วันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11386 มติชนรายวัน "วันนักเขียน" และก้าวต่อไป "สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย" ในวาระ "การอ่านแห่งชาติ" โดย เชตวัน เตือประโคน คำถามนี้ หลายคนได้ยินแล้วอาจส่ายหน้า ตอบไม่ได้ โธ่!...อย่าว่าแต่คนส่วนใหญ่เลย แม้แต่ผู้สนใจแวดวงการอ่านการเขียนบางคนก็ยังไม่รู้ ยิ่งที่ทำการ "สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย" ด้วยแล้ว บางคนอาจถามกลับ "มีด้วยเหรอ? อยู่ตรงมุมไหนของโลก (วะ)?" จากปุจฉาข้างต้น ขอวิสัชนาไว้ดังนี้... 5 พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันนักเขียน ส่วนที่ทำการสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยนั้น อยู่ที่ ซอยกรุงเทพฯ-นนทบุรี 33 ซึ่งเป็นบ้านที่นักเขียนผู้ล่วงลับนาม ส.บุญเสนอ ได้มอบให้กับสมาคม วันนักเขียนที่เพิ่งผ่านมาสดๆ ร้อนๆ มีโอกาสได้ไปร่วมเกาะติดกับแวดวงวรรณกรรม ซึ่งมีการจัดงานที่ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ ตั้งแต่ช่วงบ่าย ทั้งอภิปรายในหัวข้อ "100 ปี ศักดิ์ศรีคนวรรณกรรม" พูดถึงคุณูปการของนักเขียนที่ครบ 100 ปี ชาตะกาล ในปีนี้ อาทิ เปลื้อง ณ นคร, ร.จันทพิมพะ และ ส.บุญเสนอ การอภิปรายหัวข้อ "คิดถึง "รงค์ วงษ์สวรรค์ พญาอินทรีแห่งฟากฟ้าวรรณกรรม" งานวันนั้น คับคั่งด้วยนักเขียนทั้งรุ่นใหญ่ รุ่นใหม่ ตลอดผู้สนใจแวดวงวรรณกรรมอีกเพียบ!!! อาทิ มนัส สัตยารักษ์, ใหญ่ นภายน, อั๋น สัตหีบ, ช่วง มูลพินิจ, สุชาติ สวัสดิ์ศรี, วัฒน์ วรรลยางกูร, ปรีดา ข้าวบ่อ, ณัฐการณ์ ลิ่มสถาพร, ณรงค์ จันทร์เรือง, อาทร เตชะธาดา, วินทร์ เลียววาริณ, สุมิตรา จันทร์เงา, บินหลา สันกาลาคีรี, วรพจน์ พันธุ์พงศ์, ศิริวร แก้วกาญจน์ ฯลฯ นี่เพียงส่วนหนึ่ง หากนับจนครบเกรงพื้นที่แห่งนี้จะไม่พอ ในงานปีนี้ นอกจากจะมีการมอบรางวัล "ศรีบูรพา" ให้กับ "ชาญวิทย์ เกษตรศิริ" แล้ว ยังมีอีกหนึ่งรางวัล นั่นคือ การประกวดเรื่องสั้น รางวัลอิวากิ ซึ่งจัดโดย นักแปลชาวญี่ปุ่น ผู้แปลผลงานของนักเขียนไทยเป็นภาษาญี่ปุ่นมาแล้วมากมายอย่าง "อิวากิ ยูจิโร" ซึ่งงานนี้เขาลงทุนลงแรงทำประกาศเกียรติคุณด้วยตนเอง พร้อมมาร่วมงาน มอบรางวัลให้กับผู้ได้รับรางวัล กล่าวให้กำลังใจกับนักเขียนไทย สร้างความหวัง มอบความสนุกสนานครื้นเครงเป็นอย่างยิ่งในหัวค่ำของวันนั้น
ในงานวันนักเขียน มีหนังสือ 2 เล่ม มอบให้กับผู้ร่วมงาน... หนึ่งคือ "ปากไก่" วารสารของสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย และอีกหนึ่ง คือ "ศรีบูรพา" วารสารกองทุนศรีบูรพา เล่มแรกมีเนื้อหาเกี่ยวกับแวดวงการอ่าน-การเขียนหลากหลาย เช่น นักเขียนรุ่นใหม่อ่านอะไร?, สัมภาษณ์ ดร.สุวรรณา เกรียงไกรเพ็ชร, 100 ปี นักเขียนไทย ส.บุญเสนอ ร.จันทพิมพะ, พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ, นายตำรา ณ เมืองใต้, "รงค์ วงษ์สวรรค์ อินทรีสวนอักษร ติดปีกสู่สวรรค์, เรื่องสั้น ฯลฯ ส่วนเล่มหลังนั้นเป็นเนื้อหาเกี่ยวกับผู้ได้รับรางวัลศรีบูรพาคนล่าสุด ชมัยภร แสงกระจ่าง นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย เขียนไว้ในบทนำ "ปากไก่" ว่า... ...ครั้งนี้ที่ตั้งใจสมัครทำงาน (นายกสมาคม) ต่อ ด้วยมีงานของสมาคมหลายส่วนที่ต้องการดำเนินการให้แล้วเสร็จ อาทิ โครงงานพิพิธภัณฑ์บ้านนักเขียน เสาว์ บุญเสนอ งานโครงการต่างๆ ที่ตกลงร่วมมือกับ บมจ.ธนาคารกรุงไทย และการอบรมเยาวชนในเรื่องการอ่านการเขียน งานด้านวรรณกรรมสัมพันธ์กับเพื่อนบ้าน ที่ดำเนินโครงการกับมาเลเซียค้างอยู่ และเริ่มเปิดโครงการใหม่กับจีนใต้ (หนานหนิง)... ...รวมทั้งงานหลักของสมาคม คือการสัมมนาประจำปี ซึ่งในสองปีที่ผ่านมา ได้มุ่งเป้าไปที่นักเขียนและนักอ่าน ในส่วนปีนี้จะเป็นการสานต่อจากนักเขียนและนักอ่านไปสู่ระบบการศึกษา เพื่อให้สอดคล้องกับการประกาศของรัฐบาลให้ปีนี้ เป็นวาระการอ่านแห่งชาติ... ชมัยภรรับตำแหน่งนายกสมาคมเป็นครั้งที่สอง โดยคณะกรรมการชุดนี้จะมีวาระการทำงาน 2 ปี คือ พ.ศ.2552-2554 น่าสนใจว่าในห้วงเวลาที่รัฐบาลประกาศให้ "การอ่าน" เป็น "วาระแห่งชาติ" มีการส่งเสริมการอ่านและจะสนับสนุนโครงการหนังสือเล่มแรก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เองก็รับลูกด้วยการ แต่งตั้ง "คณะกรรมการส่งเสริมการอ่านเพื่อสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต" ด้าน สมาคมนักเขียนฯจะถือโอกาสอันดีนี้ เดินหน้ารุดงานเพื่อคุณภาพของประเทศชาติอย่างไร? อยากรู้ จึงหยิบโทรศัพท์กดหมายเลขสอบถามเอาความจากชมัยภรทันที "สำหรับสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย จากนี้คงต้องสานงานที่ทำต่อเนื่องมาจากคณะกรรมการชุดที่แล้ว เช่น กิจกรรม มุมห้องสมุด ที่ทำร่วมกับ บมจ.ธนาคารกรุงไทย และรายการสัมมนาต่างๆ ทั้ง 4 ภาคทั่วประเทศ โดยตั้งใจไว้ว่าจะเริ่มจากการสัมมนานักเขียนก่อน จากนั้นก็มาเป็นสัมมนานักอ่าน ในพื้นที่ภูมิภาคโดยไม่ให้ซ้ำกับที่เคยทำเมื่อปีที่แล้ว "ในส่วนรูปแบบของกิจกรรม นอกจากจะเป็นการบรรยายของนักเขียนที่เราจัดไปแล้ว จะพยายามทำให้ผู้ฟังได้มีส่วนร่วม ได้ร่วมอภิปราย เพราะเราอยากได้ข้อมูลจากคนในพื้นที่จริงๆ อยากรู้ว่าเขาอ่านอะไร เพราะแน่นอนว่าการอ่านนั้นเป็นพื้นฐานของการเขียน" ชมัยภรกล่าว และว่า สำหรับการทำงานกับคณะกรรมการการส่งเสริมการอ่านเพื่อสังคมแห่งการเรียนรู้ ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนของการทำการบ้านว่า แต่ละองค์กรมีโครงการอะไรมาเสนอ ให้จัดทำรายละเอียดมาในการประชุมกันครั้งต่อไป ในวาระการอ่านแห่งชาติมี "คณะกรรมการส่งเสริมการอ่านเพื่อสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต" เป็นตัวตั้ง จากนั้นองค์กรต่างๆ ที่ทำกิจกรรมส่งเสริมด้านการอ่าน การเขียน ด้วยดีเสมอมา เป็นต้นว่า สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย, สมาคมผู้จัดพิมพ์และจำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย, อุทยานการเรียนรู้ (ทีเค ปาร์ค), บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ฯลฯ นำโครงการไปคุยกันกับคณะกรรมการซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธาน ในที่ประชุม เพื่อป้องกันความซ้ำซ้อนของกิจกรรม นี่เป็นการสนับสนุนจากภาครัฐ ใน "วาระการอ่านแห่งชาติ" คงต้องติดตามกันต่อไปว่า ผลจะออกมาอย่างไร เพราะเท่าที่ใครต่อใครรู้สึก กิจกรรมอะไรก็ตามที่ออกมาจากภาครัฐอย่างนี้ ขั้นตอนค่อนข้างยุ่งยาก ล่าช้าเหลือเกิน กว่าที่กิจกรรมจะขับเคลื่อนไปได้ บางทีก็เปลี่ยนรัฐบาล เปลี่ยนคณะกรรมการกันวุ่นแล้ว จึงไม่อยากให้คาดหวังมาก (เพื่อจะได้ไม่ผิดหวัง) หากแต่สิ่งหนึ่ง ที่เป็นปัญหาหลักของสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ที่อยากให้รัฐยื่นมือเข้ามาช่วยคือเรื่องการเงิน นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย บอกว่า ปัญหาหลักของสมาคมคือ การไม่มีรายได้ประจำ ทุกคนที่มาทำงานก็เป็นอาสาสมัครและมาด้วยใจ ที่ผ่านมาก็ทำงานไป หาผู้อุปถัมภ์ด้านการเงินไป ซึ่งค่อนข้างเหนื่อย และงานไม่ขับเคลื่อนเท่าที่ควรจะเป็น ที่ผ่านมา คงต้องขอปรบมือให้กับองค์กรต่างๆที่สนับสนุนสมาคมด้วยดีมาตลอด แต่ถึงเวลาแล้วหรือยังที่รัฐจะลองหันมามอง และสนับสนุนอย่างจริงๆ จังๆ บ้าง? หน้า 20 http://www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01pra01130552§ionid=0131&day=2009-05-13 |
Windows Live™: Keep your life in sync. Check it out.