วันอังคารที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

พุทธมีหลากหลาย"สำนัก" ในประวัติศาสตร์ไทย

วันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11386 มติชนรายวัน


พุทธมีหลากหลาย"สำนัก" ในประวัติศาสตร์ไทย


คอลัมน์ สยามประเทศไทย

โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ



พุทธศาสนาแบบรวม หรือแบบหลากหลาย ควรเป็นพุทธศาสนาแบบเก่าสุดตั้งแต่แรกเข้ามาประดิษฐานในสุวรรณภูมิ

สมมุติว่าพุทธศาสนาในอินเดียยุคพระเจ้าอโศก เป็นพุทธศาสนาบริสุทธิ์ผุดผ่อง เป็นของแท้ไม่มีอะไรเจือปน(ขอย้ำว่า สมมุติๆ ไม่ใช่จริงๆ)

เมื่อหัวหน้าเผ่าพันธุ์สุวรรณภูมิยอมรับนับถือพุทธแต่โดยดี(ความจริงมีการงัดข้อสูงมาก) ก็ต้องเปลี่ยนจากศาสนาเดิมของตนคือผี(หรือศาสนาผี)มานับถือพุทธ

แต่ผีไม่ได้หมดไปสิ้นซากจากความเชื่อที่มีมานานมาก ฉะนั้นหัวหน้าเผ่าพันธุ์ที่รับพุทธแล้ว จึงต้องรักษาพิธีกรรมผีบางอย่างไว้ เช่น ทำขวัญ แล้วดัดแปลงพิธีทำขวัญของผีให้กลมกลืนกับพุทธ เช่น มีพิธีทำขวัญนาคก่อนบวชเป็นภิกษุ เป็นต้น

นี่แหละ น่าจะเป็นการประสมกลมกลืนระหว่างพุทธกับผีเป็นครั้งแรก แล้วต่อจากนั้นจะมีตามมาอีกมาก


กว่าจะเป็นศาสนาพุทธที่เรารู้จักอย่างดีสมัยนี้ ได้ผ่านกาลเวลามานานราว 2,000 ปี ผ่านรัฐต่างๆหลายรัฐ เช่น ทวารวดี, "ศรีวิชัย", ละโว้, อโยธยา, ฯลฯ แล้วยังผ่านลัทธินิกายอีกหลากหลาย เช่น ลังกาวงศ์(เก่า) มีพระพุทธสิหิงค์เป็นสัญลักษณ์, ลังกาวงศ์(ใหม่) มีพระแก้วมรกตเป็นสัญลักษณ์ เป็นต้น

ฉะนั้น พุทธที่เราคิดว่ารู้จักดีนี้ ต่างจากพุทธยุคสุวรรณภูมิไปแล้ว ซึ่งต้องไม่เหมือนพุทธของพระเจ้าอโศกแหงๆ แต่เป็นยังไง? ไม่รู้

คนไทยทั่วไปมักสรุปว่าพุทธในประวัติศาสตร์ไทย ย่อมงดงามสมถะเป็นเนื้อนาบุญอันหนึ่งอันเดียวกันทั้งประเทศเยี่ยงพุทธปัจจุบัน ทั้งๆปัจจุบันก็ไม่ได้เป็นหนึ่งเดียว

ประเด็นนี้ อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ อ้างถึงงานวิจัยของกมลา ติยวณิชย์ แล้วสรุปได้ว่า

"ก่อนการปฏิรูปการปกครองคณะสงฆ์ในสมัยรัชกาลที่ 5 นั้น พุทธศาสนาของไทยประกอบด้วย"สำนัก"ของอาจารย์ต่างๆจำนวนมาก สำนักเหล่านี้ตีความพระวินัยแตกต่างกัน ซึ่งทำให้มีวัตรปฏิบัติที่แตกต่างกัน หรือแม้แต่การให้จุดเน้นแก่คำสอนก็แตกต่างกันมาก หาได้มีพระพุทธศาสนาที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันไม่ แม้ในเมืองเดียวกันก็อาจมีสำนักที่แตกต่างกันหลายสำนัก หรือแม้แต่ในกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกัน ก็มีสำนักที่ต่างกันเองด้วย

นอกจากนี้แต่ละสำนักก็มีการผสมกลมกลืน (syncretism)กับศาสนาอื่นๆ ในข้อนี้ต้องเข้าใจด้วยว่าศาสนาอื่นๆที่เข้ามาผสมปนเปนั้นย่อมแตกต่างกันในแต่ละท้องถิ่น บางท้องถิ่นเคยเป็นศูนย์กลางการศึกษาของศาสนาฮินดู หรือพุทธมหายาน บางท้องถิ่นไม่ใช่ แต่อาจเคยเป็นแหล่งที่การนับถือผีมีความแข็งแกร่ง

ฉะนั้นแม้แต่ยอมรับว่าพุทธศาสนาไทยได้ผสมกลมกลืนกับศาสนาอื่น ผลบั้นปลายของการผสมกลมกลืนก็ยังแตกต่างกันในแต่ละสำนักอยู่นั่นเอง"

พุทธศาสนาที่มีจารีตแตกต่างหลากหลายเช่นนี้แหละ อาจารย์นิธิบอกว่าเป็นศาสนาของชาวนาแบบหนึ่ง และของราชสำนักก็เป็นอีกแบบหนึ่ง ในที่นี้ขอเรียกว่าพุทธศาสนาแบบรวม หรือพุทธศาสนาแบบหลากหลาย ซึ่งแตกต่างจาก "พุทธศาสนาแห่งชาติ" ที่เพิ่งเกิดขึ้นในสมัย ร. 5 นี้เอง

เมื่อพุทธจริงๆ มีหลากหลาย การตีความอธิบายต่างๆย่อมหลากหลายด้วย ไม่ว่าเรื่องเถรวาทหรืออาจารยวาท ฯลฯ


หน้า 20
http://www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01pra03130552&sectionid=0131&day=2009-05-13


Insert movie times and more without leaving Hotmail®. See how.