แม้ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง...แต่มะเร็งก็ไม่เว้น
นางวรรณา เหลืองชัยชาญ เธอไม่เคยคิดว่าจะตกเป็นเหยื่อมะเร็ง เพราะเติบโตในครอบครัวที่อบอุ่น รักนวลสงวนตัว รักและแต่งงานอยู่กินกับสามีเดียวเมื่ออายุ 23 ปี จนประมาณ 10 ปี วันหนึ่งเกิดอาการตกขาวมามากผิดปกติ จึงได้หาแพทย์ พบว่าเป็นโรคมะเร็งปากมดลูกขั้น 1B ที่ไม่สามารถผ่าตัดได้ในทันที แต่ต้องทำคีโมนานถึง 2 เดือน
เธอว่า เจอโรคนี้ตอนอายุ 32 ปี ไม่เคยคิดว่ามีความเสี่ยง ทำให้ตกใจมากตอนที่รู้ผลตรวจ ยังดีที่ร่างกายแสดงปฏิกิริยาออกมาให้เห็นก่อน ไม่เช่นนั้นมะเร็งคงลุกลามไปมากกว่านี้
"หลังจากผ่าตัดแล้ว ช่วงปีแรกๆ ต้องไปตรวจทุก 2 เดือน จนปัจจุบัน 8 ปีแล้วต้องตรวจทุก 6 เดือน กลัวตลอดเวลาว่ามันจะกลับมาอีกเมื่อไหร่ หลังผ่าตัดมะเร็งสิ่งที่ตามมาคือเกิดถุงน้ำบริเวณที่ผ่าตัด บางครั้งมีขนาดใหญ่ถึง 11 เซนติเมตร แล้วไปกดทับเส้นประสาท เจ็บหลังมาก เลยต้องไปเจาะออก" เธอเล่าถึงความรู้สึกอันแสนทรมานจากมะเร็งปากมดลูก
รศ.นพ.วิชัย เติมรุ่งเรืองเลิศ หัวหน้าหน่วยมะเร็งนรีเวช ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝากถึงผู้หญิงว่า มะเร็งปากมดลูกเป็นโรคที่ทำให้ผู้หญิงไทยเสียชีวิตเป็นอันดับ 1 โดยโรคนี้มักไม่ค่อยแสดงอาการจน 10-15 ปีแล้ว หรือแสดงอาการเมื่อก้าวไปเข้าระยะที่ 2 หรือ 3 ไปแล้ว สาเหตุของโรคเกิดจากเชื้อ Human Papilloma Virus หรือ "เอชพีวี" ซึ่งชอบอยู่บริเวณผิวที่มีความชุ่มชื้น เช่น ซอกเล็บ ปาก และบริเวณอวัยวะเพศ ผู้หญิงทุกคนมีโอกาสติดไวรัสชนิดนี้ แต่คนที่มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุน้อย ซึ่งมีโอกาสที่จะมีคู่นอนหลายคน จะมีความเสี่ยงสูงมากกว่าคนอื่น
"ปัจจุบันผู้ป่วยโรคนี้มีแนวโน้มอายุน้อยลงมาก ล่าสุด พบเด็กหญิงอายุ 12 ปี เป็นมะเร็งปากมดลูกแล้ว ทางป้องกันที่สำคัญคือ อย่าอายที่จะไปพบหมอเพื่อตรวจเป็นประจำทุกปี, ลดพฤติกรรมเสี่ยง เช่น การมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อย การมีคู่นอนหลายคน การสูบบุหรี่ และถ้าสามารถฉีดวัคซีนป้องกันเอชพีวีร่วมกับการตรวจ Pap Smear ก็จะได้ผลดีที่สุดในการป้องกันมะเร็งปากมดลูก" หมอทิ้งท้าย
หน้า 25
http://www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01lad02090652§ionid=0115&day=2009-06-09