วันอาทิตย์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2552

สากของสตรีนิยมไทย

วันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11426 มติชนรายวัน


สากของสตรีนิยมไทย


โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์



ท่านรัฐมนตรีคลังกล่าวในสภาว่า โครงการที่จะใช้เงินกู้กว่าล้านล้านบาทนี้มีถึงกว่า 6,000 โครงการ อยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์หลักๆ 6-7 ด้าน โดยยังไม่ได้เห็นรายละเอียดของโครงการต่างๆ ผมเข้าใจว่าการจ้างงานน่าจะเป็นเป้าหมายหลักอันหนึ่งของการกระตุ้นเศรษฐกิจ อย่างน้อยก็น่าจะเป็นเป้าหมายเฉพาะหน้าเวลานี้ เช่นสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน ก็เพื่อให้เกิดการจ้างงาน พัฒนาแหล่งน้ำก็เพื่อทำให้เกิด "งาน" ขึ้นในภาคเกษตร เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การจ้างงานมีความละเอียดอ่อน กล่าวคือต้องเป็น "งาน" ที่กระจายไปยังกลุ่มคนที่ไร้ฝีมือ ไปจนถึงมีฝีมือในระดับและประเภทที่แตกต่างกัน ผมหวังว่าโครงการต่างๆ ของรัฐบาลได้คำนึงถึงความละเอียดอ่อนในแง่นี้ไว้แล้ว

แต่ยังมีความแตกต่างของแรงงานอีกอย่างหนึ่งซึ่งไม่ค่อยมีคนพูดถึง และโครงการของรัฐอาจไม่มีสำนึกในด้านนี้ก็ได้ นั่นคือความแตกต่างทางเพศ

ในวันที่ 5 มีนาคม หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ได้ตีพิมพ์บทความอันดีเยี่ยมชื่อ "This Crisis Has a Woman"s Face" ของคุณ Amelita King Dejardin ซึ่งเป็นที่ปรึกษาทางวิชาการอาวุโสของสำนักงานแรงงานสากล

เธอกล่าวว่า ในเอเชีย วิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ย่อมกระทบต่อผู้หญิงทำงานหนักกว่า และแตกต่างกว่าที่กระทบต่อผู้ชาย

เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะ แรงงานหญิงมักกระจุกตัวอยู่ในอุตสาหกรรมส่งออกที่ใช้แรงงานเข้มข้น ในขณะที่แรงงานชายมักจะกระจายไปยังภาคส่วนต่างๆ ของการผลิตมากกว่า นอกจากนี้ ในสายพานการผลิตเพื่อป้อนเครื่องอุปโภคแก่ประชากรโลกนั้น งานประเภทชั่วคราว, รับเหมารายชิ้น, หรือเป็นลูกจ้างรายวัน มักเป็นผู้หญิง จึงไม่ได้อยู่ในความคุ้มครองของกฎหมายประกันสังคม

ดังนั้น เมื่อความต้องการสินค้าประเภทเสื้อผ้า, เครื่องไฟฟ้า, โรงแรม, และร้านอาหาร ลดลงในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำเช่นนี้ ผู้หญิงจึงตกงานก่อน

ประสบการณ์เศรษฐกิจตกต่ำใน พ.ศ.2540 พิสูจน์ให้เห็นชะตากรรมของผู้หญิงในแง่นี้ ในประเทศไทย 95% ของแรงงานที่ถูกปลดจากหัตถอุตสาหกรรมเสื้อผ้าในครั้งนั้นเป็นผู้หญิง ในหัตถอุตสาหกรรมของเล่น ผู้หญิงถูกปลดถึง 88%

ผลกระทบต่อครอบครัวของผู้หญิงตกงานนั้นหนักหนาสาหัสกว่า เพราะมีงานวิจัยที่ยืนยันว่ายิ่งครอบครัวใดยากจนมากเท่าใด รายได้จากผู้หญิงก็ยิ่งมีความสำคัญต่อการดำรงชีพของครอบครัว, สุขภาพอนามัยและการศึกษาของเด็กมากเท่านั้น

และเพราะผู้หญิงมักทำงานที่ได้รายได้น้อยกว่า จึงทำให้ไม่สามารถมีเงินออม ดังนั้น เมื่อถูกลดรายได้หรือตกงานจึงทำร้ายผู้ที่ต้องพึ่งพิงผู้หญิงอย่างมาก มีตัวเลขจากฟิลิปปินส์ที่แสดงให้เห็นความจริงข้อนี้ เมื่อผู้ชายตกงาน 65% ของครอบครัวรายงานว่ารายได้ของครอบครัวลดลง แต่เมื่อผู้หญิงตกงาน 94% ของครอบครัวรายงานว่ารายได้ลดลง และครอบครัวของผู้หญิงตกงานจะตัดรายจ่ายด้านอาหารลงมากกว่าครอบครัวของผู้ชายตกงาน

นอกจากนี้ ผู้หญิงเอเชียมักเป็นผู้รับผิดชอบดูแลเด็ก, คนแก่ และคนป่วยของครอบครัว ดังนั้น เมื่อผู้หญิงตกงานสวัสดิภาพของคนเหล่านั้นจึงตกต่ำลงไปด้วย

ฉะนั้น การตกงานของผู้หญิงจึงก่อให้เกิดความเสื่อมโทรมทางสังคมทั้งในระยะสั้น และยาวอย่างไพศาลมาก ดังนั้น ผู้เขียนจึงเตือนนักวางแผนเศรษฐกิจของประเทศในเอเชียว่า โครงการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจทั้งหลายนั้น หากไม่คำนึงถึงมิติของเพศสภาพแล้ว ก็จะเกิดผลร้ายอย่างใหญ่หลวงแก่สังคมนั้นๆ อย่านึกง่ายๆ เพียงว่า แผนประกันสังคมทั้งหลายจะช่วยผู้หญิง เพราะผู้หญิงมักทำงานที่กฎหมายแรงงานไม่คุ้มครอง และอย่านึกง่ายๆ ว่า ถึงอย่างไรผู้หญิงก็พึ่งพาผู้ชายทางเศรษฐกิจอยู่แล้ว ฉะนั้น เมื่อช่วยผู้ชาย ผู้หญิงก็จะได้เอง เพราะในความเป็นจริง ผู้หญิงที่ไม่มีผู้ชายให้พึ่งนั้นมีมากในเอเชีย

การกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นสูตรสำเร็จที่ทำกันในแทบทุกประเทศ มักไม่มีผลถึงแรงงานหญิง เพราะงานก่อสร้างมักใช้แรงงานชายมากกว่า ตัวอย่างของความลำเอียงเช่นนี้เห็นได้ในครั้งวิกฤตปี 2540 ฉะนั้น นักวางแผนจึงต้องทุ่มเทความพยายามที่จะทำให้เกิดการจ้างงานหญิงในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานมากขึ้น เช่นอะไรคือโครงสร้างพื้นฐานหรือสาธารณูปโภคต้องคิดให้กว้างกว่ารถไฟฟ้าหรือถนนปลอดฝุ่น แต่ควรรวมเรื่องการบริการสังคม, การดูแลสุขภาพ, การศึกษา, การพัฒนาเด็กและเยาวชนเข้าไว้ด้วย เพราะงานเหล่านี้จะมีการจ้างงานผู้หญิงมาก

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ การลงทุนทางสังคมก็เป็นการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งช่วยทั้งกระตุ้นเศรษฐกิจ และจ้างงานผู้หญิงไปพร้อมกัน แม้ว่ารัฐบาลมีโครงการจะลงทุนด้านการศึกษาเป็นเงินหลายหมื่นล้านบาท แต่ต้องมองการศึกษาให้กว้างกว่าระบบโรงเรียน เช่นการสร้างศูนย์เด็กเล็กในหมู่บ้าน, สร้างห้องสมุดที่มีกิจกรรมสนับสนุนการอ่าน, สร้างแหล่งเรียนรู้ระดับตำบล, ขยายกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ของ อสม., ฯลฯ ล้วนเปิดโอกาสให้ผู้หญิงที่มีฝีมือแรงงานต่ำได้รับการฝึกและมีงานทำทั้งสิ้น

อีกด้านหนึ่งที่คุณ Dejardin กล่าวไว้ ก็ตรงกับที่ฝ่ายค้านบางคนได้อภิปรายในสภา นั่นคือควรคิดถึงการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ของธุรกิจขนาดเล็กให้มาก เพราะจะทำให้ผู้หญิงตกงานริเริ่มธุรกิจเล็กๆ ของตนเองได้ (เช่นขายก๋วยเตี๋ยว หรือรับจ้างซักรีด)

ประเด็นสุดท้ายที่ควรพูดถึงในข้อเสนอของคุณ Dejardin ก็คือ ในการวางแผนกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจ เสียงของผู้หญิงมีความสำคัญ ผู้หญิงควรมีส่วนในการวางแผนด้วย เพราะวิกฤตเศรษฐกิจนั้นมีทั้งหน้าของผู้ชายและหน้าของผู้หญิงอยู่ในนั้น

หลังจากโพสต์ลงบทความนี้แล้ว ผมก็เฝ้าดูว่าองค์กรและหน่วยงานที่เกี่ยวกับผู้หญิง ทั้งที่เป็นของทางการ เช่นคณะกรรมาธิการเด็กและสตรีของสภาทั้งสอง และเป็นของเอกชนเอนจีโอทั้งหลาย จะขยับเรื่องนี้อย่างไรบ้าง

ปรากฏว่าต่างเป่าสากกันหมดครับ แต่พากันไปเล่นสนุกกับการหาพ่อให้เด็กบ้าง, การกรี๊ดกร๊าดกับพฤติกรรมทางเพศของดาราและวัยรุ่นหญิงบ้าง ผลก็คือบัดนี้เรากำลังจะลงทุนครั้งใหญ่เป็นประวัติการณ์เพื่อกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจด้วยเงิน 1.4 ล้านล้านบาท โดยไม่มีใครพูดถึงมิติของเพศสภาพเลย และไม่มีใครรู้ว่าผู้หญิงถูกนำขึ้นเป็นหนึ่งในประเด็นหลักของโครงการต่างๆ หรือไม่ และอย่างไร

ในเมืองไทย เราพูดถึงสตรีนิยม (Feminism) กันมาหลายทศวรรษแล้ว และด้วยเหตุดังนั้นเราจึงไม่ขาดคนที่อ้างตัวว่าเป็นนักสตรีนิยมในสังคมไทย ในขณะเดียวกันสตรีนิยมก็เป็นหนทางเข้าถึงแหล่งเงินวิจัย, ชื่อเสียงเกียรติยศ, สถานะทางการเมือง, และสถานะทางสังคม ฯลฯ จนในปัจจุบันต้องถือว่าสตรีนิยมเป็นดินแดนที่เบียดเสียดเยียดยัดจนต้องแข่งขันแย่งชิงกันพอสมควร

แต่ดังที่ทราบกันอยู่แล้วว่า ทรัพยากรในสังคมไทยกระจุกตัวอยู่ในอำนาจการจัดสรรของคนชั้นกลางเป็นส่วนใหญ่ การแข่งขันแย่งชิงของกลุ่มสตรีนิยมจึงแวดล้อมอยู่กับค่านิยมของคนชั้นกลาง แข่งกันวี้ดว้ายกระตู้วู้ในเรื่องที่เป็นค่านิยมของคนชั้นกลางไทย ใครจะวี้ดว้ายได้น่าเชื่อถือกว่ากัน มิติด้านปากท้องและศักดิ์ศรีของผู้หญิงชาวบ้านและครอบครัวของเธอจึงไม่เคยอยู่ในความสนใจของนักสตรีนิยมส่วนใหญ่

"สตรีนิยม" ในเมืองไทย จึงเป็นได้แค่ "สมัยนิยม"

หน้า 6

 
http://www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01act01220652&sectionid=0130&day=2009-06-22


What can you do with the new Windows Live? Find out