วันอาทิตย์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2552

"พลังของคนหัวรั้น" ปั้นโลกใหม่ให้น่าอยู่(กว่าเดิม)

วันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11426 มติชนรายวัน


"พลังของคนหัวรั้น" ปั้นโลกใหม่ให้น่าอยู่(กว่าเดิม)


โดย ศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์ siripong@kidtalentz.com



ในรอบอาทิตย์นี้ผมได้ยินคนพูดเรื่องกิจการเพื่อสังคม หรือที่เขาใช้ภาษาอังกฤษว่า โซเชียล เอ็นเตอร์ไพรส์ อยู่สองสามหน ก็แปลกใจอยู่เหมือนกันว่ามันเกิดอะไรขึ้น ไม่ใช่ได้ยินอย่างเดียว ได้อ่านแทบทุกวัน

มีหนังสืออยู่เล่มหนึ่งที่ผมแนะนำว่า อย่าไปอ่านถ้าไม่สนใจว่าคนส่วนใหญ่ในโลกใบนี้จะอยู่อย่างไร กินอย่างไร อนาคตจะเป็นอย่างไร แต่ถ้าสนใจสักนิดหนึ่ง เพราะหากฐานพีระมิดมันพังลงมา ส่วนที่อยู่ถัดๆ ขึ้นไปของพีระมิดก็ไม่อาจจะดำรงอยู่ได้ หรืออยู่ได้ก็ไม่ใช่ชีวิตอย่างที่อยากอยู่ ก็ลองไปหามาอ่านดูกันครับ

หนังสือยังไม่ออกวางตามร้านหนังสือ แต่ขอเอามาบอกไว้ก่อนว่าชื่อ "พลังของคนหัวรั้น" จะได้ติดตามกันได้

หนังสือเล่มนี้เล่าเรื่องความสำเร็จของกิจการเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ชี้ให้เห็นความสำคัญอย่างยิ่งยวดของกิจการแบบนี้ สรุปให้เห็นเป็นบทเรียนว่าเขาทำกันมาอย่างไร และเราจะทำอย่างไรได้บ้าง

ปรัชญาทุนนิยมเสรีของ มิลตัน ฟรีดแมน ที่ว่าหน้าที่อย่างเดียวของธุรกิจคือการทำกำไรสูงสุด แล้วทุกๆ ส่วนจะดีขึ้นเอง ไม่ค่อยมีคนเชื่อเท่าไหร่แล้ว เพราะยิ่งมายิ่งไป ฐานพีระมิดยิ่งถ่างกว้างออกทุกที เพราะการแข่งขันเสรีที่แท้นั้นไม่มีอยู่จริง ผลของการแข่งขันเสรีที่เชื่อถือกันมันก็บิดเบี้ยวไปตามแต่ละสภาพแวดล้อมของแต่ละสังคม

ผลในขั้นสุดท้ายของระบบแบบนี้ก็คือการพังทลายของชีวิตคนที่อยู่ในฐานพีระมิดของสังคม ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศทุกประเทศและของโลกทั้งใบ

กิจการเพื่อสังคมที่ว่ากันมานั้นก็คือสิ่งที่เกิดขึ้นจริง อุบัติขึ้นจากสภาพความเป็นจริง ที่อยากจะให้ส่วนฐานของพีระมิดมันแคบลงๆ

แต่ว่าระบบความคิดความเชื่อ หรือแม้แต่ในความเป็นจริงที่ธุรกิจกระแสหลักเผชิญอยู่ ไม่อาจจะทำให้มาสนใจฐานส่วนนี้ เพราะมันไม่ทำกำไร เป็นความโหดร้ายของชีวิตของคนทั้งโลกเลยทีเดียว

เอาตัวอย่างที่ตัดตอนจากหนังสือ "พลังของคนหัวรั้น" ไปเลยดีกว่า จะได้เห็นภาพ

OneWorld Health เป็นบริษัทยาไม่แสวงหากำไรแห่งแรกในอเมริกา มีพันธกิจและโมเดลธุรกิจที่ไม่ธรรมดาอย่างยิ่ง เพื่อพัฒนายารักษาโรคร้ายที่คุกคามคนที่ยากจนที่สุดในโลก องค์ประกอบหลักสองประการขององค์กรนี้ก็คือ เริ่มแรก ทีมนักวิทยาศาสตร์ค้นหาสูตรยาที่น่าจะใช้การได้ นำมาทดลอง และยื่นขออนุญาตจากทางการ หลังจากนั้น OneWorld Health จะทำสัญญาผลิตและจัดจำหน่ายยากับบริษัทและองค์กรในประเทศกำลังพัฒนา เพื่อให้มั่นใจได้ว่าผู้ป่วยยากจนจะมีกำลังซื้อและเข้าถึงยานี้อย่างยั่งยืน และสัญญาดังกล่าวก็นับเป็นการบุกเบิกเส้นทางใหม่ในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศเหล่านั้นด้วย

เป้าหมายของ OneWorld Health คือการแยกขีดความสามารถในการทำกำไรออกมาจากยาที่รักษาโรคร้ายได้ บริษัทนี้ใช้งานวิจัยแนวโน้มดีในอุตสาหกรรมเป็นพลังคานงัดเพื่อส่งมอบยาช่วยชีวิตให้กับผู้ป่วยที่ต้องการยาที่สุด มีผู้ประเมินว่ามีค่าใช้จ่ายเพียงร้อยละ 10 ของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพในแต่ละปีที่ใช้จัดการร้อยละ 90 ของโรคหรืออาการป่วยทั่วโลก ข้อเท็จจริงที่น่าตกใจคือ ในบรรดายาประมาณ 1,500 ตัวที่ได้รับอนุมัติในรอบ 25 ปีที่ผ่านมา มีไม่ถึง 20 ชนิดที่ใช้รักษาสิ่งที่เรียกว่า "โรคที่ถูกละเลย" นั่นคือ โรคติดต่อร้ายแรงที่คนจนเป็นมากกว่าคนรวยหลายเท่า

โครงการพัฒนายาขั้นต้นโครงการแรกของ OneWorld Health เป็นการต่อยอดยาปฏิชีวนะที่หมดอายุสิทธิบัตรและไม่มีใครผลิตแล้ว เพื่อรักษาโรคลิชมาเนีย ซึ่งเป็นโรคพยาธิที่คร่าชีวิตคนเป็นอันดับสองของโลกรองจากมาลาเรีย ก่อนหน้านี้ไม่มีใครผลิตยาดังกล่าวเพราะมันทำกำไรไม่ได้ แต่แล้วเมื่อเร็วๆ นี้กลับมีผู้ป่วยโรคนี้เพิ่มขึ้นกว่าครึ่งล้านคนต่อปีในสามทวีป OneWorld Health ทดลองยาขั้นที่สามสำเร็จในปี 2006 และได้รับอนุมัติให้ใช้ยานี้ในอินเดีย นอกจากนี้ บริษัทยังมีโครงการวิจัยยารักษาโรคมาลาเรียและกำลังพัฒนาชุดยารักษาอหิวาตกโรค โดยเน้นการหาวิธีรักษาเด็ก

ยาจำเป็นที่คนยากจนส่วนใหญ่ต้องการ แต่บริษัทยาไม่ผลิตหรือพัฒนาต่อเพราะไม่มีกำไร OneWorld Health สร้างกระบวนวิธีใหม่ทำให้มันนำมาใช้ได้ และไม่ใช่องค์กรที่ขาดทุน...น่าสนใจไหมครับ

หน้า 6

http://www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01act03220652&sectionid=0130&day=2009-06-22

See all the ways you can stay connected to friends and family