โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ | 8 มิถุนายน 2552 11:32 น. |
| |||
ครั้งหนึ่งนักวิทยาศาสตร์เคยเข้าใจว่า การบำบัดด้วยฮอร์โมน หรือเรียกว่า เอชอาร์ที (hormone therapy: HRT) ในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน จะช่วยป้องกันโรคเรื้อรังบางชนิดได้ เช่น โรคหัวใจ แต่มาวันนี้ผลวิจัยกลับชี้ว่าเอชอาร์ทีมีส่วนทำให้ผู้ป่วยบางราย ที่มีอาการมะเร็งปอดร่วมด้วย มีโอกาสเสียชีวิตมากกว่าผู้ที่ไม่ใช้ฮอร์โมนบำบัด
ดร.โรแวน เชลโบว์สกี (Rowan Chlebowski) ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งและเนื้องอก ศูนย์การแพทย์ฮาร์เบอร์-ยูซีแอลเอ (Harbor-UCLA Medical Center) ในนครลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา เปิดเผยในรอยเตอร์ว่า ผู้ที่ใช้ฮอร์โมนทดแทน เอสโตรเจน/โพรเจสติน (estrogen/progestin) ไม่ควรใช้ฮอร์โมนดังกล่าวร่วมกับการสูบบุหรี่อย่างเด็ดขาด เพราะมีโอกาสเสียชีวิตจากมะเร็งปอดมากกว่าคนที่ไม่ได้ใช้ฮอร์โมนนี้ถึง 60%
นักวิจัยได้ศึกษาข้อมูลที่ดับเบิลยูเอชไอ (Women's Health Initiative: WHI) ได้ทำการศึกษาในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนจำนวน 16,608 คน ทั้งที่ได้รับยาเพรมโพ (Prempro) และยาหลอก โดยยาเพรมโพนั้นเป็นยาเม็ดที่ประกอบด้วยฮอร์โมนเอสโตรเจนและโพรเจสติน ที่ผลิตโดยบริษัทวายเอธ (Wyeth)
ผลการศึกษา นักวิจัยไม่พบความแตกต่างของจำนวนเซลล์มะเร็งปอดมากนัก ในผู้ที่ป่วยเป็นมะเร็งปอดและใช้ยาเพรมโพรเป็นเวลา 5 ปี และติดตามผลหลังจากนั้นอีกมากกว่า 2 ปี แต่กลับพบว่าในจำนวนนี้มีผู้ที่เสียชีวิตด้วยมะเร็งปอดถึง 46% ขณะที่มีผู้ที่ได้รับยาหลอกเสียชีวิตเพราะมะเร็งปอดเพียง 27% เท่านั้น โดยในการศึกษานักวิจัยพุ่งเป้าไปที่มะเร็งปอดชนิดเซลล์ไม่เล็ก (non-small cell lung cancer) ซึ่งเป็นรูปแบบที่พบโดยทั่วไป
ดร.เชลโบว์สกี หัวหน้าทีมวิจัยให้ข้อเสนอแนะว่า หญิงวัยหมดประจำเดือนที่เคยใช้ฮอร์โมนดังกล่าวมาแล้ว ควร ปรึกษาแพทย์เพื่อให้ใช้ฮอร์โมนในระดับต่ำที่สุดและในระยะเวลาสั้นที่สุดเท่า ที่เป็นไปได้ และไม่ควรใช้ฮอร์โมนร่วมกับการสูบบุหรี่โดยเด็ดขาด
"นี่เป็นอีกหลักฐานหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าการใช้ฮอร์โมนบำบัดหรือ ฮอร์โมนทดแทน ควรใช้ด้วยความระมัดระวังมากเป็นพิเศษ" ดร.ริชาร์ด สคิลสกาย (Dr. Richard Schilsky) ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็ง จากมหาวิทยาลัยชิคาโก (University of Chicago) และประธานสมาคมเนื้องอกวิทยาคลินิกอเมริกัน (American Society of Clinical Oncology) กล่าวแสดงความเห็นในระหว่างที่มีการนำเสนอผลวิจัยดังกล่าว ในการประชุมด้านเนื้องอกวิทยา ในมลรัฐฟลอริดา ดังที่เอพีรายงาน
อย่างไก็ตาม ดร.เลน ลิชเทนเฟลด์ (Dr. Len Lichtenfeld) จากสมาคมมะเร็งอเมริกัน (American Cancer Society) แสดงความเห็นว่า ในการศึกษาวิจัยดังกล่าว มีผู้เสียชีวิตจากมะเร็งปอดในขณะที่ใช้ฮอร์โมนบำบัดเพียง 106 คนเท่านั้น ซึ่งน้อยเกินไปที่จะสรุปว่าฮอร์โมนดังกล่าวเพิ่มความเสี่ยงให้กับผู้ป่วย มะเร็งปอด
ด้าน ดร.โจเซฟ แคมาร์โด (Dr. Joseph Camardo) จากวายเอธ กล่าวเสริมว่า สตรีส่วนใหญ่ที่ใช้ยาเม็ดฮอร์โมนเอสโตรเจน/โพรเจนติน ก็ไม่ได้ใช้ต่อเนื่องเป็นเวลานานขนาดนั้น ซึ่งในปัจจุบันสตรีที่เริ่มใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจน/โพรเจนตินทดแทน จะมีอายุระหว่าง 51-54 ปี และใช้ต่อเนื่องเฉลี่ยนาน 2 ปี ขณะที่สตรีที่อยู่ในการศึกษาดังกล่าวมีอายุเฉลี่ย 63 ปี และใช้ฮอร์โมนทดแทนนานถึง 5 ปี จึงได้รับยาในขนาดที่มากเกินไป
http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9520000061467