วันเสาร์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2552

หมอเตือนข้อเข่าเสื่อมพบอายุน้อยลง นักฟุตบอล -คนอ้วนเสี่ยงสูง (แนะวิธีป้องกัน-บำบัดด้วยตัวเอง)




วันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 เวลา 23:54:47 น.  มติชนออนไลน์

หมอเตือนข้อเข่าเสื่อมพบอายุน้อยลง นักฟุตบอล -คนอ้วนเสี่ยงสูง (แนะวิธีป้องกัน-บำบัดด้วยตัวเอง)

หมอเตือนโรคข้อกระดูกเสื่อม พบในคนอายุน้อยลงจากเดิม 60ปีขึ้นไป เหลือเพียง 45-50 ปี จากภาวะอ้วนทำให้ข้อเข่าแบกรับน้ำหนักเกิน เล่นกีฬาหักโหมเกินไป โดยเฉพาะฟุตบอล ให้หลีกเลี่ยงการคุกเข่า-ขัดสมาธิ-นั่งยองๆ

เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม ที่บริเวณโซนอีเดนชั้น 1  ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ มูลนิธิทศวรรษโรคกระดูกและข้อ(ประเทศไทย) ร่วมกับบริษัท มิลลิเมด จำกัด จัดกิจกรรม "Joint Free จารบีข้อเข่า" ขึ้นเพื่อกระตุ้นให้ประชาชนมีความเข้าใจถึงสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรค รวมทั้งแนวทางการป้องกันและรักษาโรคข้อกระดูกเสื่อม โดยมี รศ.พญ.วิไล คุปต์นิรัตศัยกุล หัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า โรคข้อเสื่อม เป็นโรคที่กระดูกอ่อนบริเวณผิวข้อเกิดความผิดปกติ ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงของกระดูกอ่อนบริเวณผิวข้อทั้งทางด้านรูปร่าง โครงสร้าง และทางเคมี โดยปกติกระดูกอ่อนจะมีความยืดหยุ่น ทำหน้าที่ลดแรงที่กระทำต่อข้อกระดูกและทำให้ข้อเคลื่อนไหวด้วยความราบรื่น เมื่อกระดูกอ่อนเสื่อมกระดูกแท้จะเสียดสีกันทำให้เกิดความเจ็บปวด และเกิดเสียงดัง จนทำให้สูญเสียหน้าที่ในการเคลื่อนไหว รับน้ำหนัก และกระจายแรง ซึ่งภาวะข้อกระดูกเสื่อมมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตามอายุที่มากขึ้น


รศ.พญ.วิไล  กล่าวว่า  สำหรับสถิติของผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมพบประมาณ 1 ใน 3 หรือคิดเป็นร้อยละ 34.5-45.6 ของประชากรทั้งประเทศ โดยส่วนใหญ่จะพบในผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป แต่ปัจุจบันพบเร็วขึ้นอายุประมาณ 45-50 ปี เนื่องจากมีปัจจัยส่งเสริม เช่น ภาวะอ้วน ทำให้ข้อเข่าแบกรับน้ำหนักเกิน หรือการนั่งยองๆ นั่งพับเพียบ รวมทั้งกรณีประสบอุบัติเหตุ หรือการเล่นกีฬาหักโหมเกินไป  อย่างการเล่นฟุตบอล เป็นต้น นอกจากปัจจัยด้านอายุ พันธุกรรม และปัจจัยส่งเสริมดังกล่าวแล้ว ยังพบว่า การเปลี่ยนแปลงในกระดูกอ่อนจากโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ การติดเชื้อในข้อ หรือโรคเก๋า ก็มีส่วนทำลายกระดูกอ่อนผิวข้อให้เสื่อมเร็วยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม แม้ปัจจุบั้นยังไม่สามารถรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมให้หายขาดได้ แต่สามารถลดอาการปวดได้ เช่น การทำกายภาพบำบัด การบริหารกล้ามเนื้อเข่า การใช้ยา  และการผ่าตัด 

   
รศ.พญ.วิไล กล่าวอีกว่า การใช้ยาในปัจจุบันก็สะดวกมากขึ้น โดยมีผงชงละลายน้ำกลูโคซามีน ซัลเฟต สำหรับดื่มวันละ 1 ครั้ง เพื่อช่วยชะลอการสึกหรอของกระดูกอ่อนผิวข้อ และช่วยบรรเทาอาการปวดของโรคข้อเสื่อม แต่ต้องร่วมกับการบริหารกล้ามเนื้อเข่า หรือกายภาพบำบัด อย่างไรก็ตาม แนวทางสำคัญควรป้องกันหรือชะลอการเกิดโรคให้ช้าที่สุด โดยควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้อ้วนเกินไป หลีกเลี่ยงการคุกเข่า ขัดสมาธิ หรือนั่งยองๆ รวมทั้งการขึ้นลงบันไดบ่อยๆ  โดยไม่จำเป็น และควรบริหารกล้ามเนื้อเข่าให้แข็งแรง เพราะจะช่วยให้การใช้งานข้อเข่าดียิ่งขึ้น โดยเลือกการออกกำลังกายที่เหมาะสม เช่น การเดิน การปั่นจักรยาน หรือการออกกำลังกายในน้ำ เป็นต้น


"ทางที่ดีที่สุดต้องรู้จักดูแลตัวเอง อย่าใช้งานพวกข้อเข่ามากจนเกินไป เพราะจะทำให้เสื่อมเร็วขึ้น ที่สำคัญหากป่วยด้วยโรคข้อเข่าเสื่อม จะมีอาการตั้งแต่ข้อฝืด ไปจนกระทั่งปวดบริเวณข้อ จนไม่สามารถเดิน หรือเคลื่อนไหวไปไหนได้" หัวหน้าภาควิชาเซชศาสตร์ฟื้นฟู กล่าว

 

===========================

 

อาการของโรคข้อเข่าเสื่อม
โรคข้อเข่าเสื่อมเป็นโรคที่พบในผู้ป่วยสูงอายุ แต่ผู้ป่วยที่มีโรคข้อเรื้อรังเช่นโรครูมาตอยด์ โรคเกาต์ หรือผู้ที่ได้รับอุบัติเหตุที่ข้อเข่า ก็อาจจะเกิดโรคข้อเข่าเสื่อมในขณะที่อายุยังไม่มาก โดยเฉพาะคุณผู้หญิงจะมีโอกาสเป็นข้อเสื่อมได้มากกว่าผู้ชายเนื่องจากความแข็งแรงของกระดูกและกล้ามเนื้อน้อยกว่าผู้ชาย


อาการที่สำคัญได้แก่
- อาการปวดเข่า เป็นอาการที่สำคัญเริ่มแรกจะปวดเมื่อยตึงทั้งด้านหน้าและด้านหลังของเข่าหรือบริเวณน่อง เมื่อเป็นมากขึ้นจะปวดบริเวณเข่าเมื่อมีการเคลื่อนไหว ลุกนั่งหรือเดินขึ้นบันไดไม่คล่องเหมือนเดิม
- มีเสียงในข้อ เมื่อเคลื่อนไหวผู้ป่วยจะรู้สึกมีเสียงในข้อและปวดเข่า
- อาการบวม ถ้าข้อมีการอักเสบก็จะเกิดข้อบวม
- ข้อเข่าโก่งงอ อาจจะโก่งด้านนอกหรือโก่งด้านใน ทำให้ขาสั้นลงเดินลำบากและมีอาการปวดเวลาเดิน
- ข้อเข่ายึดติด ผู้ป่วยจะไม่สามารถเหยียดหรืองอขาได้สุดเหมือนเดิมเนื่องจากมีการยึดติดภายในข้อ


ปัจจัยที่ทำให้เกิดข้อเสื่อม
- อายุ อายุมากมีโอกาสเป็นมากเนื่องจากอายุการใช้งานมาก
- เพศหญิงจะเป็นโรคเข่าเสื่อมมากกว่าผู้ชาย 2 เท่า
- น้ำหนัก ยิ่งน้ำหนักตัวมากข้อเข่าจะเสื่อมเร็ว
- การใช้ข้อเข่า ผู้ที่นั่งยองๆ นั่งขัดขัดสมาธิ หรือนั่งพับเพียบนานๆจะพบข้อเข่าเสื่อมเร็ว
- การได้รับบาดเจ็บบริเวณข้อเข่า ผู้ที่ได้รับอุบัติเหตุที่ข้อเข่าไม่ว่าจะกระดูกข้อเข่าแตกหรือเอ็นฉีก จะเกิดข้อเข่าเสื่อได้
- ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและกระดูก ผู้ที่ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอและได้รับแคลเซียมในปริมาณที่พอเพียงจะชะลอการเสื่อมของเข่า


แพทย์จะวินิจฉัยข้อเข่าเสื่อมได้อย่างไร
หากท่านมีอาการปวดเข่าเรื้องรังเมื่อไปพบแพทย์หากสงสัยว่าเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมแพทย์ก็จะมีขั้น ตอนการวินิจฉัยดังนี้
1) ซักประวัติและตรวจร่างกายโดยเน้นทีการตรวจข้อเข่าซึ่งอาจจะพบลักษณะที่สำคัญคือ ข้อบวม หรือขนาดข้อใหญ่และมีการงอของข้อเข่า
2) การถ่ายภาพรังสี ก็จะพบว่าช่องว่างระหว่างกระดูกเข่าแคบลงซึ่งหมายถึงกระดูกอ่อนมีการสึกหรอ หากสึกมากก็ไม่พบช่องว่างดังกล่าว
3) การเจาะเลือด การเจาะเลือดเพื่อวินิจฉัยแยกโรคที่อาจจะเป็นสาเหตุของโรคปวดเข่าเรื้อรังเช่น โรคเกาต์ หรือโรครูมาตอยด์
4) การตรวจน้ำหล่อเลี้ยงเข่า ในกรณีที่เข่าบวมแพทย์จะเยาะเอาน้ำหล่อเลี้ยงเข่าออกมาตรวจด้วยกล้องจุลทัศน์
5) การตรวจความหนาแน่นของกระดูก เป็นการตรวจหาโรคกระดูกพรุน


การรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม
โรคข้อเข่าเสื่อมเป็นโรคของผู้สูงอายุ หากเป็นแล้วจะไม่สามารถรักษาให้เหมือนเดิม ดังนั้นการรักษาข้อเข่าเสื่อมจึงมีจุดประสงค์เพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวด ป้องกันข้อติด ป้องกันข้อโกงงอ เป็นต้น การรักษาแบ่งออกได้เป็น 3 วิธี
การรักษาทั่วไป
การรักษาโดยการใช้ยา
การรักษาโดยการผ่าตัด


การรักษาทั่วไป
- ปฏิบัติตัวเพื่อหลีกเลี่ยงต่อการเกิดข้อเข่าเสื่อมเช่น การยกของหนัก การนั่งพับเพียบ นั่งยองๆ การนั่งสมาธิเป็นเวลานานๆ การใช้ส้วมชนิดนั่งยองๆ การนอนกับพื้นเป็นประจำเพราะขณะลุกขึ้นหรือลงนอนจะเกิดอันตรายกับเข่า หลีกเลี่ยงการขึ้นบันไดบ่อยๆ ควรจะนั่งบนเก้าอี้ไม่ควรนั่งบนพื้น
- การลดน้ำหนักซึ่งเป็นอีกปัจจัยที่จะลดอาการปวดและช่วยชะลอข้อเข่าเสื่อมได้
- การออกกำลังกายและการบริหารกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะการบริหารกล้ามเนื้อต้นขาจะทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรงจะช่วยลดแรงที่กระทำต่อเข่า วิธีการบริหารสามารถทำได้โดยการยืน มือเกาะกับเก้าอี้ ย่อตัวให้เข่างอเล็กน้อย นับ 3-6 แล้วยืนตรงทำช้ำ 3-6 ครั้ง หรืออาจจะทำได้โดยนั่งบนเก้าอี้เหยียดขาเกร็งไว้ 10 วินาที่แล้วจึงงอเข่า ทำซ้ำหลายครั้ง นอกจากนั้นการเดินเร็วหรือการไหว้น้ำจะช่วยกระตุ้นให้กระดูกแข็งแรง
- เวลาเดินหรือวิ่งให้ใส่รองเท้าสำหรับเดินหรือวิ่งซึ่งจะมีพื้นกันกระแทก
- ให้ใช้เข่าเหมือนปกติ หากมีอาการปวดให้พักเข่า
- ใช้ไม้เท้าค้ำเวลาจะลูกขึ้น อย่าหยุดใช้งาน
- เวลาขึ้นบันไดให้ก้าวข้างดีขึ้นก่อน เวลาลงให้ก้าวข้างปวดลงก่อน มือจับราวบันได
- ประคบอุ่นเวลาปวดเข่า
- การทำกายภาพบำบัด แพทย์จะแนะนำวิธีการบริหารกล้ามเนื้อและข้อเข่าเพื่อลดอาการปวด ป้องกันข้อติด ป้องกันข้อผิดรูปรวมทั้งทำให้กล้ามเนื้อและกระดูกแข็งแรง ที่สำคัญต้องปฏิบัติเป็นประจำจึงจะได้ผลดี

 

การบริหารกล้ามเนื้อ

การพักกล้ามเนื้อเป็นวิธีที่ดีสำหรับการรักษาข้อเข่าเสื่อม แต่ต้องมีการออกกำลังหรือบริหารข้อเข่าอย่างเหมาะสม การออกกำลังจะช่วยให้กล้ามเนื้อแข็งแรง ป้องกันข้อติด การเคลื่อนไหวของข้อดีขึ้น การบริหารมีให้เลือกหลายท่า การบริหารที่สามารถทำได้บ่อยๆวิธีง่ายๆสามารถทำได้ด้วยตัวเอง

  1. นั่งบนเก้าอี้ให้นั่งห้อยเท้าไว้ ผูกน้ำหนักที่ข้อเท้าประมาณ 2-5 กิโลกรัมไว้ที่ขาทั้งสองข้าง ให้ทำวันละ 1-3 ครั้งครั้งละ 5-15 นาที
  1. นั่งบนเก้าอี้ พักเท้าข้างหนึ่งไว้บนพื้น เท้าอีกข้างหนึ่งวางบนเก้าอี้ ให้กดเท้าทีวางอยู่บนเก้าอี้ลงหาพื้นนาน 5-10 วินาที่แล้วพัก 1 นาที ทำซ้ำข้างละ10 ครั้ง ให้ทำวันละ 3 เวลา
  2. ให้นั่งบนเก้าอี้ หลังพิงพนัก ยกเท้าขึ้นมาและเกร็งกล้ามเนื้อต้นขาโดยการกระดกข้อเท้าให้นับถึง5- 10วินาที ทำข้างละ 10 ครั้ง ทำวันละ 3 เวลา ถ้าหากแข็งแรงขึ้นอาจจะถ่วงน้ำหนักที่ปลายเท้า

  3. ให้นอนหงาย ยกเท้าข้างหนึ่งงอตั้งไว้ อีกข้างหนึ่งยกสูงขึ้นจากพื้นเกร็ง 1 ฟุต นับ 1-10  สลับข้างทำ ให้ทำซ้ำหลายๆครั้ง หรืออาจะเคลื่อนเท้าเป็นรูปตัวที ให้ทำวันละ 3 เวลา

  1. นอนหงาย หรือนั่งหาหมอนรองบริเวณข้อเท้าข้างหนึ่ง กดเข่าของเท้าที่มีหมอนหนุนให้ติดพื้นให้นับ นาน 5-10 วินาทีพัก1 นาทีทำข้างละ 10 ครั้ง วันละ 3 เวลา ทำสลับข้างทำบ่อยๆ

  1. นั่งบนเก้าอี้ นำผ้าวางไว้ใต้เท้าข้างหนึ่ง แล้วดึงขึ้นมาให้สูงจากพื้น 4-5 นิ้วดึงไว้ 5-10 วินาที พักหนึ่งนาที่ ทำซ้ำข้างละ 10 ครั้ง ทำวันละ 3 ครั้ง
  2. ให้ยืนหลังพิงกำแพง ให้เคลื่อนตัวลงจนเข่างอ 30 องศา แล้วให้ยืนขึ้นทำ 5-10ครั้ง วันละ 3 เวลา
 

การรักษาโดยการใช้ยา

หากการรักษาทั่วไปไม่สามารถลดอาการปวดจำเป็นต้องใช้ยาในการรักษา ซึ่งมียาหลายชนิดให้เลือกดังนี้

  1. ยาแก้ปวด เป็นยาลดอาการปวดแต่ไม่ได้แก้อาการอักเสบ พอหมดฤทธิ์ยาก็ปวดอีก เช่นยา paracetamol
  2. ยาแก้อักเสบ steroid เมื่อสมัยก่อนนิยมใช้กันมากทั้งชนิดรับประทานและชนิดฉีดเข้าข้อ แต่ปัจจุบันความนิยมลดลงเนื่องจากผลข้างเคียง โดยเฉพาะยาที่ฉีดเข้าข้อจะทำให้ข้อเข่าเสื่อมเร็วขึ้น
  3. ยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่ steroid ยากลุ่มนี้นิยมใช้กันมากขึ้น แต่ต้องระวังการเกิดโรคแทรกซ้อน
  4. ยาบำรุงกระดุกอ่อน ได้ผลช้าและใช้ค่าใช้จ่ายสูงจึงไม่เป็นที่นิยม
  5. การใช้น้ำหล่อเลี้ยงข้อชนิดเทียม เนื่องจากโรคข้อเสื่อมจะมีน้ำหล่อเลี้ยงข้อน้อยทำให้มีการเสียดสีของข้อ จึงได้มีการฉีดน้ำหล่อเลี้ยงข้อเทียมเข้าไปในเข่า 3-5 ครั้งแต่ละครั้งห่างกัน 1 สัปดาห์ซึ่งจะทำให้ลดการเสียดสีของข้อ ลดอาการปวด แต่การฉีดนี้ใช้ได้เฉพาะข้อที่เสื่อมไม่มาก
การผ่าตัด

ปัจจุบันได้รับความนิยมมากขึ้นเนื่องจากได้ผลดีและโรคแทรกซ้อนไม่มาก วิธีการผ่าตัดมีได้หลายวิธี

ดังนี้

  1. การผ่าตัดโดยการส่องกล้อง (arthroscope) เหมาะสำหรับข้อที่เสื่อมไม่มาก แพทย์จะเข้าไปเอาสิ่งสกปรกที่เกิดจากการสึกออกมา
  2. การผ่าตัดแก้ความโกงงอของเข่า วิธีนี้ต้องตัดกระดูกบางส่วนออกทำให้ใช้เวลานานกว่าจะใช้งานได้ ปัจจุบันนิยมลดลง
  3. การผ่าตัดใส่ข้อเข่าเทียม คือการใส่ข้อเข่าเทียมเข้าแทนข้อที่เสื่อม ซึ่งผลการผ่าตัดทำให้หายปวด ผู้ป่วยใช้ชีวิตได้ดีขึ้น

 

 

 

 

 

ข้อมูลจาก : สำนักการสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลขอนแก่น
                                                                      http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1248771316&grpid=05&catid=04

--
ขอเชิญอ่าน  blog.Thank you so much.
http://www.blognone.com
http://www.thaihof.org
http://www.parent-youth.net
http://www.presscouncil.or.th
http://thainetizen.org
http://www.ictforall.org
http://dbd-52.hi5.com
http://www.gpssociety.com/_Th