วันจันทร์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

จดหมายเปิดผนึกถึงนายกอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ


 

--- On Sun, 7/26/09, churdchoo ariyasriwatana <churdchoo@gmail.com> wrote:

From: churdchoo ariyasriwatana <churdchoo@gmail.com>
Subject: จดหมายเปิดผนึกถึงนายกอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
To: abhisit@abhisit.org
 Date: Sunday, July 26, 2009, 9:13 PM

จดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี

27 กรกฎาคม 2552

เรื่อง ขอให้นายกรัฐมนตรีรีบเร่งแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ของกระทรวงสาธารณสุข

เรียน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี

อ้างถึง  ผลการศึกษาโครงการกำหนดยุทธศาสตร์กำลังคนภาครัฐ กรณีแพทย์และพยาบาล (กระทรวง   สาธารณสุข)  โดยสำนักงานกพ.เสนอต่อนายกรัฐมนตรีในการประชุมกพ.เมื่อวันที่ 20กค.2552

สิ่งที่ส่งมาด้วย  เอกสารอ้างอิง จำนวน 10 ฉบับ

                        จากผลการศึกษาที่อ้างถึง (1)นี้ผู้วิจัยได้สรุปว่า จำนวนแพทย์ในประเทศไทยมีเท่าๆกับมาตรฐานขององค์การอนามัยโลกคือจำนวนแพทย์ 1คนต่อประชาชน 5.000 คน

ดิฉันเห็นว่า เป็นการสรุปที่ยังไม่ตรงกับความเป็นจริง อันจะทำให้นายกรัฐมนตรีเข้าใจผิดว่า ประเทศไทยไม่ขาดแคลนแพทย์อีกแล้ว ทั้งๆที่ในความเป็นจริง แพทย์ในโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขยังขาดแคลนอีกมาก โดยจะขออธิบายประกอบดังนี้

               ผลการวิจัยครั้งนี้ ยังมีบางส่วนที่นักวิจัยไม่ได้กล่าวถึงคือ

  การที่บอกว่ามี แพทย์ในกระทรวงสาธารณสุขจำนวน 11,025 คน ที่เอาไปหารกับจำนวนประชาชนว่าเป็นสัดส่วนแพทย์ต่อประชาชนเท่ากับ 1: 5.750 คน และผู้วิจัยสรุปว่าเป็นอัตราส่วนแพทย์ต่อประชาชนเท่าๆกับที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้นั้น

ดิฉันขอคัดค้านว่าเป็นตัวเลขที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากจำนวนแพทย์ของกระทรวงสาธารณสุขที่บอกว่ามีถึง 11,025 คนนั้น เป็นตัวเลขที่รวมเอาแพทย์ที่เป็นผู้บริหาร (และไม่ได้เป็นผู้ลงมือตรวจรักษาผู้ป่วยหรือเรียกว่าไม่ได้ทำเวชปฏิบัติ) เข้าไปด้วย ทำให้ดูเหมือนว่ามีจำนวนแพทย์มาก แต่ในความเป็นจริง แพทย์ที่ทำงานตรวจรักษาประชาชน(ทำเวชปฏิบัติในโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข) นั้นมีจำนวนน้อยกว่าจำนวนที่นักวิจัยกล่าวอ้าง

เพราะแพทย์จำนวน 11.025 คนดังกล่าวนี้ เป็นทั้งแพทย์ผู้บริหารระดับสูง ระดับกลาง และผู้บริหารระดับต้นที่ทำงานในกระทรวงสาธารณสุข โดยไม่ต้องทำเวชปฏิบัติเลย รวมกับแพทย์ที่ลาไปศึกษาฝึกอบรมในคณะแพทย์ต่างๆอีก มีจำนวนประมาณ 4,000 คน โดยจะแสดงให้เห็นดังนี้

1.ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชน จำนวน  872 คน

2.ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจังหวัด และโรงพยาบาลศูนย์จำวน 75 คน

3.นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดจำนวน 75 คน

4.นายแพทย์ 9 ด้านเวชกรรมป้องกัน 75 คน (ประจำสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด)

5.รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ในโรงพยาบาลจังหวัด 75 คน

6.อธิบดี 7 กรม รวม 7 คน

8.รองอธิบดีกรมละ 3 รวมเป็น 21 คน

9.นักวิชาการประจำกรม 21 คน

10.ผอ.กองต่างๆและหัวหน้าศูนย์ต่างๆรวมเป็น199 คน ได้แก่

-ในกรมการแพทย์  45 คน

-ในกรมควบคุมโรค 31 คน

-ในกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ 3 คน

-ในกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 2 คน

-ในกรมสุขภาพจิต  22 คน

-ในกรมอนามัย 35 คน

-องค์การอาหารและยา1คน

-องค์การเภสัชกรรม 1 คน

-และสำนักต่างๆ(ในกระทรวง) 59 คน

11.ผู้บริหารในสำนักปลัดกระทรวงสธ.  4 คน

 

รวมจำนวนแพทย์ที่ไม่ทำเวชปฏิบัติในกระทรวงสาธารณสุข 1,403 คน

จำนวนแพทย์ที่กำลังไปรับการฝึกอบรมในคณะแพทยศาสตร์ต่างๆอีกประมาณ 3,000    คน

 

รวมแพทย์ที่ไม่ทำเวชปฏิบัติในโรงพยาบาลกระทรวงสาธารณสุข 4.403คนหรืออาจจะมากกว่านี้

ฉะนั้นจะมีแพทย์ในกระทรวงสาธารณสุขที่ทำเวชปฏิบัติมีเพียง (11,025 4403) เท่ากับ 6,622 คน  ถือว่าเป็นการขาดแคลนแพทย์อย่างมาก(2)

 มีแพทย์เพียงประมาณ 6,622 คนเท่านั้นที่ทำงานตรวจรักษาผู้ป่วยอยู่ในโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข

โดยแพทย์เหล่านี้ต้องรับผิดชอบในการตรวจรักษาและดูแลผู้ป่วยตลอด 24 ชั่วโมง ตลอด 365 วัน ทำให้แพทย์แต่ละคนมีเวลาทำงานเฉลี่ยสัปดาห์ละ 120 ชั่วโมง (3) โดยมีประชาชนไปรับบริการตรวจรักษาปีละประมาณ 160ล้านครั้ง  และนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลอีก ประมาณ 120 ล้านครั้ง (4)

แต่จำนวนประชาชนที่ไปรับบริการตรวจรักษาผู้ป่วยมีแต่จะมากขึ้นทุกวัน ทั้งโรคภัยที่ไข้เจ็บที่มีอยู่เดิมๆ กับโรคใหม่ๆที่อุบัติขึ้นเช่นไข้หวัดใหญ่ ไข้หวัดนก เอดส์ รวมทั้งการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุการจราจรใช้รถใช้ถนน การทะเลาะวิวาท การโจรกรรมและการก่อการร้าย รวมทั้งการที่ประชาชนไม่ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลเลยเมื่อไปโรงพยาบาล ทำให้ประชาชนไปโรงพยาบาลมากขึ้น(5)

จึงทำให้แพทย์มีเวลาตรวจผู้ป่วยนอก (ผู้ป่วยที่ไม่ได้นอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล) เพียงคนละ 2- 4 นาที (3)

ทำให้ไม่น่าประหลาดใจว่า ทำไมการฟ้องร้องแพทย์จึงมีมากขึ้นทุกวัน(6)

เพราะแพทย์น้อย ผู้ป่วยมาก จึงทำให้ผู้ป่วยเสี่ยงต่อการตรวจรักษาที่อาจไม่ได้มาตรฐาน หรือผิดพลาด หรือประชาชนไม่เข้าใจ

ทำให้ประชาชนได้รับผลร้ายจากการรักษา และแพทย์ก็ถูกฟ้องมากขึ้นเป็นเงาตามตัว (6)

 นอกจากนั้นงาน ของแพทย์ผู้ตรวจรักษาผู้ป่วยมิได้มีเฉพาะการตรวจรักษาผู้ป่วยนอกเท่านั้น แพทย์ยังต้องดูแลรักษาผู้ป่วยใน(ที่นอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล) ที่เป็นผู้ป่วยอาการหนักปานกลางถึงอาการหนักมาก ฉะนั้นแพทย์จึงต้องไปตรวจเยี่ยมอาการผู้ป่วยในวันละหลายครั้งและต้องแก้ไข อาการป่วยที่ทรุดลงหรือทำการรักษาผู้ป่วยเหล่านี้อีก ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัด การทำหัตถการอื่นๆเช่นใส่ท่อช่วยหายใจ การทำผ่าตัด การช่วยกู้ชีพ(cardiopulmonary resuscitation) การเจาะหนอง เจาะปอด เจาะหลัง ใส่เฝือก ดึงกระดูก ผ่าเส้นเลือดเพื่อให้น้ำเกลือฯลฯ(4)

 เมื่อแพทย์ต้องทำงานมาก อีกทั้ง เป็นงานที่ต้องรับผิดชอบสูง คือรับผิดชอบชีวิต แพทย์จึงต้องรับภาระหนักทั้งกายและใจ

           แต่ผลตอบแทนของการทำงานของแพทย์คือเงินเดือนและค่าตอบแทนการทำงานนอกเวลาราชการต่ำมากๆ จึงไม่น่าประหลาดใจอีกเหมือนกันว่าทำไมแพทย์จึงลาออกจากกระทรวงสาธารณสุขมากๆทุกปี(7)

 ฉะนั้นการสรุปที่นำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีในการประชุมกพ.ครั้งที่7/2552 เมื่อวันจันทร์ที่ 20กรกฎาคม 2552ที่ว่า จำนวนแพทย์มีเพียงพอกับจำนวนประชาชน(1)ตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลก จึงเป็นการสรุปที่ไม่ถูกต้องตรงกับภาระงานจริงของแพทย์ของกระทรวงสาธารณสุขอย่างแน่นอน

และการที่ผู้วิจัยเสนอว่าค่าตอบแทนแพทย์จะเป็นภาระหนักแก่ราชการ (1)  ด้วยนั้น ดิฉันเห็นว่า เป็นความจำเป็นที่รัฐบาลต้องจัดให้ประชาชนได้รับบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขที่มีมาตรฐาน รัฐบาลต้องรับภาระค่าใช้จ่ายในการจ้างบุคลากรทำงานให้เหมาะสม รัฐบาลไม่สามารถปฏิเสธภาระนี้ได้

ดิฉัน จึงขอเสนอว่ารัฐบาลก็ควรจะพิจารณาให้กระทรวงสาธารณสุขแยกออกมาจาก กพ. เพื่อให้บริหารเรื่องตำแหน่งและอัตราค่าตอบแทนให้เหมาะสม เทียบได้กับราคาตลาด เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ยังอยู่ทำงานบริการรักษาประชาชนต่อไป เพื่อให้มีจำนวนบุคลากรทางการแพทย์เพิ่มมากขึ้นให้พอรองรับกับการเจ็บป่วยที่มีมากขึ้น และการที่ประชาชนไปโรงพยาบาลมากขึ้นดังกล่าวแล้ว ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนได้รับการดูแลรักษาสุขภาพที่เหมาะสม มีมาตรฐาน และมีความปลอดภัยสูง (8,9,10)

  เพราะงานดูแลรักษาสุขภาพ เป็นงานที่ต้องมีคุณภาพสูง มีความรับผิดชอบสูง และเป็นความรับผิดชอบต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมงทุกวันจนกว่าผู้ป่วยจะหายป่วย(หรือหายไปจากโลกมนุษย์)

แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์จึงต้องมีคุณภาพสูง เพื่อให้ผลงานมีคุณภาพ มีความรับผิดชอบสูง และต้องรับผิดชอบผู้ป่วยตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อความปลอดภัยของประชาชนดังกล่าว

หรืออีกทางเลือกหนึ่งก็คือ รัฐบาล ควรพิจารณาให้โรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขออกนอกระบบราชการและบริหารแบบโรงพยาบาลเอกชนบ้าง  อาจจะทำให้ประชาชนได้รับบริการทางการแพทย์ที่สะดวก รวดเร็วปลอดภัย มีมาตรฐานที่ดีที่สุด เพราะบุคลากรทางการแพทย์จะมีจำนวนมากขึ้น เนื่องจากบุคลากรพอใจการบริหารงานที่ยุติธรรมแบบใครทำงานมากมากได้ค่าตอบแทนมาก  และแพทย์มีเวลาทำงานพอเหมาะ ทำให้สามารถป้องกันความผิดพลาดจากการตัดสินใจในการตรวจรักษาประชาชนได้ดีที่ สุด ประชาชนก็จะปลอดภัย แพทย์ก็จะไม่ถูกฟ้อง

สรุปข้อเสนอแนะ

 รัฐบาลควรตั้งกรรมการระดับชาติเพื่อ

1.แก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์

2.แก้ปัญหาการฟ้องร้องแพทย์

3.เพื่อคุ้มครองประชาชนให้ปลอดภัยจากการไปรับบริการทางการแพทย์ที่โรงพยาบาล (8,9,10)ทั้งนี้เพื่อพิจารณาว่า

 1. ควรแยกการบริหารราชการกระทรวงสาธารณสุขออกจากกพ.(8,9,10)

- เพื่อการกำหนดตำแหน่งและค่าตอบแทนที่เหมาะสม เพื่อให้บุคลากรมีจำนวนเพียงพอและมีเวลาทำงานตรวจรักษาประชาชนอย่างมีมาตรฐาน

-เพื่อคุ้มครองประชาชนให้ปลอดภัยจากการไปรับบริการจากโรงพยาบาล

 หรือ 2. ให้แยกการบริหารโรงพยาบาล ออกมาเป็นองค์กรอิสระที่ไม่แสวงกำไร เพื่อความคล่องตัวในการบริหาร ให้ประชาชนได้รับการบริการที่ดี มีมาตรฐาน  โดยที่บุคลากรได้รับค่าตอบแทนตามภาระงานที่ต้องทำอย่างมีคุณภาพมาตรฐาน

  ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่เหมาะสมตามมาตฐานทางการแพทย์ที่ดีที่สุด และบุคลากรได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสมตามภาระงาน รวมทั้งมีเวลาทำงานไม่มากเกินมาตรฐาน(9) เพื่อรักษาบุคลากรที่เก่ง ดี ไว้ในระบบ เพื่อให้คุณภาพการบริการทางการแพทย์สำหรับประชาชนทั่วไป ได้รับการรักษาไว้ให้ดีและพัฒนาได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนทั้งประเทศ

 จึง เรียนเสนอท่านนายกรัฐมนตรี โปรดสละเวลามาดูแลการบริหารกระทรวงสาธารณสุขอย่างเร่งด่วนที่สุด เพื่อให้สามารถจัดสรรให้มีบุคลากรที่มีคุณภาพมาตรฐานในจำนวนที่เหมาะสม เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถการทำงานบริการทางการแพทย์เพื่อบริการ ประชาชนอย่างมีคุณภาพมาตรฐาน ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยแก่สุขภาพของประชาชน และเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของบุคลากรทางการแพทย์ อันจะทำให้ประชาชนได้รับบริการที่มีคุณภาพมาตรฐานและประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีโดยทั่วหน้ากัน

 

  ทั้งนี้หวังว่าท่านนายกรัฐมนตรีจะได้รีบเร่งพิจารณาแก้ปัญหาของการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์โดยรีบด่วน เพื่อให้ประชาชนมีความปลอดภัยในการไปรับบริการทางการแพทย์ อันจะทำให้ประชาชนมีสุขภาพดี เพื่อจะได้ช่วยกันทำงานอาชีพของตนให้ดี เพื่อช่วยกันฟื้นฟูเศรษฐกิจส่วนตนและประเทศชาติ อันจะเป็นการช่วยกันพัฒนาชาติไทยให้เข้มแข็งอย่างยั่งยืน

 

ขอแสดงความนับถือ

พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา

 ประธานอนุกรรมการพิจารณาปรับเปลี่ยนเงินเดือนและค่าตอบแทนแพทย์ในภาคราชการแพทยสภา

ประธานคณะอนุกรรมการจริยธรรมชุด 15 แพทยสภา

ที่ปรึกษาสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข

ที่ปรึกษาสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป

ประธานสมาพันธ์ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรรมแห่งประเทศไทย

ข้าราชการบำนาญกระทรวงสาธารณสุข

 

เอกสารอ้างอิง

1. ผลการศึกษาโครงการกำหนดยุทธศาสตร์กำลังคนภาครัฐ กรณีแพทย์และพยาบาล (กระทรวงสาธารณสุข) )  โดยสำนักงาน ก.พ. ร่วมกับศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย ศ. ดร. ศุภชัย ยาวะประภาษและคณะ : http://www.ocsc.go.th/ocsccms/frontweb/view.jsp?categoryID=CAT0000131&newsID=nws0001633

2. เชิดชู อริยศรีวัฒนา :การขาดแคลนข้าราชการแพทย์ของโรงพยาบาลกระทรวงสาธารณสุข: วารสารวงการแพทย์: 2551: 10 (274): 28-29

3. ฉันทนา ผดุงทศและคณะ: ชั่วโมงการทำงานของแพทย์ในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข :วารสารวิชาการสาธารณสุข 2550: 16(4):493-502

4. เชิดชู อริยศรีวัฒนา : ข้าราชการแพทย์ของกระทรวงสาธารณสุขมีภาระงานอะไรบ้าง : วารสารวงการแพทย์2551: 10(275) 26-29

5.รศ.นพ.จิรุตน์ ศรีรัตนบัลย์ บรรณาธิการ : หน้า 12 ใน ข้อเสนอระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จัดทำโดยคณะทำงานจัดทำข้อเสนอเพื่อพัฒนาหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย(สวปก) และสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข : ธันวาคม 2548

6. สถิติการฟ้องร้องแพทย์  : แพทยสภา

7.ข้อมูลจากกลุ่มบริหารงานบุคคล สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข

8. เชิดชู อริยศรีวัฒนา :การสรุปผลการสัมมนาเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ของกระทรวงสาธารณสุข 8 สิงหาคม 2551 : วารสารวงการแพทย์2551: 10(277-278) 28-29

9.เชิดชู อริยศรีวัฒนา : แพทยสภาและการแก้ปัญหาการขาดแคลนแพทย์ภาครัฐ : วารสารวงการแพทย์ 2551:11(283): 29-31

10. ข้อเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในการแก้ปัญหาการขาดแคลนแพทย์ :

เสนอโดยคณะอนุกรรมการพิจารณาปรับเปลี่ยนเงินเดือนและค่าตอบแทนแพทย์ในภาคราชการของแพทยสภา 8มค. 2552