วันจันทร์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

มุมมืด"ทวิตเตอร์" เว็บดังรุกล้ำโลกส่วนตัว!

วันที่ 07 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 19 ฉบับที่ 6795 ข่าวสดรายวัน


มุมมืด"ทวิตเตอร์" เว็บดังรุกล้ำโลกส่วนตัว!





ชื่อเว็บไซต์ไมโครบล็อกกิ้ง หรือบล็อกจิ๋ว "ทวิตเตอร์" กลายเป็นกระแสแฟชั่นแห่งโลกไซเบอร์ช่วง 1-2 ปีมานี้ หลังจากนักร้อง ดารา คนดัง นักธุรกิจขาใหญ่ องค์กรสื่อ นักการเมือง ไล่ไปจนถึงประธานาธิบดีบารัก โอบามา ผู้นำสหรัฐอเมริกาแห่สมัครสมาชิก

แต่เรียกได้ว่าพุ่งแรงสุดๆ เมื่อสื่อตะวันตกพร้อมใจประโคมข่าวตลอดเดือนที่ผ่านมาว่า ม็อบฝ่ายต่อต้านรัฐบาลอิหร่านใช้ "ทวิตเตอร์" เป็นตัวกลางติดต่อสื่อสาร

กล่าวโดยสรุปพื้นฐานระบบการทำงานเว็บทวิต เตอร์ คือ การผสมผสานจุดเด่นเทคโนโลยีส่งข้อ ความสั้น (เอสเอ็มเอส) เข้ากับเครือข่ายชุมชนออนไลน์ ทำให้สมาชิกในกลุ่มติดต่อถึงกันสะดวกและรวดเร็วสุดๆ ฟรี ผ่านการพิมพ์ข้อความสั้นไม่เกิน 140 ตัวอักษร ทั้งยังรับส่งข้อมูลผ่านโทรศัพท์มือถือได้ด้วย

ข้อความที่ส่งโดยทวิตเตอร์เรียกว่า "ทวีต" ล่าสุดยังมีบริการใหม่รับ-ส่งรูปภาพด้วยเช่นกันเรียกว่า "ทวีตพิก"

ทวิตเตอร์เริ่มต้นเปิดดำเนินโครงการเมื่อปี 2549 โดย นายแจ๊ก ดอร์ซีย์ วัย 32 ปี ชาวเมืองเซนต์หลุยส์ รัฐมิสซูรี สหรัฐ อเมริกา

ผลสำรวจอัตราผู้ใช้บริการเว็บแห่งนี้เคยทำสถิติขยายตัวก้าวกระโดด 1,382 เปอร์เซ็นต์เมื่อปีก่อน

ปัจจุบันมีสมาชิกประมาณ 14 ล้านคน ทีมผู้พัฒนาตั้งความหวังว่าในเร็ววันนี้กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจทั้งเล็ก-กลาง-ใหญ่ จะเข้ามาจ่ายเงินใช้ทวิตเตอร์เป็นจุดกระจาย "ข้อมูลทางการตลาด" ไปสู่สาวกทวิตเตอร์ทั่วโลก



อย่างไรก็ตาม แง่ลบทวิตเตอร์ก็มีเช่นกัน เพียงแต่ยังไม่ค่อยมีคนนำมาพูดถึง



คนเลิกใช้ภายใน 1 เดือน

เจฟฟ์ เบอร์โตลุกชี่ คอลัมนิสต์นิตยสารคอมพิวเตอร์ระดับหัวแถว "พีซีเวิลด์" เขียนบทความ "Why Most Twitter Users Give Up" (ทำไมสมาชิกส่วนใหญ่เลิกใช้ทวิตเตอร์) ระบุว่า

บริษัทวิจัยนีลเซน ออนไลน์ สำรวจพฤติกรรมการใช้ทวิต เตอร์ล่าสุดพบว่า สมาชิกหน้าใหม่กว่า 60 เปอร์เซ็นต์จะเลิกใช้ทวิตเตอร์ภายใน 1 เดือนหลังจากลงทะเบียนสมัคร ซึ่งจากการทดลองเล่นแล้วไม่แปลกใจเลยที่ผลลัพธ์ออกมาแบบนี้

เจฟฟ์ชี้ว่า แนวคิดทวิตเตอร์ที่ต้องการให้ผู้คนติดต่อ-รับรู้ความเคลื่อนไหวกันตลอดเวลาด้วยข้อความ 140 ตัวอักษรฟังดูดี แต่ถ้าคุณ "ไม่ใช่คนดัง" แล้วใครจะสนใจอยากรู้ว่าวันๆ หนึ่งคุณกำลังทำอะไรอยู่?

"ผมเดาว่าคนจำนวนมากสมัครทวิตเตอร์เพราะแค่อยากรู้ว่ามันคืออะไร..

"ถ้าคนดังอย่างโอปราห์ วินฟรีย์ (เจ้าแม่ทอล์กโชว์) หรือแอชตัน คุชเชอร์ (พระเอกฮอลลีวู้ด) สมัครใช้ทวิตเตอร์เป็นใครก็อยากเข้าไปลอง แต่พอใช้ไป 2-3 วันถ้าคุณส่งข้อความหรือได้รับข้อมูลอัพเดตจากเพื่อนฝูงว่า "ตอนนี้ฉันอยู่ตลาด" นั่นคงไม่ใช่เรื่องน่ารู้เท่าไหร่"



เจฟฟ์ยกตัวอย่างอาการเปิดเผยเกินเหตุและข้อมูลท่วมหัวจนน่าวิตกในโลกทวิตเตอร์ด้วยว่า มีเพื่อนเขียนเรื่องส่วนตัวถึงขั้นประกาศว่า "ประจำเดือนมาแล้ว"

ขณะที่การสมัครติดตาม (Follower) ข้อมูลสมาชิกอื่นๆ เช่น ข่าวและนิตยสารดีๆ นั้นมีประโยชน์

แต่บางครั้งข้อมูลที่หลั่งไหลผ่านทวิต เตอร์ก็มากเกินพอดีจนเสพไม่ไหว หรือเรียกว่าอาการ "อินฟอร์เมชั่น โอเวอร์โหลด"

ไม่นับเรื่องน่าจุกจิกกวนใจจาก "โฆษณาแฝง" เช่น เว็บไซต์อนาจาร ที่เข้ามาเกาะแกะจนเสียความรู้สึก



"ทวิตเตอร์"อันตราย-ถ้าไม่ระวัง

คริสโตเฟอร์ นูลล์ นักข่าว "พีซีเวิลด์" อีกคนรายงานว่า ผู้ใช้งานต้องพึงระลึกอยู่เสมอว่า ทวิตเตอร์เป็นสังคมเปิดกว้าง ใครก็ได้สามารถคลิกเข้ามาติดตามอ่านความเคลื่อนไหว-ความคิดของคุณผ่านเว็บไซต์

ถ้ามาดีก็แล้วไป..แต่ถ้ามาร้าย บางครั้งอาจต้องเสียใจถึงขั้นโดนไล่ออกจากงาน เช่นกรณีอื้อฉาวที่สื่อขนานนามว่า "Cisco Fatty" ซึ่งน.ส.คอนเนอร์ผ่านการสัมภาษณ์เตรียมเข้าทำงานในซิสโก้ บริษัทคอมพิว เตอร์ชั้นนำ แต่ด้วยความดีใจจึงไปเขียน "ทวีต" ในทวิตเตอร์ ว่า

"ฉันเพิ่งได้งานที่ซิสโก้ ตอนนี้ต้องชั่งน้ำหนักจะยอมทนทำงานที่ฉันเกลียด หรือจะยอมรับเงินเดือนก้อนโต" แทบไม่น่าเชื่อว่าข้อความสั้นๆ แค่นี้ผ่านไปถึงหน้าจอคอมพิวเตอร์ลูกจ้างซิสโก้ ซึ่งไปแจ้งผู้บริหารต่อ ทำให้เธอพลาดงานไปในบัดดล เพราะผลจากการวู่วาม "ยิงมุข" ผิดจังหวะ!

ถ้าคุณคิดจะใช้ทวิตเตอร์เฉพาะในวงเพื่อนสนิท กับครอบครัว จึงควรเข้าไปปรับตั้งค่า "ข้อมูลความเป็นส่วนตัว" ใน "Settings" เสียใหม่ โดยติ๊กถูกที่ช่อง "Protect my updates" ซึ่งเมื่อเลือกคำสั่งนี้จะทำให้คนที่ไม่ได้รับอนุญาตเข้ามาดูหรือรับข้อความจากคุณไม่ได้อีก

ส่วนคนที่เผลอรับเป็นเพื่อนกันไปแล้ว แต่อยากยกเลิกให้เลือกเข้าไปในหน้า "Profile" แล้วกด "Block" รายชื่อสมาชิกที่ไม่อยากให้คอยติดตามข่าวสารจากคุณอีกต่อไป

"ทางออกดีที่สุด ไม่ควรเที่ยวไปโจมตีใครๆ ในทวิตเตอร์ถ้ากลัวว่าเจ้าตัวจะมาพบข้อความเข้าในภายหลัง และไม่ควรเขียนชื่อบริษัททิ้งไว้ในเว็บ เพราะค้นเจอง่ายมาก" คริสโตเฟอร์เตือน

หน้า 21