หยุดหายใจเฉียบพลัน!!
"ตุบ ๆ ๆ ๆ ๆ” คุณเคยมีอาการหัวใจเต้นเร็วหรือช้าเกินไป และเจ็บหรือแน่นหน้าอกบ้างหรือไม่? หากพบว่ามีอาการดังกล่าวอย่านิ่งนอนใจ เพราะนั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนการทำงานที่ผิดปกติของหัวใจที่เป็นอันตราย อาจถึงขั้นเสียชีวิตเฉียบพลันได้!!
หัวใจ ทำหน้าที่สูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของ ร่างกาย การที่หัวใจจะทำงานได้ดีต้องมีระบบหลอดเลือดไปเลี้ยงเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจและมีเซลล์ ที่ทำหน้าที่เสมือนระบบไฟฟ้าในหัวใจทำหน้าที่ให้จังหวะการเต้นของหัวใจสม่ำเสมอ โดยมีแหล่งให้กำเนิดไฟฟ้าและทางนำกระแสไฟฟ้าที่เป็นเซลล์ชนิดพิเศษแตกต่างจากเซลล์ของกล้ามเนื้อหัวใจนำกระแสไฟฟ้าไปยังเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจชนิดอื่นทำหน้าที่สูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกาย โดยปกติคนเรามีอัตราการเต้นของหัวใจอยู่ที่ 60-100 ครั้งต่อนาที ถ้านอนพักผ่อนมีอัตราการเต้น 60 ครั้งต่อนาที อัตราชีพจรเพิ่มขึ้นได้ ถ้าร่างกายมีความต้องการเพิ่มขึ้น เช่น ทำงานบ้าน หรือมีอาการตื่นเต้น แต่ถ้านั่งอยู่ดี ๆ หัวใจเต้นเร็วขึ้นมาทันทีจาก 80 ครั้งต่อนาทีเป็น 160 ครั้งต่อนาที แสดงว่าเป็น “ภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ”
ศ.นพ.เกียรติชัย ภูริปัญโญ อายุรแพทย์หัวใจ โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ ให้ความรู้ว่า ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะนี้ เกิดได้จากหลายสาเหตุ คือเกิดจากความผิดปกติของการกำเนิดกระแสไฟฟ้าหัวใจ การนำไฟฟ้าหัวใจ หรือสองอย่างรวมกัน พบได้จากโรคหัวใจหลายชนิด เช่น ลิ้นหัวใจผิดปกติ กล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติหรือหลอดเลือดหัวใจตีบตันและไฟฟ้าหัวใจลัดวงจร สามารถเป็นได้ตั้งแต่เด็กถึงผู้ใหญ่ โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุสูงขึ้นจะมีโอกาสเสี่ยงเพิ่มขึ้น!!
“เมื่ออายุมากขึ้นจะพบว่าหัวใจเราเสื่อมสภาพทำให้กล้ามเนื้อหัวใจมีความเปลี่ยนแปลงในทางที่เสื่อมลง เหมือนเวลาเรา แก่ตัวลงผิวหนังจะเหี่ยวมีรอยย่น ฉะนั้นหัวใจก็มีรอยโรคเหมือนกับอวัยวะส่วนอื่น ทำให้เป็นจุดกำเนิดของโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะหรืออาจเรียกว่าเสื่อมสภาพตามอายุ”
อาการของโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะแบ่งได้เป็นกลุ่ม ๆ คือ “วงจรลัดไฟฟ้า” เกิดได้จากเด็กอายุยังน้อยหรือเป็นมาตั้งแต่กำเนิด อาการจะรุนแรงช่วงอายุ ประมาณวัยรุ่น เกิดจากทางเดินไฟฟ้าในหัวใจผิดปกติอาจก่อให้เกิดไฟฟ้าลัดวงจร ทำให้หัวใจเต้นเร็วเฉียบพลัน มีอาการใจสั่นและเหนื่อยมาก แต่หัวใจจะเต้นเร็วเพียงไม่กี่นาที บางรายอาจเป็นติดต่อกันเป็นชั่วโมงหรือเป็นวัน บางครั้งสามารถหายไปเองหรือถ้ามีอาการนานเกินไปควรพบแพทย์เพื่อทำการรักษาเพราะหัวใจอาจทำงานไม่พอเพียงและมีโอกาสเสียชีวิตได้ 3%
“การเต้นหัวใจสะดุด” หรือตกวูบ ส่วนใหญ่ผู้หญิงเป็น มากกว่าผู้ชายและผู้มีอายุประมาณ 30-40 ปี โดยกล้ามเนื้อหัวใจ บางตำแหน่งอาจมีการเสื่อมสภาพ จึงเกิดหัวใจสะดุดเป็นครั้งคราว เต้น ๆ หยุด ๆ เต้นเร็วบ้าง ช้าบ้างไม่อันตรายถึงชีวิตถ้าการทำงานหัวใจเป็นปกติ แต่ผู้ป่วยจะรู้สึกว่าหัวใจเต้นไม่เป็นปกติ มีอาการหวิวหรือวูบหรือเหนื่อยง่าย จึงวิตกว่าจะเป็นอันตรายถึงชีวิตทำให้ดำเนินชีวิตประจำวันหรือทำงานไม่ได้ตามปกติซึ่ง การเต้นหัวใจสะดุดอาจเกิดจากความผิดปกติของหัวใจช่องบนหรือหัวใจช่องล่างก็ได้
“หัวใจเต้นช้ากว่าปกติ” ตามธรรมชาติของมนุษย์ชีพจรจะเต้น 60-100 ครั้งต่อนาที ในเด็กอาจจะประมาณ 110-120 ครั้งต่อนาทีถือเป็นปกติ แต่ถ้าอายุมากขึ้นจะพบว่าชีพจรเต้นช้าลงตามลำดับ ในผู้ป่วยที่จุดกำเนิดไฟฟ้ามีการเสื่อมสภาพก่อนเวลาอันควร อาจมีชีพจรช้าถึง 30-40 ครั้งต่อนาทีหรือมีหัวใจหยุดเต้นเป็นช่วง ๆ นานถึง 3-8 วินาที จึงทำให้มีอาการวูบหรือเป็นลมหมดสติ ส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักไม่เสียชีวิตจากหัวใจแต่เกิดขึ้นจากการล้มขณะหมดสติ เช่น กระดูกหัก หรือเลือดออกในสมอง การรักษาด้วยยามักไม่ได้ผลจึงควรรักษาด้วย การใส่เครื่องกระตุ้นช่วยการทำงานของหัวใจได้ผลในการรักษาเกือบ 100% ถึงแม้จะมีราคาสูงแต่มีอายุการใช้งานได้ถึง 8-10 ปี ส่วน “การเต้นหัวใจสั่นพลิ้ว” ของหัวใจส่วนบน พบมากในผู้ที่มีอายุสูงขึ้น ส่วนใหญ่เป็นการ สั่นพลิ้วของหัวใจช่องบนซ้าย มีลักษณะคล้ายกับคนหัวใจตกวูบทั่วไปมีอาการใจสั่นเต้นเร็วไม่สม่ำเสมอ บางครั้งมีอาการเหนื่อย เจ็บหน้าอก แต่อาการที่สำคัญ คือหัวใจเต้นพลิ้วมีหลายจุด ที่พยายามทำให้หัวใจหดและมีการหดตัวขยุกขยิกเหมือนตัวหนอน ทำให้สูบฉีดเลือดจากช่องบนไปช่องล่างไม่ได้จึงมีเลือดค้างในช่องบนเกิดลิ่มเลือด ภายในหัวใจได้และอาจหลุดไปอุดตันอยู่ที่เส้นเลือดสมองเกิดเป็นอัมพฤกษ์ได้อีกด้วย
“การเต้นผิดจังหวะแบบอันตรายจากหัวใจช่วงล่าง” เกิดจากการสั่นพลิ้วหัวใจห้องล่างซ้ายถือว่าอันตรายมากเพราะห้องล่างซ้ายเป็นห้องที่สูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายทั้งหมด หากหัวใจห้องล่างซ้ายสั่นพลิ้วทำให้หัวใจไม่บีบตัวเพื่อส่งเลือดทำให้ไม่มีเลือดออกจากหัวใจและหากรักษาไม่ทัน ภายใน 4-5 นาที จะทำให้เซลล์สมองตายแบบถาวร ถ้าผู้ป่วยรอดชีวิตจากการปั๊มหัวใจแต่การทำงานของสมองเสียไปจะเหมือนเป็นคนพิการ
อาการของแต่ละกลุ่มแตกต่างกันออกไปถ้าคนไข้มารักษาต้องวินิจฉัยก่อนว่าเป็นภาวะหัวใจเต้นผิดปกติชนิดใด โดยการสอบถามประวัติและวินิจฉัยด้วยการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ จะพบความผิดปกติเมื่อผู้ป่วยมีอาการขณะตรวจ ส่วนผู้ป่วยที่ไม่มีอาการขณะตรวจจะไม่พบความผิดปกติ ในกรณีเช่นนี้แพทย์จะใช้การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจแบบติดเทปบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจต่อเนื่อง 24 ชั่วโมงเพื่อติดตามอาการเพื่อวิเคราะห์คลื่นไฟฟ้าหัวใจช่วยวินิจฉัยโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะได้แน่นอนขึ้น
ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการอยู่และหาสาเหตุอื่นไม่พบจะทำการตรวจสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจโดยการใส่สายสวนหัวใจคล้ายกับการทำบอลลูนเพื่อทำการตรวจบันทึกคลื่นไฟฟ้าภายในหัวใจและกระตุ้นให้มีอาการจะสามารถวินิจฉัยได้ บางทีหากผู้ป่วยไม่มีอาการหรืออาการไม่รุนแรงไม่ต้องรักษา แต่ให้พยายามหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ เช่น ความเครียด ยาบางชนิด ชา กาแฟ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น และถ้ามีอาการพอสมควรอาจพิจารณารักษาด้วยการรับประทานยา ส่วนในกรณีหัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะเกิดจากการลัดวงจรไฟฟ้า การเต้นหัวใจสะดุด หัวใจเต้นช้ากว่าและหัวใจสั่นพลิ้วช่องบน ในปัจจุบันการรักษาที่ดีที่สุดคือ การจี้ด้วยคลื่นไฟฟ้าผ่านสายสวนหัวใจ โดยทั่วไปได้ผลดีกว่าการรับประทานยา สำหรับหัวใจสั่นพลิ้วช่องล่างไม่สามารถจี้ด้วยคลื่นไฟฟ้าได้ต้องทำการรักษาโดยฝังเครื่องช็อตไฟฟ้าแบบอัตโนมัติจะสามารถรักษาให้หายได้
การจี้ด้วยคลื่นไฟฟ้าในปัจจุบันมีเครื่องคาร์โตซาวนด์ “CARTOSOUND” เป็นนวัตกรรมในการรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะที่แสดงตำแหน่งหัวใจเต้นผิดปกติได้รวดเร็ว แม่นยำ ช่วยให้แพทย์สามารถใช้คลื่นวิทยุตัดวงจรไฟฟ้าที่ผิดปกติในหัวใจได้ ทำให้การนำไฟฟ้าจุดที่ผิดปกติถูกทำลาย หัวใจจะไม่เต้นผิดปกติอีกได้ถึง 80-90%
ผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดปกติส่วนหนึ่งไม่มีอาการทำให้ไม่ตระหนักถึงความสำคัญ ดังนั้นเมื่อเราทราบเช่นนี้แล้ว หากเริ่มมีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะอย่านิ่งนอนใจ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาก่อนจะสายเกินไป เพราะจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและความสามารถของแพทย์ในปัจจุบันสามารถรักษาให้หายได้หรือควบคุมอาการได้เกือบ 100%.
สรรหามาบอก
โรงพยาบาลเปาโล เมโมเรียล พหลโยธิน ขอเชิญคุณแม่มือใหม่ที่เริ่มตั้งครรภ์จนถึงอายุครรภ์ 4 เดือน ฟังสัมมนาและร่วมโครงการ “Baby Genius” เพื่อเติมเต็มพัฒนาการและความสมบูรณ์ในด้านต่าง ๆ ของลูกน้อยตั้งแต่ในครรภ์สู่การสร้างอัจฉริยภาพในทุก ๆ เดือนจนถึงเดือนที่ 9 โดยวิทยากรชื่อดังวนิษา เรซ (หนูดี) เปิดรับสมัครคุณแม่ 100 ท่านแรกจนถึง 31 กรกฎาคม 2552 โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ 0-2279-7000 ต่อ 1594, 3705 ด่วน ! รับจำนวนจำกัด
- คลินิกศัลยกรรมทั่วไปโรงพยาบาลปิยะเวท ขอเชิญประชาชนผู้สนใจเข้าร่วมฟังสัมมนาให้ความรู้เรื่อง “วิวัฒนาการใหม่...รักษามะเร็งต่อมลูกหมากได้ด้วยการฝังแร่” รับฟังสาระดี ๆ เกี่ยวกับมะเร็งต่อมลูกหมาก สาเหตุ อาการ รวมถึงวิธีการรักษาและทำความรู้จักกับวิวัฒนาการใหม่ ๆ การรักษามะเร็งต่อมลูกหมากด้วยการฝังแร่ ใน วันเสาร์ที่ 11 กรกฎาคม 2552 เวลา 08.00-12.00 น. ณ ห้องประชุม ชั้น 4 อาคารตรัยยา โรงพยาบาลปิยะเวท สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ โทร. 0-2625-6555
- คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล โรงพยาบาลศิริราช ขอเชิญชวนผู้ที่มีปัญหาผิวพรรณหรือผู้ที่สนใจร่วมฟังบรรยายในหัวข้อ “ผิวหนัง” ใน วันศุกร์ที่ 10 กรกฎาคม 2552 เวลา 09.00-11.30 น. โดยนายแพทย์สุมนัส บุณยะรัตเวช อาจารย์ภาควิชาตจวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ณ ห้องประชุม 7008 ชั้น 7 ตึกสยามมินทร์ โรงพยาบาลศิริราช โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย สนใจสอบถามรายละเอียดได้ที่ 0-2419-7419, 0-2419-8990.
เคล็ดลับสุขภาพดี
กิน 'กะหล่ำปลี' ลดอ้วน ช่วยต้านสารพัดโรค
กะหล่ำปลี เป็นผักชนิดหนึ่งที่มีคุณค่าทางสารอาหารไม่แพ้ผักชนิดอื่น อีกทั้งยังหารับประทานได้ง่ายในบ้านเรา ซึ่ง ล่าสุดมีผลวิจัย พบสารช่วยลดความอ้วน ทำให้สาว ๆ มีทางเลือกแบบธรรมชาติอีกทางในการเลือกรับประทานอาหารเพื่อหุ่นสวย ไม่ต้องเสี่ยงใช้ยาลดความอ้วนเพราะอาจทำให้เสียชีวิตเหมือนที่ตกเป็นข่าวอยู่บ่อยครั้ง
กะหล่ำปลี นอกจากจะช่วยลดความอ้วนแล้วยังมีคุณประโยชน์อีกมากมาย โดยจัดอยู่ในอาหารประเภทผักที่ให้ประโยชน์กับร่างกายเพราะมีวิตามินและแร่ธาตุ โดยเฉพาะกะหล่ำปลีดิบ มีวิตามินซีสูง คนไทยมักนิยมรับประทานดิบเป็นผักแกล้มกับลาบ ส้มตำ และไส้กรอกอีสาน อาจารย์สง่า ดามาพงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการ กรมอนามัยและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้ความรู้ว่า ผลการ วิจัยดังกล่าวบอกว่า กรดทาร์ทาริกที่พบในกะหล่ำปลีนั้นช่วยยับยั้งขัดขวางไม่ให้น้ำตาลและแป้งกลายไปเป็นไขมันได้ แต่ไม่ได้ระบุว่าต้องรับประทานจำนวนมากน้อยแค่ไหน ทาง ที่ดีเราไม่ควรรับประทานแบบจำนวนมาก ๆ หรือซ้ำซากจำเจ เพราะการรับประทานกะหล่ำปลีมากเกินไปอาจทำให้มีปัญหาเรื่องต่อมไทรอยด์ได้
อย่างไรก็ดี กะหล่ำปลีถือว่าเป็นผักที่ มีคุณค่าทางโภชนาการมากชนิดหนึ่ง เพราะมีกากใยอาหารที่ช่วยดูดซับไขมันและน้ำตาล รวมทั้งมีแคโรทีนต่ำจึงไม่ให้พลังงาน เมื่อรับประทานแล้วจะทำให้รู้สึกอิ่มและรับประทานอาหารได้น้อยลง จึงช่วยในการลดน้ำหนักได้ดีอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีวิตามินซีสูงช่วยในการต้านอนุมูลอิสระลดความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งทุกชนิด ถ้ารับประทานแบบสด ๆ จะได้วิตามินซีอย่างเต็มที่ แต่หากนำไปปรุงสุกอาจสูญเสียคุณค่าทางอาหารไปเพราะวิตามินซีไม่สามารถทนความร้อนได้ แต่เราสามารถรับประทานชดเชยได้จากผักและผลไม้ชนิดอื่นหลากหลายชนิด ดังนั้นจึงควรรับประทานอาหาร ผัก ผลไม้สลับกันไปให้ครบ 5 หมู่ และ ที่สำคัญเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่ากะหล่ำปลีเป็นผักมีสารปนเปื้อนมากเพราะใช้ยาฆ่าแมลงสูง แต่ก็มีสารอาหารที่ดีต่อสุขภาพและร่างกาย ดังนั้นก่อนรับประทานเราจึงควรนำมาล้างให้สะอาดอย่างถูกวิธี เสียก่อน โดยการแกะกลีบออกมาล้างน้ำหรือน้ำเกลือหรือน้ำยาล้างผักทีละกลีบ รวมทั้ง รับประทานดิบและสุกสลับกันไป.
ทีมวาไรตี้
--
Please visit my blog.Thank you so much.
http://www.sanamluang.bloggang.com
http://tham-manamai.blogspot.com
http://lifeanddeath2mcu.blogspot.com
http://www.parent-youth.net
http://www.tzuchithailand.org
http://www.presscouncil.or.th
http://thainetizen.org
http://www.ictforall.org
http://www.pdc.go.th
http://www.biz652.com
http://dbd-52.hi5.com