วันอาทิตย์ที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

พิชยนันท์ จินดาพร เจ้าของรองเท้า"พริ้ง" แบรนด์ไทย(โด่งดัง)ในปารีส

วันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11383 มติชนรายวัน


พิชยนันท์ จินดาพร เจ้าของรองเท้า"พริ้ง" แบรนด์ไทย(โด่งดัง)ในปารีส


โดย ชมพูนุท นำภา




"ปราด้า อาร์มานี กุชชี่ หลบไปก่อน...แบรนด์พริ้งกำลังจะมา!!!"

ที่มหานครปารีส เมืองแห่งแฟชั่น กำลังมีเรื่องดีๆ เกิดขึ้น เมื่อสาวไทยหน้าใสเจ้าของรองเท้าแบรนด์ "พริ้ง" นำสินค้ารองเท้าดีไซน์ใหม่เอี่ยมของตัวเองไปแสดงให้คนเมืองน้ำหอมได้ชื่นชม

"พริ้ง" เป็นทั้งชื่อแบรนด์รองเท้าและชื่อเล่นของสาวไทยคนนี้ ส่วนชื่อจริง-นามสกุลจริงของเธอ "พิชยนันท์ จินดาพร" วัย 30 บริบูรณ์

เป็นลูกสาวคนเดียวของ "คุณพ่อพิชัย-คุณแม่พัฒนา จินดาพร" ที่ตอนนี้ทุ่มสุดตัวกับการดูแลโรงงาน "พริ้งแอนด์โค" โรงงานผลิตรองเท้าแบรนด์พริ้ง ตั้งอยู่ที่บางพลี จ.สมุทรปราการ

สาว "พริ้ง" เข้าเรียนมัธยมที่เซนต์โยเซฟคอนแวนต์ ถึงชั้น ม.2 แล้วไปเรียนต่อมัธยมที่อเมริกา ด้วยความชอบทางด้านแฟชั่นบวกกับมีโอกาสทำให้ช่วงปิดเทอม พริ้งมักจะกลับเมืองไทย มาฝึกงานเขียนเกี่ยวกับแฟชั่นที่หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ กระทั่งจบปริญญาตรี จาก ยูซี เบิร์กเลย์ (Univercity of California Berkley) สาขาประวัติศาสตร์ศิลป์ และโมเดิร์นแดนซ์

หลังเรียนจบทำงานโฆษณาอยู่ 3 ปี ระหว่างนั้นก็รับงานเต้น งานเขียน และเป็นครูสอนบัลเล่ต์ไปด้วย ทำงานประจำได้แค่ 3 ปี เริ่มรู้สึกว่าไม่มีอะไรท้าทายในชีวิตอีกต่อไป เรื่องการเรียนต่อจึงแวบเข้ามาในสมอง พริ้งตัดสินใจเดินทางไปเรียนต่อปริญญาโทด้านประวัติศาสตร์ศิลป์ ที่ฝรั่งเศส

เธอใช้เวลาเรียนภาษาคอร์สสั้นๆ 6 เดือน เวลาที่เหลือเปิดหูเปิดตาตามงานศิลปะหลากหลายที่ รวมทั้งงานแฟชั่นโชว์ จนเกิดอาการคันไม้คันมือจึงสมัครเรียนคอร์สแฟชั่นด้วยอีกหนึ่ง แล้วไปฝึกงานตามร้านต่างๆ คราวนี้ชีวิตเริ่มสนุก พริ้งเบนเข็มจากประวัติศาสตร์ศิลป์มาเอาจริงเอาจังด้านแฟชั่นแทน

ปัจจุบัน พริ้งแต่งงานแล้วและเปิดร้านรองเท้าของตัวเองที่ย่านชาโล ซึ่งถือเป็นย่านสุดฮิปอีกหนึ่งของปารีส มีดาราฝรั่งเศสให้ความสนใจมาอุด

หนุนอยู่ไม่ขาด

"รองเท้าพริ้งออกมาสามคอลเลคชั่นแล้ว ทั้งหมดนี้ไม่ได้มาง่ายๆ ต้องทำงานเยอะ และต้องมีความมุ่งมั่นกว่าคนอื่น"

และหากจะถามว่าเป้าหมายในชีวิตของผู้หญิงคนนี้คืออะไร

แน่นอนว่า "ขอแค่ให้แบรนด์พริ้งเกิดและขายครอบคลุมตลาดยุโรปเจาะตลาดอเมริกาและเอเชีย พอใจแล้วค่ะ" เป็นเสียงที่ออกมาจากปากเรียวของเธอ

"หลายคนรู้จักเธอแล้วต่างเอาใจช่วยกับความมุ่งมั่นของสาวคนนี้"

เปลี่ยนใจมาเรียนดีไซน์รองเท้าทำไม?

ที่จริงแล้วชอบเรื่องแฟชั่น และที่เรียนคอร์สแฟชั่นเป็นเรื่องของเสื้อผ้า แต่บังเอิญว่าน้องชายสามีเขาทำรองเท้าอยู่ และตอนนั้น "พธู" เขาจะขายโรงงานรองเท้า เลยเสนอสามีว่าสนใจไหม? จากนั้นจึงเริ่มมาศึกษาเรื่องของรองเท้าอย่างจริงจัง เป็นการศึกษาเองหมด แล้วพอได้เข้ามาคลุกคลีมากๆ กลายเป็นสนใจและชอบในที่สุด ตอนนี้ศึกษารองเท้าทุกชนิด ยกเว้นผ้าใบที่มันไฮเทคมาก

แต่ก็เป็นดีไซเนอร์ให้รองเท้าแบรนด์ฝรั่งเศสด้วย

ค่ะ เป็นเพราะความกล้าของเรามั้ง? แล้วเป็นคนไม่อีโก้ ให้ทำอะไรก็ทำจะเอาสไตล์ไหนบอกมาทำให้ได้ ราคาก็คิดไม่แพงด้วย เคยทำให้สวารอฟกี้ เขาเอาไปใช้เดินแบบ แล้วก็ทำให้แบรนด์รัสเซียแบรนด์หนึ่ง เป็นครั้งแรกที่เห็นรองเท้าตัวเองขึ้นแฟชั่นโชว์ที่ปารีส ตอนนั้นเป็นแฟชั่นโชว์เมื่อตุลาคม 2550 ภูมิใจมาก ตื่นเต้นมากๆ ตอนนั้นมีสองแบบทั้งหมด 30 คู่ เป็นแบรนด์คนอื่นแต่ดีไซน์โดยเรา กลับมาที่กรุงเทพฯ นั่งดูทีวีเห็นพอดี ทั้งแม่ทั้งลูกตื่นเต้นกันใหญ่ ส่วนของสวารอฟกี้ปีนี้ก็สั่งทำเป็นปีที่ 3 แล้ว และมีแบรนด์ฝรั่งเศสอีกแบรนด์หนึ่งชื่อ mars กำลังรุ่ง เขามีบูติคเยอะมาก ก็ให้ทำให้

เจอกันก็เพราะว่าหัวหน้าฝ่ายแอสเซสเซอร์รี่เขาเดินช็อปปิ้งอยู่ แล้วเดินเข้ามาที่ร้านของเรา ได้คุยกันรู้ว่าเราเป็นดีไซเนอร์เลยเรียกให้เข้าไปลองดีไซน์แบบให้ดู เราก็ลุยสเก๊ตช์ภาพไม่ได้หลับไม่ได้นอนเลย ทำไปประมาณ 20 กว่าภาพ ลงสีน้ำสวยงาม ปรากฏว่าเขาชอบเลยให้ดีไซน์ให้เราก็บอกเขาว่าเรามีโรงงานด้วยนะ เขาก็ถามว่าที่เมืองไทยทำได้เหรอ เราเลยลองขึ้นตัวอย่างให้เขาดู แล้วกลับมาเมืองไทยทำตัวอย่างด้วยตัวเองจนเขาประทับใจ สั่งทั้งหมดสามแบบจากไม่กี่สิบคู่ตอนนี้ออเดอร์ห้าพันคู่ คุณแม่จะเป็นลม

พอจะมาเป็นแบรนด์ของตัวเองทำไง?

โอ้ย..ปรึกษาเยอะมาก จนงงไปหมด.. ในที่สุดเชื่อตัวเราเองดีที่สุด เพราะว่าปรึกษาสิบคนทุกคนให้คำแนะนำสิบแบบ เลยไม่เอาแล้วเอาดีไซน์ในแบบที่เราชอบดีกว่าแล้วพยายามขายเท่านั้นแหละ เพราะคิดมากไปก็ปวดหัว เครียด นอนไม่หลับ

รสนิยมส่วนตัวใส่แบรนด์เนมไหม?

ส่วนมากใส่แบรนด์ไทย ฝรั่งเห็นก็จะชอบ เขาจะถามว่าใครดีไซน์ เราก็บอกว่า อ๋อ.. ดีไซเนอร์ไทย เราใส่โซดาหรือเซนาด้า เขาจะตื่นเต้นว่านี่จากเมืองไทยเหรอ เพื่อนๆ ก็ชอบ ดังนั้น ทุกครั้งที่กลับเมืองไทยก็จะไปเหมาโซดาเป็นส่วนใหญ่ แล้วก็จะมี sretsis kloset หรือว่าเกรฮาวน์ เป็นแบรนด์ไทยที่จะใส่เป็นส่วนมาก เพราะทำให้เราเด่นไม่ซ้ำใคร

ส่วนแบรนด์นอก จะชอบสไตล์มากกว่า ส่วนดีไซเนอร์จะชอบเป็นบางคน ต้องดูอะไรที่เหมาะกับเรา เพราะถ้าหากบางทีเราบ้าแบรนด์ คิดว่าใส่แล้วดูดี แต่ว่าเมื่อใส่แล้วไม่เหมาะกับเรา ไม่เข้ากับเรา มันก็ทำให้เรากลายเป็นตัวตลก พริ้งคิดว่าอะไรที่มันเป็นตัวเรา ดีที่สุด

แล้วอีกอย่างนะ รองเท้าดังๆ เวลานี้อย่างแบรนด์ที่ว่า เมดอินอิตาลี เดี๋ยวนี้ทำที่เมืองจีนทั้งนั้น แค่มาเย็บที่อิตาลีในขั้นตอนสุดท้าย แบรนด์ดังๆ เขาก็ใช้แรงงานเมดอินไชน่าทั้งนั้น ไม่อยากพาดพิง คือในส่วนของแพทเทิร์นทุกอย่างจะจ้างให้จีนทำหมด ค่าทำตัวอย่างที่อิตาลีน่ะแพงมากๆ

พอมาเป็นแบรนด์พริ้งเลยเมดอินไทยแลนด์

ใช่ ตั้งโรงงานของตัวเองเลยที่สมุทรปราการ คุณแม่เป็นคนคุมตอนนี้ ช่างก็เก่งๆ ทั้งนั้น คนไทยเรามีฝีมือนะ ตอนแรกก็ลังเลจะบอกดีไหมว่า เมดอินไทยแลนด์ เพราะบางคนเขาก็มีข้อแม้ว่าไม่ได้เมดอินอิตาลีเหรอ ไม่ได้เมดอินฝรั่งเศสเหรอ แต่พริ้งก็ยืนยันคุณภาพ เรื่องของความปราณีต ว่าเราไม่แพ้ใคร ตอนนี้ลูกค้าเริ่มติดใจ บางคนซื้อทีละ 5-6 คู่ และมีลูกค้าประจำเยอะเหมือนกัน

ช่างที่ทำเป็นคนจากไหน?

ช่างมาจากอีสานเยอะมาก พลิกแผ่นดินหากว่าจะได้ ไปหากับคุณแม่ ไปตามโรงเรียนของรัฐบาลที่เขามีสอนช่าง ตอนแรกให้เชิญอาจารย์มาแต่เขาไม่ค่อยสู้งาน แล้วอีโก้สูง อีกอย่างโดนเขาหลอกไปเยอะ ให้เราไปซื้อเครื่องมือมาปรากฏว่าใช้ไม่ได้ หมดไปเป็นแสน...เซ็งมาก ในที่สุดก็ค่อยๆ เรียนรู้ ไป จะใช้วิธีไปยืมรองเท้าเพื่อนบ้าง รองเท้าตัวเอง ของคุณแม่บ้าง เอามาให้ช่างดู

ส่วนตัวพริ้งเวลาออกแบบสิ่งที่ยาก คือ เรื่องเทคนิค ด้วยความที่เราไม่ได้เป็นช่าง บางทีเราอยากให้รองเท้าเป็นแบบนี้ แต่เทคนิคมันทำไม่ได้ เราก็ต้องไปหาว่าทำยังไงให้ทำได้ บางทีวาดออกมามันไม่เหมือนกับอธิบายให้ช่างฟัง เราก็จะหาแบบให้ช่างดูว่าอยากได้แบบไหน เราต้องแก้ปัญหาด้วยกันกับช่าง

รองเท้าพริ้งหาวัสดุจากไหน ราคายังไง ถึงถือว่าเจ๋ง

เราใช้หนังจากอิตาลี ฝรั่งเศส มีหนังของไทยด้วย และเวลานี้อยากจะหันมาเลือกใช้หนังของไทยมากขึ้น แต่ว่า..คุณภาพหนังของอิตาลีมันดีกว่าจริงๆ ซึ่งเริ่มตั้งแต่ตัววัว การเลี้ยงดูวัวหรือเปล่าก็ไม่รู้ แล้วก็เทคนิคการฟอก คือหนังไทยเห็นเหมือนมีรอยเฆี่ยนนะ (หัวเราะ)

สำหรับพริ้งรองเท้าจะชอบใช้หนังแพะ เพราะมันนิ่ม ใส่แล้วทนและสบายกว่าหนังวัว แล้วการทำรองเท้าแฮนด์เมดมันต้องดึง หนังแพะจะดึงง่ายกว่าหนังวัว หนังวัวบางทีมันแข็ง ดึงยาก แต่ถ้าเป็นรองเท้าโรงงานใหญ่ เขาจะใช้หนังวัวเยอะ เพราะเขามีเครื่องจักร ตอนนี้เพิ่งได้หนังแก้วสีดำมา เป็นหนังแกะมาจากโรงฟอกไทย

ส่วนราคา รองเท้าพริ้งจะอยู่เฉลี่ยราคาคู่ละประมาณ 200 ยูโร (9,000 บาท) เพราะลุคของเราดูดี ดูแพง แต่ว่าถูกกว่าของแบรนด์เนมที่เป็นตลาดกลุ่มเดียวกันอย่าง มิวมิว มาร์กจาคอบ ของเขา 400 ยูโรขึ้นไป

ช่วงที่มีเซลจะขายได้เยอะมาก แต่กฎหมายของประเทศฝรั่งเศสเขาห้ามจัดเซลส์ตามใจชอบ และเวลาเซลส์ก็ต้องเต็มที่ สุดสุดก็ 60% คิดว่าถ้าเจาะตลาดนี้ได้แล้วเราจะทำแบรนด์ที่ราคาต่ำลงได้

ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นใคร?

ทั่วๆ ไป บางทีได้จากการออกงานจัดบู๊ธบ้าง หรือผ่านมาที่หน้าร้านบูติคโดยบังเอิญ บางครั้งเราเข้าไปหาเขาเองก็มี อย่างมีผู้หญิงคนหนึ่งเขาเป็นดีไซเนอร์ทำสร้อยคอจิวเวลรี่ แล้วเขาไปโชว์ที่อัมสเตอดัมแฟชั่นวีค เขามาชวนพริ้งให้ไปโชว์รองเท้ากับเขา เราก็ไป แล้วในงานเดียวกันนี้มีบูติคหรูขายแต่แบรนด์เนม เขามาดูแฟชั่นโชว์เห็นรองเท้าเราก็ชอบ เข้ามาติดต่อ

ส่วนลูกค้าที่เดินเข้ามาในบูติคมีทุกรูปแบบ แม้แต่ผู้ชายก็อยากมาซื้อ ถามว่ามีไซซ์ 44-45 ไหม หรือเป็นเซเลบริตี้ก็มี ดาราก็มี พริ้งไม่ค่อยรู้จัก แต่ถ้าเพื่อนอยู่เพื่อนเขารู้เขาจะคอยบอกว่านี่คือดาราฝรั่งเศส

รองเท้าของพริ้งส่วนมากลูกค้าเขาบอกว่าชอบเพราะไม่ซ้ำแบบใคร หาที่อื่นไม่ได้ (ยิ้ม)

เอาไอเดียมาจากไหน?

พยายามไปดูนิทรรศการให้มากที่สุด ไปดูว่ามีอะไรเกิดขึ้น เพลง คอนเสิร์ต งานแสดง อย่างน้อยสัปดาห์หนึ่งต้องไปดู-ไปดูอะไรก็ได้ มันจะมีงานแบบอาร์ตโอเพ่นนิ่ง พยายามไปคุยกับเพื่อนบ้าง คนรู้จักบ้าง ได้ไอเดียตลอด แต่จะไม่ซื้อแมกกาซีนแฟชั่นมาดู ไม่อยากซึมซับโดยไม่รู้ตัว เพราะถ้าเป็นอย่างนั้นของๆ เราจะออกไปเหมือนแบรนด์อื่น ถ้าหากดูจะดูแมกกาซีนอาร์ตมากกว่า

เด็กไทยมาเรียนแฟชั่นที่ฝรั่งเศสเยอะไหม?

เยอะค่ะ เยอะขึ้นมาก และก็ได้รับคำชื่นชมจากอาจารย์เยอะ พริ้งมีเพื่อนที่เป็นดีไซเนอร์ แต่รุ่นโตกว่า เขาจะชมให้ฟังตลอดว่าเด็กไทยเก่ง

คลุกคลีในวงการแฟชั่นอย่างนี้มองว่าแบรนด์ไทยจะไประดับโลกได้ไหม?

ได้ค่ะ แต่ถ้าจะให้เกิดจริงๆ รัฐบาลและเอกชนต้องช่วยสนับสนุนอย่างจริงจัง เพราะปัญหาหลักแฟชั่นของเมืองไทย คือภาคดีไซเนอร์กับอุตสาหกรรมไม่ประสานงานกัน ดีไซเนอร์จะไม่มีทางไปรอดถ้าไม่มีอุตสาหกรรมรองรับ

อย่างการตั้งโรงงานเองมันยากเย็นมาก แต่มันก็ทำให้เราไปได้ไกลกว่าคนอื่น เพราะเราไม่ต้องมานั่งง้อโรงงานชาวบ้าน แล้วเราต้องการคุณภาพความแน่นอน ส่งตรงเวลา แต่อย่างพวกยังดีไซเนอร์ ถ้าเขาไปซื้อผ้าสำเพ็งมาแล้วไม่มีผ้าขายจะทำยังไง คือโรงงานเสื้อผ้าไทยมีเยอะ ดีไซเนอร์ก็เยอะ แต่ไม่ร่วมมือกัน โรงงานก็เอาแต่ก๊อบปี้แบรนด์เนม ดีไซเนอร์ก็ทำแต่ซี่รี่ย์เล็กๆ พริ้งมองว่าถ้าร่วมมือกันน่าจะไปได้ไกล รัฐบาลก็ต้องมีแผนงานเป็นเรื่องเป็นราว อาจจะต้องยอมลงทุนอย่างน้อย 2 ปีติดต่อกัน

แล้วอยู่เมืองแฟชั่นนานๆ คนฝรั่งเศสเป็นยังไง?

คนปารีสเขาจะตรงกันข้ามกับคนอิตาลี เขาจะไม่ฉูดฉาด จะใส่แต่สีดำ คือวัฒนธรรมของฝรั่งเศสเขาจะไม่โอ้อวด แต่เขาจะชอบทำตัวคลาสสิคเรียบๆ ที่คนมักพูดกันว่า ฝรั่งเศสคือเมืองแฟชั่น เพราะว่าแฟชั่นมันเป็นวัฒนธรรมของเขา เหมือนอยู่ในสายเลือด ไม่ว่าจะเป็นความพิถีพิถัน ความละเอียดละมุนละไม ทุกดีเทลต้องเฟอร์เฟ็คต์ อะไรอย่างนี้ แล้วมีความสวยงามในสายเลือด แต่มันไม่เกี่ยวกับการโชว์ออฟแบบสไตล์ของอเมริกาหรืออิตาลี ที่ต้องใส่เพชรเยอะๆ แต่ที่นี่เขาแค่มุกเส้นเดียว ให้มันพอดี ไม่เกินเลย

แล้วพริ้งเป็นยังไง?

แรง- -จะแต่งตัวแรง ใส่สายเดี่ยว นุ่งผ้าถุง อะไรอย่างนี้ ชอบสะสมผ้าไทย ชอบนุ่งโสร่ง เป็นคนชอบแต่งตัว ชอบศิลปวัฒนธรรม ชอบหมดเลย ดนตรีก็ชอบ เรียนเต้นด้วย เป็นมาตั้งแต่เด็กแล้ว ถึงเป็นลูกคนเดียวแต่ที่บ้านให้อิสระ

"ที่บ้านเขาชินแล้วว่าเราเป็นอย่างนี้"


หน้า 17
http://www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01fun01100552&sectionid=0140&day=2009-05-10

Hotmail® has ever-growing storage! Don't worry about storage limits. Check it out.