| วันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11383 มติชนรายวัน
เที่ยวเชียงราย แวะเยือน"วัดพระแก้ว"
คอลัมน์ บันทึกเดินทาง
โดย ศุทธนุช วิริยะพินิจ
พระอุโบสถวัดพระแก้วท่ามกลางไม้นานาพันธุ์
บรรยากาศรอบๆ วัด ร่มรื่น สงบ
| เชียงราย เป็นอีกจังหวัดหนึ่งทางภาคเหนือ ที่มีแหล่งท่องเที่ยวไม่น้อยหน้าใคร ทั้งสถานที่ท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ และโบราณสถาน
อีกทั้งเป็นจังหวัดที่มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศลาวและพม่า บริเวณ "สามเหลี่ยมทองคำ" จึงเป็นที่รู้จักและได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ ว่าครั้งหนึ่งเคยเป็นแหล่งซื้อขายยาเสพติดระดับโลก
อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ก็มีโบราณสถานสำคัญหลายแห่ง ในฐานะที่เป็นเมืองโบราณที่มีประวัติความเป็นมายาวนาน
แม่สาย อำเภอชายแดนที่ติดพม่า เป็นแหล่งที่มีการค้าทั้งสองประเทศอย่างมีนัยสำคัญ ตลาดแม่สายฝั่งพม่า เป็นศูนย์กลางซื้อขายสินค้าเลียนแบบจากประเทศจีน คนไทยมักจะข้ามไปซื้อสินค้าเลียนแบบประเภท เสื้อผ้า กระเป๋า แผ่นดีวีดี จิปาถะอื่นๆ อีกมากหลาย ในขณะที่ชาวพม่าก็ข้ามมาฝั่งไทย เพื่อหาซื้อสินค้าอุปโภคและบริโภคกลับไปขายในบ้านเมืองของตน
ส่วนนักท่องเที่ยวที่ชอบธรรมชาติ มักขึ้นไปที่ "ดอยตุง" เพื่อเยี่ยมชมพระตำหนักดอยตุง สถานที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงพลิกฟื้นผืนป่าที่ถูกทำลายจากชาวเขา เพื่อถางทำไร่เลื่อนลอย ปัจจุบันกลายเป็นป่าไม้อุดมสมบูรณ์ ทั้งยังโปรดให้ปลูกไม้ดอกไม้ประดับเป็นสวนสวยงามมีพรรณไม้นานาพันธุ์ กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญควบคู่กับพระธาตุดอยตุง
อีกดอยหนึ่งที่มีนักท่องเที่ยวขึ้นไปเยี่ยมชมไม่น้อย คือ "ดอยแม่สลอง" ถิ่นพำนักของกองพลทหารจีนที่ 93 ปัจจุบันกลายเป็นชุมชนจีนขนาดใหญ่ ครั้งหนึ่งก็สร้างปัญหาให้กับประเทศไทย เพราะชาวจีนบนดอยแม่สลองนิยมปลูกฝิ่นขาย ทำให้เกิดยาเสพติดทั้งฝิ่นและเฮโรอีน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยโครงการพระราชดำริได้แก้ปัญหาให้มีการปลูกพืชทดแทน จนการปลูกฝิ่นสูญสิ้นไปจากดินแดนแห่งนี้ พระแก้วหยกจำลอง แทน พระแก้วมรกต
พระพุทธรูปแกะสลักจากไม้ในพิพิธภัณฑ์
พระเจ้าล้านทอง
ภายในพิพิธภัณฑ์
|
ปัจจุบันนอกจากมีการปลูกพืชเมืองหนาวแล้ว บนดอยแม่สลอง ก็มีการปลูกชาพันธุ์ดี เช่น ชาอู๋หลง ซึ่งมีนักธุรกิจไต้หวันมาลงทุน โดยเฉพาะการปลูกชาและปลูกขิง ซึ่งกลายเป็นพืชส่งออกที่ทำรายได้ให้กับชาวจีนบนดอยแม่สลอง
ในตัวเมืองเชียงรายแม้จะไม่มีโบราณสถาน ดังเช่นจังหวัดภาคเหนืออื่นๆ เช่น เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แต่ในตัวเมืองก็มีวัดเก่าจำนวนไม่น้อย
โบราณสถานส่วนใหญ่มักจะเสื่อมสลายพังไปตามกาลเวลา ส่วนที่เหลืออยู่ก็มีร่องรอยของความเป็น "เมืองประวัติศาสตร์"
"วัดพระแก้ว" จ.เชียงราย ถือได้ว่าเป็นวัดสำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดนี้ ด้วยว่าเคยเป็นที่ประดิษฐานของ "พระแก้วมรกต" มาตั้งแต่ พ.ศ.1977 ก่อนที่จะย้ายไปประดิษฐานตามสถานที่ต่างๆ จนวัดพระศรีรัตนศาสดาราม กรุงเทพมหานครในที่สุด
แม้ปัจจุบันจะมีแต่ "พระแก้วจำลอง" ที่แกะสลักจากหยก ยังมีนักท่องเที่ยวมากราบไหว้สักการะอยู่ตลอด
ที่วัดพระแก้วแห่งนี้ยังมีคุณค่าอื่นๆ อีกมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "เจ้าอาวาส" ที่เห็นการณ์ไกล ได้ปรับปรุงบริเวณวัดให้งดงาม ร่มรื่น สมกับเป็นพระอารามทางพุทธศาสนา ที่มุ่งให้ผู้ที่เข้าวัดได้รับความร่มรื่นทางกายจากสภาพแวดล้อม และทางจิตใจนั้น วัดมีส่วนสำคัญในการชักนำให้ผู้คนน้อมนำ รับเอาคุณค่าทางธรรมะ ชำระจิตใจบริสุทธิ์ ส่งผลให้เกิดศีลสมาธิและปัญญาในที่สุด
เจ้าอาวาสพระอารามหลวงแห่งนี้ คือ "ท่านเจ้าคุณพระธรรมราชานุวัตร" (สุทัศน์ สุทสฺสโน) ซึ่งนอกจากจะเป็นเจ้าอาวาสวัดพระแก้วนี้แล้ว ท่านยังมีตำแหน่งทางด้านการบริหารคณะสงฆ์ เป็นเจ้าคณะภาค 6 ดูแลการคณะสงฆ์ในภาคเหนืออีก 5 จังหวัด คือ ลำปาง แพร่ น่าน พะเยา และเชียงราย
ท่านเจ้าคุณพระธรรมราชานุวัตรมักจะออกตัวว่าวัดพระแก้วเป็นวัดเล็กๆ พื้นที่จำกัด การที่จะพัฒนาให้ดูสวยงามและร่มรื่นนั้น เป็นเรื่องที่ทำได้ยากมาก ท่านจึงประยุกต์ความร่มรื่นของพันธุ์ไม้หลากชนิดให้เข้ากับสิ่งก่อสร้างภายในวัด ซึ่งมีอาคารถาวรวัตถุเช่นเดียวกับวัดอื่นๆ แต่ท่านได้ออกแบบก่อสร้างอย่างมีระเบียบแบบแผน และลงตัวในแง่ของสถาปัตยกรรมและสิ่งแวดล้อม ดังอาคารของตัวพระอุโบสถ เป็นต้น พระธาตุดอยตุงที่ได้บูรณะปฏิสังขรณ์แล้ว
เจดีย์แก้วบรรจุพระธาตุจำนวนมาก
โบราณสถานในวัด พระธาตุผาเงา อ.เชียงแสน
ร้ายขายชา บนดอยแม่สลอง
ด้านหน้าห้องน้ำในวัด แสนจะสะอาด
สวนดอกไม้สวยงามบนดอยตุง
(ภาพกลาง) พระธรรมราชานุวัตร เจ้าอาวาส
|
วัดพระแก้วแห่งนี้ นอกจากจะมีศาสนสถานสำหรับพุทธศาสนิกชน และนักท่องเที่ยวได้นมัสการพระเจ้าล้านทอง ซึ่งเป็นพระประธานในพระอุโบสถ และพระแก้วหยก ณ หอพระแก้วแล้ว ที่วัดนี้ยังให้ความสำคัญกับ "วัฒนธรรมท้องถิ่น" โดยการสร้างพิพิธภัณฑ์ประจำวัดขึ้น
พิพิธภัณฑ์ของท่านเป็นพิพิธภัณฑ์ขนาดย่อมที่ผู้ไปเยี่ยมชมมักจะได้รับความประทับใจในการได้นมัสการ "พระธาตุ" จำนวนมาก แทบจะเรียกได้ว่าไม่เคยเห็นองค์พระธาตุจำนวนมากมายเช่นนี้จากวัดที่ใดๆ มาก่อน
ท่านเจ้าคุณพระธรรมราชานุวัตรได้เก็บรวบรวมมาไว้ในพิพิธภัณฑ์ ถ้าเป็นวัดอื่นๆ คงจะหาผลประโยชน์จากปวงพระธาตุเหล่านี้มิใช่น้อย แต่ที่วัดพระแก้วท่านเจ้าอาวาส ไม่ให้ความสำคัญกับการเรี่ยราย แม้จะมีตู้รับบริจาคตั้งอยู่บ้าง ก็เพื่อสนองความประสงค์ของพุทธศาสนิกชนที่มีจิตศรัทธาอยากทำบุญมากกว่าจะตั้งใจหารายได้จริงๆ จังๆ
ท่านเจ้าอาวาสมีนโยบายไม่ต้องการให้บอกบุญบริจาค ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดๆ เพราะท่านเห็นว่า "การถือศีลและภาวนาไม่ต้องใช้ทรัพย์และไม่ยุ่งยากเหมือนการทำทาน" แต่ก็เป็นหนึ่งในการทำบุญเหมือนกัน และยังเป็นการทำบุญขั้นสูงกว่า
ทั้งนี้ ปัจจุบันผู้คนเข้าใจผิดเรื่องการทำบุญหรือบุญกิริยาวัตถุ ประกอบด้วยการให้ทาน รักษาศีลและภาวนา โดยเน้นทำบุญด้วยการให้ทานเพียงอย่างเดียว แต่ขาดการรักษาศีลและภาวนา จึงทำให้เห็นว่าท่านเจริญรอยตามพระบรมศาสดาที่มุ่งในการเผยแผ่พุทธศาสนาให้เกิดขึ้นในใจคน
นอกจากนี้ ท่านเจ้าคุณพระธรรมราชานุวัตรยังตระหนักถึงความสะอาดรอบๆ บริเวณวัด เวลาเข้าไปในวัดพระแก้วจะเห็นพระเณรกวาดบริเวณวัดอย่างขยันขันแข็ง สิ่งสำคัญสำหรับรองรับนักท่องเที่ยวหรือผู้มาแสวงบุญก็คือ "ห้องน้ำ" วัดจำนวนไม่น้อยห้องน้ำส่วนใหญ่มักจะสกปรกเหม็นฟุ้งกระจาย แต่ที่วัดพระแก้วแห่งนี้ ห้องน้ำไม่หรูหรา แต่สะอาดพอควร สำหรับรองรับญาติโยมที่ไปเที่ยว
วัดพระแก้ว เชียงราย จึงสมควรเป็นวัดตัวอย่างที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย น่าจะได้พาพระอธิการที่มีตำแหน่งบริหารตั้งแต่เจ้าอาวาส ไปเยี่ยมชมเพื่อเป็นแบบอย่างในการพัฒนาวัด โดยเฉพาะจะได้ปลงในเรื่องการหารายได้เข้าวัด ว่ามิใช่เป็นกิจของสงฆ์ เพราะถ้าวัดดีพร้อมในด้านต่างๆ แล้วเชื่อได้ว่ามีคนอยากทำบุญอย่างเป็นกอบเป็นกำแน่นอน
นโยบายสำคัญของท่านอีกประการหนึ่งที่วัดต่างๆ ควรพิจารณาดำเนินตาม คือการสร้างอาคารถาวรวัตถุ ซึ่งท่านเจ้าคุณพระธรรมราชานุวัตรไม่เห็นด้วยกับการสร้างอาคารใหญ่โตสิ้นเปลืองทุนทรัพย์ ทั้งยังต้องไปเบียดเบียนญาติโยม ทำให้ปัจจุบันภาพลักษณ์ของพระสงฆ์ดูเหมือนขายสวรรค์ขายนิพพาน
สำหรับชาวบ้านในละแวกวัดพระแก้วนับว่าโชคดีกว่านักท่องเที่ยว เพราะมีโอกาสได้เจริญภาวนา ทำวัตร สวดมนต์ ตลอดจนฟังเทศน์ สนทนาธรรมกับพระภิกษุสงฆ์ภายในวัด โดยวัดได้จัดกิจกรรมสำหรับญาติโยมอยู่ตลอด ซึ่งถ้าวัดอื่นๆ สามารถจัดให้มีการเผยแผ่ธรรมะสำหรับนักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทยและต่างชาติ ก็จะยิ่งทำให้วัดและพระสงฆ์มีบทบาทที่สำคัญยิ่งต่อการท่องเที่ยวมิใช่น้อย ซึ่งเรื่องนี้คงเป็นเรื่องใหญ่ที่จะต้องศึกษาและวางแผนอย่างเป็นระบบ
"เพื่อที่จะช่วยให้วัดเป็นส่วนหนึ่งของการจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนต่อไป"
หน้า 23 http://www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01tra01100552§ionid=0139&day=2009-05-10 | | | |