้ามการมีสถานะทางกฎหมายของครอบครัวผู้ติดตามแรงงานข้ามชาติ ทำให้คนกลุ่มต่างๆ เหล่านี้ไม่สามารถเข้าถึงการบริการด้านต่างๆ ได้ เช่น การเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ การศึกษาของเด็ก หรือเด็กที่เกิดใหม่ก็ไม่มีช่องทางในการจัดการกับสถานะของตนเองได้ในอนาคต เนื่องจากไม่มีกลไกที่เอื้อต่อการกำหนดสถานะทางกฎหมาย ทางเครือข่ายฯ เห็นว่า แนวนโยบายควรคำนึงถึงมิติของความเป็นมนุษย์ของแรงงานข้ามชาติในด้านนี้ให้มากยิ่งขึ้น เพื่อให้เกิดการดำเนินการในระยะยาวอย่างยั่งยืน
นอกจากนั้นทางเครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านแรงงานข้ามชาติ ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า “ยินดีที่จะให้การสนับสนุนช่วยเหลือในเรื่องการจัดการแรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะในเรื่องการประชาสัมพันธ์ที่เป็นภาษาของแรงงานข้ามชาติ การเข้าถึงการคุ้มครองและบริการของแรงงานข้ามชาติ โดยทำงานร่วมกับภาครัฐอย่างจริงจัง เหมือนดังที่เคยทำงานในอดีต”
เชิงอรรถ
[1] อ้างจาก http://www.thaigov.go.th วันที่ 3 มิถุนายน 2552
......................................................
ศูนย์ข่าวข้ามพรมแดน (Cross Border News Agency - CBNA) เป็นศูนย์ข่าวออนไลน์ภาคภาษาไทย จัดตั้งขึ้นมาโดยความร่วมมือขององค์กรที่ทำงานด้านแรงงานไทย คือ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย และ Union Network International: Thai Liaison Council (UNI-TLC) กับ องค์กรที่ทำงานด้านแรงงานข้ามชาติ (แรงงานอพยพ) และผู้ลี้ภัยในประเทศไทย คือ ศูนย์ข้อมูลริมขอบแดน เพื่อนไร้พรมแดน และ โครงการสมานฉันท์แรงงานข้ามพรมแดน เมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2552
ดำเนินการผ่านเงินทุนส่วนตัว และการลงแรงกาย แรงใจ ของกลุ่มเพื่อนสนิท 4 คน คือ คุณพรสุข เกิดสว่าง, คุณอดิศร เกิดมงคล, คุณบัณฑิต แป้นวิเศษ และคุณบุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์ ไม่ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรทุนใดๆ ทั้งสิ้น
พวกเราทั้ง 4 คน เห็นพ้องว่า “สังคมไทยต้องมีพื้นที่เรียนรู้ มากกว่าในห้องเรียนเพียงเท่านั้น เราเชื่อว่า ใครๆ ในที่นี้หมายถึง คนธรรมดาๆ ทุกคน ก็เรียนรู้ประเด็นแรงงานและประเด็นพม่าได้ การเรียนรู้มาพร้อมกับความเข้าใจ และความอดกลั้นในความต่าง รวมถึงการเคารพคนอื่นที่ต่างจากเรา”
"มุ่งส่งเสริมสิทธิมนุษยชนให้เกิดขึ้นในประชาชนทุกกลุ่ม สิทธิมนุษยชน คือ จุดเริ่มต้นแห่งสันติภาพ"
กิจกรรมของศูนย์ข่าวข้ามพรมแดนในปี 2552 นี้ เป็นการรวบรวมข่าวภาษาไทยและนำเสนอบทวิเคราะห์ เกี่ยวกับสถานการณ์ต่างๆ ด้านแรงงานทุกกลุ่มในประเทศไทย รวมถึงผู้ลี้ภัย ผู้พลัดถิ่นภายในประเทศพม่า ตลอดจนสถานการณ์การเมือง เศรษฐกิจ สังคม ภายในประเทศพม่าที่ส่งผลกระทบต่อการย้ายถิ่น
ติดต่อศูนย์ข่าวข้ามพรมแดน : crossborder.newsagency@gmail.com